ระเบิดศึกซักฟอก 19-22 ก.ค. ล็อกเป้าถล่ม ‘บิ๊กตู่+10 รมต.’ ฝ่ายค้านหวังผล ตาย 3 ระดับ!

"ศึกซักฟอก-การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ"ของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมและ 10 รัฐมนตรีในคณะรัฐบาล ที่จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของสภาฯชุดปัจจุบัน  จะเริ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ ตั้งแต่อังคารที่ 19 ก.ค.ถึงวันศุกร์ที่ 22 ก.ค. และจะมีการลงมติในเช้าวันเสาร์ที่ 23 ก.ค.

"สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม แกนนำพรรคเพื่อไทยและประธานวิปฝ่ายค้าน"ในฐานะคีย์แมนหลักของฝ่ายค้านในศึกซักฟอกทุกครั้ง กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นรวมถึงผลทางการเมืองที่จะตามมาหลังศึกซักฟอกจบลง โดยย้ำว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้มานาน ถือว่ามีความพร้อมสมบูรณ์

สำหรับประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะมี 6 กรอบใหญ่ ที่เป็นสโคปที่พรรคร่วมฝ่ายค้านกำหนดไว้ จากนั้นแต่ละพรรคการเมืองก็เอาไปคิดแต่ละประเด็นที่พบ เช่น เรื่องทุจริต เรื่องความผิดพลาดในการทำงาน -การจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นต้น โดยประเด็นเหล่านี้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีทิศทางที่ชัดเจน มีการแบ่งงานให้แต่ละพรรคไปทำ ไปหาข้อมูล และเมื่อแต่ละพรรคได้มาแล้ว ก็นำข้อมูลมาวางบนโต๊ะแล้วก็จัดแบ่งประเด็นข้อมูลร่วมกัน ซึ่งรัฐมนตรีคนใด ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนนั้น พรรคดังกล่าว ก็จะเป็นเจ้าภาพหลักในการอภิปราย แต่ก็จะมีส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคอื่นมาช่วยอภิปรายเสริมให้ เช่นมีรัฐมนตรีบางคน ที่ส.ส.จากพรรคเสรีรวมไทยเป็นเจ้าภาพหลัก หรือบางคน พรรคประชาชาติเป็นเจ้าภาพในการอภิปราย แต่ก็จะมีส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคอื่นก็จะมาช่วยอภิปรายร่วมด้วย

ศึกนี้ ฝ่ายค้านหวังผล 3 ตาย!

-การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ จะแตกต่างกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้ หลายครั้งที่ผ่านมาอย่างไร?

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายของสภาฯและน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้นก็จะหวังผลอยู่ในระดับ 3 ระดับ

โดยระดับสำคัญที่สุด คือฝ่ายค้านเราจะสรุปทั้งหมดมาว่า3 ปีที่รัฐบาลชุดนี้ทำงานมามันมีอะไรเป็นข้อล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่อง และมีเรื่องไม่ชอบมาพากลอย่างชัดเจนในรอบสามปี  ซึ่งจะมีเนื้อหาบางส่วนที่อาจจะเก่าแต่ฝ่ายค้านจะนำมาอภิปรายต่อยอดใหม่ขึ้น หลังจกที่เราเคยบอก เราเคยเตือนเคยจับผิดแล้วแต่รัฐบาลก็ยังคงจะดึงดันที่จะทำต่อไป

นอกจากนี้ ก็มีเรื่องข้อมูลใหม่ ประเด็นใหม่และมีเรื่อง ที่รัฐบาลเคยแถลงนโยบายการบริหารประเทศต่อรัฐสภาไว้แต่รัฐบาลไม่ได้ทำ หรือทำแล้วล้มเหลว เพราะฉะนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ผลจะเกิดคือประชาชนจะได้รู้การทำงานในรอบ 4 ปีของรัฐบาล

ผลที่เราหวังจะได้ในระดับหนึ่งคือรัฐบาลก็อาจจะต้องแพ้ในสภา ภาษาทั่วไปคือ "ตายคาที่" หากพูดให้เข้าใจง่ายๆคือการแพ้โหวตในสภา ซึ่งในการอภิปรายรอบนี้ อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะในช่วงปลายสมัยของสภาฯ อย่างช่วงปัจจุบัน ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาล แต่ละพรรคการเมืองก็คงจะต้องดีดตัวเองออก เพื่อแสดงจุดยืนแล้วก็หาเสียง ถ้าหากว่าคุณยังไปร่วมสมทบ ร่วมอวย ไปร่วมสังฆกรรมกัน พรรคร่วมรัฐบาลอาจจะคิดว่าถ้าแบบนั้น เขาอาจจะมีสิทธิ์ตายด้วยกัน เพราะฉะนั้นอาจจะมีสิทธิ์ฉีกออกมายกมือ ล้มรัฐบาล กลุ่มที่ประกาศตัวชัดเจนในรัฐบาลที่ประกาศตัวว่าจะไม่ยกมือให้ก็มี เพราะฉะนั้นโอกาสตายคาที่มี ผมว่ามี รอบนี้ถือว่ามีมากกว่าทุกครั้ง ถึงคนจะบอกว่าฝ่ายรัฐบาลมือเขาเยอะ ก็ใช่  แต่โอกาสที่จะตายคาที่มีมากกว่าทุกครั้งเพราะมันเป็นช่วงปลายสมัยของสภาฯ

อันที่สองคือ  "ไปตายโรงพยาบาล" ก็คือข้างในอาจจะยกมือผ่าน แต่ว่าพอผ่านการอภิปรายแล้วเชื่อว่าวิกฤตศรัทธาจะเกิด แล้วในที่สุดก็จะมีบางพรรคอาจจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล หรือไม่ถอนตัวก็คืออาจจะถูกสังคมบีบอย่างหนัก เพราะฉะนั้นก็จะเป็นเหตุให้รัฐบาลไปไม่รอด เพราะฉะนั้นก็อาจจะตุปัดตุเป๋ อาจจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี หรือไม่ก็อาจจะไม่ปรับ คือรัฐบาลอาจจะไปเลยก็ได้ อันนี้คือลักษณะการมาตายโรงพยาบาล

และตายอันที่สามคือ "กลับไปตายที่บ้าน"คือเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งแล้วคุณตาย โดยข้อมูลที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายรอบนี้ เราเชื่อว่าจะส่งผลถึงการเลือกตั้งคือ ประชาชนเมื่อได้ฟังแล้ว หากคุณไม่ตายคาที่ ไม่ตายโรงพยาบาล แต่ก็จะตายคาหน่วยเลือกตั้ง เพราะประชาชนฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านรอบนี้ ประชาชนจะเกิดความเสื่อมศรัทธาสุดๆ ซึ่งแม้ทำอะไรพวกคุณไม่ได้แต่ประชาชนจะทำในหน่วยเลือกตั้ง อันนี้ก็เป็นผลที่เราหวังไม่น้อยเหมือนกัน ว่ามันก็ใกล้เลือกตั้ง เราก็คิดวา การอภิปรายในครั้งนี้ฝ่ายเขาจะแพ้การเลือกตั้ง

เมื่อถามถึงว่า เรื่องการหวังให้พรรคร่วมรัฐบาลหรือส.ส.รัฐบาลไม่โหวตไว้วางใจให้รัฐมนตรีบางคน อย่างที่เคยโดยยกคำเปรียบเปรยในทางการเมืองว่า"หมาตาย เห็บกระโดด"เรื่องนี้"สุทิน-แกนนำพรรคเพื่อไทย"กล่าวย้ำอีกทีว่า เป็นเรื่องที่เวลาหมาหรือสุนัขป่วย ที่อาการจะร่อนแร่ พวกเห็บเหาก็ต้องกระโดดหนีเป็นธรรมดา ไม่มีเห็บเหาตัวไหนอยู่ เมื่อตอนสุนัขป่วย ก็เป็นเรื่องที่ว่า หากว่ารัฐบาลเสื่อมสุดๆหรือแย่สุดๆ คิดว่าหลายพรรคคงจะต้องกระโดดหนี เห็นปรากฎการณ์แล้วคือตอนที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโหวตรับหลักการวาระแรกร่างพรบ.สุราก้าวหน้า ที่จะพบว่ามีส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่น้อยที่ไปยกมือให้ฝ่ายค้านในการเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาฯ รวมถึงร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เช่นกันซึ่งอันนี้เป็นสัญญาณบอกเหตุ

"สุทิน-ประธานวิปฝ่ายค้าน"กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจในส่วนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า พลเอกประยุทธ์จะโดนเยอะ โดนหนัก บางเรื่องเขาคิดว่าคนไม่รู้และบางเรื่องแกคิดว่ารู้แต่คิดว่าทำอะไรแกไม่ได้ เพราะมีมือเยอะในสภาฯ  เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรี จะโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งเรื่องความล้มเหลว ที่จะมีทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ การทุจริต การจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นต้น  

คิดว่าประชาชนจะไม่ผิดหวัง แต่หากจะหวังว่าจะได้เห็นรัฐบาลล้มกลางสภาฯ ต้องบอกว่าแบบนี้อาจจะไม่ง่าย เพราะว่าเสียงเขาเยอะกว่า แต่ที่จับผิดรัฐบาลได้ ก็เพื่อให้ประชาชนนำไปประกอบการตัดสินใจตอนเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ข้อมูลการอภิปรายก็มีทั้งที่เป็นใบเสร็จและที่ไม่ใช่ใบเสร็จ แต่เชื่อได้ว่าทุจริต

ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจแกนนำรัฐบาล"3ป."คือพลเอกประยุทธ์ -พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่สังคมเรียกร้อง การอภิปรายไม่ไว้วางใจบางรอบ เรายกเว้นไม่อภิปรายเพราะหลักฐานไม่ชัดเจน แต่ประชาชนเรียกร้องอยู่ตลอดให้อภิปราย ฝ่ายค้านเราก็พยายามที่จะหาข้อมูลและสนองตอบต่อสังคม เพราะก็ต้องเชื่อว่าการดำรงคงอยู่ของรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมันก็มาจากการเกาะเกี่ยวเหนี่ยวนำกันของ 3 ป. เพราะฉะนั้นมันมีอะไรหลายที่โยงกันอยู่ ที่เขาทำร่วมกันแล้วเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

โดยในส่วนของการที่ต้องอภิปรายพลเอกประวิตร ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้กำกับดูแลกระทรวงอะไรนั้น อันนี้ก็เป็นคำถามและเป็นข้ออธิบายที่เราก็เคยอธิบายต่อสังคมตอนที่ฝ่ายค้านไม่ได้อภิปรายพลเอกประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ก็เพราะเหตุผลนี้ แต่คราวนี้เมื่อพอเห็นอะไรหลายอย่างที่แกไปสั่งการ ที่แม้ไม่ได้ทำโดยตรงแต่ก็เป็นการสั่งการโดยอ้อม และความผิดเมื่อก่อนที่ทำไว้ก็ยังไม่สำเร็จตอนที่แกยังดูแลงาน แต่ตอนนี้สำเร็จแล้ว

-ยุทธการที่บอก เด็ดหัว สอยนั่งร้าน แล้วการอภิปรายรัฐมนตรีคนอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง เช่น การอภิปรายรองนายกฯที่ควบรัฐมนตรีว่าการด้วยฯ  สองคนคืออนุทิน จากภูมิใจไทยกับจุรินทร์ จากประชาธิปัตย์ เป็นอย่างไร?

เราคิดว่าการที่พลเอกประยุทธ์อยู่ได้ก็เพราะว่ามีพรรคร่วมรัฐบาล คอยค้ำชู ที่เราเรียกว่า นั่งร้าน ก็เป็นรัฐมนตรี กระทรวงใหญ่ๆ ที่ค้ำอยู่   เช่นพรรคประชาธิปัตย์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พวกนี้ก็มีเป็นประเด็นทางสังคมเยอะแยะ เพราะฉะนั้นเราก็ปล่อยไม่ได้ หรือกระทรวงคมนาคมของพรรคภูมิใจไทยก็ไม่น้อยเพราะกระทรวงคมนาคมก็มีเรื่องเยอะ เรื่องโครงการใหญ่ๆ พวกเมกะโปรเจคต์ หรือแม้แต่โครงการเล็กๆที่คิดว่ารอดสายตา รวมถึงการจัดงบประมาณรายจ่ายต่างๆ ที่กระจุกตัว รวมถึงการไปทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำลายระบบรัฐสภา มีการไปเอาตัวเขามา มีการไปสั่งการข้ามพรรค

ถามถึงกรณีมีรัฐมนตรีบางคนที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเช่น ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิตอลฯ ที่ฝ่ายค้านระบุในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตอนหนึ่งว่ามีความประพฤติเสื่อมเสียทางศีลธรรมอันดี ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง" เรื่องนี้เป็นอย่างไร "สุทิน-ประธานวิปฝ่ายค้าน"กล่าวตอบว่า เรื่อศีลธรรม ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ประเด็นหลักเขามีหลายเรื่อง มีเรื่องทุจริตด้วย เรื่องของการสื่อสาร เรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนและยังมีเรื่องการทำงานที่ล้มเหลวหลายเรื่อง อย่างวันนี้อาละวาดอย่างหนัก พวก Call Center วันนี้ไม่มีใครไม่โดน แล้วคุณปล่อยไว้ได้อย่างไร

ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นอย่าง จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมฯ การอภิปรายก็คงเป็นเรื่องความล้มเหลวในการบริหารงานกระทรวงพัฒนาสังคมฯ แต่ว่าการอภิปรายจะเป็นจากส.ส.พรรคฝ่ายค้านพรรคอื่น ไม่ใช่จากส..ส.เพื่อไทย เลยไม่ค่อยรู้แน่ชัด แต่ก็ยืนยันว่ารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายรอบนี้ ปมเรื่องทุจริต จะมีอยู่เกือบทุกคน และมีหลายเคสที่เมื่ออภิปรายจบฝ่ายค้านสามารถยื่นเอาผิดต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ได้ นอกจากนี้ ก็จะมีเรื่องของปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่เป็นเรื่องการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง น้ำมันแพง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ฝ่ายค้านคาดหวังไว้สูงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ที่ต้องทำให้เขาตายในสามระดับ คือตายที่โรงพยาบาล ตายที่บ้าน แต่หากรัฐบาลผ่านรอบนี้ไปได้ ก็จะเกิดเป็นวิกฤต เพราะความศรัทธาจะเกิดขึ้นแน่นอน ไม่มีทางที่รัฐบาลจะมีศรัทธาเพิ่มขึ้น โดยหากรัฐบาลผ่านไปได้ ก็จะไปเจอเรื่องวิกฤตวาระการเป็นนายกรัฐมนตรีครบแปดปีของพลเอกประยุทธ์ ถึงตอนนั้นก็จะมีเสียงเรียกร้องขึ้นมา ที่จะออกมาสำทับกับกระแสหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งหมดจะเติมกันเข้าไป โดยเรื่องแปดปี พลเอกประยุทธ์ต้องวางท่าทีให้ดี เพราะหากวางท่าทีไม่ดี ก็จบ

จัดทัพ 40 ส.ส.ฝ่ายค้าน

เรียงหน้า ซักฟอก-เชือด-ถล่ม

"สุทิน-ประธานวิปฝ่ายค้าน"กล่าวต่อไปว่า สำหรับจำนวนส.ส.ฝ่ายค้านที่จะอภิปรายรอบนี้ จนถึงขณะนี้พบว่าในส่วนของเพื่อไทยมีส.ส.ที่จะได้อภิปรายรวมกันทั้งสิ้นประมาณ  20 คน ส่วนพรรคก้าวไกล มี 13 คน ขณะที่พรรคอื่นก็ประมาณนั้น 3-4 คน พรรคเพื่อชาติประมาณ 2 คน รวมกันแล้วก็ประมาณ40 คน

"หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมเชื่อว่ารัฐบาลก็จะระส่ำระสาย สมมุติว่าไม่คว่ำในความสภา ก็จะระส่ำระสาย จะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันในพรรคการเมือง ทั้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ก็เป็นรัฐบาลที่ขาลาก ขาเป๋ ก็ลากกันไป สำหรับพลเอกประยุทธ์ การผ่านอภิปรายรอบนี้ คิดว่าถ้าดูเรื่องของมือในสภา ก็มีโอกาสผ่านมากกว่า แต่ว่าศรัทธาคิดว่า จะไม่ผ่าน"

สำหรับเสียงโหวตตอนลงมติในฝั่งของพรรคฝายค้านที่อาจจะลงมติไม่ไปทางเดียวกันกับพรรคฝ่ายค้าน นอกเหนือจาก 7 ส.ส.เพื่อไทย ที่เคยไปลงมติกับฝ่ายรัฐบาลตอนพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 หรือไม่นั้น คือตอนนี้มันก็อยู่ในช่วงปลายสมัยของสภาฯ ที่อาจจะมีการโยกย้ายการสังกัดพรรคการเมือง มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะเดิมพันสูง มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง มีกล้วยมีอะไรก็มาเกี่ยวข้อง มันก็มีโอกาสเกิด

เชื่อก่อนลงมติ มีแจกกล้วย

 -คิดว่าตอนจะลงมติ จะมีการแจกกล้วยหรือไม่?

ผมเชื่อว่ามี ซึ่งก็มีหลายรูปแบบอย่างวันนี้ก็เห็นแล้วว่ามีการติดสินบนให้กับงบประมาณกัน เพราะฉะนั้นการแจกกล้วยให้โดยกล้วยสดหรือกล้วยบ่มไปบ่มกินเป็นรูปแบบงบประมาณ

-พรรคเล็กจะเป็นตัวแปรสำคัญหรือไม่?

ก็มี คือหากว่าถ้าคุณให้กล้วยกันไม่พอ พวกนี้ก็พร้อมที่จะยกมือตรงข้ามคุณทันที แต่เป็นเรื่องของเขากับรัฐบาลไม่ใช่กับเรา เพราะฉะนั้นก็เป็นตัวแปรได้ ถ้าเขาให้กล้วยกันแบบอิ่มหมีพีมัน ก็อาจจะไม่มีปัญหา 

สำหรับเสียงส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ตอนนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 201 เสียง โดยหักส.ส.เพื่อไทย 7 คนที่เคยไปลงมติรับหลักการร่างพรบ.งบฯ วาระแรกออกไปแล้ว ซึ่งการที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งกลางสภาฯ จะต้องมีเสียงโหวตไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ จากที่ตอนนี้ก็มีประมาณ 477 เสียง ซึ่งในเชิงคณิตศาสตร์การเมือง ฝ่ายรัฐบาลก็ยังเป็นต่อ เพราะยังมีเสียงในฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้านร่วม 50-60 เสียง แต่ในจำนวนนี้ก็จะเป็นลักษณะไหลไปไหลมา เข้า-ออก มีทั้งเข้ามาแล้วก็ออกไป

-เรื่องการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความวาระแปดปี ของพลเอกประยุทธ์ ฝ่ายค้านจะดำเนินการเมื่อใด?

ตอนนี้ฝ่ายค้านยังไม่ได้คุยกัน จะรอให้ผ่านอภิปรายไม่ไว้วางใจไปก่อน แต่ความเห็นส่วนตัวผม จะเสนอไม่ให้ยื่นตีความ เพื่อให้พลเอกประยุทธ์พิจารณาเองว่าชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม ให้นายกฯตัดสินใจเอง เพราะหากให้นายกฯไปโดยสปิริตจะสง่างามมากกว่าที่จะให้ศาลชี้ออกมาเพราะเรื่องนี้ผมว่าพลเอกประยุทธ์คิดเองได้ ท่านต้องนับเลขถูก 1-8 และพลเอกประยุทธ์ต้องคิดเองได้ว่าหากจะสร้างบรรทัดฐานให้การเมืองไทยต้องทำอย่างไร การอยู่ในตำแหน่งแปดปีควรจบที่ตรงไหน ผมว่านายกฯคิดเองได้

ผมก็เลยจะเสนอฝ่ายค้านว่าควรรอให้นายกฯคิดเองก่อน แต่หากเลยเวลาแล้วคือ 24 สิงหาคม  ถ้านายกฯไม่คิดเองได้ สปิริตนายกฯอยู่ตรงไหน จากนั้นเราถึงจะยื่น หากนายกฯไม่แสดงสปิริต  ซึ่งที่บอกว่าให้นายกฯคิดเองหมายถึงว่าก็ไม่ต้องยื่น แต่นายกฯ ก็ประกาศลาออก แค่นี้ก็จบ ก็อย่างนายกฯก็บอกกับประชาชนว่า"เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ การอยู่ในตำแหน่งของผู้บริหารประเทศต้องไม่เกินแปดปี กระผมเองก็อยู่มาครบแปดปีแล้วในตอนนี้ ดังนั้นเพื่อสนองตอบต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ผมก็ขอยุติบทบาท ด้วยการลาออก"ทำแค่นี้ก็จบ ไม่ต้องให้คนไปยื่นตีความ เพราะหากคนไปยื่นตีความก็หมายถึงนายกฯได้ปฏิเสธความเข้าใจ และไม่ทำตาม คนถึงจะไปยื่นให้ศาลวินิจฉัย 

ส่วนหากว่ามีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มองว่าหากศาลพิจารณาบนหลักนิติธรรม และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ผมมั่นใจว่าไม่มีเหลือ นายกฯต้องหยุดการทำหน้าที่ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนอกเหนือจากหลักการนี้แล้ว เราก็ไม่มั่นใจ

-การเมืองหลังจากเรื่องศึกซักฟอก เรื่องวาระแปดปีของพลเอกประยุทธ์ เรื่องร้อนๆ ก็คงหมดแค่นี้ในปีนี้?

ก็จะมีเรื่องวิกฤตรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเรื่องสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่เป็นประเด็นที่สังคมคาใจกับเรื่องสูตร 100 หารกับ 500 หาร ที่จะต้องมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยหากเกิดออกมาว่าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า สูตร 500 หารปาร์ตี้ลิสต์ไม่ผ่าน เป็นเรื่องขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นวิกฤตขึ้นมา แล้วหลังจากนั้นจะทำอย่างไรต่อไป หากจะทำใหม่ก็ไม่น่าจะทัน หากไม่ทัน แล้วจะใช้กฎหมายอะไรในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ และกระแสสังคมก็อาจจะบีบคั้นให้รัฐบาลทำอะไรสักอย่างหรือไม่ทำอะไรสักอย่าง ผมก็ยังดูไม่ออก ก็อาจจะเป็นทางตัน อย่างน้อยก็อาจเกิดความโกลาหล ส่วนสมาชิกรัฐสภาที่ไปร่วมโหวตแบบนั้น หากว่าเป็นฝ่ายเราทำแล้วมีคนไปยื่น เราตายแน่ แต่ฝ่ายนี้ทำ ก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร เราก็จะทำ ก็จะลองดู ก็จะยื่นดู เพราะเป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ โดยรู้ว่าผิด แต่จงใจ

-หากมีอำนาจพิเศษมาช่วย จะทำให้พลเอกประยุทธ์อยู่ครบสี่ปีได้ไหม?

ก็ถึงได้ไม่ยาก ถ้ามีอำนาจพิเศษมา ก็ครบสี่ปีได้ไม่ยาก เพราะเขาก็มีข้ออ้างหลายอย่างเช่นต้องจัดประชุมเอเปค แต่พอจัดประชุมเสร็จ ก็เข้าสู่เดือนธันวาคมปีนี้และเข้ามกราคมปีหน้า มันก็ใกล้ที่สภาฯจะครบวาระแล้ว อารมณ์คนมันก็คงไม่อะไรแล้ว มันก็อาจมีความเป็นไปได้

"สุทิน-ประธานวิปฝ่ายค้าน"กล่าวปิดท้าย สรุปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ว่า ฝ่ายค้านจะมีการรวมความในสิ่งที่รัฐบาลทำไว้ตลอดสามปีกว่าที่ผ่านมา และจะชี้ให้เห็นความล้มเหลวในด้านต่างๆ ตามกระทงความผิดเช่นความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหาร -การทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องและตัวเอง -การจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและละเมิดจริยธรรม-การทำลายระบอบประชาธิปไตย-การฝ่าฝืนกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติคือแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้วแต่สุดท้ายไม่ทำ ที่คือการทรยศประชาชน อยากให้ประชาชนร่วมกันติดตามเพราะเป็นประโยชน์โดยตรงและเป็นคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย

"คิดว่าประชาชนจะไม่ผิดหวัง แต่หากจะหวังว่าจะได้เห็นรัฐบาลล้มกลางสภาฯ ต้องบอกว่าแบบนี้อาจจะไม่ง่าย เพราะว่าเสียงเขาเยอะกว่า แต่ที่จับผิดรัฐบาลได้ ก็เพื่อให้ประชาชนนำไปประกอบการตัดสินใจตอนเลือกตั้งที่จะมีขึ้นได้ ข้อมูลการอภิปรายก็มีทั้งที่เป็นใบเสร็จและที่ไม่ใช่ใบเสร็จ แต่เชื่อได้ว่าทุจริต"ประธานวิปฝ่ายค้านระบุทิ้งท้าย 

โดยวรพล  กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย

ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544

เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .