ในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา ได้มีปรากฏการณ์ในวงการการเลือกตั้งของการเมืองไทยขึ้นมาใหม่ คือ ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างน้อยสามคนได้หันมาชูประเด็นการใช้จักรยานเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนคนเมืองหลวง บางคนถึงกับลงทุนลงแรงไปปั่นจักรยานกับกลุ่มรณรงค์เรื่องจักรยาน เพื่อไปสัมผัสกับปัญหาจริงที่คนที่ใช้จักรยานเขาเผชิญอยู่ทุกวัน นัยว่าเพื่อที่จะไปหามาตรการมาแก้ไขปัญหาเมื่อตัวเองได้เป็นผู้ว่าฯ
ในฐานะที่ผมได้รณรงค์เรื่องเดินกับจักรยานในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี จนได้รับการยอมรับจากนานาชาติให้ไปเป็นกรรมการกลางของ “พันธมิตรการจักรยานโลก หรือ World Cycling Alliance” ที่มีสำนักงานอยู่ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม และคิดว่าตัวเองรู้เรื่องระบบจักรยานมากพอสมควร จึงอยากจะนำความเข้าใจที่ถูกต้องสัก 3 เรื่องที่เกี่ยวกับจักรยานมาให้แก่ผู้สมัครรับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากทม. หรือแม้กระทั่งเมื่อมาเป็นผู้ว่าแล้ว ตลอดไปจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรีและอื่นๆ ในคราวเดียวกัน
ปิรามิดจักรยานกับคน 3 กลุ่ม
เอาเรื่องแรกก่อนคือ เรื่องการแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งเราจะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ ก่อนอื่นเราต้องมองไปที่ปัญหาที่เป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ของคนส่วนน้อยโดยเฉพาะคนที่ได้เปรียบคนอื่นในสังคมอยู่แล้ว โดยผมอยากจะเชิญชวนให้พวกเราดูรูป“ปิรามิดจักรยาน”ที่แนบมา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในปิรามิดนี้ส่วนบนสุดเป็นนักแข่งจักรยาน จะเป็นทีมชาติ ทีมเขต ทีมจังหวัดหรือทีมสโมสรอาชีพอะไรก็แล้วแต่ พวกนี้วันๆไม่ทำอะไร เอาแต่ซ้อม ซ้อม และก็ซ้อม เพื่อความแข็งแกร่งของร่างกาย เพื่อที่จะไปเอาชัยชนะเหนือคนอื่น พวกนี้เป็นกลุ่มน้อยของผู้คนที่ใช้จักรยาน ผมขอเรียกคนกลุ่มนี้ว่ากลุ่มที่หนึ่งหรือ “กลุ่มนักแข่ง”
ถัดมาเป็นกลุ่มที่ 2 หรือ “กลุ่มนักจักรยาน” กลุ่มนี้อาจจะเป็นนักแข่งสมัครเล่น หรือเป็นคนที่ชอบออกกำลังกาย หรือเป็นนักท่องเที่ยวด้วยจักรยาน ฯลฯ ซึ่งก็มีความหลากหลายอยู่ในกลุ่ม คือ อาจมีคนรวยมากที่ใช้จักรยานคันละหลายแสนไปจนถึงคนที่ใช้จักรยานคันละไม่ถึงหมื่น คนกลุ่มนี้อาจขี่จักรยานได้ตั้งแต่ 30 ไปจนถึง 200 กิโลเมตรต่อวัน ซึ่งคนธรรมดาทำไม่ได้ คนกลุ่มนี้แม้บางคนอาจจะใช้จักรยานทุกวันแต่ก็ไม่ใช่ใช้เพื่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันแบบชาวบ้านทั่วไป กลุ่มนี้มีจำนวนคนมากกว่ากลุ่มแรก แต่ก็ไม่ใช่กลุ่มที่มีมากที่สุด ดังนั้นหากจะตั้งเป้ามุ่งตรงมาแก้ปัญหาที่คนกลุ่มนี้ประสบอยู่ ซึ่งแม้จะมีข้อดีอยู่มาก มันก็ยังไม่ใช่วิถีหรือวิธีที่จะนำมาซึ่งการแก้ไขปรับปรุงบ้านเมืองอย่างที่ทุกคนต้องการ
ทีนี้ก็มาถึงกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มฐานของปิรามิด ทุกคนคงเห็นได้เองว่า คนในกลุ่มนี้มีจำนานมากที่สุด มากกว่าคนในกลุ่ม 1 และ 2 รวมกันเป็นร้อยเท่า และนี่ละคือกลุ่มที่เราควรให้ความสนใจหากต้องการแก้ไขหรือปรับปรุงบ้านเมืองให้ดีขึ้นจริง ซึ่งก็มีข้อสังเกตที่น่าเสียดายว่าเขากลับเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีใครไปรับฟังความเห็นของพวกเขาทั้งๆที่นี่คือรากของปัญหาจริง ผมไม่เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “นักจักรยาน” หรือ cyclists แต่ผมเรียกเขาว่า“ผู้ใช้จักรยาน”หรือ bicycle users เพราะเขาใช้จักรยานจริงๆ ใช้เป็นพาหนะหรือเครื่องมือในการดำรงชีวิตประจำวันจริง เช่น ไปตลาด ไปโรงเรียน ไปวัด ไปอำเภอ ไปเยี่ยมญาติ ไปต่อรถต่อเรือ ในระยะทางที่ไม่ไกลจากบ้านนัก เช่น จากในซอยมาปากซอย ระยะทางประมาณ 1 หรือ 2 กิโลเมตรไม่เกิน ตรงนี้มีข้อสังเกตที่อาจทำให้หลายคนแปลกใจหากผมจะบอกว่า เนเธอร์แลนด์ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศจักรยานนั้น พลเมืองของเขาใช้จักรยานเฉลี่ยเพียงแค่ไม่เกิน 3 กิโลเมตรต่อคนต่อวัน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่ 1 และ 2 อย่างมากมหาศาลทั้งในรูปแบบของการใช้จักรยาน ชนิดของจักรยาน ราคาจักรยาน การแต่งกาย ความเร็วในการปั่น จุดประสงค์ของการใช้จักรยาน ฯลฯ และหลายคนอาจจะแปลกใจเพิ่มขึ้นไปอีก หากผมจะเล่าให้ฟังว่าสาวออฟฟิศในยุโรปหลายคนใส่ส้นสูงปั่นจักรยานไปทำงาน คือ คนกลุ่มนี้เขาใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวันกันจริงๆนั่นเอง
ระบบจักรยาน
เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่“ทางจักรยาน” บางคนคิดว่าจะใช้จักรยานให้ปลอดภัยต้องมีทางจักรยาน ไม่มีไม่ได้ ผมไม่เถียงว่าทางจักรยานนั้นดีแน่ ปลอดภัยแน่ แต่ผมก็จะบอกอีกว่า ผมไปขี่จักรยานที่ต่างประเทศมาแล้วกว่า 20 ประเทศ เอาเฉพาะเนเธอร์แลนด์ก็ไปมาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งหนึ่งๆไม่ต่ำกว่า 500 ถึง 700 กิโลเมตร และเห็นมากับตาตัวเองว่าประเทศที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยนั้นเขาไม่ได้มีทางจักรยานไปเสียทุกที่ เขาจะมีจำเพาะที่ที่ต้องมี ถ้าเป็นนอกเมือง ในสวน ในชุมชน เขาก็อาจจะไม่มี ฉะนั้นถ้าเราจะทำให้การใช้จักรยานได้จริงในชีวิตประจำวันของกลุ่มที่ 3 หรือกลุ่มผู้ใช้จักรยาน เราต้องทำให้เป็น “ระบบจักรยาน” ไม่ว่าจะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทางจักรยาน ที่จอดจักรยาน การต่อระบบขนส่งสาธารณะ รถเมล์ รถไฟ รถไฟไฟฟ้า หรือเรือ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อความปลอดภัย ความสะดวก ความรวดเร็ว ความประหยัด และความพึ่งพาตนเองของผู้ใช้จักรยาน
อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะบอกกล่าวให้ชัดเจน ชัดๆว่า ผมไม่มีอคติใดๆ ทั้งสิ้นแก่คนในกลุ่มที่ 1 และ 2 เพราะคนกลุ่มที่หนึ่งก็สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้ ซึ่งนั่นเป็น soft power รูปแบบหนึ่ง ส่วนคนกลุ่มที่สองก็สามารถทำรายได้ให้ประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าขาย การท่องเที่ยว รวมทั้งสามารถทำให้รัฐประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลคนไทย หากคนไทยหันมาสนใจการออกกำลังกายกันมากขึ้น และเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ (NCD) เช่นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ น้อยลง และที่สำคัญ ผมมีลูกบุญธรรมเป็นอดีตนักจักรยานทีมชาติที่ทำเหรียญทองในการแข่งขันระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ไทยมาแล้ว และผมเองก็เคยลงแข่งจักรยานได้ถ้วยรางวัลมาแล้ว จึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาอย่างเข้าใจในหัวใจและความคิดของคนทั้งสองกลุ่มแรกนี้ และในขณะเดียวกันก็เพื่อต้องการชี้แนะนักบริหารบ้านเมืองให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของการใช้จักรยานของประชาชนคนส่วนใหญ่ เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุดและได้จริง วันก่อนไปได้ยินคำคมที่ผมติดใจและอยากเอามาถ่ายทอดให้ฟังคือ “หากคุณ(เรา)ไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร และคุณ(เรา)ไปพยายามแก้ปัญหานั้น เมื่อถึงตรงนั้นปัญหานั้นไม่ใช่ปัญหาแล้ว แต่คุณ(เรา)นั่นแหละที่เป็นตัวปัญหา”
ทางจักรยานที่ควรเป็น
เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องที่เวลาเราพูดถึงการเอาจักรยานมาใช้จริงในเมือง คนมักจะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดถึงเสมอ เรื่องนั้นก็คือ“ทางจักรยาน”ทางจักรยานนอกเมืองแบบ“ทางหลวงจักรยาน”หรือ“ไฮเวย์จักรยาน”ในต่างประเทศมีอยู่ไม่น้อย และคนที่ไม่เข้าใจระบบจักรยานดีพอก็จะไปเอาไอเดียนี้มาทำที่ประเทศไทยบ้าง ซึ่งบริบทมันต่างกัน ในต่างประเทศพวกนั้นเขาไม่มีมอเตอร์ไซค์มากเท่าของเรา ของเราหากไปทำทางจักรยานนอกเมืองหรือที่ชานเมืองเป็นระยะทางไกลๆแบบนั้นชาวบ้านใช้ไม่ได้และไม่มีใครไปใช้ ทางจักรยานนั้นจะกลายร่างเป็นทางมอเตอร์ไซค์ ฉะนั้นหากต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมของบ้านเมืองจริงๆ เราต้องทำทางจักรยานในพื้นที่ที่ชุมชนต้องการใช้จริงและจะใช้จริงเท่านั้น แบบอื่นจะไม่เวิร์ค อย่างน้อยก็ในช่วงเริ่มต้นของการสร้างระบบจักรยานในประเทศของเรา
ก่อนจบขอบอกตรงๆนะครับว่าผมดีใจมากที่ เมื่อมาถึงวันนี้เรื่องเดินและเรื่องจักรยานได้กลายมาเป็นประเด็นในการหาเสียงของคนที่อาสาจะมาแก้ปัญหาบ้านเมืองของเรา และผมหวังเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งเชื่อด้วยว่า มันคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วละที่ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในโอกาสต่อๆ ไปจะไม่หันมามองปัญหาพื้นฐานเช่น เรื่องเดิน-จักรยาน ที่ชาวบ้านเขาประสบอยู่ทุกวัน และพวกนักการเมืองเขาคงต้องนำมันมาชูเป็นประเด็นในการเรียกคะแนนเสียงจากกลุ่มคนที่เป็นฐานของปิรามิดซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ อย่างถาวรตลอดไป
และเมื่อถึงวันนั้นเราจะมีระบบจักรยานที่ไม่อายใครได้สักที ขอขอบคุณล่วงหน้านะครับ.
ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปฏิรูประบบจัดการขยะ กทม. ท้าทายความเป็น' Great Governor'
แต่ขยะที่แม้จะอยู่ในถัง หรือนำไปที่ ที่ทิ้งขยะแล้ว ยังมีเบื้องหลังที่จะทำให้เมืองหลวงและประเทศไทย ดูเป็นประเทศที่พัฒนาน่าชื่นชมได้ยิ่งขึ้นอีก ก็คือ "การจัดการแยกขยะ "ขยะที่แยกได้ มีข้อดีคือ การลดปริมาณขยะ นำกลับไปใช้ใหม่ หรือที่เรียกว่ารีไซเคิล และนำมาใช้ซ้ำ ฯลฯลดงลประมาณ ในการบริหารจัดการขยะ ที่ทั้งกระบวนการจัดการต้องใช้งบฯแตะ เกือบหมื่นล้าน ในแต่ละปี(เฉพาะกทม.)