ประเทศไทย กับ 'ค่าโง่' : กระแสการเปลี่ยนแปลง?

“ค่าโง่” มักจะเป็นศัพท์ที่ใช้กันเมื่อเกิดคดีฟ้องร้องในกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยที่ฝ่ายรัฐเป็นฝ่ายถูกตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ใช้บริษัทเอกชนที่นำเรื่องขึ้นฟ้องร้องในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ มีตัวอย่างสำคัญคือ คดีระหว่างบริษัทโฮปเวลล์กับกระทรวงคมนาคม-การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)  คดีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียจังหวัดสมุทรปราการ หรือคลองด่าน และที่ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการคือคดีเหมืองทอง บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจว่า กระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นมีสองประเภทใหญ่ๆ คือกระบวนการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยและกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพราะฐานกฎหมายแตกต่างกัน 

กระบวนการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย ใช้ พรบ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 (และ พ.ศ. 2562) ซึ่งก็ล้อตามกฎหมายสากล สิ้นสุดที่ศาลไทย

ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศนั้นยังแบ่งได้อีกเป็นสองประเภท คือ

(1) ผู้ลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามข้อตกลง International Investment Agreements (IIA) ต่างๆ มีความตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรี (หรือ Free Trade Area: FTA) และข้อตกลงในลักษณะทวิภาคี หรือพหุภาคีต่างๆ เป็นตัวอย่าง และ/หรือ

(2) ผู้ลงทุนที่มีสัญชาติประเทศสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการยอมรับนับถือและการบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ (Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards) ซึ่งที่ประชุมสหประชาชาติลงมติรับเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1958 เรียกกันทั่วไปว่า อนุสัญญานิวยอร์ก (New York Convention 1958) ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสมาชิกเช่นกัน อนุสัญญานิวยอร์กกำหนดให้ศาลรัฐที่ทำสัญญากันเปิดให้ความตกลงของเอกชนสามารถใช้การอนุญาโตตุลาการ ตลอดจนยอมรับและบังคับใช้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่กระทำในรัฐที่ทำสัญญาอื่น พูดง่ายๆก็คือ เอกชนที่ทำสัญญากับรัฐ สามารถฟ้องร้องที่ใดก็ได้ในประเทศที่เป็นสมาชิก และประเทศสมาชิกจะต้องยอมรับและบังคับใช้คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ

คดีที่เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศมีสองคดีสำคัญคือกรณีวอลเทอร์บาวและเหมืองทองอัครา

บริษัท วอลเทอร์ บาว (Walter Bau AG) สัญชาติเยอรมัน หรือ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการฟ้องกระทรวงคมนาคม คดีโครงการก่อสร้างและให้บริการทางยกระดับดินแดง-ดอนเมือง เรียกค่าเสียหายปมก่อสร้างล่าช้าและอัตราค่าผ่านทาง มูลค่า 6,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนตามสนธิสัญญาส่งเสริมและต่างคุ้มครองการลงทุนระหว่างสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกับประเทศไทย ปี ค.ศ. 2002 ซึ่งอนุญาโตตุลาการตัดสินให้ผู้ยื่นคำร้องเป็นฝ่ายชนะ

คดีเหมืองทองอัครา เป็นการลงทุนตามความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement – TAFTA) โดยบริษัทคิงส์เกต บริษัทแม่ในออสเตรเลียยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการที่ฮ่องกง ว่าประเทศไทยละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี โดยสั่งระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีการตัดสิน

ทั้งสองกรณีที่เกี่ยวข้องกับรัฐต่างประเทศ แต่ละประเทศล้วนเป็นสมาชิกอนุสัญญานิวยอร์ก

ปัญหาของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

โดยทั่วไปแม้ว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการจะมีประโยชน์ในการระงับข้อพิพาทได้รวดเร็วกว่าการฟ้องร้องในระบบศาล ซึ่งมีขั้นตอนมากและคู่ความยังสามารถอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้ทำให้ใช้เวลานาน อนุญาโตตุลาการนั้นมีเพียง 3 คนเป็นผู้ชี้ขาด ประกอบด้วย บุคคลที่คู่พิพาทแต่งตั้งฝ่ายละ 1 คน และประธาน 1 คน ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความเห็นชอบ ซึ่งมักเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เข้าใจปัญหาทางเทคนิค แต่ก็มีข้อบกพร่องหลายประการสำคัญ คือ

1.การยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการมักเป็นประเด็นแคบๆ โดยเฉพาะเรื่องการยุติสัญญาไม่เป็นธรรม ในกรณีที่มีข้อมูลที่ส่อว่ามีการทุจริตแต่ยังไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้จนสิ้นสงสัย ก็ไม่สามารถหยิบยกเป็นประเด็นได้ หรือหากการลงทุนก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัย ก็ต้องใช้เวลาเพื่อที่จะพิสูจน์เชื่อมโยง การตัดสินจึงมักจำกัดอยู่ที่ประเด็นว่า รัฐได้ยุติโครงการหรือไม่ กระบวนการยุติสัญญาถูกต้องหรือไม่ ใช้กฎหมายอะไร มีการสืบข้อมูลจนประจักษ์หรือไม่ ถือเป็นการเวรคืนทางอ้อมหรือไม่ ทั้งอนุสัญญานิวยอร์กและความตกลงการค้าและการลงทุนต่างๆ จะไม่มีประเด็นชัดเจนเรื่องการทุจริต ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัย เน้นสิทธิของผู้ลงทุน มุ่งปกป้องผู้ลงทุน ภาครัฐจึงมักจะเสียเปรียบ และเมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำตัดสินแล้ว ศาลก็ไม่มีทางเลือกเพราะไม่สามารถหยิบยกประเด็นอื่นนอกเหนือจากที่พิจารณา โดยปกติศาลจะไต่สวนเพียงว่ามีการทำคำชี้ขาดจริงและถูกต้องหรือไม่ และเปิดโอกาสให้คัดค้านได้เฉพาะเหตุตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หากศาลเห็นว่าคำคัดค้านฟังไม่ขึ้นและมีการทำคำชี้ขาดจริง ศาลก็จะพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดนั้น โดยไม่วินิจฉัยเนื้อหา

2.หลักการดำเนินกระบวนพิจารณาของการอนุญาโตตุลาการ กระทำเป็นความลับ เป็นการดำเนินการอย่างปกปิด เฉพาะคู่กรณีและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าร่วมการพิจารณา บุคคลภายนอกไม่มีโอกาสรู้ข้อเท็จจริงโดยตรง นัยว่าเพื่อปกป้องความลับทางการค้าทางธุรกิจ ซึ่งก็มีข้อดี ตรงกันข้ามกับหลักการพิจารณาคดีของศาลซึ่งต้องทำโดยเปิดเผย ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนสามารถเข้าฟังการพิจารณาของศาลได้  เว้นแต่จะมีการพิจารณาคดีเป็นการลับเป็นกรณีพิเศษซึ่งจะมีน้อย เรื่องความลับทางเทคนิคไม่ใช่ประเด็นในหลายกรณี กระบวนการรักษาความลับจึงไม่จำเป็น และอาจก่อให้เกิดความไม่โปร่งใส หรือข้อสงสัยเรื่องความเป็นอิสระและความเป็นกลาง หรือความไม่คงเส้นคงวาในการตัดสินชี้ขาดได้

3. อนุสัญญานิวยอร์ก มาตรา 5 ระบุว่าการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการอาจถูกปฏิเสธได้หากพบว่าการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อนโยบายสาธารณะของประเทศนั้น ปัญหาคือ ไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่า การขัดต่อนโยบายสาธารณะนั้น ครอบคลุมถึงเรื่องใดบ้าง เช่น นโยบายสาธารณะด้านต่อต้านการทุจริต ด้านปกป้องสภาพสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ด้านป้องกันการค้ามนุษย์ เป็นต้น เมื่อไม่มีนิยามชัดเจน การอ้างมาตรา 5 ก็ต้องมีขั้นตอนพิจารณาและใช้เวลานาน ทั้งยังอาจขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจอีกด้วย

กระแสการเปลี่ยนแปลงและโอกาสของประเทศไทย

ปัจจุบันมีแนวโน้มในเวทีระหว่างประเทศ เช่น UNCITRAL และ International Institute for Sustainable Development (IISD) ต่างๆ ที่จะเข้าใจสถานการณ์การการลงทุนและการทุจริตที่สลับซับซ้อนตลอดจนปัญหาอื่นๆมากขึ้น หลายคดีถูกตัดสินในศาล พลิกคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการแม้ไม่มีหลักฐานประจักษ์ชัด หรือในขั้นอนุญาโตตุลาการเอง ตัวอย่างเช่น คดีระหว่าง Metal-Tech กับรัฐบาลอุซเบกิสถาน ในปีค.ศ. 2013 อนุญาโตตุลาการได้ตัดสินว่าการทุจริตเป็นสิ่งที่ยากที่จะพบหลักฐานข้อเท็จจริง ดังนั้นหลักฐานแวดล้อม  (circumstantial evidence) ก็สามารถใช้ได้ จึงตัดสินให้ฝ่ายรัฐบาลอุซเบกิสถานชนะ ทั้งๆที่ในการดำเนินคดีอาญาจำเป็นต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัย (beyond reasonable doubt) ไม่ใช่เพียงมีเหตุอันควรสงสัย (probable cause) ก็ตาม

กรณีของบริษัท Spentex Netherlands กับรัฐบาลอุซเบกิสถาน ในปี ค.ศ. 2016 ก็ยอมรับหลักฐานการเปลี่ยนมือของเงินโดยสันนิษฐานว่าเป็นไปเพื่อติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆที่ไม่ได้ระบุนามของผู้รับสินบน 

ล่าสุดในปี 2022 นี้เอง มีกรณีที่สร้างความฮือฮาไม่น้อย คือกรณีที่ศาลประเทศอังกฤษยอมให้รัฐบาลไนจีเรียอุทธรณ์คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ กรณีข้อตกลงสร้างโรงงานแปรรูปก๊าซ โดยอนุญาโตตุลาการในปี 2017 ได้สั่งให้รัฐบาลไนจีเรียจ่ายค่าเสียหายให้ บริษัท Process and Industrial Developments Limited (P&ID) ประมาณ 6.6 พันล้านดอลลาร์พร้อมด้วยดอกเบี้ยประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งๆที่ยังไม่มีการก่อสร้างโรงงานแต่อย่างใด ไนจีเรียอุทธรณ์คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเพราะเหตุมีการทุจริต และศาลอังกฤษก็ยินยอมให้ไนจีเรียมีสิทธิ์ที่จะขยายเวลาแม้ว่าจะพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ไปแล้วเกือบ 3 ปี

เมื่อปีที่แล้ว การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของสหประชาชาติด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนา ได้ริเริ่มกระบวนการปฏิรูปการจัดการกรณีพิพาทเนื่องจากการลงทุน มีโครงการเร่งรัดการปฏิรูปข้อตกลงการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment Agreements Reform Accelerator) เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา และประสานผลประโยชน์ระหว่างรัฐผู้รับทุนและสิทธิของผู้ลงทุนให้เกิดความสมดุลย์และรอบด้านเป็นธรรมยิ่งขึ้น

สิ่งที่ประเทศไทยควรทำอย่างเร่งด่วนในขณะนี้คือฉวยโอกาสกระแสการเปลี่ยนแปลงร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาผลักดันการปฏิรูปและสร้างระบบยุติธรรมระหว่างประเทศขึ้นใหม่ เรียกว่าโหนกระแสก็ได้ เพื่อให้การพิจารณาคดีมีความโปร่งใสมีเกณฑ์พิจารณาที่ชัดเจนขึ้น

ผลักดันให้ตีความมาตรา 5 ในอนุสัญญานิวยอร์ก ให้ชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะให้ระบุนิยามของ “ประโยชน์สาธารณะ” ให้ชัดเจนครอบคลุมกรณีที่มีการยุติสัญญาเมื่อเกิดปัญหาการทุจริตหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัยและอาจจะบรรจุข้อความทำนองเดียวกันในข้อตกลงการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA ที่อาจมีการลงนามในอนาคตด้วย

การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้  นับเป็นโอกาสทองที่จะเจรจานอกรอบ หาแนวร่วมปฏิรูประบบและกระบวนการยุติธรรมเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อแสวงหาความสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองการลงทุนภาคเอกชน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายมากขึ้น

ดร. สิริลักษณา คอมันตร์ 

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

8 พฤษภาคม 2565

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยบนเส้นทาง Data Center Hub: ปลดล็อคศักยภาพ สู่ "Digital Thailand" อย่างยั่งยืน

ปี 2567 นับเป็นปีแห่งจุดเปลี่ยนสำคัญบนแผนที่ Data Center โลก เมื่อยักษ์ใหญ่สายเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น AWS, Microsoft, Google ต่างประกาศลงทุนสร้าง Data Center ในประเทศไทย

ผู้สูงอายุไทยหลังเกษียณงานอายุ 60 ยังมีโอกาสทำงานต่อไปได้อีกกี่ปี?

ในปีพ.ศ. 2567 นี้ ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ประชากรคนไทยทั้งหมด 100 คน จะมีผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 20 คน และผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีอายุขัยหรือชีวิตยืนยาวไป อีกประมาณ 21 ปี ช่วงชีวิตที่ยืนยาวต่อไปนี้

ภาพรวมความยิ่งใหญ่ 'โมโตจีพี'ประเทศไทย อลังการทั้งใน-นอกสนาม

เข้าสู่โปรแกรมการแข่งขันอย่างยิ่งใหญ่ ของศึกกรังด์ปรีซ์อันดับหนึ่งของโลก รายการ  “PT Grand Prix of Thailand 2024” ระหว่าง 25- 27 ตุลาคม 2567 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ สนามที่ 18 ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์  ล่าสุด เข้าสู่โปรแกรมการควอลิฟายของทุกรุ่น   แฟนความเร็วหลายหมื่นคนหลั่งไหลเข้าสู่สนามอย่างต่อเนื่อง รัฐ-เอกชนผนึกกำลังต้อนรับอย่างดีเยี่ยมทุกมิติ ชูเสน่ห์กีฬา-อาหาร-วัฒนธรรม-ท่องเที่ยวและวิถีชีวิตอย่างไทยครบวงจร