ฤา! ถึงคราวต้องสังคายนาวินัยสงฆ์อีกครั้ง!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สมัยก่อนปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์เถรเจ้าและภิกษุทั้งหลายว่า... “..ธรรมวินัยที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย.. ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแล้วแห่งเรา..”

ต่อมาหลังพุทธปรินิพพาน ๔ เดือน คณะสงฆ์โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรกระทำสังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อรวบรวมและเรียบเรียงให้เป็นหมวดหมู่ วางลงให้เป็นแบบแผน จัดแบ่งให้เป็นประเภทที่เรียกว่า ไตรปิฎก.. หรือพระธรรม .. พระวินัย…

การปฐมสังคายนาในครั้งนั้น เริ่มกระทำในวันเพ็ญเดือน ๑๐ หลังพุทธปรินิพพาน ๔ เดือน ณ ปากถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภาระ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมีมติให้ความสำคัญในพระวินัยเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความเชื่อมั่นว่า.. เมื่อพระวินัยยังคงดำรงอยู่ พระธรรมก็ยังดำเนินต่อไปได้.. ด้วยพระวินัยยังคงดำรงอยู่ พระพุทธศาสนายังคงดำรงอายุต่อไปได้...

จึงนำไปสู่การยกพระวินัยขึ้นเป็นเบื้องต้นแห่งการสังคายนาในครั้งนั้น โดยพระมหากัสสปเถรเจ้า ได้สมมติตนเองเพื่อสอบถามเรื่องเกี่ยวกับพระวินัย และ พระอุบาลีเถรเจ้า สมมติตนเองเพื่อตอบพระวินัย

ถึงแม้ว่า คณะสงฆ์ในยุคต้นพุทธปรินิพพาน จะตั้งอยู่ในความไม่ประมาท โดยมีเหตุผลพ้องกันว่า หากปล่อยให้เนิ่นนาน.. สิ่งที่ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย จักเจริญ สิ่งที่เป็นธรรม เป็นวินัย จะเสื่อมถอย พวกอธรรมวาที อริยวาที ได้พวกแล้ว จักเจริญ ฝ่ายธรรมวาที วินัยวาที จะเสื่อมถอย...

อย่างไรก็ตาม แม้พระมหากัสสปเถรเจ้าและคณะสงฆ์ จะตั้งอยู่ในความไม่ประมาท รีบเร่งดำเนินการสังคายนา เพื่อต้องการสร้างเสถียรภาพของพระพุทธศาสนาให้มั่นคง แข็งแรง หลังจากพุทธปรินิพพาน แต่ก็ยังมีเหตุปัจจัยอันสำแดงให้เกิดเป็นปมปัญหาจากครั้งนั้น ที่ขยายผลสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน จากกรณีความเห็นแย้งของ พระปุราณเถระจากทักขิณาคีรีชนบท พร้อมบริวาร ๕๐๐ รูป ที่ได้กล่าวกับพระมหากัสสปเถระว่า

 “ท่านทั้งหลายได้ทำสังคายนากันเรียบร้อยก็ดีแล้ว แต่กระผมได้ฟังได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร จักถือปฏิบัติตามนั้น...”

จึงปรากฏความขัดแย้งที่เรียกว่า กรณีวัตถุ ๘ ประการ ขึ้น แม้ในสมัยนั้น ได้แก่

๑.อันโตวุฏฐะ เก็บอาหาร (ยาวกาลิก) ไว้ในที่อยู่ของตน

๒.อันโตปักกะ มีการหุงต้มอาหารในที่อยู่ของตน

๓.สามปักกะ พระลงมือหุงต้มด้วยตนเอง

๔.อุคคหิตะ หยิบของเคี้ยวของฉันที่ไม่ต้องประเคน

๕.ตโตนีเหตะ ของที่นำมาจากที่นิมนต์เป็นพวกอาหาร

๖.ปุเรภัตตะ การฉันของก่อนเวลาภัตตาหาร..

๗.วนัฏฐะ ของที่เกิดและตกอยู่ในป่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ

๘.โปกขรัฏฐะ ของที่เกิดในสระ.. เช่น ดอกบัว เหง้าบัว..

ซึ่งเดิมวัตถุทั้ง ๘ ประการตามที่กล่าว มีพุทธานุญาตอยู่ ๒ คราว คือ ครั้งสมัยเกิดทุพภิกขภัยที่เมืองเวสาลีและพระนครราชคฤห์ ซึ่งเมื่อทุพภิกขภัยได้หายไปแล้ว จึง ทรงห้ามมิให้พระภิกษุกระทำ.. แต่จะด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ชัดเจน จึงทำให้ยังมีพระภิกษุจำนวนหนึ่ง ยังคงถือปฏิบัติอยู่ตามพุทธานุญาตในสมัยพิเศษ

ซึ่งความขัดแย้งต่อมติพระสังคีติกาจารย์ ๕๐๐ รูป จากครั้งปฐมสังคายนา.. ว่า...

 “จักไม่บัญญัติ สิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ.. จักไม่เพิกถอน สิ่งที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว จักสมาทาน ศึกษา สำเหนียก ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติไว้...”

แม้ว่า ในการสืบอายุพระพุทธศาสนาจะมีการสังคายนาถึงสองครั้ง ด้วยความรับผิดชอบของพระอริยสงฆ์ในสมัยนั้น แต่ก็มิใช่ว่าจะระงับข้อขัดแย้งในหมู่สงฆ์ให้สิ้นไปได้ ดังที่เกิดการแตกกระจายเป็นนิกายต่างๆ คณะต่างๆ ถึง ๑๘ นิกาย ใน ๑๐๐ ปีหลังพุทธปรินิพพาน.. ที่เชื่อมโยงมาจากกรณีวัตถุ ๘ ประการ (จากกรณีพระปุราณะขัดแย้งกับคณะพระมหากัสสปเถรเจ้า) และต่อมาเป็นปัญหา สู่กรณีวัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุวัชชีบุตร ที่จำพรรษาในเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี

จึงเกิดการสังคายนาครั้งที่ ๒ ขึ้นที่นครเวสาลี แคว้นวัชชี มีการวินิจฉัยกรณีวัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุวัชชีบุตรว่า.. ผิดพระวินัย ผิดพระธรรม หรือไม่ เพื่อชำระมลทินศาสนาให้สิ้นไป โดยมีข้อสรุปดังนี้

๑) การเก็บเกลือแกงไว้ในแขนง โดยตั้งใจจะใส่ลงไปในอาหารที่จืดนั้น เป็น อาบัติปาจิตตีย์ เพราะการสะสมอาหารในโภชนสิกขาบท

๒) การฉันโภชนะในเวลาวิกาล เมื่อตะวันบ่ายคล้อยไปแล้วถึงสององคุลี ผิดต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนะในเวลาวิกาล ตามโภชนสิกขาบท

๓) ภิกษุฉันอาหารเสร็จแล้ว คิดว่า จักฉันอาหารเข้าไปในบ้าน แล้วฉันโภชนะที่เป็น อนติริตตะ ผิดเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนภิกษุไข้ และไม่ได้ทำวินัยกรรมก่อน

๔) สงฆ์ทำสังฆกรรม ด้วยคิดว่า ให้พวกมาทีหลังอนุมัติ ทั้งที่สงฆ์ยังประชุมไม่พร้อมหน้ากัน ผิดหลักที่ทรงบัญญัติไว้ใน จัมเปยยขันธกะ ใครทำต้องอาบัติทุกกฎ

๕) อาวาสแห่งเดียว มีสีมาเดียวเท่านั้น ภิกษุจะแยกกันทำอุโบสถสังฆกรรมไม่ได้ ผิดหลักที่ทรงบัญญัติไว้ใน อุโบสถขันธกะ ใครขืนทำต้องอาบัติทุกกฎ

๖) การประพฤติปฏิบัติ ต้องด้วยเข้าใจว่า อุปัชฌาย์อาจารย์ของเราเคยประพฤติมาอย่างนี้ ไม่ถูกต้องนัก เพราะท่านเหล่านั้นจะประพฤติถูกหรือผิดก็ได้ ต้องยึดหลักพระวินัยจึงสมควร

๗) นมส้มที่ละความเป็นนมสดไปแล้ว แต่ยังไม่กลายเป็นทธิ ภิกษุฉันภัตตาหารแล้ว ห้ามภัตรแล้ว จะดื่มนมนั้น อันไม่เป็นเดนภิกษุไข้ หรือยังไม่ได้ทำวินัยกรรมอันควร ผิดต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารที่เป็น อนติริตตะ

๘) การดื่มสุราอย่างอ่อน ที่มีสีเหมือนเท้านกพิราบ ซึ่งยังไม่ถึงความเป็นน้ำเมา ไม่ควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย

๙) ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชาย ภิกษุจะใช้ไม่ควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งต้องตัดเสีย จึงจะแสดงอาบัติตก

๑๐) การรับเงินทอง หรือยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ไม่ควร .. ต้องอาบัตินิสัคคียปาจิตตีย์ เพราะรับเงินทอง ต้องสละตามพระวินัย จึงแสดงอาบัติตก

จากที่ยกกรณีสังคายนาครั้งที่ ๑-๒ โดยย่อขึ้นมาในครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นเส้นทางการสืบเนื่องอายุพระพุทธศาสนาว่า.. มิได้โรยด้วยกลีบดอกกุหลาบ... ซึ่งต่อมาจึงต้องกระทำการสังคายนาครั้งที่ ๓-๔-๕-๖...... เพื่อการดำรงอยู่ของพระธรรมวินัยดั้งเดิม.. อันเป็นความรับผิดชอบตามหน้าที่ของคณะสงฆ์ในแต่ละยุค แต่ละสมัย....

เมื่อย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ของพุทธศาสนาในสมัยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า.. ได้มีการปล่อยปละละเลย ขาดความใส่ใจในกิจการสืบอายุพระพุทธศาสนาดังแต่ก่อน ปล่อยให้เกิดปัญหาอธิกรณ์ในแวดวงสงฆ์มากมาย โดยไม่รีบเร่งแก้ไขให้สิ้นไป.. จนนำไปสู่ความแตกแยกในหมู่คณะ.. ในพุทธบริษัท...

การไม่ใส่ใจทำหน้าที่ของตน.. ให้ถูกต้องเหมาะสมกับฐานะ...

การเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา.. อย่างขาดความศรัทธาเชื่อมั่น ปสาทะความเลื่อมใส ในคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณของไตรสิกขา.. และคุณของความไม่ประมาทอย่างแท้จริง

จึงเป็นเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การสืบเนื่องอายุพระพุทธศาสนา ที่เป็นภัยอย่างร้ายแรงยิ่ง คือ การแฝงเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนา.. โดยอาศัยช่องโหว่ของการขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ตามพระธรรมวินัย ของผู้ที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่สืบอายุพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ ภิกษุสงฆ์ ที่นับวันยิ่งขาดความเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยความแตกต่างในศีล ข้อปฏิบัติ และทิฏฐิความเห็น... แม้ว่าจะบรรพชา-อุปสมบทมาสู่ศาสนาเดียวกัน.. พระธรรมวินัยอันเดียวกัน.. พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระบรมศาสดาองค์เดียวกัน…….

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก