คุยการเมือง-วิเคราะห์เศรษฐกิจ กับ 'กอร์ปศักดิ์' หลังคัมแบ็ก

ช่วงเวลานี้หลายพรรคการเมืองมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ที่เร็วสุดหากสภาอยู่ครบเทอมก็เหลืออีกประมาณสิบเดือน แต่สถานการณ์การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน อาจมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนก็ได้ ทำให้หลาย

พรรคการเมืองจึงต้องเตรียมพร้อม
อย่างเช่น พรรคกล้า ที่มี กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.การคลัง เป็นหัวหน้าพรรค พบว่ามีการสรรหาและสร้างนักการเมืองหน้าใหม่ๆ จำนวนไม่น้อยเพื่อเตรียมส่งลงเลือกตั้ง ขณะเดียวกันในการประชุมใหญ่พรรคเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็เปิดตัวต้อนรับการคัมแบ็กทางการเมืองของ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตนักการเมืองรุ่นใหญ่ ประสบการณ์สูง ที่ผ่านตำแหน่งทางการเมือง เช่น อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งเป็นอดีต ส.ส.หลายสมัยเพราะเล่นการเมืองมาตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งหลังจากห่างหายทางการเมืองไปนาน นับแต่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาวันนี้เขากลับเข้าสู่ถนนการเมืองอีกครั้งกับพรรคกล้า ในฐานะ ประธานยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคกล้า

การสนทนาเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจกับกอร์ปศักดิ์ เราเริ่มด้วยการซักถามถึงช่วงที่หายไปจากแวดวงการเมืองก่อนหน้านี้ โดย ประธานยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคกล้า-อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เล่าว่า ที่ผ่านมาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด แต่เพิ่งมาลาออกจากสมาชิกในช่วงหลังจากที่คุณกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศลาออก (มิถุนายน 2562) แต่ว่าในอดีตทำงานให้พรรคมาตลอด เช่นตอนช่วงเป็น ส.ส.สมัยสุดท้ายตอนที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก หลังเลือกตั้งตอนปี 2544 ถ้าจำไม่ผิด หลังจากนั้นแล้วผมก็ทำงานให้กับพรรค แต่ทำงานแบบอยู่ข้างเวทีไม่ได้ขึ้นไปชกเอง ไม่ได้เป็น ส.ส. อย่างตอนเป็นรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ ตอนนั้นก็ไม่ได้เป็น ส.ส. ซึ่งในช่วงเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ งานเยอะมากต้องดูแลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงบประมาณ, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ซึ่งค่อนข้างจะหนักแต่ก็ทำได้ ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ตอนนั้นเกิดวิกฤตการเงิน Hamburger Crisis แต่รัฐบาลก็แก้ปัญหาไปได้
อย่างไรก็ตาม ช่วงดังกล่าวคุณนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ลาออกจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยที่ผมก็ช่วยงานคุณอภิสิทธิ์มานาน ผมเลยออกจากตำแหน่งรองนายกฯ ไปเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแทน ก็อยู่ได้ประมาณหนึ่งปี แล้วเราก็คิดว่าอาจจะมีการยุบสภาเลยลาออกอีกจากตำแหน่ง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานยุทธศาสตร์และนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าออกมาตั้งนานก็ไม่ยุบสภาสักที การทำงานในการเตรียมการเลือกตั้ง ถ้าเตรียมการนานเกินไปก็ลำบากเหมือนกัน มันก็จะยาก ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ หมายถึงว่าได้ผู้แทนมาต่ำร้อยนิดหน่อย ตอนนั้นเลยออกมาจากตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ฯ เพื่อให้คนอื่นมาทำแทนเผื่อว่าอาจจะดีกว่าเราทำ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ที่ประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ในกรุงเทพฯ ตอนนั้นผมอยู่ที่อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน ไม่ได้ไปยุ่งแล้ว เลิกยุ่งการเมือง คอยนั่งดูข้างๆ แต่ไม่ได้ถึงกับเลิกเสียทีเดียว

-เหตุใดถึงลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์?

เป็นเหตุผลส่วนตัว ซึ่งไม่อยากจะพูดออกไป ก็เอาเป็นว่าไม่อยู่ก็แล้วกัน แต่ตอนนั้นที่ออกมาผมก็ไม่ได้คิดว่าจะเลิกการเมือง 100% แต่ว่าการตัดสินใจกลับเข้ามาใหม่ และคิดว่ากำลังจะสมัคร ส.ส.ใหม่ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ก็ไม่ได้เป็นการตัดสินใจง่ายๆ เพราะว่าเวลาเราไปอยู่ข้างนอกนานๆ บางทีเราก็สุขนิยมมากเกินไป แต่ว่าเพราะเห็นทิศทางที่การเมืองทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ผมว่ามันไม่ค่อยดี ประเทศที่ผมนั่งดูอยู่ข้างนอก ผมก็มีความรู้สึกว่าปัญหามันแก้ไม่น่าจะตรงจุดเท่าไหร่นัก แล้วก็แก้ไม่ได้ แล้วเราอยู่บ้านนอกก็เห็นคนไทย 40 กว่าล้านคน ส่วนใหญ่ก็เหมือนกันหมด ทำมาหากินด้วยความยากลำบาก เป็นหนี้เป็นสินเยอะแยะ เขาก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

ผมก็มีความรู้สึกว่าอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา โดยวิธีที่คิดว่าคือสุดท้ายของชีวิต อยากจะทำตัวให้เป็นประโยชน์มากกว่าอยู่นิ่งๆ ก็เลยคิดว่าไม่ว่าจะเข้ามาเป็นผู้แทนได้หรือไม่ ถ้าได้เป็นก็มีประโยชน์ ถ้าไม่ได้เป็นก็แล้วไป ถ้าได้เป็นก็แสดงว่าประชาชนตอบรับการเข้ามาสู่การเมืองของเรา แล้วก็ไม่ว่าจะมีโอกาสได้ทำงานเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เสียงที่เราพูดออกไปก็เป็นเสียงของตัวแทนประชาชน ซึ่งจะมีน้ำหนักกว่าการที่เรานั่งเล่นทวิตเตอร์ เล่นเฟซบุ๊ก เป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งก็มีคนที่ชอบฟังชอบอ่าน ชอบคิดร่วมไปกับเราแต่ไม่มีอิมแพกต์ แต่ถ้าเราเป็นตัวแทนประชาชนอย่างเป็นทางการ ผมว่าสิ่งที่เราพูดออกไป คิดไปแล้วก็แสดงออกไปในที่สาธารณะ ผมว่าใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลเขาก็ต้องฟัง และถ้าเรามีโอกาสได้เป็นรัฐบาล มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก ผลเสียไม่ค่อยมีหรือมีน้อย ก็เลยตัดสินใจว่าลง ที่ก็เป็นการตัดสินใจที่ยาก
ซึ่งการตัดสินใจที่ยากไม่แพ้กันคือ จะไปอยู่พรรคการเมืองใด เพราะพรรคการเมืองก็เยอะไปหมด ไม่ใช่หมายความว่าเดินอยู่ดีๆ เข้าไปแล้วเขาก็จะรับเรา พรรคก็อาจจะไม่เอาเราเพราะความคิดความเห็นไม่ตรง และหลักคิดของเขาก็อาจจะไม่ตรงกับเราเหมือนกัน ก็นั่งเรียงแต่ละพรรค ก็คิดในใจตัวเอง ก็เหลือเพียงไม่กี่พรรค พอดีคุณกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โทร.มาคุยเล่าให้ฟังว่าตั้งพรรคกล้า ไปถึงไหน ผมเลยบอกคุณกรณ์ว่า “กำลังคิดอยากจะเป็นส.ส.ใหม่อีกทีนึง” คุณกรณ์ก็ตกใจ แปลกใจมาก เขาก็บอกว่า “จริงหรือพี่ นึกไม่ถึงเลย ไปอยู่กับผมดีไหม” ซึ่งผมก็เลยขอบคุณเขาไป แล้วก็บอกว่าขอคิด ก็ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงตัดสินใจ ตอนนี้ก็เข้าไปพรรคกล้าเต็มตัวแล้ว

-บทบาทในฐานะประธานยุทธศาสตร์ฯ จะเข้าไปขับเคลื่อนอะไรยังไง?

ก็ไปเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งเคยทำมาแล้ว และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะเป็นครั้งที่ 3 เพราะทำให้ประชาธิปัตย์มาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรกก็ประสบผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยมด้วยความร่วมมือของทุกคนในพรรค เห็นไปในทิศทางเดียวกันก็สำเร็จ ก็ได้มา 170 กว่าเสียง ตอนนั้นได้มาเยอะ ครั้งที่ 2 เป็นรัฐบาล หาเสียงยาก แล้วก็มีปัญหาความขัดแย้งเยอะในช่วงนั้น คะแนนก็ตกลงไป แล้วก็ได้ไม่ถึง 100 เสียง ครั้งที่ 3 ก็จะเป็นครั้งนี้ที่จะมีการเลือกตั้ง ก็จะดูว่าเราจะได้สักกี่คนเพราะมันต่างกัน พรรคกล้าเป็นพรรคใหม่ ความเป็นพรรคการเมืองใหม่ก็จะทำงานยากขึ้น มันไม่เหมือนพรรคเก่าแก่ พรรคที่มีผู้แทนเยอะๆ

สำหรับเหตุผลที่กลับมาการเมืองโดยมาเข้าพรรคกล้า เพราะใช้หลักคิดเดียวกัน หนึ่งคือมองเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เรื่องปากเรื่องท้อง อันนี้สำคัญ ในฐานะที่ถึงแม้จะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ เป็นวิศวกร แต่ทำงานด้านเศรษฐกิจมานาน อาจจะเป็นเพราะคุณพ่อผม (นายประมวล สภาวสุ) เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งผมก็ไปทำงานกับท่าน เราพอจะมีประสบการณ์ ก็มอง 2 ปัญหาใหญ่ๆ ซึ่งคิดตรงกับคุณกรณ์คิด

ข้อที่ 1 คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมันยาก คือมันไม่ได้ยากเพราะแก้ไม่ได้ แต่มันยากเพราะไม่ค่อยกล้าจะแก้กัน ความหมายก็คือถ้าภาษาอังกฤษ เขาเรียก political views คือความกล้าที่จะตัดสินใจทางการเมืองในเรื่องเศรษฐกิจ

ผมยกตัวอย่างเช่น จะปรับปรุงภาษีคนมีรายได้สูง ซึ่งมันยาก พอทำอย่างนั้นไม่ได้ จะใช้นโยบายขยายฐานภาษีก็แปลว่าไปเก็บภาษีคนข้างล่างมากขึ้น ซึ่งไม่ผิด แต่ควรจะทำข้างบนก่อน ก่อนจะขยายฐานภาษี จะต้องเข้าไปดูภาษีของเศรษฐีก่อน ซึ่งถ้าไปดูกันวันนี้ คนรวยมีประมาณ 1% ของประเทศ เขาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยมาก เพราะเขาไม่ได้เป็นลูกจ้าง เขาเป็นนายจ้าง ไม่ต่างกับฝรั่ง อย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่เป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก เงินเดือนปีละ 1 เหรียญ เพราะเขาไม่กินเงินเดือน แต่ประโยชน์ของเขาคือหุ้นที่เขาถืออยู่แล้วเขาก็ใช้เงิน ก็คล้ายๆ กับ อีลอน มัสก์ ที่ก็ไม่มีเงินเดือน บ้านก็ไม่มี เพราะว่าเงินทุกอย่างอยู่ในทุน คือเป็นหุ้น และวิธีที่เขาใช้เงินก็คือนำหุ้นไปค้ำประกันเงินกู้ แล้วเขาก็ไปกู้เงินจากธนาคารมาใช้ วันดีคืนดีเขาก็จะขายหุ้น สิ่งที่ดีในสหรัฐฯ ก็คือเวลาเขาขายหุ้นเขาจะมีกำไรมหาศาล เพราะว่าหุ้นได้มา พอหุ้นขึ้นเขาจะกำไรเยอะ เขาเสียภาษีกันเยอะ แต่บ้านเราไม่เสียสักบาท

จำได้ไหมสมัยทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้น (บริษัท ชินคอร์ป) ให้กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ มูลค่า 73,300 ล้านบาท) ที่ได้เงินมาโดยไม่เสียภาษีสักบาท ซึ่งตอนนั้นไทยโพสต์ก็เอาบทความของผมไปลงเยอะเหมือนกัน เพราะผมเป็นคนไปค้น หลักฐานต่างๆ เรื่องที่ไม่เสียภาษี เช่นเรื่องของหุ้นแอมเพิลริช ซึ่งคนรุ่นใหม่ลืม ไม่รู้ ไม่เข้าใจ อย่างนี้ต้องมีความกล้า ซึ่งส่วนใหญ่นักการเมืองไม่ค่อยมี แต่พรรคกล้าเขาบอกเขากล้าที่จะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้และกล้าที่จะแก้ไขปัญหา อันนี้ใจตรงกันคือต้องมีความกล้า

อันที่ 2 ที่ใจตรงกัน เป็นเรื่องการเมืองก็ต้องอาศัยความกล้า การเมืองเวลานี้เราไม่ได้มองอนาคต เรามองอดีตและเรามีความรู้สึกว่าเราลืมไม่ได้ เพราะอดีตมันชอกช้ำ

คนส่วนหนึ่งก็บอกว่าเหตุความขัดแย้งในอดีตทำให้ญาติพี่น้องเสียชีวิตตายกี่ศพก็ว่ากันไป คนอีกส่วนนึงก็บอกว่าความขัดแย้งทำให้ทรัพย์สินของราชการ ของเอกชน ถูกเผา บ้านเมืองเกิดจลาจล มองตรงนี้ก็เลยเป็น 2 ขั้ว แล้วก็มีฝ่ายกองทัพเข้ามาแก้ไขปัญหากลายเป็นเผด็จการ ในทางเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าถ้าการเมืองแบ่งขั้ว การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะยาก
ผมคิดว่าเราต้องมีความกล้าพอที่บอกว่าเราจำ แต่เราไม่เอามาเป็นอุปสรรคการเดินไปข้างหน้าดีหรือไม่ เพราะว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดไม่ใช่เพื่อตัวเรา เป้าหมายสำคัญที่สุดก็คือทำอย่างไรให้ประเทศมันเดินหน้าได้ แต่ตราบใดที่การเมืองยังร่อแร่ ประเทศจะเดินหน้าลำบาก

ทฤษฎีของพรรคของการเมือง 2 ขั้ว เป็นทฤษฎีที่เราใฝ่ฝันว่าอยากจะมีในอดีต เพราะเราเคยมีทฤษฎีหลายขั้ว แล้วเราก็เลยไปตามสหรัฐฯ ที่มีเพียง 2 ขั้ว และในวันนี้พิสูจน์แล้วว่าทฤษฎี 2 ขั้วไม่ดี สหรัฐฯ แตกแยกกันมาก ถึงกับบุกรัฐสภา แล้วก็แค้นกันแบบมองหน้ากันไม่ติด ไม่สนใจเรื่องเหตุเรื่องผลกันแล้ว อันนี้ทำให้สองพรรคการเมืองไม่มองหน้ากัน แต่สมัยก่อนในอดีตคนชอบล้อนักการเมือง เมื่ออยู่ในสภาทะเลาะกัน ออกไปข้างนอกก็เป็นเพื่อนกัน เพราะตอนนั้นเรามีหลายพรรคการเมืองมีประมาณ 4-5 พรรค ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตใครจะมารวมกัน ก็เลยไม่กล้าเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน ก็เป็นเพื่อนกัน การทำงานก็มีคำว่า partition by partition หมายความว่าบางครั้งก็รวมกัน

อย่างตอนผมเสนอกฎหมายเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัยบนรถยนต์ ก็ไม่มีใครแย้ง ผมเป็นฝ่ายค้าน รัฐบาลก็สนับสนุนเพราะเป็นของที่ดี เป็นกฎหมายที่ออกไปซึ่งช่วยชีวิตคนได้มหาศาล
อันนี้คือสิ่งที่ใจผมตรงกับพรรคกล้า แล้วผมก็คิดว่าผมน่าจะมีส่วนได้ในการช่วยที่จะให้ 2 ขั้วมันไม่รุนแรงมากเกินไป คือมันมีได้แต่มันไม่ควรรุนแรง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กลับไปที่เก่าคืออยากให้มีหลายพรรค แล้วปัจจุบัน ก็มีการแก้ไขอีก ให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งจะเหลือแต่พรรคใหญ่ พรรคเล็กอย่างพรรคกล้าก็จะเกิดยาก

ยกเว้นซึ่งกรณีนี้จะเป็นกรณีพิเศษ ก็คือจะเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญระบุว่า คือก่อนหน้านี้ ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วปี 2562 ที่เป็นการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว เมื่อเลือกด้วยบัตรใบเดียวไม่มีสิทธิ์ คือคนรัก ส.ส.ก็เลือกนายกฯ ของ ส.ส. โดยที่อาจจะไม่รักนายกฯ ของ ส.ส.คนที่เลือกเลย แต่การเลือกตั้งรอบที่จะมีขึ้นจะแยกเป็นสองส่วนแล้ว ซึ่งจะทำให้เรามีสิทธิ์ว่า

จะเป็นกรณีพิเศษ ก็คือ จะเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญระบุว่า "ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเลือกนายกรัฐมนตรีได้และเลือกส.ส.ได้พร้อมกันไป" คือก่อนหน้านี้ ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่เลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว เมื่อเลือกด้วยบัตรใบเดียวไม่มีสิทธิ์ คือคนรักส.ส.ก็เลือกนายกฯของส.ส.โดยที่อาจจะไม่รักนายกฯของส.ส.คนที่เลือกเลย แต่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะแยกเป็นสองส่วน ....เพราะฉะนั้นการเมืองเดายากว่าจะเกิดอะไรขึ้น

พรรคการเมืองใดเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีดี แล้วเราถูกใจ เราก็เลือกพรรคการเมืองพรรคดังกล่าว สิ่งนี้คือการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะพอเราอยากได้นายกฯ คนนี้ เราอาจจะไปเลือก ส.ส. พรรคนั้นด้วย โดยเราไม่สนใจว่า ส.ส. พรรคนั้นเป็นใคร เพราะเราอยากได้นายกฯ คนนี้ เพราะฉะนั้นการเมืองเดายากว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ เพราะคนอยากได้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ เท่านั้นเอง ซึ่งผมมีหน้าที่ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้โอกาสพรรคกล้า ที่จะเสนอคุณกรณ์เป็นนายกรัฐมนตรี อันนี้คือหน้าที่ในทางยุทธศาสตร์ของผม แต่จะทำแบบไหนอย่างไร ผมต้องขออุบไว้เพราะยุทธศาสตร์เพื่อการเลือกตั้งเป็นเรื่องภายใน ส่วนนโยบายเรามีทีมนโยบายที่เขาทำกันอยู่แล้วก่อนหน้าผมเข้ามา ซึ่งผมได้ดูแล้วก็ตรงกัน

-มองโอกาสของพรรคกล้าอย่างไรในกติกาบัตร 2 ใบ โดยเฉพาะถ้าสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ออกมาให้ใช้สูตร 100 หารคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศ คนมองว่าพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก และพรรคตั้งใหม่อาจไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว?

จริงและถูก ถ้าเป็นแบบของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ตอนนั้นรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเรื่องให้พรรคการเมือง เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะเห็นได้ว่ามันไม่เหมือนกันเลยทีเดียว เช่น ประชาชนอยากเลือกใคร เขาก็จะเลือกพรรคนั้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคเล็กพรรคใหญ่ อาทิ อยากเลือก คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เขาก็จะเลือกพรรคของคุณสมคิด หรือใครอยากเลือกคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็เลือกพรรคที่เสนอชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ ใครอยากเลือกคุณกรณ์ จาติกวณิช เขาก็จะเลือกคุณกรณ์ หรือใครอยากจะเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เขาก็จะเลือก ไม่ว่าจะอยู่พรรคไหน หรือเพื่อไทย ที่มีแนวโน้ม จะเสนอชื่อ แพทองธาร ชินวัตร ประชาธิปัตย์ เสนอจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประชาชนก็เลือกเอา

หน้าที่ของผมในฐานะประธานยุทธศาสตร์ฯ ก็คือทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า คุณกรณ์ เขาพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติที่ดีกว่าคนอื่น ส่วนดีอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของผม

กติกาการเลือกตั้งเรื่องสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบให้แต่ละพรรคการเมืองการเมืองมีส.ส.พึงมี ก็จะดีตรงที่ให้พรรคขนาดเล็ก ก็จะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น เพราะใช้ฐานคะแนนรวมในบัตรปาร์ตี้ลิสต์แค่แสนกว่า แต่หากใช้ระบบ 100 หารเลยโดยไม่มีเรื่องส.ส.พึงมี ก็อาจสามแสนกว่าไปถึงเกือบสี่แสนคะแนน

“ประธานยุทธศาสตร์และนโยบาย พรรคกล้า”บอกว่า สำหรับพรรคกล้า เขามองว่า จุดแข็งที่สำคัญของพรรค คือผมกับคุณกรณ์ เรามีผลงาน แต่อาจจะเป็นผลงานสมัยอยู่กับประชาธิปัตย์ แต่ชัดเจนว่าเรามีผลงาน และเราไม่ต้องเรียนรู้เรื่องงาน เราเข้าไปถึง เราก็ทำงานได้เลย เราไม่ใช่คนที่ไม่เคยอยู่ในการเมือง

ผมเป็นส.ส.ตั้งแต่อายุ 37 ปี ตั้งแต่ปี 2529 และผมอยู่มาหลายกระทรวง โดยแม้บางกระทรวงไม่ได้เป็นรัฐมนตรี แต่ก็เข้าไปช่วยงานพ่อผม ท่านประมวล สภาวสุ ที่เป็นประโยชน์กับผมมาก แล้วคุณกรณ์ ก็เป็นอดีตรมว.คลัง ที่ทำงานได้ดี แต่สำคัญเลยคือเรื่อง"งบประมาณรายจ่ายของประเทศ"เพราะผมทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมอยู่กับเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี กองใหญ่ในแต่ละปี เกือบยี่สิบปี

เมื่อถามถึงว่า คิดว่าพรรคกล้าจะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หรือไม่ ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น “กอร์ปศักดิ์”ออกตัวไว้ว่า วิธีการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอ ที่ใช้บัตรสองใบแล้วให้ประชาชนเลือกนายกฯ ด้วย จึงเดาเรื่องนี้ได้ยาก ก็เลยยังไม่อยากคิด ยอมรับว่าประเมินไม่ออก ครั้งที่แล้วตอนเลือกตั้งปี 2562 หลายคนก็ประเมินไม่ออก การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไป บางคนยังไปคิดว่าจะเหมือนตอนเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะจะเป็น"การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีทางออ้อม"ด้วย

-กติกาการเลือกตั้งที่จะใช้ในการเลือกตั้งรอบหน้า ดูแล้วไม่น่าจะทำให้บางพรรคการเมืองชนะแบบแลนด์สไลด์?

ผมไม่ได้บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มันอาจเกินกว่าแลนด์สไลด์ก็ได้ มันเป็นไปได้หมดทั้งสองทาง สมมุติคนส่วนใหญ่ อยากได้คุณแพทองธาร เป็นนายกฯ แบบนี้ก็มาแน่นอน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะได้มาเยอะ ส.ส.เขตก็เพียบ แต่หากคนไม่เอา อุ๊งอิ๊ง มาเป็นนายกฯ สัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อก็จะหดหายไป แลนด์สไลด์ก็ไม่เกิดขึ้น มันเกือบจะไม่ได้อยู่ที่นโยบาย
เลือกตั้งรอบหน้า กระแสหลักคือ วาระเลือกนายกรัฐมนตรี


-ในฐานะมีประสบการณ์ทางการเมืองมายาวนาน ประเมินว่าการเลือกตั้งใหญ่รอบหน้าจะเป็นอย่างไร ?

จะหนักไปที่การเลือกนายกรัฐมนตรี ทำไม เราจะไปเลือกอย่างอื่น เราต้องเลือกคนทำงาน คนที่บอกว่ามีนโยบายอะไรสวยหรู แต่ดูประวัติการทำงานแล้วไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลย ไม่เคยทำงานเรื่องที่หาเสียงไว้เลย แล้วจะทำได้หรือ ก็เหมือนกับการรับสมัครงาน เวลาเราจะรับคนเข้าทำงานที่บริษัท ก็ต้องดูผลงาน กับประสบการณ์ จะดูความฝันเขาได้ไหม ซึ่งบริษัทใหม่ๆ อาจลองได้ เช่นให้โอกาสเด็กๆที่มีไฟ แต่อันนี้คือประเทศชาติ

-ชื่อของกรณ์ จะเข้าไปอยู่ในชื่อคนที่พอจะเข้าไปเป็นแคนดิเดตนายกฯได้หรือไม่?

ผมว่าอยู่ที่ทีมด้วย ไม่ใช่คนๆเดียว ถ้ามีทีมที่แข็งแกร่งพอ แต่ว่าหัวหน้าทีมสำคัญสุด ซึ่งผมว่าเทียบกัน 1 ต่อ 1 ผมว่ากรณ์ เขาไม่ได้เป็นรองใคร

-มองว่า พรรคกล้า จะอยู่ได้ยาวนานทางการเมืองหรือไม่ จะเป็นพรรคเฉพาะกิจหรือไม่ ?

คำตอบอยู่ที่ประชาชน หากมีคนสนับสนุนแล้วก็ออกมาเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อมากพอ เราก็จะรู้ได้ว่าพรรคกล้ามีอนาคตหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีคนสนับสนุน ไม่มีคนคิดว่าเราดีพอ ก็จะเป็นคำถาม ว่าเราจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร

คำว่าดีพอในที่นี่หมายถึง คือดูแล้วชื่นใจ แต่เท่าไหร่ตอบยาก คือต้องดูว่าคนเขาเลือกพรรคอื่นเท่าไหร่ด้วยเมื่อเปรียบเทียบแล้ว คือหากเราเป็นอันดับ 9-10 แบบนี้ เราก็อาจต้องพิจารณาตัวเราเอง แต่หากว่าเราอยู่อันดับเช่น อันดับ 4 -6 ในเรื่องของคะแนนนิยม มันก็มีความหวังว่าสมัยหน้าต่อไป เราจะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ และหากเรามีโอกาสเข้าไปในสภา ฯ เราก็มีโอกาสแสดงความสามารถเราได้ เรามีเวลา มีโอกาสที่จะแสดงความสามารถเราได้


-ก่อนหน้านี้ที่อยู่นอกเวทีการเมือง มองสถานการณ์การเมืองอย่างไรโดยเฉพาะกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์?


สิ่งหนึ่งที่ผมผิดหวังคือเรื่องคอรัปชั่น ผมว่าประเด็นคอรัปชั่นไม่ได้มีการแก้ไขอย่างจริงจัง มันมีแนวคิดวิธีการที่สามารถทำได้ ที่อาจจะไม่ได้กำจัดคอรัปชั่นให้หมดไป ซึ่งเราก็ได้เห็นเป็นข่าวตลอดเวลาเรื่องคอรัปชั่น ซึ่งนี้ขนาดยังไม่มีใครพูดถึงเรื่อง"ฮั้วงานก่อสร้าง" ซึ่งค่อนข้างจะเยอะ เงียบจนผิดสังเกตุเหมือนกัน


ที่ผมบอกว่าผิดหวังก็เพราะ ก่อนหน้าที่คสช.จะเข้ามาเป็นรัฐบาล ตอนแรกคสช.ระบุพฤติการณ์ของนักการเมืองว่าแย่มาก แต่พอคสช.เข้ามาเป็นรัฐบาล ผมว่าก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากรัฐบาลที่มาจากนักการเมือง เผลอๆ ตรวจสอบยากกว่าอีก เพราะไม่ต้องตอบประชาชน และองค์กรอิสระก็ผิดทิศผิดทาง คล้ายๆ กับมีคอนเน็กชั่นเต็มไปหมด ทำให้ปิดโอกาสคนอื่น พรรคกล้า เลยบอกว่าพรรคจะชูเรื่อง โอกาสนิยม คือกล้าที่จะเปิดโอกาส ให้ทุกคนได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ไม่ใช้เส้นสาย ไม่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง


ในฐานะมีประสบการณ์การเมืองมายาวนาน เราถามถึงว่า มองว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ลักษณะจะเป็นอย่างไร มองว่าจะเป็นแบบเดิม มีแบ่งขั้ว เช่น เอาประยุทธ์ ไม่เอาประยุทธ์ หรือจะบอกเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแบบตอนปี 2562 หรือไม่ “กอร์ปศักดิ์”ใช้ประสบการณ์การเมืองที่มีอยู่ยาวนาน ประเมินไว้ว่าผมมองว่ากระแสเรื่อง เลือกนายกฯจะสูงเพราะมีแคนดิเดตเยอะ แต่ผมว่าก็คงยังมีเรื่องการแบ่งขั้ว แต่อย่างที่ผมตั้งแต่ตอนต้น คือเราต้องการกล้าพอที่จะบอกว่า เลิกกันได้ไหม และเราคงไม่ใช่ทางเลือกที่สาม ที่สี่ ที่ห้า แต่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก คือส่วนตัวผมอยากให้มองถึงคุณสมบัติของคนมากกว่า ถ้าเราเลือกในลักษณะยุทธศาสตร์ โดยไม่มองว่าเขาเป็นใคร เก่ง-ไม่เก่ง หรือดีไม่ดีอย่างไร เราไปไม่รอดหรอกครับ ผลสุดท้าย อย่างคนที่ทำเรื่องเศรษฐกิจก็ไม่อยากเห็นที่จะแบ่งสองขั้ว เพราะทำงานยาก


-วางเป้าหมายทางการเมืองของตัวเองต่อจากนี้อย่างไร?


ผมก็มองและหวังว่าจะได้เป็นส.ส.และผมก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และถ้าสุขภาพดี ผมก็จะทำต่อไป แต่ไม่น่าจะเกินสองสมัย ไม่น่าเกินแปดปี ไม่ได้มองว่าจะกลับไปเป็นรัฐบาล ไปมีตำแหน่งอะไร ไม่เกี่ยว เพราะทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ถามว่าอยากเป็นรัฐบาลหรือไม่ โถ ใครไม่อยากจะเป็น พวกที่บอกไม่อยากจะเป็น ก็องุ่นเปรี้ยว ใครก็อยากเป็น แต่เป็นฝ่ายค้านได้ไหม ก็สบายมาก ใครที่ทันสมัยผมเป็นฝ่ายค้าน อภิปรายรัฐบาลเช่นรัฐบาลคุณบรรหาร ศิลปอาชา รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็คงรู้บทบาทของผมในสภา เป็นอย่างไร ก็ไม่ได้เป็นรองใครเหมือนกัน ขอคุยหน่อย(หัวเราะ) ส่วนพรรคกล้า ก็การันตีได้ว่าไม่เป็นรองใครแน่นอน เมื่อเข้าไปทำงาน เราสามารถทำงานได้ แต่ทุกอย่างอยู่ในมือของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เราจะบอกได้อย่างไรเช่นชนะแน่ แลนด์สไลด์ ผมว่าไม่ถูก
................................................................................................................................................................
ข้อเสนอ รับมือ-แก้ปัญหาศก.
แนะรัฐบาลอย่าดึงยาว


แน่นอนว่า คุยกับ “กอร์ปศักดิ์-ประธานยุทธศาสตร์และนโยบาย พรรคกล้า- อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ”ทั้งที ไม่คุยเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจคงไม่ได้


เราเลยถามมุมมอง ความเห็นต่อเรื่องการทำงานของรัฐบาลยุคที่มีนายกฯชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ยุคคสช.มาถึงรัฐบาลปัจจุบันว่าตัวเขามีความเห็นอย่างไร “กอร์ปศักดิ์”ฟังคำถามแล้ว เขาก็ให้ความเห็นตามมา โดยเริ่มต้นให้ทัศนะว่า ผมขอเริ่มที่รัฐบาลยุคคสช.ก่อน ซึ่งเคยมีอดีตรมว.คลังที่มาจากอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย (อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์) ที่ผลักดันเรื่องเกี่ยวกับระบบดิจิตอล เช่น PromptPay อันนี้ขอชื่นชม วางรากฐานไว้ได้ดี จนตอนนี้หลายคนแทบไม่ต้องใช้เงินสดกันแล้ว เป็นประโยชน์มาก รวมถึงเรื่อง Bigdata การเก็บข้อมูลต่างๆ ก็ทำได้ดีมาก จนเกิดระบบเช่น หมอพร้อม มาช่วยแก้ปัญหาโควิด ที่ทำได้ดีมาก อันนี้คือผลงาน


คือผมไม่มองเรื่องผลงานการก่อสร้างโครงการต่างๆ เพราะมองว่า ส่วนใหญ่ก็ได้ทั้งเงินทั้งกล่อง แต่ผมมองการก่อสร้างโครงการต่างๆ ว่าทำเกินไปหรือไม่เพื่อให้มูลค่ามันสูงๆ กล่องใหญ่ขึ้น เงินใหญ่ขึ้น ผมมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นงานพัฒนาประเทศ ตามขั้นตอนปกติ เพราะรัฐบาลต้องปฏิบัติแล้วรัฐบาลต้องมีผลงานเพราะอยู่มาเจ็ดปีกว่าแล้ว พวกผมอยู่กับ1-2 ปี แค่เซ็นสัญญาโครงการก็ไปแล้ว แต่ว่ารัฐบาลได้อยู่ตั้งแต่เซ็นสัญญาจนจบโครงการ เก็บงานหมดทุกเม็ด ผมจึงเฉยๆ เพราะหากรัฐบาลไม่ทำ ก็แย่ ไม่มีใครหรอกที่ไม่ทำ เพราะเป็นแผนงานของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่วางไว้นานแล้ว แต่ผมมองทิศทางการทำเศรษฐกิจแล้วผมว่าในช่วงโควิด เรื่องเงินเยียวยา ตอนแรกรัฐบาลทำไม่ค่อยดี แต่ตอนหลังทำเรื่องอย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง ผมก็มองว่ามาถูกทาง


เพราะหลักคิดของผมคือเวลาบ้านเมืองมีปัญหา ก็ให้ใช้วิธี"รัฐบาลเป็นหนี้แทนประชาชน อย่าให้ประชาชนเป็นหนี้"เพราะดอกเบี้ยในระบบสำหรับประชาชนก็ไม่ถูก ยิ่งดอกเบี้ยนอกระบบยิ่งไม่ต้องพูดถึง แพงมาก เพราะฉะนั้น การเยียวยาประชาชนผ่านการทำโครงการ มีข้อดี คือไม่มีการโกง เพราะโกงไม่ได้ อาจมีบ้างแต่ก็น้อยมาก แต่มีข้อเสียคือเรื่องภาษี เพราะมีร้านค้าจำนวนไม่น้อยไม่อยากเข้าโครงการเพราะกลัวโดนเรื่องภาษี ที่ก็มีวิธีการแก้ไขได้ แต่ประเด็นของผมคือ เราทำแค่นั้นไม่พอ แต่ต้องทำเรื่องของการลงทุนที่ต้องกระจายไปทั่ว ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ค่อยชอบทำ แต่รัฐบาลชอบทำเมกกะโปรเจตคต์ใหญ่ๆ ที่จะได้ประโยชน์เฉพาะคนไม่กี่กลุ่ม มันไม่กระจายออกไป ตรงนี้ผมว่าผิดพลาด รวมถึงหลักคิดที่ว่าประเทศจะต้องพึ่งเงินทุนจากต่างประเทศอันนี้ก็ผิด เพราะ Globalization ที่เคยบอกกันว่าโลกแบน แต่ตอนนี้กลับไปกลมเหมือนเดิมแล้ว คือตัวใครตัวมัน เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว แผนยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี ทิ้งตระกร้าไปได้แล้ว เพราะลำบากแล้วที่จะเดินต่อ
ได้เวลาดึง”เงินใหม่”เข้าประเทศ


“กอร์ปศักดิ์-ประธานยุทธศาสตร์และนโยบาย พรรคกล้า”ให้ความเห็นอีกว่า เศรษฐกิจประเทศไทยต่อไป เราควรต้องนำ"เงินใหม่"เข้ามา แต่เป็นเงินใหม่ที่เอาเข้ามาแล้วไม่ทำให้บ้านเมืองเราสกปรก เอาโรงงานเข้ามาบ้านเราอาจสกปรก เอานักท่องเที่ยวเข้ามาก็เช่นกัน แต่เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นดูแลได้ ถ้าเรามีเงินให้เขาก็คือเรื่องการจัดการขยะ


"ยุคใหม่ เศรษฐกิจที่ดีคือ คนฉลาด บ้านเมืองสะอาด และปลอดภัย ไม่ต้องดูอะไรเลย อย่าไปพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ต้องให้บ้านเมืองเราสะอาด ความปลอดภัยในบ้านเรามีสูง ถ้าเราทำสองอย่างนี้ได้ เราก็ไปโลดแล้ว เงินจะเข้ามาเอง ในรูปแบบการท่องเที่ยว เพราะคนไม่เลิกเที่ยว แต่คนเลิกค้าขายกับเราอาจจะมี แต่หากบ้านเราสวย สะอาด ปลอดภัย มันก็จบ โดยก็ต้องลงทุนแบบนี้ ที่ไม่ใช่เมกะโปรเจคต์"


...กรุงเทพต่อไปก็จะไม่สวยเพราะจะมีแต่คอนกรีต เห็นว่าจะทำจักรยานลอยฟ้าอีก ตกลงเราจะไม่อยู่บนดิน ไม่อยู่กับต้นไม้แล้วใช่ไหม ผมว่าเราต้องหยุดสร้างกรุงเทพได้แล้ว ต้องไปทำให้โคราชเป็นเมืองของเทคโนโลยี เชียงใหม่เป็นเมืองของการท่องเที่ยว ระยองเป็นเมืองท่า ภูเก็ตเป็นเมืองดิจิตอล ดีกว่าที่จะทำให้กรุงเทพมีรถไฟฟ้ายี่สิบสาย ใช้เงินมหาศาล ที่เงินก้อนนี้คือหนี้ที่ยังไม่ได้เข้าในระบบ เป็นหนี้เงินกู้นอกระบบ แล้วพอเข้ามาก็จะอ้วก


ส่วนการลงทุนที่หวังพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศผ่านโครงการอีอีซี ผมว่าเหนื่อย มันยากที่จะเหมือนยุค" โชติช่วง ชัชวาล "แบบในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพราะตอนนั้นประเทศไทยมีวัตถุดิบให้คนนำไปใช้ได้ แต่วันนี้เรามีแต่ที่ดิน ที่ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยนำเรื่องโครงสร้างภาษีเพื่อให้เข้ามาลงทุน ที่มองแล้วก็ใจหาย เพราะตกลงแล้วเราได้อะไร เพราะไม่เก็บภาษีเป็นเวลานาน เพียงเพื่อให้เขาเข้ามา เพราะอย่างบางโครงการเข้ามาก็พร้อมกับระบบโรบอท ที่ก็ไม่ได้จ้างแรงงานสักเท่าไหร่ ตัวเลขส่งออกจะดีขึ้นแต่การนำเข้าก็จะมาก เพราะนำเข้ามาประกอบเสร็จก็ส่งออก ก็เหมือนอุตสาหกรรมรถยนต์ในบ้านเรา


"ถามว่าเราอยู่แบบนี้ได้หรือ ผมว่าไม่ใช่ ทำไม ไม่ลงทุนเรื่องน้ำ ให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่ม Productivity เพราะหาก Productivity ดี รายได้เกษตรกรจะสูงขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แต่ Productivity จะเกิดขึ้นได้ เกษตรกร ต้องมีระบบน้ำเพื่อทำการเกษตรที่บริบูรณ์ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้พูดถึงเรื่องระบบน้ำเลย เสียดาย เจ็ดปีไม่ได้ทำ"


- หากพรรคกล้า มีบทบาท มีอำนาจในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งที่จะทำเร่งด่วนเรื่องเศรษฐกิจอันดับแรก ๆคืออะไร?


สิ่งแรกที่ต้องทำคือเรื่อง"งบประมาณ"เพราะเรื่องรายได้ต้องใช้เวลา แต่เรื่องรายจ่าย ประหยัดได้ เราไปรีดไขมันออก งบประมาณของรัฐบาลต้อง lean and clean สะอาดคือต้องคอรัปชั่นน้อยที่สุด ส่วนการประหยัด ทำได้ด้วยการปรับปรุงเช่น งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ค้างอยู่ก็ใช้ให้หมด จับมาวิ่งเพื่อให้ไขมันลด ซึ่งเคยมีการทำมาแล้ว เช่นช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส ที่ก็ทำสำเร็จ โดยต้องรีดไขมันออกแต่ไม่ได้หมายถึงจะต้องไปตัดงบกองทัพเท่าไหร่ ต้องตัดตรงไหนเท่าไหร่ คือให้เต็มที่แต่ต้องให้ตามลำดับความสำคัญ เพราะงบเรามีน้อย เราไม่ต้องการไปกู้จนทะลุเพดาน เพราะเราต้องการรักษาความน่าเชื่อถือว่าเราบริหารเป็น ไม่ใช่บริหารงานไม่เป็น


ยกตัวอย่าง"งบกองทัพ"สิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุดคือ ให้เต็มที่กับเรื่องสวัสดิการของกองทัพ โดยเฉพาะระดับล่างและให้เต็มที่เรื่องการฝึกงาน โดยกองทัพต้องเป็น technical college เป็นวิทยาลัยทางเทคนิค สารพัดช่าง เพราะมีอุปกรณ์ครบ มีความสามารถ โดยกองทัพนอกจากจะต้องแข็งแกร่งแล้ว กองทัพจะต้องมีหน่วยงานเข้าไปช่วยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือทำงานร่วมกันในการแก้ไขเรื่องอุทกภัย เพราะปัญหาโลกร้อนทำให้เราจะเจอปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม มากขึ้นซึ่งไม่มีใครที่จะมีความพร้อมมีวินัยมีระบบช่วยแก้ไขปัญหาได้เร็วและดีเท่ากับกองทัพ สำคัญแค่ว่าเราจะให้งบเขาพร้อมหรือไม่ ซึ่งความเห็นผมจะให้เขามากขึ้นไม่ใช่ให้น้อยลง แต่ผมไม่เอาเรื่อง"เรือดำน้ำ"เพราะอย่างกรณีการพิพาทระหว่างรัสเซียกับยูเครน ไม่เห็นพูดเรื่องเรือดำน้ำ ทั้งที่ยูเครนก็อยู่ติดทะเล มันเป็นข้อพิสูจน์ว่าอะไรบางอย่างมันไม่จำเป็น แต่กองทัพอากาศ จำเป็นมาก กองทัพต้องพร้อม แบบนี้เป็นต้น กองทัพเรือก็อาจต้องเปลี่ยนบทบาท แต่เราไม่ใช่นักการทหาร ที่จะไปเข้าใจลึกซึ้งแต่เรารู้อยู่อย่างในฐานะเป็นพลเรือนว่าในช่วงไม่มีการรบ กองทัพต้องช่วยประชาชน เพราะอุทกภัยจะมาบ่อย เพราะจะให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไปทำทั่วประเทศทำไม่ได้เพราะยังไม่พร้อม งบประมาณไม่พร้อม คนไม่มีวินัยพอ ไม่มีทางเทียบทหาร


การบริหารงบประมาณแต่ละกระทรวงเยอะมาก ช่องโหว่เยอะ การแก้ก็ใช้ e-goverment เข้ามา เช่นการอำนวยความสะดวกประชาชนในเรื่องต่างๆ เช่น การต่อทะเบียนรถยนต์ การต่อใบขับขี่ จ่ายค่าภาษีบำรุงท้องถิ่น ยกเว้นบางกรณีต้องไปด้วยตัวเองที่หน่วราชการ คือกรณีต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ และมีหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกกับประชาชนกรณีเขาไม่มีสมาร์ทโฟน ที่เอกชนทำได้ เป็น service center เช่นให้ไปทำที่ไปรษณีย์ แล้วคิดค่าบริการไม่แพง เพราะเรื่องบิ๊กดาต้า เราทำได้ดีอยู่แล้วเพียงแต่ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐต่างคนต่างทำ ไม่ได้นำมารวมในที่เดียวเราก็ต้องทำให้มารวมอยู่ที่เดียว ซึ่งจะช่วยลดเวลาการทำงานของหน่วยราชการ แทบไม่ต้องมีเลยสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน มันจบไปแล้ว แต่เราต้องลงทุนเรื่องApp เรื่องระบบ Security ผมว่ามันไปไกลแล้ว รัฐบาลต้องตามให้ทัน ไม่ใช่มาจัดงบประมาณแบบเดิมๆ จัดงบซื้อโต๊ะทำงาน ซื้อดินสอ ไม่ต้องแล้ว ทุกวันนี้เกือบจะทำงานที่บ้านกันอยู่แล้ว แบบนี้ลดงบประมาณได้เยอะ เพราะเราต้องเตรียมตัวสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นในการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งหลายที่สร้างกันมา เพราะเรายังไม่ได้จ่ายเลย เรายังเป็นหนี้อยู่ ต้องผ่อนห้าสิบปี


ส่วนเรื่องการลงทุน ก็ต้องลงทุนให้บ้านเราสะอาด เช่นประเทศไทยเรามีอุทยานแห่งชาติร่วม 170 แห่งทั่วประเทศ ก็ควรอัดเงินเข้าไปให้เขามีเจ้าหน้าที่เพียงพอ ให้มีการดูแลพื้นที่อุทยานให้สะอาด ทำให้สวยดูดี น่าท่องเที่ยว ให้งบเขาไป


"งานที่เป็นเมกะโปรเจคต์จริง ๆและต้องทำ ต้องเริ่มที่จะทำก็คือแนวทางในการกั้นน้ำทะเลไม่ให้เข้ามาหนุนกรุงเทพ เพราะกรุงเทพจะอยู่ใต้น้ำภายใน 10-20 ปี เพราะมันทรุดหมด ซึ่งโครงการเหล่านี้ต้องใช้เวลาร่วมยี่สิบปีถึงจะทำเสร็จ แบบเนเธอร์แลนด์ทำ ไม่ทำไม่ได้ รัฐบาลนี้ไม่เคยคิดเรื่องนี้ ไม่ทำไม่ได้"


-มองภาพรวมการเมืองต่อจากนี้อย่างไร ประเมินว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่?


ผมมองว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงกว่าเดิมเยอะ เพราะว่ารัฐบาล อย่างที่คนหรือสื่อใช้กัน lame duck คือเป็นรัฐบาลที่ผู้ปฏิบัติ ข้าราชการฟังน้อยลง เพราะอีกไม่นานก็เปลี่ยนนายแล้ว ถ้ารัฐบาลเป็นห่วงประเทศ รัฐบาลอย่าดึงยาวเลย

ผมเสียเปรียบ พรรคเล็ก หากจะมีการเลือกตั้งเร็ว แต่หากเลือกตั้งเร็ว ได้คนใหม่เร็ว ได้ทำงานเร็ว ก็จะได้เข้าไปแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น จะเป็นใครก็แล้วแต่ เพราะผมมองเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว หากไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ไม่เละตุ้มเปะหรือ แล้วร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ที่ผมยังไม่เห็น แต่ผมเดาได้เลยว่า ไม่มีอะไรต่างจากเดิม ไขมันเต็มเพียบ กู้เต็มเพียบ


คือผมอยากให้รัฐบาลไม่เป็นเป็ดง่อย lame duck คือเป็นรัฐบาลที่ทำงานโดยมีเสถียรภาพร้อยเปอร์เซนต์ ซึ่งตอนนี้คุณดูแล้วคิดว่ามีหรือไม่ ผมถามกลับไป ก็เห็นมีแต่คนพูดจะยุบหรือไม่ยุบสภา จะมีนายกฯสำรองหรือไม่มีสำรอง คนพูดแต่รัฐบาลจะอยู่ถึงหรืออยู่ไม่ถึงช่วงไหน มีแต่เรื่องอะไรไม่รู้ที่ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคเลย ใครอยากซื้อรถ ก็ไม่กล้าซื้อ ใครอยากซื้อที่ดินก็ไม่กล้าซื้อ ใครอยากทำโรงงานก็ไม่กล้าทำ ไม่กล้าขยายโรงงาน ไม่มีใครกล้าทำอะไรสักอย่าง นั่งรออย่างเดียว


โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก