กางเกงยีนส์ขาดของ ดร.อาทิตย์

ปาฐกถาครั้งนี้ ที่หาดจอมเทียน พัทยา มองไปที่ไหนก็มีแต่รอยยิ้ม คนพูดก็เขิน คนฟังก็ขำ ทั้งที่หัวข้อปาฐกถาเป็นประเด็นระดับชาติ “เปลี่ยนการศึกษาให้เป็นจุดคานงัดประเทศไทย”

คนพูด คือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต

คนฟัง คือ ครูแนะแนวจากโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศกว่าสองร้อยชีวิต

เมื่อ ดร.อาทิตย์เดินทางมาถึงหน้าโรงแรม บรรดาผู้บริหารของ ม.รังสิต ที่รอต้อนรับ พากันหัวร่องอหายมาแล้วชุดหนึ่ง พอเข้าถึงห้องจัดเลี้ยง ก็ทำเอาครูแนะแนวอึ้งไปอีกชุดหนึ่ง

ใครจะเชื่อว่าอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีสาธารณสุข รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ฯ ประธานรัฐสภา ฯลฯ วันนี้นุ่งกางเกงเดฟรัดรูปทรงเดียวกับ ปั๊บ-โปเตโต้ ตูน-บอดี้สแลม เดฟรัดรูปไม่พอ เดฟยีนส์ด้วย ยีนส์ธรรมดาไม่ได้ ยีนส์ขาดๆ แหว่งๆ อีกต่างหาก

ดร.อาทิตย์ใช้เวลาชั่วโมงเศษๆ อธิบายเรื่องราวที่เรียกว่า “ความสามารถของประเทศไทย” คนไทยเราเก่งอะไร แล้วจะพัฒนาศักยภาพของประเทศไปทางไหน

กางฝ่ามือ ชูห้านิ้วแล้วบอกว่า มีห้าเรื่องนี้เท่านั้นที่สำคัญ

เรื่องแรก การเกษตร ประเทศไทยได้เปรียบ ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เราเลยเคยชินขายของเก่ากิน สมัยก่อนตัดไม้ ขุดแร่ขาย ขายจนหมด รวยกระจุก จนกระจาย ภาคเหนือมีพ่อเลี้ยง ภาคใต้มีนายหัว แต่เกษตรกรเป็นอาชีพยากจน วิทยาลัยการเกษตรไม่มีคนเรียน ถ้าเกษตรกรยากจนข้นแค้น แล้วทำไมคนรวยที่สุดในประเทศไทยคือ คุณธนินทร์ เจียรวนนท์ ซึ่งเล่นการเกษตรจริงจัง เล่นเป็น ซีพีขายไก่ เขาก็คิดค้นวิธีการที่ทำให้ไก่กินอาหารน้อย แต่ได้เนื้อเยอะ ออกไข่แดงๆ ขายตับห่าน เอาไปทำฟัวกราส์ จะทำยังไงให้ได้ตับห่านโตๆ ราคาแพงๆ ขายข้าวสาร ทำยังไงถึงจะได้พันธุ์ข้าวที่ปลูกแล้ว แม้โดนนํ้าท่วม ฝนแล้ง เพลี้ยลง เจออะไรก็ไม่ตาย

เรื่องที่่สอง อุตสาหกรรม เรามุ่งหมายจะเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ยังทำได้แค่รับจ้างประกอบชิ้นส่วน ผลิตเองไม่ได้ ไมโครชิปผลิตไม่ได้ มือถือสักอันก็ยังไม่มี เคยเห่อจะเป็นนิกส์ ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เป็นเสือตัวที่ห้า ต่อจากเกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ยังไม่ทันได้เป็นเสือตัวที่ห้า ดันเป็นหมาตัวที่หนึ่ง เพราะวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 เจ๊งก่อนใครเพื่อน

เรื่องที่่สาม การท่องเที่่ยว ไปทำอีท่าไหนไม่รู้ จุดแข็งกลายเป็นเรื่องเซ็กซ์ ไอเลิฟเมืองไทย ไอไลก์พัฒน์พงษ์ทำไมใครๆ ไปเที่ยวเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซียแล้วประทับใจ ทั้งๆ ที่เคยโดนเผาวอดวายไปหมด รัสเซียนำความรุ่งเรืองในอดีตมาสู่ปัจจุบัน ไม่ว่าจิตรกรรมฝาผนัง ภาพพิมพ์บนกระจก กระทั่งอุปกรณ์ประดับ ข้อมูลเดิมว่าของเก่าทำขึ้นด้วยวัสดุใด ก็ดั้นด้นค้นหา เนรมิตทุกสิ่งทุกอย่างกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม

เรื่องที่สี่ หมอ พยาบาล เภสัชกร แพทย์ทางเลือก ฯลฯ เรียกว่า บุคลากรทางการแพทย์ทั้งวงการ บ้านเราเก่งที่สุด ราคาถูกที่สุด เซอร์วิสมายด์ดีที่สุด ให้ดูพยาบาลที่ดีที่สุดในโลกคือ พยาบาลไทย เรื่องการแพทย์ใช้อะไร ใช้คน ใช้ฝีมือ จำกัดไหม สิ้นสุดไหม ไม่สิ้นสุด ถ้าไม่ ทำไมไม่ผลิตเพิ่ม

เรื่องที่ห้า ครีเอทีฟอาร์ต สหรัฐอเมริกาไปไกลมาก เกาหลีกำลังมาแรง อเมริกาใช้หนังส่งออกวัฒนธรรมแบบอเมริกันไปทั่วโลก เกาหลีใช้ละคร ญี่ปุ่นใช้การ์ตูน ไต้หวันใช้เกม อุตสาหกรรมหนัง อุตสาหกรรมเพลง อุตสาหกรรมแอนิเมชัน ถามว่าอันนี้เราไหวไหม โดยศักยภาพไหวแน่นอน ครีเอทีฟโฆษณา ผู้กำกับหนัง ช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ แฟชั่นสไตลิสต์ บ้านเราฝีมือฉกาจๆ ทั้งนั้น แต่เราจะผลักดันเศรษฐกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน

ถ้าไม่นับบรรยากาศแปลกๆ ที่คนฟังมัวแต่แอบจ้องเดฟยีนส์ขาดๆ แล้วล่ะก็ ประเด็นสำคัญ สามเรื่องแรก เกษตรกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว คือต้องรื้อระบบบริหารจัดการใหม่ ส่วนสองเรื่องหลัง การแพทย์ ครีเอทีฟอาร์ต ต้องรีบต่อยอดอัดฉีดสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไป

แต่ถ้าสรุปขมวดทั้งหมด มันคือเรื่องเดียวกัน เรื่องคน

ดร.อาทิตย์พูดทิ้งท้ายไว้กับครูแนะแนวว่า “ผมตั้งใจใส่กางเกงตัวนี้มาให้ท่านดู ท่านอาจจะคิดว่าบ้าหรือเปล่า อายุขนาดนี้ มาแต่งตัวอย่างนี้ กางเกงยีนส์ขาด ก็อยากจะรู้ว่าทำไมเด็กมันใส่ มันนิยมกันมาก แต่พวกเราไม่ใส่ อ๋อ... ที่่เด็กใส่ก็เพราะมันขาด ถ้าเป็นแฟชั่นดีไซน์ เราจะสอนแนวคิดนี้ได้ไหม ใครเป็นคนคิด คิดได้ยังไง ว่าต้องทำให้ขาดเสียก่อนถึงจะสวย โลกมันไปทางนี้ เราจะให้คำปรึกษาไปทางไหน ไปทางที่่เราเคยรู้จัก หรือทางที่เขากำลังไป”

หลังงาน ภายใต้บรรยากาศแห่งความสุข ครูแนะแนวท่านหนึ่งถามผมว่า อะไรทำให้ ม.รังสิตพัฒนาขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนอันดับ 1

ผมต้องรีบออกตัว การศึกษาไม่มีที่ 1 หรอกครับ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล เกษตรฯ ดีเด่นดังไปคนละแบบรังสิต กรุงเทพ เอแบค หอการค้า ก็ไม่เหมือนกัน นานาจิตตัง

แม้จะแอบภูมิใจเล็กๆ ว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการประเมินจาก สมศ. หรือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ให้อยู่ในระดับดีมาก ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในกลุ่มสถาบันที่เน้นการผลิตบัณฑิต

พัฒนาการแบบก้าวกระโดดของ ม.รังสิต อาจต้องอธิบายเป็นซีรีส์ขนาดยาวถึงสิ่งที่เราทำงานหนักติดต่อกันมาหลายปี โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เราดิ่งลงก้นเหว ตั้งแต่ พ.ศ.2541-2543 เริ่มปีนจากเหว ช่วง พ.ศ.2544-2547 เริ่มเดินขึ้นเขา ช่วง พ.ศ.2548-2550 และขึ้นสู่ยอดเขาตั้งแต่ พ.ศ.2551 เป็นต้นมา

แต่ถ้าอธิบายแบบสั้นๆ

บางทีคำตอบมันอาจจะอยู่ที่่กางเกงยีนส์ขาดๆ แหว่งๆ ของ ดร.อาทิตย์นี่ล่ะครับ.

โดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยรังสิต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.อาทิตย์ หวั่นอำนาจการเมืองอยู่เหนือคำพิพากษาศาล ทำบ้านเมืองล่มสลาย!

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่าระบบการเมืองปัจจุบันทำลายนิติรัฐ

RSU ชวนครูแนะแนวเปิดตำราวิชาแนะให้แนว ค้นหาตัวตนเป็น “WANNA BE” ที่อยากเป็นในอนาคต

มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการแนะแนวสัมพันธ์ “RSU เปิดตำราวิชาแนะให้แนว : บอร์ดเกม WANNA BE ณ โรงแรมดุสิตธานี จังหวัดชลบุรี”

'ดร.อาทิตย์' ฟันเปรี้ยง นักการเมืองที่ดีหายาก มีแต่พวกสามานย์มุ่งหวังอำนาจผลประโยชน์

ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า นักการเมืองไทยหาที่มีอุดมการณ์ซื่อสัตย์สุจริตต่อส่วนรวมได้ยากมาก

นักวิชาการชม 'บิ๊กทิน' แก้กฎหมายป้องกันรัฐประหาร ชี้เป็นสารตั้งต้นปรับภาพลักษณ์กองทัพ

นักวิชาการ มอง 'สุทิน' เป็นหน้าเป็นตาให้รัฐบาล ถ้าจะปรับออกถือว่าคิดพลาด ชี้แก้กฎหมายป้องกัน รปห. เป็นสารตั้งต้นปรับภาพลักษณ์กองทัพ เพิ่มความสง่างาม ทำได้เพราะผู้นำเหล่าทัพมีหัวสมัยใหม่

เปิดตัว Leadership Poll โพลผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง

ที่ห้องประชุม 1-308 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร 1) มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดตัวโครงการ “Leadership Poll” ภายในงานมีการแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นลีดเดอร์ชิพโพลล์ ครั้งที่ 1/2567