ลงขันสร้างสรรค์เมือง ผ่าน Civic Crowdfunding

คนกรุงเทพฯ กำลังตื่นตัวเตรียมเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้เราได้เห็นนโยบายพัฒนาเมืองหลากหลายรูปแบบจากผู้สมัคร จนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า อยากให้เมืองที่อยู่พัฒนาไปในรูปแบบไหน อะไรเป็นนโยบายสำคัญที่ผู้ว่าฯ ในฝันควรเริ่มจัดการก่อน และเราเองมีส่วนร่วมสร้างเมืองที่อยากอยู่ได้อย่างไรอีกบ้างนอกเหนือจากการลงคะแนนเลือกผู้ว่าฯ ซึ่งเทคโนโลยีก็เอื้อให้เรามีบทบาทได้มากขึ้นผ่านเครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า Civic Crowdfunding

Civic Crowdfunding คือการระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในสังคมไทย ที่ในอดีตจนถึงปัจจุบันเรามีสถาบันทางศาสนาเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมเงินบริจาคจากคนในชุมชนเพื่อพัฒนาท้องที่ ตั้งแต่การซ่อมโรงเรียน สร้างศูนย์ชุมชน ตั้งโรงครัวช่วยคนเดือดร้อน เป็นต้น

แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ทำให้การริเริ่มโครงการมาจากใครก็ได้ที่มีไอเดียดีและศักยภาพทำงาน ไม่จำเป็นต้องผ่านศูนย์กลาง ซึ่งเพิ่มจำนวนผู้เล่นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งจากคนทั่วไป วิสาหกิจชุมชน องค์กรประชาสังคม หน่วยงานรัฐ ไปจนถึงบริษัทเอกชน ความหลากหลายนี้ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาเดิมที่มี และทำให้มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการพัฒนาเมือง

นอกจากนี้แล้วยังช่วยสร้างธรรมาภิบาลการทำโครงการจากภาคประชาชน ทั้งเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ของโครงการ ที่ต้องมีข้อมูลพื้นฐานก่อนเริ่มระดมทุน จำนวนเงินที่ต้องการใช้ จำนวนเงินที่ได้รับบริจาคไปแล้ว รวมไปถึงอัปเดตผลงานหลังระดมทุนและทำโครงการเสร็จ

เมืองที่เอา Civic Crowdfunding มาใช้อย่างจริงจังคือ มหานครลอนดอนผ่านนโยบาย “Crowdfund London” ซึ่งริเริ่มโดยนายกเทศมนตรีตั้งแต่ปี 2014 และขยายผลต่อช่วงการระบาดโควิด-19 ผ่าน “Make London” ซึ่งได้ร่วมมือกับ Civic Crowdfunding platform “Spacehive” เพื่อเปิดพื้นที่ระดมทุนให้โครงการริเริ่มโดยชุมชนที่จะช่วยให้มหานคร

ลอนดอนสามารถฟื้นตัวหลังโควิด-19 โดย City Hall จ่ายค่า fee ในการระดมทุนให้ และมี matching fund สนับสนุนมากถึง £50,000 ต่อโครงการ ซึ่งจำนวนเงินสนับสนุนขึ้นอยู่กับเขต/แขวงของโครงการ งบประมาณรวมที่ต้องใช้ และจำนวนเงินและจำนวนประชาชนที่ร่วมลงขันกับโครงการผ่าน Crowdfunding

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะนายกเทศมนตรีมหานครลอนดอนอยากได้ไอเดียใหม่ในการพัฒนาเมือง โดยเชื่อว่าคนที่คิดวิธีแก้ปัญหาพื้นที่ตัวเองได้ดีที่สุดก็คือคนที่อยู่ หรือองค์กรที่ทำงานในชุมชน และยังช่วยสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาในพื้นที่ตอนทำโครงการจริงอีกด้วย

รวมถึงเป็นการทดลองจัดสรรงบประมาณเมืองแบบเปิดตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้มีโครงการเกิดขึ้นแล้ว 177 โครงการ รวมเป็นเงิน £6,820,753 ซึ่งมาจากงบประมาณของมหานครลอนดอน และจากประชาชนอีก 25,871 คน

ถึงจะไม่มีการริเริ่มจากภาครัฐแบบแข็งขันเช่นมหานครลอนดอน ในประเทศไทยมี Civic Crowdfunding platform ชื่อเทใจดอทคอม (Taejai.com) ที่ก่อตั้งมาแล้ว 10 ปี โดยสนับสนุนโครงการไปแล้วกว่า 479 โครงการ จากประชาชนผู้สนับสนุนมากกว่า 150,000 คน รวมเป็นเงินกว่า 250 ล้านบาท มีตัวอย่างโครงการน่าสนใจในการพัฒนาเมืองและแก้ปัญหาชุมชน ที่ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของภาคประชาชนและนวัตกรรมในการพัฒนาเมือง

 เช่น คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม เป็นโครงการที่ช่วยเหลือชุมชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระยะแรกในประเทศไทย เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 เกิดจากการริเริ่มของกลุ่ม Music Sharing/คลองเตยดีจัง ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเรื่องเด็ก เยาวชน และการศึกษาในชุมชนคลองเตยมาแล้ว 7 ปี

ในช่วงระลอกแรกของการระบาดนั้น ชุมชนคลองเตยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะมีนโยบายปิดเมืองแบบปัจจุบันทันด่วน ทำให้หลายครัวเรือนในชุมชนต้องตกงานและขาดรายได้ทันที กลุ่มคลองเตยดีจังเห็นว่าปัญหานี้จะนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร และเข้าใจถึงความหลากหลายของครัวเรือนในชุมชนที่มีความต้องการและทรัพยากรที่ต่างกัน เช่น บ้านที่อยู่ไม่กี่คนอาจจะต้องการข้าวกล่อง

ในขณะที่ครอบครัวใหญ่พอมีหม้อหุงข้าวเอง อาจจะต้องการกับข้าวเพื่อมาแบ่งกินกันในครอบครัว ครัวเรือนที่มีคนแก่ติดเตียงต้องการอาหารอ่อน ครัวเรือนมีเด็กเล็กต้องการนม เป็นต้น จึงออกแบบโครงการที่คิดว่าตอบสนองต่อบริบทและสถานการณ์ในชุมชนมากที่สุดในรูปแบบคูปองแลกอาหาร เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน 6,178 คน ซึ่งนอกจากได้ช่วยคนในชุมชนแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เข้าถึงช่วยเหลือทุกคนในชุมชน รวมประชากรแฝงและแรงงานข้ามชาติที่มักจะตกหล่นและถูกมองข้ามจากภาครัฐแล้ว ยังทำให้ร้านค้าขายของได้เกิดการหมุนเวียนรายได้ในชุมชนอีกด้วย

               สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยกลุ่ม We!Park-We Create Park แพลตฟอร์มที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยสวนแห่งนี้เป็น 1 ใน 4 พื้นที่นำร่องที่จะเปลี่ยนพื้นที่เศษเหลือจากการพัฒนาเมืองให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวของคนกรุงเทพฯ จากการใช้พื้นที่ว่างในซอยหน้าวัดหัวลำโพงที่เอกชนบริจาคให้ กทม.พัฒนาเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม (Pocket Park) กลุ่ม We!Park เริ่มจากชวนคนในชุมชนใกล้เคียงมาร่วมออกแบบการใช้พื้นที่ร่วมกันจนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ “สวนข้างบ้าน”

โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทาง กทม. เพื่อสร้างส่วนงานหลักของภูมิทัศน์พื้นที่ และระดมทุนเพิ่มจากประชาชนในส่วนที่อยู่นอกกรอบงบประมาณรัฐ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในละแวกพื้นที่ รวมถึงประชาชนที่อยากเห็นเมืองพัฒนาไปในทิศทางที่ให้ความสำคัญของพื้นที่สาธารณะสีเขียวได้ร่วมเป็นเจ้าของดูแลสวนด้วยกัน โดยเงินที่ระดมทุนได้ถูกใช้ในการจัดซื้อเครื่องเล่น ชุดโต๊ะ-เก้าอี้ และอุปกรณ์ตกแต่งสวน

จากตัวอย่างข้างต้น การมีเครื่องมือที่เอื้อให้ประชาชนสามารถระดมทุนเพื่อเริ่มทำโครงการพัฒนาเมือง/ชุมชน เชื่อมคนลงแรงและลงขันเงิน สร้างการเข้าถึงทรัพยากรที่ทำให้ประชาชนสามารถคิดและลงมือด้วยตัวเองได้ นอกจากจะช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงจากรากหญ้า (bottom-up development) แล้ว ยังทำให้เกิดนวัตกรรมสังคมใหม่ๆ และสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองอีกด้วย ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นยั่งยืน (resilience and sustainability) ให้กับการพัฒนาเมืองในยุคแห่งความผันผวนนี้ได้ในระยะยาวอีกด้วย

 

อ้างอิง

- Make London: https://www.spacehive.com/movement/mayoroflondon/

- เทใจดอทคอม: https://taejai.com

- คลองเตยดีจังปันกันอิ่ม: https://taejai.com/th/d/punkan_im/

- We!Park: https://taejai.com/th/d/wepark/

 -ขอบคุณภาพ ภาพจาก Facebook Page “Sarakadee Magazine” วันที่ 29 มีนาคม 2565

'เอด้า จิรไพศาลกุล' กรรมการมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

CEO เทใจดอทคอม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก