ร่าง รธน.ฉบับประชาชน

หมายเหตุ : ส่วนสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช... ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ และทางสภาเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีบทบัญญัติหลายมาตราที่ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจให้ได้ดุลยภาพ ไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลที่นานาอารยประเทศให้การยอมรับ เป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประชาชนไม่ยอมรับนับถือ จนอาจก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตทางรัฐธรรมนูญ และกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบรัฐสภา ตลอดจนปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ ชีวิตประจำวันของประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ฉบับนี้เสนอเพิ่มปรับระบบรัฐสภาจากสภาคู่ให้เป็นสภาเดี่ยว โดยให้มีเพียงสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว กำหนดให้มีระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และกองทัพ ยกเลิกการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ สร้างมาตรการป้องกันและต่อต้านการรัฐประหาร รวมถึงยกเลิกการลบล้างความผิดและผลพวงจากการรัฐประหารที่ผ่านมา

ผู้ที่เกี่ยวข้อง 1.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2.สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 3.สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 4.สำนักงานเลขานุการกองทัพบก 5.สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ 6.สำนักงานเลขานุการกองทัพอากาศ 7.สำนักงานเลขานุการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 8.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 9.สำนักงานศาลยุติธรรม 10.สำนักงานศาลปกครอง 11.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 12.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 13.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 14.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 15.สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 16.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 17.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 18.ประชาชนทั่วไป

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

1.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับระบบรัฐสภาเป็นสภาเดี่ยว

1.1 สมควรยกเลิกหมวด 7 รัฐสภา และเปลี่ยนเป็นหมวด 7 สภาผู้แทนราษฎร โดยให้คงเหลือสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวพร้อมกับเพิ่มบทบาทและกลไกให้กับสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านในการตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีหรือไม่

1.2 สมควรยกเลิกมาตรา 269 ถึงมาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือไม่

1.3 สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยกำหนดให้ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และในกรณีเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าทูลกหม่อมถวาย หรือไม่

2.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับที่มา-อำนาจ-การตรวจสอบ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

2.1 สมควรยกเลิกบทบัญญัติในหมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญและเพิ่มบทบัญญัติใหม่ในหมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับจำกัดขอบเขตหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเคร่งครัดมากขึ้น ตลอดจนสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลกับศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่

2.2 สมควรยกเลิกบทบัญญัติในหมวด 12 องค์กรอิสระและเพิ่มบทบัญญัติใหม่ในหมวด 12 องค์กรอิสระ เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และการได้มาซึ่งองค์กรอิสระ พร้อมกับจำกัดขอบเขตหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระให้ชัดเจนเคร่งครัดมากขึ้น ตลอดจนสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลกับองค์กรอิสระ หรือไม่

2.3 สมควรกำหนดให้มีคณะผู้ตรวจการศาล ศาลและศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมากและฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยฝ่ายละห้าคน มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง ให้ความเห็นต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับแนวทางการบริหารของศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม และคณะกรรมการบริหารศาลปกครอง ศึกษาวิเคราะห์ประเมินคุณภาพและผลกระทบของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง หรือไม่

2.4 สมควรกำหนดให้มีคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมาก และฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยฝ่ายละห้าคน มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานขององค์กรอิสระต่างๆ ให้ความเห็นต่อประธานองค์กรอิสระทั้งหลาย เกี่ยวกับแนวทางการบริหารขององค์กรอิสระ ศึกษาวิเคราะห์ประเมินคุณภาพและผลกระทบของคำวินิจฉัย คำสั่ง หรือการใช้อำนาจขององค์กรอิสระในประเด็นต่างๆ หรือไม่

2.5 สมควรกำหนดให้มีการถอดถอนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ออกจากตำแหน่งได้ หรือไม่
 
2.6 สมควรกำหนดให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ออกจากตำแหน่งได้ หรือไม่

3.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกองทัพ

สมควรกำหนดให้มีคณะผู้ตรวจการกองทัพ ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมากและฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยฝ่ายละห้าคน มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ รายได้และโครงการจัดซื้อจัดจ้างกองทัพ ประกันหลักการรัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ พิจารณาเรื่องร้องเรียนของข้าราชการทหารตามกฎหมายจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนจากผู้บังคับบัญชา จัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงหรือปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยและสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและหลักการรัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่

4.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ
 
สมควรยกเลิกมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่องการให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ และยกเลิกหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ตั้งแต่มาตรา 257 ถึงมาตรา 261 หรือไม่

5.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลบล้างผลพวงรัฐประหาร และการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร

5.1 สมควรเพิ่มหมวด 16 การลบล้างผลพวงรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และการป้องกันและการต่อต้านรัฐประหาร และให้เพิ่มข้อความในมาตรา 257 ถึงมาตรา 261 หรือไม่
  
5.2 สมควรยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือที่ออกใช้บังคับต่อมา ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง การกระทำนั้น รวมทั้งรับรองว่าบรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว เป็นอันชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งว่าประกาศ คำสั่ง และการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ หรือไม่

6.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี

สมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยกำหนดให้บุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจากบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทวฤทธิ์ -กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ เสรีนิยมก้าวหน้า ปฏิรูปสภาสูง

สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 200 คน จะประชุมร่วมกันนัดแรกในวันอังคารนี้ 23 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่จะให้สว.ทั้งหมดร่วมกันประชุมลงมติ นั่นก็คือ

“ศาสนกิจในอินเดีย .. ณ นครปูเน่” น้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ ก.ค.๖๗ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ นครปูเน่ รัฐมหาราษฏระ อินเดีย เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการสร้างวัดแห่งแรกของชาวพุทธในอินเดีย

อังคณา สว. 2567 ภารกิจ-สิ่งท้าทาย สภาสูง กับโมเดลข้อเสนอ สภาเดี่ยว

การทำงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดล่าสุด ที่เรียกกันว่า "สว. 2567" กำลังจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้ คาดหมายกันว่า การนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือก

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๗)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. พระพุทธเจ้าได้ตรัส หลักการปกครองตามแบบธัมมิกสูตร ว่า..

ดร.มานะ-ว่าที่ สว. 2567 ความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง เรื่องใบสั่งก็คงมีบ้าง ไม่มีบ้าง

หนึ่งในผู้ผ่านการคัดเลือก 200 รายชื่อให้เตรียมเข้าไปทำหน้าที่ "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ ที่น่าสนใจ ก็คือ "ดร.มานะ มหาสุวีระชัย อดีต สส.ศรีษะเกษ" ที่เคยสังกัดพรรคพลังธรรมและพรรคประชาธิปัตย์ตามลำดับ

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๖)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ได้เขียนคำกล่าวสอนใจไว้บทหนึ่งว่า.. ถึงมีอำนาจ วาสนา สักปานไหน