นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แวดวงอุดมศึกษาทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ได้มีการถกแถลงเพื่อหาทางออกต่อข้อท้าทาย เช่น การดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนาอย่างยั่งยืน การจัดการเรียนรู้ที่เตรียมผู้เรียนให้พร้อมสู่งานแห่งอนาคตและชีวิตปกติถัดไป แนวทางการสร้างความร่วมมือกับภาคีหลักเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคม การปรับตัวของอุดมศึกษาเข้าสู่ยุคดิจิตอล การสร้างความเป็นนานาชาติของอุดมศึกษา
หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือความเหลื่อมล้ำในอุดมศึกษา เพราะเป็นประเด็นที่มีแง่มุมด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวคือทำอย่างไรให้การศึกษาสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และมีแง่มุมสำคัญในการสร้างการเรียนรู้อันจะเกิดผลดีกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนโดยตรง และประโยชน์โดยรวมของสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
องค์การระหว่างประเทศด้านการศึกษา อาทิ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) บริติช เคานซิล (British Council) สหภาพยุโรป แผนงานด้านการศึกษาของการประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ต่างเห็นพ้องและผลักดันในแผนงานของตนขับเคลื่อนอุดมศึกษาที่ตระหนักถึง เพศภาวะ ความเสมอภาค ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมในอุดมศึกษา
ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนา (Southeast Asian Minister of Education Regional Centre for Higher Education and Development: SEAMEO RIHED) ซึ่งทำงานภายใต้สภาคณะรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา 11 ประเทศได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียนและติมอร์เลสเต ร่วมกับบริติช เคานซิล ดำเนินโครงการ “เสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้นำอุดมศึกษา เพื่อความเสมอภาคทางเพศภาวะ ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ 1. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้นำอุดมศึกษาในระดับอธิการบดี และรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในเครือข่าย 35 มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับกระทรวง 2. เปิดพื้นที่ให้ผู้นำอุดมศึกษาได้แลกเปลี่ยนข้อท้าทายในแง่ของความเหลื่อมล้ำ เพศภาวะ ความหลากหลาย และแสวงหาแนวปฏิบัติที่จะนำและสร้างให้มหาวิทยาลัยมีความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น 3. สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่ยั่งยืนในกลุ่มผู้นำสถาบันอุดมศึกษา
ในโครงการนี้ บริติช เคานซิล ได้สนับสนุนงบประมาณและความเชี่ยวชาญจาก สถาบันการพัฒนาศึกษา (Institute of Development Studies) มหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ (University of Sussex) คลังสมองระดับโลกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบนโยบายและการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาค พร้อมนี้ ยังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยจากสหราชอาณาจักรอีก 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) มหาวิทยาลัยแอสตัน (Aston University) มหาวิทยาลัยเวสต์สก็อตแลนด์ (University of West Scotland) และ มหาวิทยาลัยกลอสเตอร์เชียร์ (University of Gloucestershire) ในการออกแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำสถาบันอุดมศึกษาชความเสมอภาค หลากหลาย และมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยน ภายใต้โครงการ “SEA UK Exchange Partnership Programme”
จากการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2565 ใช้วิธีการการเรียนอย่างมีส่วนร่วม(participatory peer learning) โดยผู้เข้าร่วมฯ ได้แลกเปลี่ยนบริบทของความเหลื่อมล้ำและข้อท้าทายเรื่องความหลากหลายในสถาบันหรือวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งพบว่ามีข้อท้าทายที่แตกต่างกัน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เล่าว่า “สถาบันของเขามีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำ และมีส่วนร่วมในโครงการวิจัย แต่บุคลากรหญิงเองต่างหากที่ไม่ฉวยโอกาสนี้ไว้ เพราะติดกรอบวิธีคิดเดิมๆ ว่าผู้นำต้องมีความเป็นชาย อีกส่วนหนึ่งคือผู้หญิงมักจะไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษาที่สูงเทียบเทียมผู้ชาย” ซึ่งภาพเช่นนี้ก็พบในบางสถาบันด้วย แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (University of Malaya) กล่าวถึง “การขาดการสนับสนุนเชิงโครงสร้างเพื่อให้บุคลากรและนักวิชาการที่เป็นผู้หญิงก้าวหน้าได้ เช่น การสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบุตร เป็นต้น”
ความหมายของความหลากหลายเป็นมากกว่าประเด็นเพศภาวะ แต่เป็นความหมายแบบกว้างและตัดข้ามเกี่ยวพันกับความเป็นชายขอบอื่นๆ เช่น เชื้อชาติ ชนชั้น เพศวิถี และที่ตั้งในเชิงกายภาพ ในเมียนมาร์ “ความไม่เสมอภาคทางเพศภาวะมีผลเกี่ยวเนื่องจากคุณมาจากพื้นที่ชนบทหรือไม่ เพราะฐานคิดและบรรทัดฐานในการคิดเรื่องเพศมักจะเข้มแข็งมากกว่าในพื้นที่ชนบท” ในฟิลิปปินส์ ประเด็นเรื่องเพศภาวะ แม้จะยังเป็นข้อท้าทายแต่ก็ไม่เท่ากับประเด็นเรื่องของความพิการและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการเข้าสู่ระดับการตัดสินใจ
เนื่องจากตระหนักถึงบริบทที่แตกต่าง จึงใช้วิธีการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และไม่ได้นำเสนอเครื่องมือในการวิเคราะห์ หรือเสนอนโยบายสำเร็จรูปให้นำไปปฏิบัติใช้ในแต่ละสถาบัน ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยจากสหราชอาณาจักรทั้ง 5 แห่ง จะทำงานร่วมกับผู้นำอุดมศึกษาทั้ง 35 แห่ง เป็นกลุ่ม โดยแต่ละสถาบันจะกำหนดประเด็นการพัฒนาของตนเองเพื่อยกระดับและสร้างการเปลี่ยนแปลงในสถาบันของตนเองต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ร่มเย็น โกไศยกานนท์ ผู้อำนวยการ SEAMEO RIHED
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ยิ่งลักษณ์' เคลื่อนไหวแล้ว ปลุกพลังหญิง 'วันสตรีสากล' กล้าลุกขึ้นต่อสู้เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้ตัวเอง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra และใน X เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล วันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี มีเนื้อหาดังนี้
อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนรัฐบาลใหม่สะดุดขาตัวเองเพราะเทวดาแม้ว!
'นันทิวัฒน์' เตือนรัฐบาลใหม่ระวังจะสะดุดขาตัวเองล้ม เพราะไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียม เพราะไม่ยอมติดคุกแล้วยังขออภัยโทษเพราะนึกว่ามีอำนาจ
'พล.ร.ต.ทองย้อย' ยกพระพุทธพจน์ ชี้มนุษย์ไม่อาจเสมอภาคกันได้ทุกเรื่องเพราะการกระทำของตัวเอง
พลเรือตรีทองย้อย แสงสินชัย ปราชญ์ชาวพุทธ อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ดีกรีเปรียญธรรม 9 ประโยค โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องความเสมอภาค