การหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ที่รอบนี้เป็นการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ทั่วประเทศ 5,300 แห่ง พบว่าหลายพื้นที่เริ่มเป็นไปอย่างคึกคักและเข้มข้น โดยจะมีการเลือกตั้งกันวันที่ 28 พ.ย.64
สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับ อบต.รอบนี้ ความเคลื่อนไหวหนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจก็คือ การที่ คณะก้าวหน้า ที่มี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่หลายคนเป็นแกนนำ ได้ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งนายก อบต.และสมาชิกสภา อบต.หลายแห่งทั่วประเทศ โดยในส่วนของนายก อบต.มีประมาณ 210 แห่ง หลังก่อนหน้านี้คณะก้าวหน้าเคยส่งคนลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลมาแล้ว
ชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า-อดีต ส.ส.และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นนักการเมือง ทั้งเป็นอดีตนักวิชาการอิสระที่ผลักดันและทำงานเรื่องการกระจายอำนาจและการเมืองการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตลอดหลายสิบปี กล่าวถึงการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ โดยเฉพาะการขยับในสนามท้องถิ่น อบต.ของคณะก้าวหน้า โดยบอกว่าคณะก้าวหน้าตั้งเป้าว่า ผลการเลือกตั้ง อบต.ที่ออกมาน่าจะมีคนที่ลงสมัครในนามคณะก้าวหน้า ได้รับเลือกประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่ส่งลงเลือกตั้ง
โอกาสการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศครั้งนี้ คิดว่าน่าจะเกินครึ่งที่จะได้ผู้บริหาร อบต.หน้าใหม่ เพราะเลือกตั้ง อบต.และเทศบาลก่อนหน้านี้มีการเปลี่ยนแปลง คือได้คนใหม่เข้าไปเกินครึ่ง คนเก่าก็แพ้เลือกตั้งเยอะ สาเหตุเพราะภูมิทัศน์การเมืองมันเปลี่ยน
โดยการสัมภาษณ์เริ่มด้วยการที่ ชำนาญ-แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ อบต.จะคล้ายกับเทศบาล เพียงแต่ที่มาที่ไปของตัวแทนแต่ละชุมชนจะแตกต่างกัน เช่น เทศบาลตำบลก็มีสองเขต, เทศบาลเมืองก็มีสามเขต, เทศบาลนครก็มีสี่เขต เขตละหกคน แต่ของ อบต.จำเพาะของแต่ละหมู่บ้านจะมีตัวแทนอยู่ใน อบต. โดยหลาย อบต.พบว่าไม่ยอมยกสถานะเป็นเทศบาลแม้จะมีรายได้เกิน เช่น อบต.ราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ มีรายได้ปีละสี่ร้อยกว่าล้านบาท หรือ อบต.บางพลี สมุทรปราการ มีรายได้ปีละร่วมเจ็ดร้อยกว่าล้านบาท ซึ่ง อบต.ให้เหตุผลเช่น หากเป็นเทศบาลแล้ว ตัวแทนจะอยู่แต่ในเมือง และอีกอย่างที่เป็นมายาคติคือ เขาไปมองว่าพอ อบต.เป็นเทศบาลก็จะมีหน้าที่เพิ่ม แล้วจะมีการเก็บภาษีเพิ่ม แต่ลึกๆ แล้วก็คือเพราะหากมีการยุบรวมจนเป็นเทศบาล ก็จะทำให้ผู้บริหาร อบต.สูญเสียตำแหน่งไป
"อบต.ก็คือรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นชนบท เพราะเทศบาลถือว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเมือง ซึ่ง อบต.ใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด มากกว่าเทศบาลเลยก็ว่าได้"
ส่วนนายก อบต.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ก็คือหัวหน้าฝ่ายบริหารใน อบต. ก็เหมือนนายกเทศมนตรีในเทศบาล หรือนายก อบจ.ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด
การเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศที่จะมีขึ้นวันที่ 28 พ.ย. นี้ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการเลือกตั้ง อบต.เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ทำให้เมื่อมีการเริ่มต้นกันใหม่จึงเกิดการเลือก อบต.พร้อมกันใหม่หมดทั่วประเทศ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งระดับ อบจ.และเทศบาลก่อนหน้านี้ ซึ่งจริงๆ อบต.บางแห่งไม่ได้มีการเลือกตั้งเลยมาร่วมสิบปี เพราะก่อนหน้า คสช.ทำรัฐประหารปี 2557 อบต.บางแห่งมีวาระกำลังจะครบสี่ปีอยู่แล้ว กำลังต้องมีการเลือกตั้ง อบต. แต่พอเกิดรัฐประหารขึ้นแล้วไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นใดๆ เกิดขึ้น เลยทำให้รวมระยะเวลาแล้ว อบต.บางแห่งก็ไม่มีการเลือกตั้งมาร่วมสิบปี หลายแห่งเลยลากยาวมาถึงปีนี้ บางแห่งคนใน อบต.เรียกได้ว่าเป็นกันจนเบื่อ ซึ่งมันก็ก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะบางทีคนที่อยู่ไม่ได้มีความริเริ่มอะไร แต่ตอนนี้เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น มันก็ทำให้มีการแข่งขัน ต้องแข่งกันสร้างผลงาน
ชำนาญ แกนนำคณะก้าวหน้า มองว่า การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้พบว่าประชาชนตื่นตัวกันมาก ซึ่งแน่นอนว่าคนที่อยู่ใน อบต.มานานมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย บางคนอยู่มานานมีโอกาสได้สร้างผลงาน เพราะไม่มีคู่แข่ง แต่กลับกันโดยธรรมชาติคนมันจะเริ่มเบื่อ ถึงเก่งมาจากไหน แต่พออยู่นานๆ คนจะเริ่มเบื่อ
"โอกาสการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศครั้งนี้ ผมคิดว่าน่าจะเกินครึ่งที่จะได้ผู้บริหาร อบต.หน้าใหม่ อย่างการเลือกตั้ง อบต.และเทศบาลก่อนหน้านี้ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงคือได้คนใหม่เข้าไปเกินครึ่ง คนเก่าแพ้เลือกตั้งเยอะ สาเหตุเพราะภูมิทัศน์การเมืองมันเปลี่ยน คนในพื้นที่เริ่มเบื่อ ยิ่งกับคนที่ไม่มีผลงาน เพราะการเมืองท้องถิ่นมันเล็ก คนเห็นกันหมด คนไหนใครทำอะไร ใครมีความไม่ชอบมาพากล โดยแม้จะจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน แต่มันก็เห็นกันอยู่"
อย่างเช่นบางคนพอเข้าไปทำงานแล้ว จากที่เคยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ก็กลายเป็นมีบ้านใหญ่ขึ้น มีรถยนต์คันใหม่ที่คันใหญ่ขึ้น หรือเห็นมีการนำงบพัฒนาในพื้นที่ไปเอื้อประโยชน์พรรคพวกเดียวกัน
No State Without City
ไม่มีรัฐหรือประเทศใดที่เจริญแล้ว โดยปราศจากท้องถิ่นที่เจริญ
สำหรับเรื่องความสัมพันธ์ของการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ ชำนาญ-ที่ติดตามเรื่องการเมืองท้องถิ่นมาตลอด ให้ทัศนะว่า การเมืองจริงๆ แล้วมีความสัมพันธ์กันไปหมด แยกกันไม่ออกระหว่างการเมืองระดับชาติกับการเมืองท้องถิ่นเพราะจริงๆ มันเอื้อกัน
มีคำกล่าวของปรมาจารย์นักรัฐศาสตร์บางคนพูดกันว่า No State Without City คือ ไม่มีรัฐหรือประเทศใดที่เจริญแล้ว โดยปราศจากท้องถิ่นที่เจริญ เพราะหากไปดูประเทศที่เจริญแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขาจะเจริญ ส่วนประเทศไหนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เจริญ ประเทศก็จะไม่ค่อยเจริญ ซึ่งหลักการสำคัญของเรื่องท้องถิ่นก็คือ ไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น เพราะเขาเกิดที่นั่น เขาเห็นธรรมชาติ เห็นทุกอย่างในท้องถิ่น เขารู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ รู้คาแรกเตอร์ของคนที่นั่นว่ามีนิสัยใจคออย่างไร จึงไม่แปลกที่การเมืองท้องถิ่นจะเชื่อมกับการเมืองระดับชาติ เพียงแต่คาแรกเตอร์มันจะต่างกันเท่านั้นเอง ซึ่งหลายประเทศมีความชัดเจนตรงนี้ No State Without City เช่น สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เยอรมนี
อย่างนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์ ก็เคยเป็นนายกเทศมนตรีคนแรกของนครฮัมบูร์ก หรือคนที่พูดว่า No State Without City ก็คือคำกล่าวของอดีตนายกเทศมนตรีเมืองโคโลญ (คอนราด อาเดนาวร์) และเมื่อไปดูการเมืองในต่างประเทศ เช่นที่ฝรั่งเศส พบว่าในกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาของฝรั่งเศส ครึ่งหนึ่งเป็นโควตาที่มาจากการปกครองส่วนท้องถิ่น
จะเห็นได้ว่าต่างประเทศให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมาก แต่ของบ้านเรายังไม่ค่อยให้ความสำคัญ และพยายามจะเข้าไปครอบงำท้องถิ่น เพราะเป็นความคิดที่มีมาแต่อดีต ที่พยายามจะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทั้งที่การทำให้ส่วนกลางเล็กลงและมีอำนาจน้อยลง แล้วกระจายอำนาจและหน้าที่ให้ท้องถิ่น ประเทศจะยิ่งเจริญ แต่คนไปมีมายาคติ พอเห็นท้องถิ่นเติบโตมากขึ้น ก็เห็นว่าตัวเองจะไม่สามารถไปเกี่ยวข้อง ไปทำอะไรกับงบประมาณของท้องถิ่นได้
ชำนาญ กล่าวถึงการที่คณะก้าวหน้าส่งคนลงเลือกตั้ง อบต.ในการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่ อบจ.-เทศบาล จนถึง อบต.ครั้งนี้ว่า เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น เรารณรงค์เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตั้งแต่พวกเราในคณะก้าวหน้ายังอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ เพราะเราเชื่อว่าพอเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2562 แล้ว จะช้าหรือเร็วก็ต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น ตอนนั้นก็มีคนสมัครเข้ามาจะขอลงทั้งในระดับ อบจ., เทศบาล, อบต.
ซึ่งการเลือกตั้ง อบจ. เรายอมรับว่าคนของเราไม่ได้รับเลือกตั้งให้เข้าไปเป็นผู้บริหาร อบจ.เลย แต่ก็ได้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 57 คน โดยเมื่อเทียบคะแนน-เปอร์เซ็นต์กันดูแล้วกับที่ส่งลงเลือกตั้งไป 42 จังหวัด โดยเทียบกับคะแนนที่พรรคอนาคตใหม่เคยได้รับตอนเลือกตั้งปี 2562 พบว่าคะแนนไม่ได้ลดน้อยลง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าคะแนนใกล้เคียงกัน แต่เมื่อไม่ได้อยู่ในฝ่ายบริหาร การทำงานอะไรก็ยอมรับว่าค่อนข้างลำบาก
ส่วนการเลือกตั้งระดับเทศบาลที่ผ่านมา คณะก้าวหน้าก็ส่งไปประมาณ 104 เทศบาล ซึ่งก็มีคนได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีประมาณ 16 คน ก็ทำให้มีโอกาสได้แสดงผลงาน อย่างที่ อ.อาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ก็เด่นมาก เช่นการทำเรื่องประปา, การทำสมาร์ทมิเตอร์, การทำระบบรับเรื่องราวร้องทุกข์แบบทันสมัยผ่านแอปพลิเคชัน
สำหรับการส่งคนลงเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นที่ผ่านมา รวมถึงการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ การส่งของคณะก้าวหน้าไม่ได้หมายถึงว่าคณะก้าวหน้าเป็นคนส่งคนลงเลือกตั้ง เพราะคณะก้าวหน้าไม่ใช่พรรคการเมือง เพียงแต่เป็นลักษณะว่ามีคนที่สนใจมาร่วมอุดมการณ์ ก็มาสมัครแล้วคณะก้าวหน้าเราก็มาคัดว่ามีอุดมการณ์ตรงกับพวกเราหรือไม่ แล้วก็คัดมา โดยที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเลือกตั้งเขาต้องออกเองทั้งหมด เราไม่ได้มีการสนับสนุนเรื่องเงินทองในการเลือกตั้ง เราก็ทำเรื่องนโยบายให้ ทำสปอตรณรงค์หาเสียงให้ ส่งคนไปช่วยดูแลว่าจะออกแบบนโยบายอย่างไรในการหาเสียง แล้วหากได้รับเลือกเข้าไปก็จะส่งคนไปช่วย เช่น การออกแบบด้านนโยบาย ด้านวิศวกรรมต่างๆ เช่น ระบบน้ำประปา และที่สำคัญคือ ต้องไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง หากเรารู้เราก็จะตัดออกไป ไม่ให้ใช้โลโกของคณะก้าวหน้าในการหาเสียง
ชำนาญ แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวอีกว่า ตอนเลือกตั้งเทศบาลซึ่งผลการเลือกตั้งที่ออกมา มีคนของคณะก้าวหน้าได้รับเลือกจำนวนไม่น้อย ทำให้กระแสของคณะก้าวหน้ากลับมา โดยมีคนมาสมัครขอลง อบต.กับคณะก้าวหน้าจำนวนมากพอสมควรร่วมๆ 572 คน จนสุดท้ายคัดเลือกและส่งลงสมัครทั้งนายก อบต.และสมาชิกสภา อบต.สองร้อยกว่าแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ไม่ได้เคยเป็นนายก อบต.มาก่อน
สำหรับนโยบายหลักในการหาเสียงก็จะมี 9 นโยบายหลัก และ 42 ประเด็นย่อย โดย 9 นโยบายหลักก็เช่น 1. นโยบายเกี่ยวกับด้านโควิด 2.นโยบายด้านการศึกษา 3.นโยบายด้านสุขภาพ 4.นโยบายด้านการเดินทาง 5.นโยบายด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
"ก่อนหน้านี้เราก็เคยโดนเตะสกัดเรื่องล้มสถาบัน แต่ตอนนี้คนรู้แล้วว่ามันไม่ใช่ ก็ทำให้คนกลับมาจะขอลงสมัคร อบต.รอบนี้กับคณะก้าวหน้าเยอะ โดยก่อนหน้านี้สมัยพรรคอนาคตใหม่โดนยุบใหม่ๆ แล้วกลุ่มเราไปหาเสียงตอนเลือกตั้ง อบจ. มันก็มีการสร้างกระแสออกมาเยอะเลย จนเราไม่รู้จะสกัดอย่างไร เพราะไม่เคยมี บางที่มีการบอกว่าอย่าไปเลือกพวกพรรคล้มเจ้า ซึ่งมันไม่มี เพราะตอนนี้ก็เห็นอยู่แล้วว่าไม่ได้ล้มเจ้า มันไม่มี พอคนเริ่มรู้แล้วว่าไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องของการเสนอแนวคิดทางด้านกฎหมายในเรื่องการปฏิรูป ก็ทำให้คนกลับมาสนใจลงท้องถิ่นกับคณะก้าวหน้ากันเยอะ"
และการที่คณะก้าวหน้าส่งคนลงเลือกตั้งโดยเฉพาะนายก อบต.จำนวนหนึ่ง ทำให้หลายคนย่อมอยากรู้ว่า คณะก้าวหน้าตั้งเป้าว่าผู้สมัครของคณะก้าวหน้าน่าจะได้รับเลือกกี่คน เรื่องนี้ ชำนาญ บอกเป้าหมายดังกล่าวว่า ถ้าโดยสถิติที่คณะก้าวหน้าเคยได้ อย่างตอนเลือกตั้งเทศบาลเราได้มาประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เราก็คิดว่า อบต.รอบนี้ก็คิดว่าถ้าได้เข้ามาสัก 10 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ส่งไป ก็ถือว่าโอเคแล้ว
ส่วนการหาเสียง แกนนำคณะก้าวหน้าจะลงไปช่วยหาเสียง แต่จะไม่ไปในลักษณะไปเดินตามตลาด รวมถึงไม่ไปเดินแจกโบรชัวร์การหาเสียงแบบตอนเลือกตั้ง ส.ส. เพราะยุทธวิธีการหาเสียงลักษณะดังกล่าวมันไม่ค่อยได้ผล อันนี้พูดกันตรงๆ แต่จะไปในลักษณะการให้กำลังใจผู้สมัครของคณะก้าวหน้า ไปพูดคุยกับผู้สมัครเพื่อดูว่าเขามีปัญหาอะไรบ้าง เช่นโดนวิชามารอะไรหรือไม่ในการหาเสียง รวมถึงอาจมีการให้คำแนะนำในเรื่องกลยุทธ์การหาเสียงต่างๆ เพราะแคมเปญการหาเสียงจะไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะการสัมผัสอะไรต่างๆ ประชาชนจะสัมผัสคนในท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะนโยบายระดับชาติมันไกลกว่าระดับท้องถิ่น
-อิทธิพลบ้านใหญ่หรือนักการเมืองระดับชาติต่อการเมืองการเลือกตั้งท้องถิ่น มีลักษณะอย่างไร?
โดยธรรมชาติแล้วเรื่องของบ้านใหญ่อะไรต่างๆ เราก็ไม่ว่าอะไร เพราะเรื่องความสัมพันธ์กับการเมืองในระดับท้องถิ่น ที่อาจเป็นแบบอุปถัมภ์ค้ำจุน
คำว่าอุปถัมภ์ไม่ได้เป็นลบ เช่นอาจเคยช่วยเหลือกันยามเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มีการช่วยเหลือกัน ก็ว่ากันไป แต่ของเราคือต้องการพิสูจน์ว่าจะต้องมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่นการต้องให้รู้ว่าเงินงบประมาณของท้องถิ่นทุกบาท จะมีการนำไปใช้ทำอะไร ก็นำเสนอสิ่งนี้ให้ประชาชนได้เปรียบเทียบ เรื่องบ้านใหญ่ก็ไม่ได้แปลกอะไร ถ้าเขาไม่ได้ซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่หากพบว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ก็ให้ผู้สมัครของเรารายงานมา เราก็แจ้ง กกต.ไป
ส่วนความสัมพันธ์ของ อบต.กับการเมืองระดับชาติเช่นพวก ส.ส. เท่าที่ดูพบว่าไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ถึงกันสักเท่าไหร่ สังเกตได้จากไม่มีพรรคการเมืองประกาศเรื่องการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ มีแต่คณะก้าวหน้า ส่วนเรื่องการซื้อเสียง ผมเชื่อว่าก็คงมี แต่คนมีความสำนึกกันเยอะ เดี๋ยวนี้ก็มีที่ได้เงินไปแต่เขาก็ไม่เลือก
-คิดว่าเลือกตั้ง อบต.รอบนี้ จะมีจุดเปลี่ยนจนทำให้เกิดการพลิกโฉมหรือถ่ายเลือดใหม่หลายแห่งหรือไม่?
ในการเลือกตั้ง อบจ.และเทศบาลที่ผ่านมา จะพบว่าคนที่ได้รับเลือกเข้าไปเป็นคนหน้าใหม่แทนคนเดิมประมาณเกือบครึ่งหนึ่ง หรือระหว่างหน้าใหม่กับคนเดิมในสัดส่วนห้าสิบ-ห้าสิบ แต่อย่าลืมว่าการเลือกตั้ง อปท.ที่ผ่านมาทั้งหมดมันไม่มีจุดเชื่อม บางทีจะไปเสนอไปผลักดันเรื่องนโยบายหรือกฎหมายอะไรต่างๆ ทำไม่ได้ เพราะต่างคนต่างเป็นอิสระซึ่งกันและกัน แม้จะมีองค์กรอย่างสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย หรือสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย แต่ก็จะเป็นลักษณะแบบหลวมๆ
แต่หากได้มีคนของคณะก้าวหน้าเข้าไปใน อปท. ซึ่งคณะก้าวหน้าเขาก็เชื่อมกับพรรคก้าวไกล ทำให้เวลาหากจะมีการเสนอกฎหมายอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องท้องถิ่น เช่น อบต.ก็สามารถเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขปรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นได้ ซึ่งที่ผ่านมาอาจทำไม่ค่อยได้หากท้องถิ่นไม่มีการเชื่อมกับพรรคการเมือง
-การที่ผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นสามารถเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองบางพรรคได้ก็จะดีกับท้องถิ่น?
มันก็จะดีในแง่ว่าพรรคการเมือง นักการเมืองทำในนามพรรค ผมเชื่อแบบนั้น เราปฏิเสธไม่ได้หรอก แต่หากทำในนามบุคคลก็อาจมีเรื่องของอุปถัมภ์บ้างเป็นธรรมดา มันก็ไม่ต่างจากบ้านใหญ่
-การที่คณะก้าวหน้าลงมาในสนามท้องถิ่น แต่เวลาผลเลือกตั้งท้องถิ่นออกมา เช่นการเลือกตั้ง อบจ.ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ทำให้มีการไปมองว่ากระแสของแกนนำคณะก้าวหน้า โดยเฉพาะธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กระแสนิยมตกแล้ว ไม่แรงเหมือนเดิม?
เรายอมรับว่าอย่างการเลือกตั้ง อบจ.เราทำไม่ถูกวิธี อันนี้ก็พูดกันตรงๆ คือตอนนั้นเราไปเน้นเรื่องการเมืองที่เป็นการเมืองกระแสระดับชาติ พวกแคมเปญการเลือกตั้งระดับชาติมาใช้ ซึ่งปรากฏว่าคาแรกเตอร์ของการเมืองท้องถิ่นมันไม่ใช่ เราจึงกลับมาปรับเปลี่ยนในการเลือกตั้งระดับเทศบาล ที่ทำให้คนที่คณะก้าวหน้าส่งไปได้รับเลือกตั้งเข้ามาบ้าง แม้จะเป็นแค่เทศบาลตำบลก็ตาม แต่ถือว่าเราก็มีโอกาสได้แสดงฝีมือแล้ว
"คณะก้าวหน้าก็มีการเปลี่ยนยุทธวิธีมา เราเชื่อว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นสองครั้งที่ผ่านมา ทั้ง อบจ.และเทศบาล เราได้บทเรียน ได้ตัวอย่าง ได้ประสบการณ์มา จากนี้เราก็จะพัฒนาขึ้นไป"
ส่วนหลังจากนี้ก็แน่นอนว่า เรื่องการเมืองระดับชาติที่จะมีไปถึงท้องถิ่นก็จะผลักดันเรื่องต่างๆ ต่อไป เช่น การเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปท้องถิ่นทั้งหลาย เช่น เรื่อง จังหวัดจัดการตนเอง หรือ การบริหารงานบุคคลใน อปท. ซึ่งที่ผ่านมาท้องถิ่นก็มีปัญหาเยอะ เช่น ถูกรวบอำนาจ เพราะอย่างคำสั่ง คสช.บางคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ถูกยกเลิก
มองว่าการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ ผลที่ออกมาก็น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม น่าจะดีกว่าตอนเลือกเทศบาลและ อบจ. ก็อย่าเพิ่งใจร้อน มันจะเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือภายในวันเดียวไม่ได้ เราก็ถือว่าเราได้จุดประเด็นขึ้นมาแล้ว เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าไม่ค่อยมีใครสนใจเรื่องการเมืองท้องถิ่น ยกเว้นแค่ของกรุงเทพมหานครเท่านั้น ดังนั้นการที่คณะก้าวหน้าจะส่งคนลงท้องถิ่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ก็เหมือนกับที่เคยมีก่อนหน้านี้ เช่น คณะมดงาน
-ที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ยุค คสช.จนถึงตอนนี้ ถูกมองว่าไม่ค่อยอยากปลดล็อกเร่งให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นหากไม่จำเป็น อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเลือกช่วงไหน?
สำหรับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ชัดเจนเลยคือ เป็นคนของเขา และจริงอยู่ท้องถิ่นไม่สามารถทำให้ใครเข้าไปเป็นผู้แทนฯ ได้ แต่ทำให้คนไม่ได้เป็นผู้แทนฯ ได้ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่ชัวร์ เขาก็จะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จนคนพูดกันว่าตราบใดที่ผลโพลยังคงบอกว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังนำอยู่ ก็คงทำให้กว่าจะยอมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คงอีกนาน และผมเชื่อว่าก่อนจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เขาคงยุบสภาก่อนจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เขาคงไม่ยอมให้ผู้ว่าฯ กทม.จากฝ่ายอื่นมาคุม กทม.ในช่วงมีการเลือกตั้งใหญ่
เลือกตั้งรอบหน้า เก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์
พรรคก้าวไกลจะได้เยอะสุด
ชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำคณะก้าวหน้า-อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในช่วงต่อจากนี้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ยังไงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ไม่ครบเทอมแน่นอน จะมีการยุบสภาเกิดขึ้น ดูแล้วคงไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2565 และมั่นใจว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกล หรืออนาคตใหม่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุด
การเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะกลับไปใช้บัตรสองใบแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ผมมองว่าระบบดังกล่าวคงทำให้พรรคเล็กๆ หายไป บางพรรคการเมืองจึงพยายามจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากต่อไปใช้ระบบบัตรสองใบจะทำให้เหลือแต่พรรคใหญ่ๆ ไม่กี่พรรคการเมือง ส่วนพรรคขนาดกลางก็มีแนวโน้มจะเล็กลง
บางคนรู้ดีว่าที่เข้าไปในสภา ได้เป็น ส.ส.ก็เพราะกระแสพรรค และครั้งหน้าคงไม่ได้กลับมาแน่ พอไปเจอเงิน 30 ล้าน 40 ล้าน 50 ล้านบท ก็คิดว่าชีวิตนี้ ชาตินี้คงไม่ได้เจอแบบนี้แน่ๆ ก็เอาไป คือกะว่าเป็น ส.ส.ครั้งเดียว ใครทำงานแทบตายทั้งชีวิตก็ไม่เคยเจอหรอก 30 ล้าน 50 ล้าน ซึ่งก็มีการซื้อกันเป็นจริงเป็นจังด้วย
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สถานการณ์และเวลามันเปลี่ยนแปลงไปมากตอนใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ใช้บัตรสองใบในการเลือกตั้ง ผ่านมาถึงตอนนี้เท่ากับผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้วอย่าง พรรคเพื่อไทย เองก็มีไม่รู้กี่กลุ่ม
ส่วนพลังประชารัฐยิ่งไม่ต้องพูดถึง ตอนนี้ก็มีไม่รู้กี่กลุ่ม ซึ่งเพื่อไทยก็คงอาจได้ ส.ส.เยอะ แต่ดูแล้วคงไม่น่าจะได้ ส.ส.หลังเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์แบบตอนใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะระยะเวลามันเปลี่ยนไปเยอะ และแกนนำหลายคนตอนนี้ก็ไม่ได้อยู่กับเพื่อไทย ไปอยู่กับพรรคอื่นเยอะ ส่วนพลังประชารัฐ ตอนนี้ก็คงเอาตัวให้รอดก่อน ผมดูแล้วคงลำบาก เผลอๆ จะแพ้พรรคก้าวไกลก็ได้ อันนี้ไม่ได้เชียร์ก้าวไกล เพราะคะแนนนิยมพรรคก้าวไกลดี เพียงแต่การเลือกตั้งในระบบ ส.ส.เขตอาจลำบาก
ผลสำรวจของสำนักต่างๆ ที่ทำกันอย่างนิด้าโพล-สวนดุสิตโพล แต่จริงๆ แล้วโพลที่พรรคการเมืองทั้งหลายทำจะแม่นที่สุด เพราะกลุ่มตัวอย่างจะเยอะ เพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยออกมา โพลพรรคการเมืองจะมีการประเมินสถานะตัวเองตลอด รวมถึงการสำรวจพรรคการเมืองต่างๆ ว่าจะส่งใครลง มีการสำรวจความนิยมหมด เพื่อดูถึงโอกาสจะชนะหรือโอกาสจะแพ้ เขาทำกันมาตลอด โพลพวกนี้จะแม่นยำกว่าโพลทั่วไป เพียงแต่ไม่ได้เปิดเผย เพราะเขาจะเอาไว้ใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง โพลพวกนี้จะถึงขั้นกำหนด MAP รายพื้นที่ออกมาเลย
"บอกได้เลยว่า ถ้าเรื่องกระแสพรรค ทางพรรคก้าวไกลมาอันดับหนึ่ง การเลือกตั้งบัตรสองใบ ถ้าคะแนนรวมปาร์ตี้ลิสต์ ผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลได้ที่หนึ่ง แต่ ส.ส.เขตคงให้สองพรรคใหญ่ คือเพื่อไทยกับพลังประชารัฐเขาแย่งกัน เพียงแต่ว่าสัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ตามระบบใหม่มีน้อย คือมีแค่ 100 ที่นั่งเท่านั้น"
-จากบทเรียนเรื่อง ส.ส.งูเห่าในอนาคตใหม่และก้าวไกล คิดว่าหลังจากนี้พรรคก้าวไกลต้องสกรีนคนที่จะเข้ามาในพรรคหรือส่งลงเลือกตั้งให้มากขึ้นหรือไม่?
ผมในฐานะที่ก็เคยอยู่อนาคตใหม่และเคยเข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคนที่อนาคตใหม่ส่งลงเลือกตั้ง เรื่องนี้ก็ไม่ได้อยากจะแก้ตัว แต่ก็ต้องเข้าใจว่าระยะเวลาในช่วงตอนเลือกตั้งปี 2562 มีเวลากระชั้นชิดมาก มีเวลาแค่ประมาณสามสัปดาห์ในการคัดเลือกคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ตอนนั้นพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นพรรคใหม่ ไม่มีฐานคะแนนอะไร ก็ต้องเน้นการสัมภาษณ์ ซึ่งหลายคนที่เข้ามาก็ตอบ-พรีเซนต์ดีหมด พูดเรื่องทัศนคติประชาธิปไตย
บางคนเขาก็รู้ดีว่า ที่เข้าไปในสภา ได้เป็น ส.ส.ก็เพราะกระแสพรรค และครั้งหน้าดูแล้วคงไม่ได้กลับมาแน่ พอไปเจอเงิน 30 ล้าน 40 ล้าน 50 ล้านบท ก็คิดว่าชีวิตนี้ ชาตินี้คงไม่ได้เจอแบบนี้แน่ๆ ก็เอาไป คือกะว่าเป็น ส.ส.ครั้งเดียว ก็จบแล้ว ใครทำงานแทบตาย ทั้งชีวิตก็ไม่เคยเจอหรอก 30 ล้าน 50 ล้าน ซึ่งก็มีการซื้อกันเป็นจริงเป็นจังด้วย
ชำนาญ-อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังประเมินสถานการณ์การเมืองต่อจากนี้ว่า จะมีการยุบสภาเกิดขึ้นแน่นอน รัฐบาลจะอยู่ไม่ครบเทอม ด้วยเหตุผลจากเงื่อนไขการเมืองต่างๆ เช่น ปัญหาในพลังประชารัฐจากกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่คงเคลียร์กันยาก ยิ่งหลังการเปิดประชุมสภาจะทำให้เกิดการต่อรองกันในการโหวตออกเสียงมติสำคัญๆ เช่น การผ่านร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ดูแล้วน่าจะมีการยุบสภาภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565
ส่วนเรื่องการตั้งพรรคใหม่บางพรรคที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ ผมก็ยังไม่เชื่อ เพราะการตั้งพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ยิ่งไปเอาอดีตข้าราชการระดับสูงที่เพิ่งเกษียณอายุราชการมาทำพรรคด้วยแล้ว คนพวกนี้ให้ไปยกมือไหว้คนอื่นก่อนทำเป็นที่ไหน ก็ต้องเงินทุบอย่างเดียว ก็มีบทเรียนมาแล้ว อย่างนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่งที่ตั้งพรรคแล้วใช้เงินไป 800 กว่าล้านบาท ที่เขาออกมาบอกว่า คนในพรรคนึกว่าผมเป็นตู้เอทีเอ็ม ยิ่งเมื่อพลังประชารัฐชิงบอกแล้วว่าจะเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ทำให้คนที่คิดจะตั้งพรรคแล้วเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ด้วยเริ่มลังเลแล้ว ส่วนที่พลเอกประยุทธ์อาจจะไม่ยอมวางมือการเมือง ก็คงเพราะเกรงจะถูกเช็กบิล
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า