เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยังพลิกได้ 'ชัชชาติ' ยังไม่ชนะลอยลำ ผอ.นิด้าโพล ชี้จุดตายทำวืดเก้าอี้

การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หลังปิดรับสมัครไปเมื่อ 4 เมษายนที่ผ่านมา กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยผู้สมัครหลายคนเดินหน้าหาเสียงอย่างหนัก แม้ที่ผ่านมาผลโพลหลายสำนักจะเปิดเผยออกมาว่าคะแนนนิยมของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ นำโด่ง ซึ่งผู้สมัครหลายคนเชื่อว่ามีโอกาสที่จะกุมชัยชนะในการเลือกตั้งได้ ทำให้การหาเสียงดำเนินไปอย่างเข้มข้น


และเพื่อให้รู้ข้อเท็จจริงเรื่องการทำโพลสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการคาดการณ์ทางการเมืองถึงผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. เราเลยไปสัมภาษณ์ ผู้ทำโพลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ทำออกมาต่อเนื่องยาวนานร่วมปี และเป็นสำนักโพลที่หลายฝ่ายให้การยอมรับในเวลานี้ ถึงเรื่องความเป็นกลาง ความแม่นยำ และคุณภาพการทำโพล นั่นก็คือ นิด้าโพล


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า กล่าวถึงเรื่องการทำโพลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของนิด้าโพลในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาว่า ที่ผ่านมานิด้าโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทุกเดือน โดยจะเผยแพร่ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ซึ่งทำมาทั้งหมด 11 ครั้ง ภายใต้หัวข้อ อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. โดยทำล่าสุดคือมีนาคม 2565 และครั้งล่าสุดจะทำการสำรวจหลังปิดรับสมัครคนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. (ที่ปิดรับสมัครไปเมื่อ 4 เมษายน) โดยจะเผยผลสำรวจวันอาทิตย์ที่ 10 เมษายนนี้ โดยเปลี่ยนหัวข้อเป็น สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบที่ 1 โดยจะเก็บทุกสองสัปดาห์ และในช่วงสามสัปดาห์สุดท้ายจะเก็บข้อมูลถี่ขึ้นมาแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ โดยสัปดาห์สุดท้ายเราจะทำการเก็บข้อมูลแต่จะไม่เปิดเผยผลสำรวจ โดยจะรอจนกระทั่งปิดหีบเลือกตั้งในวันเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. แล้วจะเปิดเผยผลสำรวจตามสื่อต่างๆ

...การสำรวจเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ เริ่มทำและเผยแพร่ครั้งแรกหรือครั้งที่ 1 เมื่อปี 2564 ก็ทำมาร่วมหนึ่งปี โดยเว้นไปหนึ่งเดือนเพราะผลกระทบโควิด โดยจากการสำรวจว่า บุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่าชื่อของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ประกาศตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ มาอันดับหนึ่งโดยคะแนนนำทุกครั้ง


...แต่หากพูดถึงคะแนนระหว่างชัชชาติกับกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจ ก็พบว่าผลโพลออกมาว่า กลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจจะมีคะแนนมากกว่าชัชชาติในช่วงการทำโพลสำรวจห้าครั้งแรก แต่พอเริ่มประมาณครั้งที่หกพบว่าคะแนนของชัชชาติเริ่มนำและมีสูงกว่า กลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจ แล้วก็สูงพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนคนอื่นตกใจ ผมเองก็ยังตกใจเหมือนกันว่าทำไมคะแนนชัชชาติขึ้นมาขนาดนี้ คือได้ถึง 38 เปอร์เซ็นต์ที่ถือว่าสูง เพราะอีกสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ก็เกินครึ่งแล้ว ชัชชาติเลยเหมือนเรือที่แล่นไปอย่างมั่นคง รอเตรียมเข้าฝั่งแล้ว แต่อย่าไปทะเล่อทะล่าจุดไฟเผาเรือตัวเองหรือให้เพื่อนเผาเรือ


การทำโพลที่ผ่านมาของนิด้าโพลเราเห็นอะไรหลายอย่าง เห็นตั้งแต่คะแนนของชัชชาติยังน้อยกว่าคะแนนของ ผู้ยังไม่ตัดสินใจ แต่หลังจากเก็บข้อมูลผ่านมาได้สัก 5-6 ครั้ง พบว่าคะแนนของชัชชาติเริ่มเปลี่ยน คือได้คะแนนจากผลสำรวจมากกว่ากลุ่มผู้ยังไม่ตัดสินใจ พบว่าคะแนนเสียงของชัชชาติเริ่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดยการขึ้นเรื่อยๆ ดังกล่าวมีเหตุผลหลายอย่าง หนึ่งคือเขายังไม่มีคู่แข่ง มีชื่อเขาคนเดียว นอกนั้นก็ชื่อประปราย รวมถึงชัชชาติแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. แม้จะมีกระแสข่าวในช่วงเดียวกันนั้นว่าพรรคเพื่อไทยต้องการให้เขากลับไปเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปรอเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ไม่สนใจ ยืนยันชัดเจนว่าต้องการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.


สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าคือจุดสำคัญที่ทำให้ชัชชาติคะแนนดีขึ้นเรื่อยๆ จนชื่อเริ่มติดลมบนขึ้นไปถึง 37-38 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนี้ต้องรอดูว่าเมื่อปิดรับสมัครคนลงผู้ว่าฯ กทม.แล้ว คะแนนผลโพลจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หลังจากตอนนี้หลายคนได้ลงมาสมัครแล้ว


...อย่างชื่อของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่เคยได้ประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นช่วงที่ยังไม่ได้ประกาศตัวลงสมัครอย่างเป็นทางการ จึงน่าสนใจว่าพอ พล.ต.อ.อัศวินเมื่อลงสมัครแล้ว คะแนนจะดันขึ้นมาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยได้ร่วมๆ 17 เปอร์เซ็นต์ตอนที่ยังไม่ตัดสินใจ ส่วนชัชชาติผมก็อยากรู้ว่ามีใครมาดึงคะแนนเขาลงมาได้บ้าง เพราะก่อนหน้านี้ผมก็เคยคิดว่า พอพรรคก้าวไกลประกาศส่ง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จะทำให้ชื่อของวิโรจน์ไปดึงคะแนนของชัชชาติลงมาได้บ้าง แต่ปรากฏว่าพอชื่อวิโรจน์ลงมากลับไม่ปัง ชื่อของวิโรจน์ไม่สามารถดึงคะแนนของชัชชาติลงมาได้ ปรากฏว่าคะแนนของชัชชาติ ในกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นกลุ่มคนอายุไม่มากก็ยังโดดเด่นอยู่ คือชัชชาติยังได้มากอยู่ แม้วิโรจน์จะได้มากระดับหนึ่งก็ตาม


ดร.สุวิชา จากนิด้าโพล กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณี พรรคเพื่อไทย ไม่ส่งคนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งหากเพื่อไทยส่งคนลงสมัครผมเชื่อว่าเป็นปัญหาสำคัญแน่นอนสำหรับชัชชาติ แต่พอเพื่อไทยไม่ส่งคนลงซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า คะแนนของชัชชาติฐานแกอยู่ที่เพื่อไทย แกมีฐานของเพื่อไทยเดิมอยู่ แล้วเขาก็ไปบวกกลุ่มคนที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย แต่ไม่เอาประชาธิปัตย์แล้ว และอาจไม่ชอบพรรคก้าวไกลด้วยซ้ำไป พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้เข้าไปเสริมเติมให้ชัชชาติ


คำถามคือ หลังปิดรับสมัครแล้วมีโอกาสไหมที่คะแนนของชัชชาติจะลดลง ก็น่าจะมีโอกาส เพราะถึงเวลาจริงๆ ทุกคนก็จะมีกลยุทธ์ มีแนวทางการหาเสียงเพื่อดึงคะแนนคู่แข่งขันของตัวเองให้ลงมา
แม้แต่กับตัวผู้สมัครบางคนเช่น น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นแกนนำ ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์ก็ประกาศชัดเจน ซื้อ 1 แถม 1 เลือกผู้พันปุ่น-น.ต.ศิธา ได้หญิงหน่อย และฐานเสียงของคุณหญิงสุดารัตน์จะเด่นในช่วงพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก บางกะปิ, สะพานสูง, บึงกุ่ม, คันนายาว ต้องรอดูกันว่าพอผู้พันปุ่นลงจะไปดึงคะแนนจากชัชชาติได้บ้างหรือไม่ และหากดึงจะดึงได้สักกี่คะแนน


...ตอนที่นิด้าโพลทำผลสำรวจก่อนหน้านี้ว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็จะมีคนตอบว่าจะเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยที่ตอนนั้นยังไม่ได้ประกาศอะไร ที่พบว่ามีอยู่ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ คำถามคือเมื่อเพื่อไทยไม่ส่งคนลงสมัครแล้ว 4 เปอร์เซ็นต์นี้จะไปไหน จะวิ่งไปหาชัชชาติจนทำให้คะแนนของเขาสูงขึ้นมาหรือไม่ หรือคะแนนจะวิ่งไปเติมให้คนอื่น เช่นเป็นฐานเพื่อไทยที่เป็นกลุ่มสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ ทำให้คะแนนวิ่งไปที่ น.ต.ศิธาหรือไม่ อันนี้ต้องรอดูผลว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ รวมถึงผู้สมัครคนอื่นๆ เช่นวิโรจน์ ก็ต้องดูว่าเขาจะปั่นคะแนนจากกลุ่มผู้ออกเสียงพวกเด็กๆ รุ่นใหม่ได้หรือไม่ เพราะเมื่อแตกข้อมูลออกมาดู พบว่ากลุ่มดังกล่าวยังคงเลือกชัชชาติอยู่


ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ให้ทัศนะอีกว่า ส่วนผู้สมัครคนอื่นเช่น ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ พบว่าก่อนจะประกาศตัวลงสมัครพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีข่าวก่อนหน้านั้น พบว่าคะแนนส่วนตัวอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ส่วนประชาธิปัตย์มีอยู่ 4 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ที่ต้องยอมรับว่าประชาธิปัตย์ยุคปัจจุบันคะแนนนิยมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ที่คือหากคิดจากตัวเลขข้างต้นพอรวมกันแล้วคือ 8 เปอร์เซ็นต์ แต่พบว่าผลโพลออกมาได้ 13 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับมีคะแนนบวกมาเพิ่มให้ แต่ปรากฏว่าพอเริ่มมีมุกไอน์สไตน์ออกมาผลสำรวจตกมาเหลือ 11 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาพอมีกรณีข่าวเรื่องทรัพย์สินหล่นมาเหลือ 8 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นคะแนนเบสิก เท่ากับว่าตอนแรกคะแนนพุ่งพรวด แต่เหมือนจุดไฟแล้วก็ดับ ที่ไม่รู้ว่าระหว่างหาเสียงเลือกตั้งจะโหมให้คะแนนสูงขึ้นไปกว่านี้ได้หรือไม่ ที่ก็อาจจะได้เหมือนกัน โดยเท่าที่ผมสังเกตดูพอหลังเกิดกรณีมีข่าวต่างๆ ออกมาเกี่ยวกับ ดร.เอ้ ประชาธิปัตย์ก็เหมือนกับจะแผ่วลงมาในการช่วยหาเสียง แต่ตอนนี้คงต้องลงมาช่วยเต็มที่แล้ว โดยอาศัย ส.ก.ที่พรรคมีอยู่ในมือมาช่วยหาเสียงเพื่อดึงคะแนนกลับคืนมาให้ได้ ซึ่งต้องคอยดูเพราะประชาธิปัตย์เก๋าเกมมาก อาจมีมุกหรือวาทกรรมอะไรเด็ดๆ ออกมาเพื่อเรียกคะแนนกลับคืนมาให้ประชาธิปัตย์ได้


สำหรับ สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระอีกคนหนึ่ง เป็นคนหนุ่ม เก่ง แต่ว่าที่ผ่านมาบทบาทในช่วงเป็นรองผู้ว่าฯ ไม่ค่อยเด่น คนจะไปเข้าใจว่าเป็นตัว พล.ต.อ.อัศวินมากกว่า แต่สกลธีเป็นคนมีความสามารถ แต่หลังประกาศตัวตอนแรกๆ คะแนนยังไม่ขึ้นไปมาก หวังว่าช่วงเลือกตั้งจะดันตัวเองขึ้นไปได้เพราะถือว่าเป็นคนหนึ่งที่มีภาษี ก็น่าเสียดายเพราะเมื่อ พล.ต.อ.อัศวินและสกลธีลงสมัครด้วยกันทั้งคู่ ทำให้คะแนนเลยแตก


ขณะที่ รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ ถือเป็นผู้สมัครที่มีความมั่นคงเด็ดเดี่ยวในการลงสมัคร ซึ่งพื้นฐานคะแนนก็พบว่ามีอยู่ก่อนหน้านี้ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากนี้ต้องดูว่าคะแนนจะขึ้นไปอีกหรือไม่


ส่วนที่มีการมองกันว่าผู้สมัครจากสองขั้วที่ลงแข่งขันจะตัดคะแนนกันเอง ก็มองว่าต่างคนก็ตัดซึ่งกันและกัน แต่ผมว่าแต่ละคนก็มีฐานเสียงของตัวเอง อย่างคุณรสนาก็มี ฐานมั่นคงมานานแล้วประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ส่วน ดร.เอ้-สุชัชวีร์ การที่ลงประชาธิปัตย์ข้อดีก็คือ จะไปเอาเสียงของ ส.ก.ประชาธิปัตย์มาดัน ดร.เอ้ขึ้นไปได้


ส่วนคนที่จะชนะการเลือกตั้งจะได้เกินหนึ่งล้านคะแนนแบบตอนเลือกตั้งปี 2556 หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคนออกไปใช้สิทธิ์กันเยอะหรือไม่ โดยคนที่จะได้หนึ่งล้านเสียง จะต้องได้คะแนนร่วมๆ สี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้มาลงคะแนน


ชี้จุดเสี่ยง 'ชัชชาติ' อาจทำวืดเก้าอี้
ผอ.นิด้าโพล กล่าวว่า สำหรับกลุ่ม ผู้ยังไม่ตัดสินใจ ที่มีอยู่ร่วมๆ 13 เปอร์เซ็นต์ น่าสนใจว่าถึงตอนวันเลือกตั้งจะเทคะแนนไปที่ใครหรือคะแนนเสียงจะกระจาย จึงต้องจับตาว่ากลุ่มดังกล่าวจะเอาอย่างไร และฐานของคุณชัชชาติจะมีผู้สมัครคนใดไปแย่งชิงมาได้หรือไม่ โดยเฉพาะหากเป็นผู้สมัครที่มีฐานเสียงเดียวกัน


...สำหรับกรณีของ ชัชชาติ ผมมองว่าเขาอยู่ในสถานะกลางเขาควาย คือลำบาก ถ้าผมเป็นนักข่าวผมจะถามชัชชาติคำถามเดียว ซึ่งถ้าแกตอบไม่ดีแกตายเลย คือจะถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชัชชาติกับพรรคเพื่อไทย รวมถึงกับทักษิณ ชินวัตร เอาแค่นี้พอ จะอยู่บนภาวะเขาควาย คือหากเขาตอบว่าเขาเป็นอิสระ ตัดขาดแล้วจากเพื่อไทยและทักษิณ คะแนนหนุนเพื่อไทยที่เป็นแฟนคลับที่เรียกว่าเป็นติ่งทักษิณเลย จะหายไปทันที คือไม่ได้หายไปทั้งหมด แต่จะหายไปทันที หรือหากแกบอกว่าแกก็ยังสนิทกับทักษิณ กับเพื่อไทยอยู่ เพราะเคยทำงานร่วมกันมา แบบนี้ก็เรียบร้อยครับ


...กลุ่มคน กทม.ที่ไม่ชอบทักษิณไม่ชอบเพื่อไทย ที่เคยคิดจะเลือกชัชชาติเพราะเห็นว่ามั่นคงดี ไม่สังกัดพรรค แล้วก็เบื่อประชาธิปัตย์หรือพรรคอื่นแล้ว จะทำให้คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งที่เคยจะเลือกชัชชาติจะถอยออกมาทันที ตรงนี้จะทำให้คะแนนแกร่วง ซึ่งคำถามนี้พบว่ากำลังมีสื่อพยายามจะถาม แต่ชัชชาติยังไม่ตอบ แต่คอยดูแล้วกัน ประเด็นนี้ถ้าใกล้ๆ เลือกตั้ง ถ้าคะแนนมันสูสีกันแล้วประชาธิปัตย์นำมาใช้เป็นวาทกรรม ดึงมาใช้ ผมว่าชัชชาติแกตาย
ดร.สุวิชา ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ยกตัวอย่างการสร้างกระแสในช่วงโค้งสุดท้ายการหาเสียงมาให้เห็นภาพว่า หากดูจากตัวอย่างการเมืองระดับชาติ ที่แม้คนจะแยกออกจากกันได้ระหว่างการเมืองระดับชาติกับการเมืองท้องถิ่น แต่บางครั้งการสร้างภาพความหวาดกลัวมันทำให้คนเปลี่ยนใจได้ ดูอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556 ตอนแรกผลโพลคะแนนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตามหลัง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ มาตลอด แพ้มาเรื่อย แต่ต่อมามีวาทกรรมไม่กี่คำสั้นๆ ตอนนั้นมีข่าวลือมาว่า มีแกนนำเสื้อแดงจะมาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ในทีม พล.ต.อ.พงศพัศ ตอนนั้นคนก็ไปถามคนในเพื่อไทย ที่ก็ตอบทำนองไม่ได้ยอมรับแต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ คน กทม.ยิ่งตกใจเลย คืออาจไม่ได้รักใครบางคน แต่เกลียดบางคนมากกว่า ไม่ชอบไม่อยากได้ ทำให้ตอนนั้นเท่าที่ผมสังเกตคะแนน พบว่าคะแนนที่ควรวิ่งไปที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่เป็นคะแนนของกลุ่มสนับสนุนเสื้อเหลือง พบว่าถูกดึงมาอื้อเพื่อไปให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ซึ่งคะแนนที่ไปทางนั้นไม่ใช่เพราะชอบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แต่เพราะป้องกันไม่ให้คนคนหนึ่งเข้ามาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. กลัวคนนั้นเท่านั้นเอง


ตรงนี้ผมจึงบอกว่าต้องดูว่าถึงเวลาใกล้ๆ เลือกตั้ง ประชาธิปัตย์จะมีทีเด็ดอะไรตรงนี้หรือไม่ในการทุบชัชชาติ วินาทีสุดท้าย ทุบจนไม่มีเวลาแก้ตัว ทุบในช่วง 4-5 วันสุดท้าย ตายสนิทเลย ให้ดูหมัดเด็ดประชาธิปัตย์ไว้ ประชาธิปัตย์เก๋าเกมมาก

"แต่ ณ ขณะนี้ผมดูคะแนนแล้ว คนที่จะขึ้นมาไฟต์กับชัชชาติได้ จากเปอร์เซ็นต์ผลโพลที่ผมมองดู ตอนนี้ก็คงมีเพียงแค่ พล.ต.อ.อัศวิน"


...แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรอดูประชาธิปัตย์ด้วย เพราะประชาธิปัตย์ลูกเล่นเยอะมาก แพรวพราวมากพรรคนี้ เพราะการที่จะขึ้นไปเป็นผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ได้ ตอนนี้คู่แข่งทุกคนเป็นรองคุณชัชชาติ ก็ต้องไปแย่งคะแนนชัชชาติลงมาให้ได้ ต้องตัดคะแนนชัชชาติและดันคะแนนตัวเองขึ้นไป ทำอยู่สองอย่าง ดังนั้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชัชชาติกับเพื่อไทยและทักษิณ คำถามนี้ถ้าชัชชาติตอบไม่ดีตายสนิทเลย จะตอบยังไงถึงจะสามารถเอาตัวรอดได้ ตรงนี้สำคัญมาก ผมว่าทีมงานชัชชาติก็คงรู้และคงเตรียมคำตอบไว้แล้ว แต่ถึงถามตอนนี้ก็เท่านั้น เพราะคำถามนี้มันจะมาแบบแรงๆ ตอนใกล้เลือกตั้ง คอยดูแล้วกัน ตอนใกล้ๆ เลือกตั้ง คำถามแรงๆ แบบนี้มันจะมา จะเรียกว่าถามเพื่อดึงมาเลย หาทางดึงลงมาให้ได้แบบเห็นๆ เลย


ผมเลยมองว่า เราอย่าเพิ่งไปฟันธงว่าใครจะได้ แต่ทีนี้ วาทกรรมครั้งก่อนระหว่าง พล.ต.อ.พงศพัศกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มันได้ผลเพราะว่าตอนนั้นพงศพัศนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ไม่เท่าไหร่ แต่ครั้งนี้้มันแตกต่างเพราะว่าชัชชาตินำคนอื่นเท่าตัว เช่นชัชชาติคะแนน 38 เปอร์เซ็นต์ แต่ พล.ต.อ.อัศวินอยู่ที่ 11 เปอร์เซ็นต์ ห่างกันสามเท่าแล้วจะไล่ทันได้อย่างไร ก็มีอยู่ทางเดียวคือต้องดึงชัชชาติลงมาอย่างเดียว หาประเด็นไปตัดคะแนนแกให้ลงมาให้ได้ และอีกอย่างที่จะทำให้แกตายคือคนที่ดูไบ ที่หากลองพูดอะไรออกมาสักอย่าง ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับชัชชาติว่ายังแนบแน่นกันอยู่เมื่อไหร่ ชัชชาติตายทันที คนดูไบไม่เป็นอะไร แต่ชัชชาติไปทันที ไปโลดเลย เพราะคน กทม.จำนวนมากยังกังวลเรื่องทักษิณ ชินวัตรอยู่
ตรงนี้ผมมองว่าอาจจะมีกระแสหลายอย่างพยายามโยงทักษิณและอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร เข้ากับชัชชาติ เพื่อดึงคะแนนชัชชาติลงมา ผมว่ามันน่าจะมีกระแสเหล่านี้ในช่วงใกล้เลือกตั้ง ให้รอดูอาจสักประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง โดยเฉพาะช่วงอาทิตย์สุดท้ายที่เป็นช่วงที่ดีที่สุดที่ทุบทีเดียวเลย แต่นั่นต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าทุบแล้วต้องเอาคะแนนเขามาได้ แล้วดันตัวเองขึ้นไปได้ ไม่ใช่ทุบเสร็จแล้วคะแนนก็ไม่วิ่งมาเข้าฝ่ายตัวเอง แต่กลับกระจายไปทั่ว งานนี้ก็ต้องรอดูแล้วกัน
ผลสำรวจของนิด้าโพลเรื่องสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรกที่จะเปิดเผยวันอาทิตย์ที่ 10 เม.ย.ก็จะเริ่มเห็นเทรนด์แล้วว่าทิศทางมันจะเป็นอย่างไร จากนั้นอีกสองสัปดาห์คือช่วง 24 เมษายนจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นว่า คะแนนผู้สมัครคนอื่นจะดึงชัชชาติลงมาได้หรือไม่ ซึ่งสมมุติว่าคะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยใน กทม.ที่มีอยู่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ที่มีส่วนหนึ่งเชียร์ชัชชาติ แล้วถึงเวลาหนึ่งหากชัชชาติประกาศไม่เกาะติดกับทักษิณ ผมกำลังคิดอยู่ว่าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวจะร่วงลงมาหรือไม่ ก็ยังคิดอยู่เหมือนกัน รวมถึงตัวของ น.ต.ศิธาจากไทยสร้างไทย จะไปดึงคะแนนจากชัชชาติมาได้แค่ไหน เพราะคะแนนของคุณหญิงสุดารัตน์ก็มีอยู่ประมาณหนึ่ง คือประมาณ 5-6 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่แน่ น.ต.ศิธาอาจจะดึงคะแนนชัชชาติมาได้สัก 5-6 เปอร์เซ็นต์


"ผมคาดว่าถ้าไม่มีวาทกรรมเด็ดๆ ที่แรงจริงๆ ชัชชาติก็น่าจะชนะอยู่ที่ประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามีวาทกรรมเด็ดๆ คะแนนชัชชาติจะลงมาเรื่อยๆต้องเข้าใจอยู่อย่างหนึ่งว่า การเมืองไทยโดยเฉพาะกับคนกรุงเทพฯ คน กทม.เขาเปลี่ยนใจง่าย เขาสามารถเปลี่ยนใจได้ภายในค่ำคืน วันนี้รัก พรุ่งนี้เกลียด ไม่เลือกแล้วก็มี เปลี่ยนได้ภายในข้ามคืนเลย ซึ่งผมไม่รู้ว่ามันจะมีวิชามารเยอะแยะขนาดไหน เช่นก่อนการเลือกตั้งสัก 3 วันปล่อยอะไรออกมาสักอย่าง เพื่อดิสเครดิตชัชชาติได้เยอะๆ แล้วชัชชาติเถียงไม่ทัน เหลือเวลาแค่ 2 วัน มันจะดึงคะแนนฮวบลงมาเลย ให้รอดูวาทกรรมช่วงสุดท้าย ผมก็อยากเห็นเหมือนกัน"


...อย่างสมมุติช่วงใกล้เลือกตั้ง เกิดสมมุติมีใครไปโหมสร้างกระแสว่าเลือกชัชชาติได้ทักษิณ เลือกชัชชาติได้อุ๊งอิ๊ง คนกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งที่จะเลือกชัชชาติแล้วไม่เอาสองคนนี้จะถอยทันทีเลย


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตอนนี้ก็ไม่เหมือนอดีต เพราะทุกอย่างไปตามโซเชียลมีเดียที่ปั่นกระแสง่าย แต่แก้กระแสก็ง่าย เพราะหากใครไปปั่นวันนี้ วันรุ่งขึ้นความจริงก็ออกแล้ว ความจริงก็ออกเร็ว แก้กระแสกันได้เร็ว แต่เมื่อก่อนปั่นสักสองวันก่อนเลือกตั้ง มันแก้ไม่ทันเพราะไม่มีทางให้แก้

-เริ่มเห็นมีคนวิพากษ์วิจารณ์กันในโซเชียลมีเดีย เรื่องชัชชาติกับตัวผู้สมัคร ส.ก. เช่นมีการแชร์ภาพป้ายหาเสียงชัชชาติติดกับป้ายหาเสียงผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทย?


ประเด็นนี้ก็เหมือนกัน ชัชชาติก็อาจจะตายเพราะ ส.ก.เพื่อไทย หากขืนไปติดป้ายคู่กัน คนจะชี้ว่าอ้าวนี่เพื่อไทย ผมว่าถ้าทีมงานหาเสียงชัชชาติวางแผนไม่ดี ก็ไปโลดเหมือนกัน แล้วบุญจะหล่นทับพล.ต.อ.อัศวินอีกรอบ

หากชัชชาติทำพลาดขึ้นมาผลเลือกตั้งยังพลิกได้ 7 วันสุดท้าย โค้งสุดท้ายชี้ชะตา


-สรุปแล้วแบบนี้ที่คนมองว่าชัชชาติลอยลำแล้ว ก็ยังไม่แน่เสมอไป?


ลอยลำ ณ ขณะนี้ แต่ช่วงใกล้ๆ เลือกตั้งต้องดูอีกที ไม่มีอะไรแน่นอน ผมพูดชัดๆ เลยว่ายังไม่มีอะไรแน่นอน ส่วนปรากฏการณ์จะมีการพลิกล็อกหรือไม่ต้องรอดูช่วงใกล้ๆ วันเลือกตั้ง โดยเฉพาะช่วงเจ็ดวันสุดท้าย เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นการเมืองไทย เพียงข้ามคืนเดียวมันก็พลิกได้หมด
-อยู่ที่การประคองตัวของชัชชาติ?


ชัชชาติแกเหมือนเรือที่เร็วมาก จะถึงฝั่งอยู่แล้ว แม้ลมพัดแรงแกก็นั่งสบายๆ แบบชิลๆ แม้มีเรือข้างหลังตามมาเป็นพรวนแต่ก็แล่นไม่ทันเขา เรือที่อยู่ข้างหลังก็ต้องหาทางพยายามทำให้เรือแกล่มให้ได้ ก็มีทุกอย่าง เจาะเรือ ก็มีสารพัด ขอเพียงแกรู้จักนั่งเรือให้นิ่งๆ ประคองเรือให้เข้าฝั่ง แกก็สบายแล้ว ผมกลัวว่าเขาจะพลาด หากไม่ประคองเรือเข้าฝั่งแบบนิ่งๆ โดยไปแสดงแอกชันบางอย่างที่เป็นการฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เพราะคนเรานิดเดียวก็เปลี่ยนได้ พลิกได้เลย คู่แข่งก็คงพยายามหาทางเจาะเรือชัชชาติให้ได้ ก็คงพยายามทาทางเจาะทุกรูปแบบ แล้วเกิดชัชชาติพลาดขึ้นมาโดยไปแสดงจุดอ่อน โดยเฉพาะจุดอ่อนที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างชัชชาติกับพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร ถ้าแกแสดงประเด็นตรงนี้มากเท่าไหร่ คะแนนจะยิ่งหายไป เช่นป้ายหาเสียงไปติดอยู่คู่กัน (ป้ายหาเสียง ส.ก.เพื่อไทย) ไปหาเสียงเจอหน้ากันแล้วเกาะติดตามกันไปตลอด หรือทักษิณออกมาพูดอะไรบางอย่างที่แสดงความสัมพันธ์กับชัชชาติ หรือเพื่อไทยแสดงอาการเชียร์เต็มที่ แบบนี้จบ ตายเพราะเพื่อน


-ถ้าเช่นนั้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้คิดว่าจะมีโอกาสพลิกล็อบแบบหักปากกาเซียนได้หรือไม่?


มีโอกาส ทำไมจะไม่มี อย่าหาว่าผมคิดในมุมแง่ร้ายให้กับชัชชาติ เช่นสมมุติคะแนนของ น.ต.ศิธา จากพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ ที่มีประมาณ 6-7 เปอร์เซ็นต์ แล้วคะแนนนี้เกิดไปดึงคะแนนชัชชาติลงมา จาก 38 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 31 เปอร์เซ็นต์ พออยู่ที่ 31 เปอร์เซ็นต์แล้วเกิดมีคนไปตีชัชชาติในเรื่องความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย โดยในส่วนของเพื่อไทยที่มีคะแนนในกทม.อยู่ประมาณ 16-17 เปอร์เซ็นต์ โดยหากในกลุ่มนี้ ถ้าสัก 12 เปอร์เซ็นต์เลือกชัชชาติ ถ้าหากชัชชาติบอกว่า ผมไม่ยึดติดกับเพื่อไทย ตรง 12 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวที่จะเลือกชัชชาติอาจหล่นลงไปเหลือ 7-8 เปอร์เซ็นต์ รวมกันสองกรณีข้างต้นคะแนนของชัชชาติจาก 38 เปอร์เซ็นต์จะเหลือแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ แบบนี้การแข่งขันก็สูสีแล้ว คู่แข่งขันที่อยู่รองลงมาจะปั่นตัวเองขึ้นมาทันที อันนี้คิดแบบแง่ร้าย
กรณีที่สอง หากชัชชาติบอกว่าเขาอยู่กับเพื่อไทย ไปหาเสียงแล้วเจอเพื่อไทยก็ไปหาเสียงด้วยกันตลอด ใน 38 เปอร์เซ็นต์ที่ชัชชาติเคยได้ จะมีกลุ่มคนที่หนุนเพื่อไทยอยู่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ที่เชียร์ชัชชาติอยู่ แต่ที่เหลือไม่ใช่ พอได้ฟังแบบนี้คนกลุ่มนี้ก็อาจจะเทออกไปเลยจากตัวชัชชาติ ซึ่งหากออกไปสักครึ่งหนึ่งเช่นเกือบสิบเปอร์เซ็นต์ ชัชชาติก็ตายเหมือนกัน จะเหลือประมาณยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ แบบนี้คู่แข่งขันคนอื่นอย่าง พล.ต.อ.อัศวินสู้ตายเลย เพราะเขาเคยได้สูงสุดร่วม 17 เปอร์เซ็นต์
"ดังนั้นมันพลิกล็อกได้ ชัชชาติจะไม่ตายเพราะใคร แต่จะตายเพราะเพื่อนร่วมข้าง เพื่อนที่ไม่ยอมตัดให้ขาด"


-กลุ่มผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นครั้งแรก หรือ first time voter จะมีผลอย่างไรต่อการเลือกตั้งครั้งนี้?


พวกกลุ่ม first time voter หากถามว่าจะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้หรือไม่ ดูแล้วก็คงสร้างผลกระทบบ้าง เพราะอย่าลืมว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ เขาเลือกพรรคก้าวไกลกัน แต่ว่าก็ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ที่คนชอบพูดกันว่าคนรุ่นใหม่ชอบพรรคก้าวไกลกัน ในฐานะผมเป็นคนทำโพล คนที่เห็นผลโพลตลอดในช่วงสามปีที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กรุ่นใหม่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่เลือกพรรคก้าวไกล พูดให้เห็นภาพมีเด็กเดินมาสามคน อายุเฉลี่ย 18-25 ปีเดินมากันสามคน จะมีคนหนึ่งเลือกก้าวไกล แต่หากขยับอายุขึ้นมาเป็น 18-35 ปี สัดส่วนจะลดลงมาเหลือ 1 ใน 4

คำถามคือ การที่เด็กรุ่นใหม่หนึ่งในสามเลือกพรรคก้าวไกลเป็นเรื่องดีหรือไม่ ก็เป็นเรื่องดีสำหรับพรรคก้าวไกล แต่ถามว่าพรรคก้าวไกลมีปัญหาอะไร พบว่าพรรคก้าวไกลมีปัญหาคือ คนยิ่งมีอายุ คนแก่ จะยิ่งไม่เลือกพรรคก้าวไกล ที่ก็คือ 18-25 ปีจะมีคนจำนวนหนึ่งเลือกก้าวไกล แต่พอขยับอายุเป็น 26-35 ปี คนที่จะเลือกก้าวไกลก็จะหล่นลงมา ยิ่งขยับไปเป็น 36-45 ปีก็จะยิ่งหล่นลงมาอีก พอขยับเป็น 46-60 ปี ของก้าวไกลเรียกได้ว่าหล่นฮุบลงมาเลย แล้ว 60 ปีขึ้นไปไม่เลือกเลย คือจะเหลือแค่ 3-4 เปอร์เซ็นต์ คือคนแก่ไม่เอา ซึ่งเทรนด์มันเป็นแบบนี้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไปวิเคราะห์

โครงสร้างประชากร ประเทศไทยเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ ครึ่งหนึ่งของคนไทยที่มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุคือ 45 ปีขึ้นไป แล้วเด็กช่วงหลังเกิดน้อย โอเคเด็กหนึ่งในสามเลือกก้าวไกล แต่หนึ่งในสามมีเท่าไหร่ กับคนอายุตั้งแต่ห้าสิบปีขึ้นไปที่เดินไปลงคะแนนได้มีเท่าไหร่ เรียกว่าอายุสี่สิบห้าปีขึ้นไปไม่เอาก้าวไกลเป็นส่วนใหญ่


คำถามคือ เมื่อบาลานซ์เค้กสองก้อนนี้อะไรหนักกว่ากัน เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งพรรคก้าวไกลอาจเถียงผมว่า กลุ่ม new volter จะเข้ามาขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนรุ่นนี้จะเพิ่มขึ้น คนสูงอายุอีกไม่นานก็ตาย แต่อย่าลืมว่าคนที่ไปเลือกตั้งพวก first time voter เมื่อตอนเลือกตั้งปี 2562 ตอนนี้อายุก็เพิ่มขึ้น สมมุติตอนนั้นเขาอายุ 20 ปี ตอนนี้ก็อายุ 23 ปี อีกห้าปีข้างหน้าก็อายุ 28 ปี ก็แก่ลง แล้วคนเราเมื่ออายุมากขึ้น ประสบการณ์และวิธีคิดมันเปลี่ยน เด็กๆ มีความฝันเรื่องปกติ


สมัยผมก็มี ตอนนั้นพ่อผมเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ แต่ผมยังไปร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่พออายุเริ่มมากขึ้นวิธีคิดก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนผมเป็นแฟนคลับสมัคร สุนทรเวช ทั้งที่พ่อผมเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ แต่สมัครไปที่ไหนผมก็ไปฟังสมัครปราศรัยที่นั่น แต่ถึงเวลาพอเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริงมันก็เปลี่ยนไปเอง


คือยิ่งแก่จะยิ่ง conservative (อนุรักษนิยม) ไม่เชื่อลองถามตัวคุณเองดูว่า ชีวิตในวัยคุณตอนนี้กับตอนอายุยี่สิบต้นๆ คิดเหมือนกันไหม ก็ไม่เหมือน อย่างตอนหลังผมก็มานั่งคิดว่า ตอนนั้นผมไปร่วมนั่งไล่พลเอกเปรม ทำไม ทั้งที่ป๋าเปรมคือผู้ซึ่งคอยประคองประเทศเอาไว้ ก็คือเพราะตอนนั้นด้วยความเป็นเด็ก ก็คิดแบบนั้น คือคนเราเมื่ออายุมากขึ้นความเป็น conservative จะมีมากขึ้น ไม่ใช่ว่าจากเด็กแล้วไปเริ่มแก่ แล้วจะเกาะแต่เรื่องเดิมๆ เพราะชีวิตคนเราพอเข้าสู่ความเป็นจริง ชีวิตมันแปรเปลี่ยนไปเรื่อย ไม่อย่างนั้นพวกคนรุ่น 14 ตุลาคม 2516 หรือยุค 6 ตุลาคม 2519 ไม่มาเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี ทำธุรกิจเหมือนทุกวันนี้หรอก เพราะหากมีอุดมการณ์แบบเดิมชีวิตคงไปอีกแบบหนึ่งแล้ว


-หากให้ระบุชัดๆ ว่า ถ้าผู้สมัครต้องการเอาชนะชัชชาติจะต้องทำยังไง?


ก็มีสองวิธีคือ discredit กับ disqualified การดิสเครดิตก็คือ ตีแก ให้ชัชชาติอ่อนลงมาให้ได้ ให้คนเชื่อว่าเขามีข้อบกพร่องเยอะแยะไปหมด ดึงแกลงมา โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเขากับทักษิณและพรรคเพื่อไทย ก็เริ่มมีบางคนเริ่มจะตีเขาแล้วในเรื่องของผลงาน เช่นเคยเป็น รมว.คมนาคมมาก่อน แล้วเคยมีผลงานอะไรหรือไม่ ก็มีคนตั้งคำถามว่าชัชชาติเคยมีผลงานอะไรบ้างเป็นรูปธรรม ส่วนการ disqualified ก็คือหาทางทำให้เขาขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ซึ่งจะมีทางหรือไม่ ไม่รู้ เช่นมีเรื่องคดีความอะไรหรือไม่ แต่ทำแบบนี้ก็ดูจะโหดร้ายเกินไปหน่อย.
..............................................


คะแนนนิยม 'พรรคก้าวไกล'
อยู่ในสภาพบอนไซ ไม่ตายแต่ไม่โต
หากยังไม่เลิกยุ่งเรื่อง 'สถาบันฯ'


บทสัมภาษณ์ในช่วงท้าย เราถามกรณีผลสำรวจนิด้าโพลเมื่อ 27 มี.ค.65 ที่เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งปรากฏว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้คะแนนมากกว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำให้แวดวงการเมืองฮือฮากันไม่น้อย จึงถามว่าผลสำรวจดังกล่าวมีความหมายทางการเมืองอะไรหรือไม่


เรื่องนี้ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล ไขข้อสงสัยไว้ว่า ความจริงก็คือพลเอกประยุทธ์คะแนนตกลง โดยส่วนหนึ่งอาจเกิดจากวิธีเก็บข้อมูลของผม ผมให้มีการเก็บข้อมูลให้ละเอียดมากขึ้น ก่อนหน้านี้ผมจะเน้นเรื่องการถ่วงดุล คะแนนถ่วงดุลในเชิงของภาค คือสัดส่วนของการสำรวจคนแต่ละภาคต้องเท่ากับประชากรไทย แล้วก็เก็บตัวอย่างชายหญิงให้เท่ากับประชากรไทย ซึ่งประเทศไทยผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย แต่ตอนหลังก็มีคนให้ความเห็นมาว่า ควรต้องเน้นเรื่องเจเนอเรชันด้วย เพราะปัจจุบันเป็นการเมืองของเจเนอเรชัน


...ผมก็ไปดูการเก็บข้อมูลว่า ที่ผ่านมาเจอปัญหาอะไรบ้างในการเก็บข้อมูลเชิงเจเนอเรชัน ผมก็พบว่าในช่วงอายุไม่มีปัญหา แต่มีอยู่สองชั่วอายุที่มีปัญหา คือช่วงอายุ 18-25 ปี ผมเก็บกลุ่มตัวอย่างได้น้อยกว่าปกติ น้อยกว่าความเป็นจริงของประชากร แต่ช่วง 45-60 ปี ผมเก็บตัวอย่างได้มากเกินเหตุ ที่อาจเป็นกระบวนการในขั้นตอนการ random ผมเลยให้มีการเพิ่มรายละเอียดเข้าไปในเรื่องเจเนอเรชัน พอใส่เข้าไปทำให้การเก็บตัวอย่างกับกลุ่มเด็กมันดันสูงขึ้น และทำให้การเก็บตัวอย่างกับกลุ่มอายุ 45-60 ปีมันลดลง ก็เป็นไปได้ที่การลดลงตรงนี้กับการเพิ่มขึ้นของอีกกลุ่มหนึ่ง เลยทำให้คะแนนของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ดันขึ้นมา


ที่น่าสนใจ ดร.สุวิชา ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล ให้ข้อมูลว่า อย่างไรก็ตามเมื่อไปดูรายละเอียดจริงๆ จะพบว่าที่เราเก็บตัวอย่างกลุ่มเด็กมากขึ้น แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะเลือกพิธา เพราะหากเทียบสัดส่วนกันจริงๆ แล้ว เมื่อผมเก็บตัวอย่างกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว จริงๆ แล้วพิธาควรต้องได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากกลุ่ม 18-25 ปีเยอะกว่านี้ แต่ปรากฏว่าพิธากลับไม่ได้คะแนนเยอะขึ้นเท่าใดนัก คือประมาณ 10 มาเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ ที่ถือว่าขึ้นมาระดับน้อยกว่าที่คิดไว้


แต่กรณีของพลเอกประยุทธ์ก็ไม่คิดว่าจะลงมาเยอะ ตอนแรกคิดว่าจะลงมาเหลือสัก 14 เปอร์เซ็นต์ แต่ลงมาเหลือ 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าคะแนนของพลเอกประยุทธ์ลงมาจริงๆ เพราะแม้หากผมใช้วิธีเก็บข้อมูลแบบเดิม ผมก็เชื่อว่าคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ก็ลง แต่อาจลงมาสูสีกับพิธา แต่ ณ ขณะนี้ก็ถือว่ายังสูสีกัน เพราะยังห่างกันไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ เพราะพิธา 13 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนพลเอกประยุทธ์ 12 เปอร์เซ็นต์กว่า ห่างกันไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์


...ผมมีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า คะแนนของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นตัวพิธาหรือตัวพรรคก้าวไกลเองก็ตาม ปั่นให้โตไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว มันมีอยู่แค่นี้ เหมือนบอนไซ ไม่ตายแต่ไม่โต เหตุผลเพราะด้วยจำนวนประชากรและโครงสร้างประชากรของประเทศไทย และคนไทยส่วนใหญ่ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เป็น conservative ยังไงก็ยังยืนอยู่ข้างสถาบันฯ หากพรรคก้าวไกลยิ่งแสดงอาการออกมาเรื่อยๆ ยิ่งไม่ได้คะแนน


"ผมดูแล้ว หากพรรคก้าวไกลยังคงมีประเด็นเรื่องสถาบันฯ ออกมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้อยู่เบื้องหลังพรรคทั้งหลาย พวกโดนตัดสิทธิ์การเมือง ที่ยิ่งปั่นประเด็นเรื่องสถาบันฯ ก้าวไกลยิ่งไม่โต".


โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน