ตั้งแต่วันที่ 23-31 ตุลาคมนี้มี งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 26 เกิดขึ้นในชื่อ Hybrid Book Fair คือเป็นการจัดคู่ขนานกัน ระหว่างในโลกออนไลน์ ผ่าน www.thaibookfair.com และเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ต่างๆ กับตามร้านหนังสือทั่วประเทศ ซึ่งมีโปรโมชั่นที่ลดราคาแตกต่างกันออกไป
ในช่วงที่ต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ทำงานอยู่ที่บ้าน และใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ยอดการใช้จ่ายเงินซื้อหนังสือออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก สอดคล้องกับแนวโน้มการอ่านของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
กระนั้นก็ดี นักอ่านหลายคน รวมถึงผมด้วย กลับคิดถึงบรรยากาศของการเดินงานหนังสือขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่ได้พบปะนักเขียน เพื่อนนักอ่าน และได้เลือกซื้อหนังสือต่างๆ อย่างจุใจ เพราะงานหนังสือที่ว่านี้ ไม่เพียงแต่มีหนังสือลดราคามาขายกันเท่านั้น ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย มีนิทรรศการดีๆ ให้ได้ชม และเปิดโอกาสให้นักอ่านได้เจอหนังสือหนังหาอื่นๆ มากขึ้นกว่าที่ “เล็ง” ไว้แล้วอีกด้วย เนื่องจากงานหนังสือขนาดใหญ่เช่นนี้ มีทั้งหนังสือใหม่ที่จะออกในงาน และหนังสือที่ออกมาก่อนหน้านี้เราอาจไม่เคยเห็นตามหน้าร้านทั่วไป มาให้นักอ่านได้เลือกซื้อหาอีกด้วย
จึงไม่แปลกใจที่เรามักจะพบว่า หลายคนเดินงานหนังสือกันหลายครั้งหลายวัน ไม่ใช่เพียงครั้งเดียวในแต่ละการจัดงานเท่านั้น นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่คนในกรุงเทพฯ เท่านั้น หลายคนยังเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อเยี่ยมชมงานนี้ด้วย โดยตามสถิตินั้น แต่ละปีที่จัดงานนี้มีคนไปร่วมงานเป็นหลักล้านคน
แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ทำให้ไม่อาจจัดงานในลักษณะนี้ได้เลย ไม่ว่าในขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ดังนั้นจึงหวังว่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว ในครั้งต่อไปนักอ่านอย่างผมจะสามารถไปเดินงานหนังสือได้สักที สมกับที่เฝ้าคอยมานาน
พร้อมกันกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ศูนย์ฉีดวัคซีนใหญ่ที่มีผู้ไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก ก็คือ สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเร็วๆ นี้
สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางระบบรางของไทย ซึ่งเปิดให้บริการแล้วพร้อมกับเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) นับได้ว่าเป็นสถานีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอาเซียน มีพื้นที่ใช้สอย (ไม่รวมพื้นที่บึงน้ำ) กว่า 274,000 ตารางเมตร หรือถ้านับเฉพาะชั้นจำหน่ายตั๋ว ที่มีร้านค้า ศูนย์อาหาร สำนักงาน และพื้นที่พักคอย ก็มีพื้นที่กว่า 86,000 ตารางเมตร
และที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่า การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดเป็นสถานีกลางบางซื่อนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงการสร้างสถานีขนาดใหญ่ให้รองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากขึ้นกว่าสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) เท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นย่านธุรกิจใหม่ (Central Business District : CBD) อีกด้วย (ข้อมูลจากเว็บไซต์การรถไฟแห่งประเทศไทย)
จึงน่าสนใจมากถ้ารัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจหนังสือของไทยด้วยการเปิดให้ใช้พื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานที่จัดงานหนังสือครั้งต่อไปขึ้น เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง มีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก ทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองและในเมือง รวมถึงมีที่จอดรถยนต์ได้ถึง 1,700 คัน
ยิ่งในช่วงที่ “เยาวรุ่น” เยาวชนคนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับปัญหาทางสังคมการเมือง และอ่านหนังสือกันมากขึ้น การจัดงานหนังสือขนาดใหญ่ที่เดินทางได้สะดวก ก็น่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จะว่าเป็นประโยชน์ถึงสองต่อก็ว่าได้ คือ นอกจากได้ให้พื้นที่จัดงานแก่ภาคเอกชนแล้ว ภาครัฐยังได้ประชาสัมพันธ์การเปิดตัวสถานีกลางบางซื่อนี้อีกด้วย
นอกจากนี้แล้วยังเปิดโอกาสให้กับ “คนเดินทาง” ได้มาเยี่ยมชมนิทรรศการ และแวะเลือกซื้อหนังสือตามความสนใจ ซึ่งจะครอบคลุมหลากหลายมากไปกว่าคนรักการอ่านที่เป็นฐานแฟนคลับเดิม เยาวชน หรือผู้ปกครอง หรืออาจกล่าวได้ว่า นี่จะเป็นครั้งแรกที่นำหนังสือเผยแพร่ไปกว้างขวางที่สุดตั้งแต่ระดับรากหญ้า จนถึงคนมีฐานะที่จะมาเดินชมงาน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญาที่มีรากฐานที่เข้มแข็งมาจากการอ่านหนังสือ
ถ้ารัฐบาลอุดหนุนให้เกิดงานหนังสือที่สถานีกลางบางซื่อได้จริง นี่จะนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของการเดินทางในสังคมไทย ทั้งการเดินทางในชีวิตจริงผ่านระบบราง และการเดินทางในทางความคิดผ่านงานมหกรรมที่มีหนังสือจำนวนมากให้ได้เลือกซื้อหากลับไปอ่าน จึงกล่าวได้ว่าจะเป็นครั้งแรกที่การเดินทางภายนอกและภายในของคนไทยจะได้มาบรรจบกันในงานนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายอะไรนัก เพียงแต่เอื้อเฟื้อให้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ใช้สถานที่ได้ฟรี และให้เงินสนับสนุนเพื่อการจัดงานบ้างเท่านั้น หรือถ้าจะกระตุ้นการจับจ่ายผ่านมาตรการ “คนละครึ่ง” หรือซื้อหนังสือแล้วลดหย่อนภาษีได้อีกก็สุดแท้แต่ แม้กระทั่งการลดภาษีกระดาษเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของแต่ละสำนักพิมพ์ลงก็ทำได้
ข้อเสนอในทางนโยบายเหล่านี้ เข้าใจว่าทาง PUBAT น่าจะมีเสนอให้กับรัฐบาลได้ เพราะจากบทสัมภาษณ์ล่าสุดของ “ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ คนล่าสุด ใน cont-reading.com กล่าวไว้ว่า อยากเห็น “การสนับสนุนจากรัฐบาล” เพราะ “ประชากรไทยจะก้าวหน้าไม่ได้ ถ้าเราไม่อ่านหนังสือ”
ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง คงไม่ได้หวังมากไป หากหวังที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติในเร็ววันเมื่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ลดน้อยลง และจะได้ไปเดินงานหนังสือที่สถานีกลางบางซื่อในเร็ววันนี้.
กษิดิศ อนันทนาธร
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .