ค่าโง่โฮปเวลล์-กับเบื้องหลังทีมสู้คดี บนเดิมพัน 25,711 ล้านบาท

 

คดีโฮปเวลล์ ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ โดยภายหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ศาลปกครองพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ ตามคำร้องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

และต่อมาเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งงดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีโฮปเวลล์ ทำให้กระบวนการบังคับคดีที่เคยให้ภาครัฐต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวม 25,711 ล้านบาท ต้องหยุดพักไว้ก่อน จนกว่าการพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่จะได้ข้อยุติ


โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้มีการตั้ง คณะทํางานศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อดําเนินการแก้ไขปัญหาและความเสียหายของรัฐในคดีโฮปเวลล์ เพื่อสู้คดี โดยมีฝ่ายอัยการมาร่วมสู้คดีในชั้นศาลปกครองให้ด้วย รวมถึงมีการตั้ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประสานงานคดีนี้ หลังที่ผ่านมาเขามีบทบาทอย่างมากในการสู้คดีดังกล่าว ตั้งแต่ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงศาลปกครองสูงสุด ในฐานะหัวหน้าทีมสืบค้นพยานหลักฐานต่างๆ และข้อพิรุธในการทำสัญญาคดีโฮปเวลล์
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้ประสานงานในการเตรียมการสู้คดีโฮปเวลล์ ในชั้นศาลปกครอง ให้สัมภาษณ์กับไทยโพสต์หลังเราตั้งคำถามว่า ชัยชนะในชั้นศาลปกครองสูงสุด ที่ทำให้คดีโฮปเวลล์ได้กลับมาพิจารณากันใหม่ ถือว่าเป็นผลงานของรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะทำให้รัฐอาจไม่ต้องจ่ายค่าโง่กว่าสองหมื่นห้าพันล้านบาท โดยเขาให้ความเห็นว่า ถ้ามองในมุมที่สามารถยันเอาไว้ได้ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จ โดยที่ผ่านมาเรื่องนี้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะ และทางนายกรัฐมนตรีก็ให้รายงานให้ทราบเป็นระยะ เพื่อคอยอัปเดตสถานการณ์ต่างๆ ให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ


-ผลคำตัดสินดังกล่าวของศาลปกครองสูงสุดในคดีโฮปเวลล์ สะท้อนอะไรต่อประเทศไทย?


สะท้อนหลายเรื่อง เรื่องแรกก็คือว่า การเมืองมันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป ถ้าหากคนที่อยู่ในวงการเมืองและคนที่มีอำนาจทางการเมือง สามารถใช้อำนาจทางการเมืองมาทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศได้
ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะตอนเริ่มต้นของเรื่องนี้ ตอนนั้นผมยังเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม อยู่พรรคภูมิใจไทย พอต่อมาผมมาช่วยทำงานในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ก็เท่ากับผมก็ไม่ได้อยู่พรรคภูมิใจไทยเหมือนกัน เท่ากับว่าสถานะทางการเมืองระหว่างผมกับคุณศักดิ์สยามแตกต่างกัน แต่เราสามารถก้าวข้ามความแตกต่างดังกล่าว และประสานความร่วมมือกันทำงานบนเป้าหมายเดียวกัน คือเพื่อผลประโยชน์ชาติบ้านเมือง เพราะฉะนั้นถ้าในทางการเมืองทุกคนทำได้แบบนี้ ก็จะทำให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองมากมายมหาศาล และมันก็จะบรรลุในสิ่งที่ว่าทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง แต่ถ้าตราบใดเรายังแบ่งแยกไม่ออกว่าการทำงานการเมืองแม้อยู่ต่างพรรค แต่เป้าหมายเดียวกันคือเพื่อบ้านเมือง แล้วไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ มันก็เกิดความเสียหาย อันนี้คือสิ่งที่ผมเห็นได้ชัดจากตรงนี้


เรื่องที่สอง การทำงานทุกอย่างมันไม่ใช่แต่เพียงว่า ต้องอาศัยคนที่มีตำแหน่งใหญ่ๆ หรือคนที่มีสถานะทางสังคมเสมอไปถึงจะสำเร็จ กรณีคดีโฮปเวลล์ที่ผมชี้ให้เห็นว่า พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างนาย สุทธิรักษ์ ยิ้มยัง หรือ ยิ้ม พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย นิติกรตัวเล็กๆ คนหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทยกับทีมงานของเขา พวกเขาเป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้เราสามารถรวบรวมข้อมูล เตรียมเอกสารต่างๆ ซึ่งคนเหล่านี้ ก่อนหน้านี้ไม่มีใครรู้จัก และไม่มีเครดิตในสังคม เขาออกไปพูดเขาออกไปทำอะไร คนก็อาจไม่ฟังไม่เชื่อเขา แต่ถ้าเราได้รู้จักและหัดฟังคนเหล่านี้ และนำข้อคิดของเขามาตรึกตรอง มาทำงาน มันก็อาจนำไปสู่ความสำเร็จเหมือนในคดีโฮปเวลล์นี้ได้ เราอย่าไปตัดสินคนที่สถานะหรือตำแหน่งทางราชการเขา เราต้องดูคนที่ความสามารถ


ข้อคิดที่สามคือ ทำอะไรอย่าท้อ อย่ายอมแพ้ง่ายๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของแผ่นดิน ของประเทศ อย่ายอมอะไรง่ายๆ เงินทุกบาททุกสตางค์ คิดง่ายๆ ว่าถ้าเป็นเงินส่วนตัวของเรา เราจะยอมง่ายๆ ไหม เราจะสู้ไหมถ้าเป็นเงินส่วนตัว ในเมื่อเป็นเงินแผ่นดินและเป็นหน้าที่ของเรา เราจะทิ้งเรื่องไปแบบง่ายๆ หรือ ขอให้สู้ตลอด อย่ายอมแพ้ง่ายๆ


"คนตัวเล็กๆ กลไกเล็กๆ อย่างนายสุทธิรักษ์ หรือยิ้ม กับทีมงานของเขา ไม่ได้มีแค่นี้ในสังคมไทย ผมเชื่อว่ายังมีอีกเยอะ มีอีกมากมายในหน่วยราชการและเอกชน ขอให้ทุกคนมองตัวอย่างเรื่องนี้แล้วมีกำลังใจในการทำงาน อย่าท้อ ขอให้ทำความดีต่อไป และต้องขอบคุณในกระบวนการยุติธรรมที่ยึดถือความถูกต้องเป็นธรรม และยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ ซึ่งถ้าเป็นลักษณะแบบนี้ในเรื่องต่างๆ ก็จะทำให้สังคมมีความยุติธรรม จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าอยู่ในสังคมอยู่ในบ้านเมืองที่ดี"


-ที่ผ่านมาภาครัฐมักมีประเด็นค่าโง่กับภาคเอกชน อยู่หลายคดี เป็นเพราะสาเหตุใด?


แต่ละคดีมันไม่เหมือนกัน ต้องไปดูข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่อยู่ในสำนวน ที่ควรหยิบยกมาพิจารณาต่างๆ ได้ อีกทั้งความผิดเดียวกันหรือการกระทำเดียวกัน มันไม่ได้แปลว่าขึ้นศาลแค่ศาลเดียว แต่เราต้องสกัดออกมาให้ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และสามารถไปต่อสู้ที่ศาลใดได้บ้าง เพราะฉะนั้นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมมันไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวในเชิงปฏิบัติงาน มันอยู่ที่เราจะสามารถมองเห็นประเด็นหรือแก้ไขปัญหาตรงนั้นได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่สำคัญคนที่ทำงานต้องไม่ยอมแพ้ง่ายๆ บนหลักการของความถูกต้องและความเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าไม่ยอมจบหรือไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะไปหาเรื่องเขา หาเหตุเขาโดยไม่มีเหตุผล แบบนั้นก็ใช้ไม่ได้ แต่เราต้องอยู่บนหลักการที่ว่า ต้องมีเหตุผลรองรับว่าทำไมเรายังต้องสู้ต่อนับหนึ่งใหม่คดีโฮปเวลล์กับโอกาสชนะ ไม่ต้องจ่ายค่าโง่


ส่วนการสู้คดีต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร พีระพันธุ์-ผู้ประสานงานการสู้คดีของกระทรวงคมนาคมกับอัยการในคดีโฮปเวลล์ในชั้นศาลปกครอง วิเคราะห์ให้ฟังโดยละเอียด แต่ลำดับแรกเขาปูพื้นความเป็นมาที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องโฮปเวลล์ให้ฟังว่า เรื่องคดีโฮปเวลล์ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำวินิจฉัยเมื่อกลางปี 2562 ว่าคดีไม่ขาดอายุความ เมื่อไม่ขาดอายุความก็ทำให้ภาครัฐเกิดภาระคือต้องชำระเงิน ผมเคยติดตามเรื่องนี้มาสักระยะ แต่ต่อมาก็ร้างราไปอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินเมื่อปี 2562 ก็เลยสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับคดีโฮปเวลล์ เพราะเมื่อไปอ่านคำพิพากษาที่บอกว่าคดีไม่ขาดอายุความ ก็พบว่าก่อนหน้านั้นในชั้นศาลปกครองชั้นต้น เคยมีคำตัดสินคดีเดียวกันนี้ว่าคดีโฮปเวลล์ขาดอายุความ ซึ่งหลักเรื่อง อายุความ เป็นปัญหาในหลักข้อกฎหมาย ซึ่งโดยปกติมันไม่น่าผิดพลาดว่าศาลหนึ่งว่าขาดอายุความ แต่อีกศาลบอกว่าไม่ขาดอายุความ เลยทำให้ผมเกิดความสนใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น


พอดีก่อนหน้านี้ ผมเคยเป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (พรรคประชาธิปัตย์) ผมศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมก็พบว่า ศาลปกครองกลางที่เป็นศาลชั้นต้นของศาลปกครอง ได้เคยวินิจฉัยบนพื้นฐานของพระราชบัญญัติจัดตังศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ที่บัญญัติไว้ว่า"การนับอายุความ" ให้นับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี โดยไม่ได้มีบทเฉพาะกาลยกเว้นไว้ว่า คดีนั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเปิดทำการ แต่ปรากฏว่าศาลปกครองสูงสุด ไปเอามติของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด บอกว่าคดีที่เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ ให้นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ที่เป็นวันซึ่งศาลปกครองเปิดทำการ


ผมเห็นว่า แบบนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะว่าศาลทุกศาล รวมถึงศาลปกครอง ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องตัดสินตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ไปตัดสินตามมติ โดยถ้าเห็นว่า กฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมในประเด็นปัญหาสำหรับคดีที่เกิดขึ้นก่อน สิ่งที่ต้องดำเนินการก็คือต้องไปให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้ ที่เป็นหลักของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายทั่วๆไป ไม่ใช่ไปเอา"มติที่ประชุมใหญ่"มาแก้ไขกฎหมายกันเอง


...ผมจึงเห็นว่าอันนี้ไม่ถูกต้อง โดยตอนนั้นผมยังเป็นส.ส.อยู่ ก็เลยยื่นญัตติด่วนเพื่อขอให้สภาฯ มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะเมื่อศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาคดีโฮปเวลล์ออกมาแล้วก็แปลว่ามันจะมีการ"บังคับคดี" กันต่อมา หากเราไม่เร่งเคลียร์ปัญหานี้ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ ผมจึงเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ปรากฏว่า ทางประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านกลับมีความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนเลย จึงไม่ยอมให้บรรจุวาระเป็นเรื่อง"เร่งด่วน" โดยให้ไปบรรจุต่อท้ายเรื่องอื่นๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าต้องรออีกกี่ปีถึงจะได้ตรวจสอบแล้วหากถึงวันนั้นมันจะเกิดความเสียหายแก่ภาครัฐไปขนาดนั้น


ต่อมานพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่และส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็มาคุยกับผม เขาก็บอกว่าเห็นด้วยกับผมว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนควรต้องรีบทำ เขาก็บอกว่าจะยื่นญัตติซ้ำเข้าไปอีกรอบ แต่ผมก็บอกหมอระวีว่า ผลก็คงไม่ต่างกับญัตติที่ผมยื่นไปก่อนหน้านี้ เพราะหากประธานสภาฯ เห็นว่าญัตติของหมอระวีเป็นเรื่องเร่งด่วน มันก็เท่ากับไปขัดแย้งกับของผม หมอระวีก็บอกไม่เป็นไร เลยลองไปยื่นด้วย แต่ผลก็ออกมาโดยประธานสภาฯบอกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน


ต่อมาไม่นาน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มาหารือกับผมว่าจะแก้ปัญหาเรื่องคดีโฮปเวลล์อย่างไร ผมให้ความเห็นไปว่าในมุมมองของผม เรื่องนี้มันไม่ถูกต้องตรงไหนอย่างไรบ้าง รมว.คมนาคม ก็ไปตั้งคณะทำงานพิจารณาเรื่องนี้ที่กระทรวงคมนาคม


...ระหว่างนั้น ช่วงที่ผมยังเป็นส.ส.อยู่ ช่วงดังกล่าวผมเป็นกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนฯ ผมก็เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ให้ตั้งคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมาธิการมาศึกษาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแทนการใช้ช่องทางการยื่นญัตติด่วนให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบด้วยให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษากรณีคดีโฮปเวลล์ โดยให้ผมเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ผมเลยไปทำงานในส่วนดังกล่าว


จนต่อมาคณะทำงานได้มีการศึกษาดูข้อมูลเกี่ยวกับโครงการโฮปเวลล์ และเชิญคนที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อคณะทำงานฯ ทุกคนเห็นสอดคล้องตรงกันกับแนวทางที่ผมได้เคยสรุปให้ฟังว่า มันมีเรื่องที่ไม่ถูกต้องทุกขั้นตอน แต่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่เห็นตรงกันก็คือ"มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด" ที่ให้ไปนับอายุความเริ่มต้นในวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ที่ไม่ใช่วันที่กฎหมายกำหนด จุดนี้ไม่น่าจะถูกต้อง คดีโฮปเวลล์ อายุความควรต้องเริ่มนับจากวันที่รู้หรือควรรู้ มันคือวันที่ 30 มกราคม 2541 ที่คือวันที่มีการบอกเลิกสัญญา กับถ้าหากมาเริ่มนับจากวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ 9 มีนาคม 2544


"มันต่างกันตั้งสามปี แปลว่าสามปีดังกล่าวคุณกำลังให้โอกาสกับคนที่มายื่นเรื่อง มาใช้สิทธิ์ทางกฎหมายเพิ่มเติมอีกตั้งสามปี โดยเพียงแค่อาศัยมติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด มันไม่ได้"


..เมื่อเป็นแบบนี้ ผมแจ้งกับ รมว.คมนาคม ผ่านคณะทำงานของกระทรวงคมนาคมว่าในมุมของผมและของกรรมาธิการของสภาฯ เห็นว่าเรื่องนี้มันไม่ถูกต้องหลายเรื่อง แต่หัวใจใหญ่ที่เป็นประเด็นหลักในเรื่องโฮปเวลล์คือเรื่อง"อายุความ" ที่ต้องดำเนินการแก้ไขก่อนเลย ผมบอกไปว่าคดีนี้นับอายุความผิดพลาดอย่างไร มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดมันใช้บังคับไม่ได้เพราะอะไร ผมก็แนะนำไปว่า แนวทางต่อจากนี้คือต้องให้ศาลที่มีอำนาจ ชี้ออกมาก่อนว่าความเห็นดังกล่าวในเรื่องการนับอายุความถูกต้องหรือไม่ ที่ผมเห็นว่าการนับอายุความไม่สามารถนับได้ตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด โดยการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว


"พีระพันธุ์"เล่าเรื่องให้ฟังต่อไปว่า เมื่อรมว.คมนาคมเห็นชอบด้วยในการให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการผู้ยื่นคือกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะต้องยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน พบว่ากรอบเวลาในการยื่นเรื่อง มีเวลาแค่ไม่กี่วัน คนที่เกี่ยวข้องก็เลยมาช่วยกันทำงานมีคนจากฝ่ายต่างๆ เช่น จากการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีนายสุทธิรักษ์ ยิ้มยังหรือ"ยิ้ม" เจ้าหน้าที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ตอนนั้นเขามาช่วยงานกระทรวงคมนาคมในเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว ก็เลยได้มาร่วมกันทำงาน-ประสานงานกับผม


จากนั้น ผมเลยยกร่างหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาว่าการที่ศาลปกครองสูงสุด ไปเอามติที่ประชุมใหญ่ในอดีต มาใช้ตัดสินคดีโฮปเวลล์ว่าไม่ขาดอายุความ เป็นการ"ขัดรัฐธรรมนูญ"เพราะมติดังกล่าวนั้น ไม่ใช่กฎหมายเมื่อมติไม่ใช่กฎหมาย แต่มีการนำออกมาบังคับใช้ ลักษณะแบบนี้ มันจึงเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ


"พีระพันธุ์-ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี"กล่าวต่อไปว่าเมื่อยื่นเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว ตอนรอฟังผล ในใจก็คอยลุ้นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะเห็นด้วยกับเราหรือไม่ แต่สุดท้าย ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นด้วย


...ที่บอกว่าต้องคอยลุ้นเพราะว่าเรื่องโฮปเวลล์มันมีความสลับซับซ้อน เพราะมันมีปัญหาข้อกฎหมายที่ลึกซึ้งมาก แต่เราไม่มีโอกาสไปนั่งอธิบายกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เราได้แต่ส่งเอกสารไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เราก็ไม่รู้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินอ่านแล้วจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน และหากไม่เข้าใจ ท่านก็ไม่สามารถเรียกเราไปอธิบายชี้แจงได้ แต่เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นด้วย เราก็ดีใจ


จนต่อมาเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เราก็ลุ้นกันต่อไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นด้วยตรงกับเราหรือไม่ เพราะไม่ได้แปลว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นตรงกับเราแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญต้องเห็นด้วย


ต่อมาสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 18 พ.ย. 2545 ที่บอกว่าให้เริ่มนับอายุความสำหรับคดีที่เกิดขึ้นก่อน ศาลปกครองเปิดทำการตั้งแต่ 9 มีนาคม 2544 ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ


ที่ก็หมายถึงว่ามติดังกล่าวที่ศาลปกครองสูงสุดเคยนำมาใช้ ณ วันนั้นในอดีต ท่านอาจเคยเข้าใจว่าใช้ได้ แต่วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญท่านชี้แล้วและบอกว่า ใช้ไม่ได้ ขัดรัฐธรรมนูญ ก็แปลว่าข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ เปลี่ยนแปลงไป


.... เมื่อเป็นเช่นนี้ เราเห็นว่า เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ต้องถือว่า เข้าเงื่อนไขที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีโฮปเวลล์กันใหม่ เพราะศาลปกครองกลางเคยตัดสินไปแล้วว่าคดีนี้ขาดอายุความ แต่ศาลปกครองสูงสุดกลับบอกว่าไม่ขาดอายุความเพราะไปเอามติที่ประชุมใหญ่มาตัดสินแทนตัวบทกฎหมาย ซึ่ง ณ วันนั้น ศาลปกครองสูงสุด ท่านอาจเข้าใจโดยสุจริตใจก็ได้ว่า มติดังกล่าวใช้ได้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้มาแล้วว่าใช้ไม่ได้ ก็แปลว่า สาระสำคัญที่เป็นข้อกฎหมายดังกล่าว มันเปลี่ยนแปลงไป


...ทางเราจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ตามหลักกฎหมายแต่ปรากฏว่าศาลปกครองชั้นต้น วินิจฉัยคำขอของเราแล้ว ศาลปกครองไม่เห็นชอบด้วย ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่โดยบอกว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริงใหม่


ทำให้มีการยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น ไปที่ศาลปกครองสูงสุด จนสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อ 4 มีนาคม ที่ผ่านมาว่าความเห็นของฝ่ายเราถูกต้องแล้ว เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยออกมาถือว่าเข้าหลักเกณฑ์กฎหมายที่จะต้องพิจารณาคดีกันใหม่ จึงมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นกลับไปพิจารณาคดีโฮปเวลล์กันใหม่ และให้งดการบังคับคดีเดิมไว้หมด


ผลคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้คำพิพากษาเดิมของคดีโฮปเวลล์ถูกระงับไว้เพื่อให้กลับไปเริ่มต้นพิจารณาคดีกันใหม่ ที่ศาลปกครองกลาง


...ในชั้นศาลปกครองกลางหลังจากนี้ ประเด็นปัญหาเรื่องข้อเท็จจริงมันไม่มีแล้ว มันเหลือแค่ว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ เท่านั้นเอง ซึ่งกฎหมายเขียนไว้ชัดอยู่แล้วว่าการนับอายุความให้นับจากตรงไหน แต่เผอิญศาลปกครองสูงสุดกลับไปเอาอีกหลักหนึ่งมาตัดสินว่าคดียังไม่ขาดอายุความ แต่วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ ก็หมายถึงหลักนั้นใช้ไม่ได้


มันก็เหลือหลักเดียวคือหลักตามกฎหมายเท่านั้น ที่จะเป็นประเด็นที่ต้องนำไปใช้ในการพิจารณาคดีใหม่หลังจากนี้


"พีระพันธุ์-ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี"กล่าวต่อไปว่ากระบวนการต่อจากนี้ ต้องรอการกำหนดวันพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่จากศาลปกครองกลางว่าจะกำหนดวันเริ่มพิจารณาคดีใหม่กันเมื่อใด ส่วนการบังคับคดีตามคำพิพากษาเดิมก่อนหน้านี้ก็ถูกระงับไปแล้วเพราะว่าถูกศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเมื่อ 4 มีนาคม ให้พิจารณาคำขอให้งดการบังคับคดีที่ฝ่ายเราได้ยื่นไป คำว่าพิจารณาคดีใหม่ ไม่ได้หมายถึงการต้องกลับไปเริ่มต้นฟ้องกันใหม่ แต่คือการนำเรื่องเดิมที่อยู่ในศาลอยู่แล้ว กลับมาพิจารณากันใหม่


"การสู้คดี ตอนนี้ก็เหลือประเด็นหลักอยู่ประเด็นเดียวคือว่า คดีขาดอายุความหรือยัง เพราะถ้าขาดอายุความมันก็จบ เพราะหากคดีขาดอายุความ ก็คือฟ้องไม่ได้ เรื่องนี้ก็เป็นข้อต่อสู้หลัก"


-ตอนนี้ที่เริ่มเข้ามาทำคดี มั่นใจแต่แรกไหมว่าจะชนะคดีได้?


ผมมองในมุมของนักกฎหมายและในมุมทางข้อกฎหมาย ผมมั่นใจ ว่าถ้าเอาหลักกฎหมายแท้ๆเอาทฤษฎีกฎหมายแท้ ๆ มาพิจารณาผมมั่นใจว่าผมต้องชนะ ผมมั่นใจ แต่ผมไม่รู้ว่าในการพิจารณาตามขั้นตอนต่างๆของผู้มีอำนาจหน้าที่ มันมีปัจจัยอื่นที่เขาใช้มาประกอบการพิจารณาด้วยหรือเปล่า ตรงนี้มันก็ทำให้เราไม่มั่นใจ ว่านอกจากหลักกฎหมายที่คุณนำมาใช้ มันยังจะมีหลักอื่น ปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ ถ้ามันมีหลักอื่น ปัจจัยอื่น ของผู้มีอำนาจ มันก็มีเอฟเฟกต์ มีผลกระทบต่อแนวทางการทำงานของเรา แต่ถ้าเป็นหลักกฎหมายล้วนๆ แท้ๆ อย่างเดียว ผมมั่นใจร้อยเปอร์เซนต์


ส่วนเรื่องการฟ้องคดีทางแพ่งที่เกี่ยวข้องกับคดีโฮปเวลล์นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องนี้เมื่อตรวจสอบไปแล้ว มันมีความผิดและผิดปกติเยอะแยะมากมาย ตั้งแต่เริ่มต้นเลยจนปัจจุบัน จึงมีประเด็นต่างๆที่เราสามารถหยิบยกมาต่อสู้คดี หรือดำเนินการได้หลายเรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดและควรต้องรีบดำเนินการที่สุด ก็คือเรื่องอายุความ แต่นอกเหนือจากเรื่องอายุความมันยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป เพื่อต่อสู้คดีหรือปกป้องสิทธิของเราในฐานะในภาครัฐ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องที่เราต้องยื่นไปศาลแพ่งว่าการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของเขาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การสู้คดี ตอนนี้ก็เหลือประเด็นหลักอยู่ประเด็นเดียวคือว่า คดีขาดอายุความหรือยัง เพราะถ้าขาดอายุความมันก็จบ เพราะหากคดีขาดอายุความ ก็คือฟ้องไม่ได้ เรื่องนี้ก็เป็นข้อต่อสู้หลัก...การฟ้องคดีทางแพ่งที่เกี่ยวข้องกับคดีโฮปเวลล์ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เรื่องนี้ตรวจสอบไปแล้ว มีความผิดและผิดปกติเยอะแยะมากมาย จึงมีประเด็นที่สามารถหยิบยกมาต่อสู้คดี หรือดำเนินการได้หลายเรื่อง 


โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

'จิรายุ' ตีปาก 'สส.โรม' อย่าพูดให้ประเทศเสียหาย ปมยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจาก พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีมีอดีต สส. ของกัมพูชา ถูกยิงเสียชีวิตในประเทศไทยแล้ว