ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ข่าวดังทั่วโลกเห็นจะไม่มีใครเกินข่าวเกี่ยวกับสงครามที่รัสเซียบุกยูเครน มีคำถามยอดฮิตที่สื่อมวลชนชอบถามผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าสงครามในยูเครนทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกแพงได้อย่างไร ผมจึงขอตอบคำถามในบทความนี้ พร้อมทั้งจะตอบคำถามที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก 1 – 2 ข้อ
ก่อนอื่น “ทำไมสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจึงทำให้ราคาน้ำมันโลกแพง?” เราต้องเข้าใจก่อนว่า นอกจากเป็นมหาอำนาจทางทหารแล้ว รัสเซียยังเป็นมหาอำนาจทางพลังงานอีกด้วย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับที่ 3 ของโลก และส่งออกน้ำมันเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ในปี ค.ศ. 2020 รัสเซียผลิตน้ำมันได้วันละประมาณ 10 ล้านบาเรล โดยส่งออกไปประมาณครึ่งหนึ่งของที่ผลิต คิดเป็นประมาณ 10% ของการส่งออกน้ำมันทั้งหมดของโลก และมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดเป็นการขายให้กับประเทศในยุโรป
นอกจากนั้น รัสเซียยังเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย โดยกว่า 60% ของการส่งออกทั้งหมดเป็นการขายให้กับประเทศในยุโรป ก๊าซที่รัสเซียขายให้กับยุโรปตะวันตกจำนวนหนึ่งต้องขนส่งทางท่อก๊าซซึ่งวางผ่านดินแดนของประเทศยูเครนด้วย
ดังนั้น เมื่อรัสเซียบุกยูเครน ผู้คนจึงวิตกกันว่าการส่งออกทั้งของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะหยุดชะงักลงได้ โดยอาจจะเกิดจากการสู้รบที่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งเชื้อเพลิงเหล่านี้ และเกิดจากการที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตร NATO ร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซียในด้านการค้าและการเงิน
เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ปริมาณที่อาจจะขาดหายไปจากตลาดโลก จึงจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขึ้นได้ และเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาน้ำมันและก๊าซสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในวันที่ 6 มีนาคมปีนี้ ราคาน้ำมันดิบBrent พุ่งสูงสุดถึงบาเรลละ 130 เหรียญสหรัฐฯ จนถึงทุกวันนี้สงครามที่กำลังดำเนินอยู่เป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้ว ก็ยังมีผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญต่อบาเรลมาโดยตลอด ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่ในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน
เราต้องเข้าใจอีกเช่นเดียวกันว่า เศรษฐกิจรัสเซียเองก็ต้องพึ่งพาการผลิตและส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูง ในปี ค.ศ. 2019 สาขาเศรษฐกิจที่ผลิตน้ำมันและก๊าซได้สร้างรายได้งบประมาณให้กับรัฐบาลรัสเซียมากถึง 40% ของงบรายได้ทั้งหมด และทำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกพลังงานได้มากถึง 60% ของรายได้ส่งออกทั้งหมด
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตร NATO ต้องการจะตัดกำลังทางเศรษฐกิจและลงโทษรัสเซีย โดยการคว่ำบาตรไม่ให้รัสเซียมีโอกาสขายน้ำมันและก๊าซ แล้วนำรายได้ไปสนับสนุนกองทัพที่กำลังรุกรานยูเครนอยู่ในขณะนี้
ในช่วงแรกๆ ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน สหรัฐฯ และพันธมิตรเริ่มใช้วิธีลงโทษรัสเซียโดยการคว่ำบาตรทางการเงินและการค้าสินค้าและบริการที่สำคัญหลายประเภท ยกเว้นพลังงาน แต่ต่อมาสหรัฐฯ และอังกฤษได้ประกาศคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียเลย ในขณะที่ประเทศพันธมิตร NATO อื่นๆในยุโรปตัดสินใจว่าจะลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียลงให้เหลือหนึ่งในสามภายในปลายปีนี้ และจะพยายามลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียลงให้เหลือน้อยที่สุดในปีต่อๆ ไป
คำถาม “ทำไมยุโรปจึงไม่กล้าคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียอย่างเต็มที่และทันที?” เหตุผลสำคัญคือประเทศสมาชิก NATO ในยุโรปส่วนใหญ่ต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง โดยรวมแล้วยุโรปตะวันตกต้องพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียมากถึง 25% ของการนำเข้าน้ำมันทั้งหมด ยุโรปพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในอัตราที่ยิ่งสูงกว่ากรณีของน้ำมัน โดยในปัจจุบันก๊าซจากรัสเซีย (ซึ่งส่วนใหญ่ส่งผ่านท่อก๊าซ) มีสัดส่วนมากถึง 40% ของการนำเข้าก๊าซทั้งหมดในยุโรปตะวันตก ประเทศในยุโรปที่ต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียในอัตราที่สูงมากคือ เยอรมนี โปแลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และสโลวาเกีย ส่วนสหรัฐฯ และอังกฤษพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในสัดส่วนที่น้อยมาก
ดังนั้น เราจึงน่าจะพอเข้าใจได้ว่าทำไมยุโรปตะวันตกจึงไม่ยังสามารถคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และก็มีความกังวลอยู่ว่ารัสเซียจะใช้ประเด็นการพึ่งพานี้เป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อบีบให้ NATO ไม่เข้าร่วมช่วยเหลือยูเครนในสงครามครั้งนี้
ในระยะสั้น ยุโรปตะวันตกมีทางเลือกไม่มากนักในการนำพลังงานอื่นมาทดแทนพลังงานนำเข้าจากรัสเซีย ทางเลือกหนึ่งคือการซื้อน้ำมันเพิ่มจากประเทศสมาชิกโอเปคที่ยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ ได้แก่ ซาอุดิอาเรเบีย (ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่เต็มใจเพิ่มปริมาณการผลิตเพราะมีข้อตกลงอยู่กับโอเปคและรัสเซีย) อิหร่าน และเวเนซุเอลา (ซึ่งในปัจจุบันทั้งสองประเทศกำลังถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลทางการเมือง) ในช่วงนี้ประเทศตะวันตกคงกำลังเจรจากับสามประเทศเหล่านี้ให้ขายน้ำมันให้ยุโรปตะวันตกเพื่อทดแทนน้ำมันจากรัสเซีย
อีกทางเลือกหนึ่งคือการนำเอาน้ำมันในคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (strategic petroleum reserve) ของประเทศอุตสาหกรรมออกมาขายเพื่อเพิ่ม supply ในตลาดและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน ในต้นเดือนมีนาคมนี้ สหรัฐฯ ร่วมกับพันธมิตรได้นำเอาน้ำมันที่สำรองทางยุทธศาสตร์ออกขายจำนวน 60 ล้านบาเรล แต่ก็ไม่มีผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง โดยราคายังคงสูงอยู่ที่ระดับกว่า 100 เหรียญต่อบาเรล อาจเป็นเพราะตลาดเชื่อว่าปริมาณขายจากคลังสำรองดังกล่าวไม่มากพอที่จะปิดช่องโหว่นั่นเอง
ในส่วนที่เป็นก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ยุโรปตะวันตกยิ่งมีทางเลือกที่น้อยและยากกว่ากรณีน้ำมัน เพราะก๊าซที่จะมาทดแทนได้น่าจะอยู่ในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (liquefied natural gas หรือ LNG) ซึ่งต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่ใช้เงินลงทุนสูง และมาจากแหล่งผลิตสำคัญไม่กี่แห่งในโลก ได้แก่ กาตาร์ สหรัฐอเมริกา และอิหร่าน เมื่อวันที่ 25 มีนาคมนี้ สหรัฐฯ เพิ่งทำข้อตกลงที่จะขาย LNG ให้สหภาพยุโรปในจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 15 พันล้านลูกบาศก์เมตรภายในปลายปีนี้ แต่นั่นก็เป็นปริมาณที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับขนาดการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียในแต่ละปี (ซึ่งมากถึงกว่า 200 พันล้านลูกบาศก์เมตร)
บางประเทศในสหภาพยุโรปอาจเลือกหันมาใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซ และที่สามารถผลิตได้เองอยู่แล้ว เยอรมนีปรับแผนการมุ่งเน้นพลังงานสะอาด โดยในช่วงแรกจะยืดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออกไปอีก และในขณะเดียวกันก็มีแผนเร่งรัดพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียน (เช่น แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม และ green hydrogen) เพื่อให้สามารถลดหรือเลิกการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล (รวมถึงน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย) ได้ในระยะยาว
คำถามยอดฮิตข้อสุดท้ายคือ “น้ำมันจะมีราคาแพงอย่างนี้ไปอีกนานไหม?” แต่ผมหมดพื้นที่ที่จะตอบคำถามนี้ในบทความนี้แล้ว เอาไว้ตอบในตอนต่อไป
ส่งบทความคอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ โดย
ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทศวรรษนานาชาติแห่งวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่รณรงค์กันมายาวนานต่อเนื่อง...และจะยังคงต้องรณรงค์กันต่อไป และ...วิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่จะต้องรณรงค์คู่ขนานกันกับการพัฒนา
'โวโลดิมีร์ เซเลนสกี' ครุ่นคิดถึงบทสิ้นสุดของสงครามในปีหน้า
ที่นิวยอร์ก โวโลดิมีร์ เซเลนสกีเรียกร้องให้ตะวันตกสนับสนุนยูเครนเพิ่มเติม และสัญญาว่าจะยุติสงครามก่อนกำหนด โดยจะ
ลงทุนในทองคำดีไหม
ข่าวที่เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ ในปีนี้ ว่าราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าจะทำให้เรารู้สึกว่าเราควรจะลงทุนซื้อทองคำตอนนี้ไว้มากๆ เผื่อเอาไว้ขายทำกำไรได้งามๆ ในอนาคต
เปลี่ยนก้อนหิน เป็นดอกไม้..เปลี่ยนความขัดแย้ง เป็นความปรองดอง หลอมรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย พาประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า…..
ปีแล้วปีเล่าที่ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ต้องติดหล่ม จมอยู่กับความขัดแย้ง และทิ่มแทงกันด้วยถ้อยคำกร้าวร้าวรุนแรง แบ่งฝักฝ่ายขว้างปาความเกรี้ยวกราดใส่กัน ด้วยเหตุจากความเห็นที่แตกต่างกัน และช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดหดหู่หัวใจอย่างยิ่ง
สงครามในยูเครนสร้างความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศโลกแค่ไหน?
ความขัดแย้งทางทหารและกองกำลังติดอาวุธเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุด กลุ่ม Scientists f