คดีโฮปเวลล์ ยังเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ศาลปกครองพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ ตามคำร้องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำให้หลังจากนี้ต้องติดตามกันว่า ทิศทางของคดีโฮปเวลล์จะเดินต่อไปอย่างไร และสุดท้ายภาครัฐมีโอกาสจะชนะคดีจนไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) รวมเป็นเงินร่วม 25,000 ล้านบาท ได้หรือไม่?
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความมั่นใจว่า ภาครัฐมีโอกาสจะชนะคดีจนไม่ต้องจ่ายเงินตามคำร้องของบริษัทโฮปเวลล์ เนื่องจากตามข้อกฎหมายแล้วคดีโฮปเวลล์ที่เป็นข้อพิพาทมายาวนาน น่าจะขาดอายุความก่อนมีการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองไปก่อนแล้ว
ส่วนกระบวนการสู้คดีจะเดินต่อไปอย่างไรต่อจากนี้ ศักดิ์สยาม-รมว.คมนาคม ให้ความชัดเจนไว้โดยลำดับดังนี้ เริ่มที่การกล่าวถึงที่มาที่ไปของคดีโฮปเวลล์ไว้ว่า เรื่องโฮปเวลล์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานมาก โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมีคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่สำคัญในช่วงเดือนมีนาคม 2562 ตัดสินให้ทางภาครัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายตามที่บริษัทโฮปเวลล์ยื่นฟ้อง
ผมเข้ามาเป็น รมว.คมนาคมช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ได้นำเรื่องนี้มาพิจารณา โดยมีการปรึกษากับทีมงานที่เป็นฝ่ายกฎหมาย พบประเด็นหลายเรื่องที่น่าจะเป็นข้อเท็จจริง ที่สามารถนำไปต่อสู้เพื่อไม่ให้รัฐต้องมาชำระเงินที่ก็คือเงินภาษีของประชาชน จากนั้นก็มีการต่อสู้คดีกันมา จนมาช่วงเมื่อปี 2564 ก็มีคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง จนกระทั่งมาถึงศาลปกครองสูงสุดก็ยังวินิจฉัยให้ทางภาครัฐต้องชำระเงินอยู่ดี ผมก็ได้ปรึกษากับคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของกระทรวงคมนาคม รวมถึงบุคคลที่มาช่วยงานเรื่องนี้ เช่น พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอีกหลายคน ได้มีการประชุมปรึกษาและประเมินผลกัน จนได้ข้อสรุปที่นำไปสู่การที่ได้ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยว่าเรื่อง ข้อกฎหมาย ที่นำมาสู่การวินิจฉัยคดีดังกล่าวนี้ของศาลปกครองขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
...ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาว่า การวินิจฉัยคดีดังกล่าวน่าจะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทำให้กระทรวงคมนาคมได้ยื่นเรื่องไปยังศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลปกครองได้พิจารณาปัญหาเรื่องคดีโฮปเวลล์กันใหม่ อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางยังคงมีคำตัดสินยืนยันเหมือนเดิม ทำให้มีการยื่นคำร้องต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทางคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม ที่วินิจฉัยให้มีการพิจารณาคดีโฮปเวลล์กันใหม่
...เมื่อจะมีการกลับมาพิจารณาคดีโฮปเวลล์กันใหม่ ทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็จะได้มีโอกาสนำข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เราพบไปยื่นเรื่อง โดยในส่วนของการเตรียมพร้อมในการสู้คดี ผมก็ได้เชิญคณะทำงานที่ร่วมกันต่อสู้ในคดีโฮปเวลล์มาประชุมปรึกษาหารือกันเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ที่มีทั้งคณะทำงานที่อยู่ในกระทรวงคมนาคมและบุคคลที่อยู่นอกกระทรวงคมนาคม
จุดชี้ขาด โอกาสชนะคดีโฮปเวลล์
ศักดิ์สยาม-รมว.คมนาคม เปิดเผยไว้ว่า ประเด็นที่จะนำไปสู่การต่อสู้คดีหลังจากนี้ก็คือเรื่อง การนับอายุความ เพราะการนับอายุความเราเห็นว่า ก่อนหน้านี้ที่ศาลปกครองนับอายุความตอนวินิจฉัยคดีโฮปเวลล์ ไปนับอายุความโดยเริ่มนับจากวันที่มีการเปิดทำการของศาลปกครอง แต่ว่าข้อพิพาทของคดีโฮปเวลล์มันเกิดก่อนหน้านั้น จึงน่าจะทำให้คดีขาดอายุความไปแล้ว เพราะมีอายุความแค่ห้าปี เราเห็นว่าคือประเด็นหลัก
...ส่วนประเด็นถัดมาก็คือเรื่อง การจดวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจ ของบริษัทโฮปเวลล์ตามหนังสือเอกสารการขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด และหนังสือบริคณห์สนธิที่ต้องไปจดแจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เราเห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เพราะว่ามติคณะรัฐมนตรีที่ได้มีการพิจารณาเรื่องของการอนุญาตให้บริษัทโฮปเวลล์ (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานในการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ ไม่ได้อนุญาตในเรื่องของการที่จะให้เป็นบุคคลต่างด้าวที่จะมาประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องของการขนส่งได้ ขณะนั้นเมื่อเราเห็นก็สงสัยว่า ทำไมบริษัทถึงจดทะเบียนได้ จึงมีการยื่นเรื่องไปที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อสอบถาม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตอบเรากลับมาเหมือนกัน โดยตอบว่าใช้เวลาในการพิจารณา 86 วัน ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่ซักถาม เพราะได้ถามว่าเหตุใดถึงมีการจดทะเบียนได้ คือตอบกลับมาคนละเรื่อง มาตอบเราในเรื่องกรอบเวลา เพราะการที่จะพิจารณาโดยใช้เวลากี่วัน ไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือมติคณะรัฐมนตรีไม่ให้ทำได้ แต่กลับมีการไปจดทะเบียนให้ เรื่องนี้จะนำมาฟ้องแพ่งต่อไป ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาลปกครอง
ประเด็นเรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในความเป็นจริง เราพบประเด็นนี้นานแล้ว ตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่งเป็น รมว.คมนาคม ก็ได้เคยเสนอคณะรัฐมนตรี ทางกระทรวงพาณิชย์ก็ตอบกลับมาแบบนี้ คือเขาใช้เวลาพิจารณา 86 วัน แต่มันไม่ใช่เรื่องของข้อกฎหมาย
...ถัดมาที่เราเห็นก็คือว่าบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิง (ฮ่องกง) เป็นบริษัทที่ได้สัมปทาน แต่ปรากฏว่าคนที่มาลงนามในสัญญาสัมปทานกลายเป็นโฮปเวลล์ ประเทศไทย มันคนละบริษัทกัน ซึ่งจริงๆ ในเรื่องหลักของนิติบุคคลจะต้องแยกกันโดยเด็ดขาดอยู่แล้ว ไม่สามารถเกี่ยวข้องกันได้ ยกตัวอย่าง หากบริษัท ก.ได้สัญญาสัมปทาน จะไปเอาบริษัท ข.มาลงนาม มันลงนามไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็เห็นว่าเรื่องนี้ผิดฝาผิดตัวแล้ว
"เรื่องคดีโฮปเวลล์ หากถามว่าเรามีความมั่นใจขนาดไหน เราก็คิดว่าที่ทางองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้มีการพิจารณาคดีโฮปเวลล์กันใหม่ ก็เป็นเรื่องที่จะทำให้การสู้คดีได้มีการเสนอประเด็นต่างๆ ข้างต้น แต่หากดูตามข้อกฎหมาย ความคิดเห็นโดยส่วนตัวของผม ผมว่าไม่น่าจะชอบตั้งแต่แรก ตั้งแต่เรื่องการนับอายุความแล้ว อายุความคดีขาดแล้ว แล้วถ้าไล่ลงมาตามนั้นอีกก็จะพบสิ่งที่ผิดฝาผิดตัวอีก"
...เช่นเรื่องวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัทไม่มี แล้วจะมีคุณสมบัติอะไรที่จะเข้ามาทำสัญญาได้ เพราะว่าบริษัทโฮปเวลล์ ฮ่องกง เป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งตอนนั้นมีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281) ห้ามไว้ในการที่จะเข้ามาประกอบกิจการ (ห้ามไม่ให้คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวเข้ามาประกอบกิจการขนส่งทางบก น้ำ และอากาศในประเทศไทย) เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี
ศักดิ์สยาม-รมว.คมนาคม ระบุว่า ประเด็นเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่เราจะใช้ในการดำเนินการ โดยเมื่อกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ยื่นเรื่องไปที่ศาลปกครองชั้นต้นและมีการพิจารณาคดีกันใหม่ การสู้คดีทางอัยการจะเข้ามาเป็นทนายให้เรา แต่กระทรวงคมนาคมจะตั้งนักกฎหมายเข้าไปร่วมทำงานด้วย เพราะต้องการนำข้อเท็จจริงทั้งหมดที่บอกข้างต้นเข้าไปสู่การพิจารณาคดี
...ส่วนในเรื่องของการดำเนินการทางศาลแพ่ง เราก็จะมีการดำเนินการด้วยอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องขอบคุณทางคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ได้มีคำวินิจฉัยในคำร้องคดีดังกล่าวออกมา โดยเมื่อกระทรวงคมนาคมได้คำวินิจฉัยออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว กระทรวงคมนาคมก็ได้ไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอชะลอการบังคับคดี (ยื่นเมื่อ 7 มี.ค.65) เพราะว่ามีบริษัทเจ้าหนี้ของโฮปเวลล์ไปฟ้องเพื่อให้มีการชำระหนี้ เมื่อทางกระทรวงคมนาคมไปยื่นเพื่อขอชะลอการบังคับคดี ซึ่งทางศาลก็สั่งให้รอไว้ก่อน รัฐเลยยังไม่ต้องจ่ายเงินอะไรในขณะนี้ เราต้องไปสู้กันให้สุดทาง
...หากดูตามข้อกฎหมาย ความคิดเห็นโดยส่วนตัวของผม ผมว่าไม่น่าจะชอบตั้งแต่แรก ตั้งแต่เรื่องการนับอายุความ อายุความคดีขาดแล้ว...ทุกประเด็นมีข้อต่อสู้ มั่นใจว่าเรื่องเหล่านี้ หากเราตีความตามข้อกฎหมาย ไม่น่าจะต้องมาเสียค่าอะไรพวกนี้...นิติกรรมโมฆะตั้งแต่ต้น เมื่อโมฆะหมด โดยหลักของกฎหมายก็คือ "ต้องคืนสู่สภาพเดิม"...รัฐไม่ควรต้องเสียร่วม 25,000 ล้านบาท
เชื่อภาครัฐไม่น่าเสียค่าโง่โฮปเวลล์
-มีความมั่นใจมากเพียงใดว่าจะชนะคดีได้?
ความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่าทุกประเด็นมีข้อต่อสู้ และก็มั่นใจว่าเรื่องเหล่านี้ หากเราตีความตามข้อกฎหมายจริงๆ เราไม่น่าจะต้องมาเสียค่าอะไรพวกนี้ สิ่งที่เราดำเนินการในขณะนี้ เรื่อง อายุความ หรือเรื่องอื่นๆ เราก็คิดว่า รัฐไม่ต้องจ่าย ก็รอดูคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่จะออกมาดีกว่า ผมคงไม่สามารถไปละเมิดตรงนั้นได้ ตอนนี้ก็เพียงแค่นำเสนอในประเด็นที่เราเห็น ซึ่งไม่เคยถูกหยิบมาใช้ในการต่อสู้คดีเลย ซึ่งเมื่อไม่ได้หยิบมาก็ไม่ได้ว่ากัน แต่ศาลก็วินิจฉัยในสิ่งที่ได้นำไปสู้คดี ซึ่งการไปสู้สิ่งที่ยื่นไปแค่นั้นมันยังไม่พอ ก็แพ้คดี แต่ว่าหลักกฎหมายประเทศไทย ก็มีเรื่องที่ดี อย่างกรณีที่เรามีศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เกิดกระบวนการที่บาลานซ์
สิ่งเหล่านี้ผมได้แจ้งต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ก็มีการถามว่าหลังจากนี้เรื่องโฮปเวลล์จะเป็นอย่างไรต่อไป ผมก็ให้ความเห็นส่วนตัวไปว่า ไม่น่าแพ้ แต่ตรงนี้ก็อยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลปกครองที่จะออกมา แต่ว่าเราสู้เต็มที่อยู่แล้ว ประเด็นต่างๆ ที่เราเห็นที่ผมได้พูดไปข้างต้น เช่นเรื่อง อายุความ หรือเรื่องที่มีการไปจดทะเบียนบริษัทโดยไม่ชอบ หรือว่าบริษัทที่มาลงนามเป็นคนละบริษัทกัน ผมว่าแบบนี้นิติกรรมมันโมฆะหมดตั้งแต่ต้น เมื่อโมฆะหมดโดยหลักของกฎหมายก็คือ ต้องคืนสู่สภาพเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันมีรายละเอียดต่อไปอีกว่า เมื่อกลับคืนสู่สภาพเดิมแล้ว ใครควรจะต้องโดนอะไรบ้าง อันนี้ก็ต้องว่ากันไป แต่ว่าเอาหลักใหญ่ก่อนว่ารัฐไม่ควรต้องเสียร่วม 25,000 ล้านบาท
...หลังการประชุมคณะทำงานของกระทรวงคมนาคมเมื่อ 11 มีนาคมแล้ว จะมีการมอบหมายงานให้แต่ละส่วนไปทำหน้าที่ คือเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นจำเลยที่ศาลปกครอง และต่อไปเราจะเป็นโจทก์ตอนยื่นฟ้องแพ่ง โดยเมื่อประชุมจนได้ข้อยุติ หลังจากที่เรามีการทำการบ้านไว้ก่อนหน้านี้หมดแล้ว ก็จะได้มีการไปยื่นเรื่องต่อไป โดยกระบวนการที่จะไปยื่นต่อศาลปกครองจะต้องไม่เกิน 90 วันหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยให้ศาลปกครองพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ เมื่อ 4 มีนาคม 2565 ที่เป็นเงื่อนเวลาในการที่จะต้องไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่อีกครั้ง
ศักดิ์สยาม-รมว.คมนาคม กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ได้ประกาศนโยบายตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งไว้หลายเรื่อง แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ได้ประกาศไว้คือ ต่อไปนี้ กระทรวงคมนาคมต้องไม่มีเรื่องค่าโง่ เรื่องนี้คือเรื่องหนึ่งที่ได้บอกไป ดังนั้นนโยบายที่ผมเคยให้ไว้ต่อไป กระทรวงคมนาคมต้องไม่มีค่าโง่ก็จะไม่มี
-เรื่องโฮปเวลล์คิดว่าเป็นผลงานของกระทรวงคมนาคมหรือไม่?
ผมคิดว่าเป็นผลงานของทุกคน เพราะเรื่องนี้ลำพังผมคนเดียวทำไม่ได้ ถ้าไม่มีคณะทำงานมาช่วย ขณะเดียวกันเรื่องนี้ ถ้าคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีไม่สนับสนุนก็คงทำไม่ได้
-ก็ถือว่าคงจบในยุคนี้ เพราะเรื่องโฮปเวลล์ยืดเยื้อมาหลายรัฐบาล?
ก็อยากให้จบ แต่กระบวนการสู้คดีในชั้นศาลอาจใช้เวลาพอสมควร ที่ไม่ทราบว่าจะอยู่ในช่วงยุคที่ผมดำรงตำแหน่งหรือไม่ แต่เราพยายามจะใส่ทั้งหมดเข้าไป และเราเชื่อมั่นต่อศาลว่าท่านมีความเป็นกลาง ความยุติธรรม ไม่อย่างนั้นท่านคงไม่เปิดให้มีการพิจารณาคดีกันใหม่ แต่ผมพยายามทำในช่วงเวลาที่ผมยังอยู่ในตำแหน่งให้เต็มที่ ส่วนเรื่องความผิดทางละเมิดที่มีเรื่องต้องดำเนินการต่อจากนี้ ทางปลัดกระทรวงคมนาคมกำลังดูอยู่ เรื่องโฮปเวลล์ เราต้องทำตามกฎหมายอยู่แล้ว
สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ท่าทีภูมิใจไทยเอาอย่างไร?
เมื่อคุยกันจนครบประเด็นเรื่องคดีโฮปเวลล์แล้ว เราเลยถามถึงท่าทีของกระทรวงคมนาคมและพรรคภูมิใจไทยต่อโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่พรรคภูมิใจไทยเคยคัดค้านการที่จะมีการขยายสัมปทานโครงการดังกล่าวให้บริษัทเอกชนออกไปอีก 30 ปี จน 7 รัฐมนตรีของภูมิใจไทยเคยพร้อมใจไม่ร่วมประชุม ครม.ตอนที่กระทรวงมหาดไทยจะนำเรื่องดังกล่าวให้ ครม.เห็นชอบมาแล้ว
ศักดิ์สยาม-รมว.คมนาคมและเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า เรายังคงยืนยันเรื่องการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล จริงๆ มีคำพูดที่อาจจะคลาดเคลื่อนที่ไปบอกว่าผมเคยเห็นด้วย เพราะในความเป็นจริงเรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผมเคยทำหนังสือเข้าที่ประชุม ครม. 9 ครั้ง โดยครั้งที่หนึ่งเป็นเพียงครั้งเดียวที่ผมเคยทำคำว่า เห็นด้วย อยู่ในหนังสือ แต่มีประโยคต่อเนื่องในหนังสือดังกล่าวที่ว่า โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลโดยเคร่งครัด หากว่าไม่ได้ทำตามระเบียบกฎหมาย มติ ครม.และหลักธรรมาภิบาล ผมก็คือ ไม่เห็นด้วย และนั่นคือสิ่งที่เป็นความเห็นครั้งถัดมา ที่ก็อธิบายว่าคุณไม่ได้ทำตามระเบียบกฎหมายอะไร ไม่ได้ทำตามมติ ครม.
“อย่างหากเป็นหนี้ที่ถูกกฎหมาย รัฐต้องแบก แต่ถ้าหนี้ทำมาโดยไม่ถูกกฎหมาย รัฐจะไปแบกได้อย่างไร วันที่บริษัทกรุงเทพธนาคมฯ รับภารกิจจาก กทม.ไปดำเนินการ ไม่ได้ใช้ระเบียบกฎหมาย ผมก็ถามว่าทำไมไม่ใช้ เขาก็บอกว่าไม่ใช่รัฐ ผมก็บอกว่าหากไม่ใช่รัฐ แสดงว่าคุณเป็นเอกชนใช่หรือไม่ เขาก็บอกว่าใช่ ถ้าแบบนั้นเอกชนกับเอกชนมีหนี้ต่อกัน ต้องเคลียร์กันเอง รัฐไปเกี่ยวอะไร วันนี้พอคุณเป็นหนี้ แต่เป็นหนี้เอกชน แล้วจะมาบอกให้รัฐไปแก้ แต่หากรัฐไปทำก็ผิดกฎหมายสิ ถูกไหม แต่หากคุณบอกว่าคุณเป็นรัฐ แล้วทำไมไม่ใช้ระเบียบกฎหมายในการประมูล ทำไมไปหยิบบริษัทที่ว่ามาลงทุน มาติดตั้งบริษัทเดินรถ คุณก็ผิดอยู่ดี ทำไม่ได้ ผมบอกจริงๆ”
ศักดิ์สยาม-รมว.คมนาคม กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามหากถามว่ามีทางออกหรือไม่ ก็บอกได้ว่ามี คือทำให้ถูกกฎหมาย คือเอกชนก็ฟ้องเอกชน คุณเป็นหนี้กันแล้วไม่จ่าย ก็ฟ้องร้องกันไป แล้วก็นำส่วนที่ว่ากันดังกล่าวมาเป็นส่วนๆ ตรงกลางหมดสัญญาสัมปทานปี พ.ศ.2572 ก่อนถึงปี 2572 ประมาณสักก่อนหน้านั้นก็ทำแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ใช้ระเบียบกฎหมาย โดยให้มีการประมูลโครงการบนหลักธรรมาภิบาล
...และหลายเรื่องที่ผมเห็น คุณไม่ได้มองชาวบ้านเลย เรื่องนี้ผมบอกให้ ต่อให้มันถูกกฎหมายแต่ถ้าค่าโดยสารแบบนี้ ก็ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ปี 2572 ทรัพย์สินต้องเป็นของกรุงเทพมหานคร เวลาไปที่ PPP ต้นทุนเรื่องค่าก่อสร้างไม่มีแล้ว เคยมีการศึกษาวิเคราะห์มา อย่างเรื่องการเก็บค่าโดยสาร 65 บาท ถ้ารัฐทำเอง ต้องได้สี่แสนล้านบาทในสามสิบปี คือ พ.ศ.2572 ถึง พ.ศ.2602 ซึ่งสี่แสนล้านบาท นำเข้ารัฐครึ่งหนึ่งคือสองแสนล้านบาท ที่ก็คือเหลือสองแสนล้านบาท เอาสองแสนล้านบาทมาลดค่าโดยสาร จะต้องเป็น 65 บาทหรือไม่ แล้วเอาไปให้เอกชนทำ เอกชนได้ไปสามแสนล้านบาทหรือไม่ ผมพูดอย่างนี้ดีกว่า
-แล้วที่นายกรัฐมนตรีให้คมนาคมไปคุยกับกรุงเทพมหานคร ได้ข้อสรุปหรือไม่?
เขาไม่มาคุย แต่ละเรื่องกว่าจะเจอต้องไปหาเอง แล้วก็ชอบไปแถลงว่าส่งมาให้แล้ว ผมถึงสวนไปว่าที่ส่ง ส่งอะไรมา ถาม ก.แต่มาตอบ ฮ. คนละเรื่อง สัญญายังไม่ให้เราดูเลย เพราะให้ดูไม่ได้ มันผิด แล้วเรื่องที่คาอยู่ตั้งแต่สมัยอดีตผู้ว่าฯ กทม.คนก่อนๆ อันนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์
-หาก กทม.กับมหาดไทยนำเรื่องนี้เข้าไปให้ ครม.พิจารณเห็นชอบ?
ไม่มีปัญหา ผมบอกเลยว่าในที่ประชุม ครม. เวลาประชุมอะไรก็ตาม เหมือนกับดูอย่างเวลาประชุมสภา เวลาจะผ่านกฎหมายอะไรต่างๆ ในสภาที่มี ส.ส. 500 คน ก็ไม่ได้โหวตเห็นด้วยหมด แต่หากเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง ก็ถือว่าผ่าน
วันนี้เอาเรื่องแรกก่อนคือหนี้ มันไม่ถูกกฎหมาย ก็ไปทำให้ถูกกฎหมาย ก็ฟ้องกันระหว่างเอกชน เสร็จแล้วถอยมาทำตามกฎหมาย วิธีการ โครงการตรงส่วนกลาง สัญญาหมดปี 2572 ก็มาศึกษาการทำ PPP แล้วก็เปิดให้ประมูลปกติ ซึ่งประโยชน์สูงสุดคือชาวบ้านจะได้ เพราะพอประมูลก็สามารถ forecast ได้ว่ารายได้ของโครงการจะเป็นอย่างไร ต้นทุนการทำโครงการเป็นอย่างไร ทำให้ค่าโดยสารถูกแน่นอน หาก กทม.จะทำ สภา กทม.ก็ตั้งงบประมาณขึ้นมา
มีเรื่องตลกอยู่เรื่องหนึ่ง เวลาจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าเป็นรัฐต้องมีเงินก่อน ถึงจะไปจัดซื้อจัดจ้างได้ แต่อันนี้ไม่มีเงิน เสร็จแล้วไปเซ็นสัญญากับเขา เสร็จแล้วบอกว่าเป็นหนี้ ไม่มีเงินจ่าย ระเบียบบ้านไหนนี่ ผมทำความเห็นเข้าที่ประชุม ครม.ไป 9 ฉบับมีรายละเอียดหมด
-อีกฝ่ายฟังคมนาคมบ้างหรือไม่?
ผมว่าที่เขาพูด เขาไม่ได้พูดกับผม แต่เขาพูดกับเอกชน ว่าเขาทำให้แล้ว แต่ว่ามันไม่ได้ เพราะว่าผม แต่ผมก็บอกว่าก็แล้วแต่ เพราะวันที่ผมเข้าทำหน้าที่ ผมขอแค่สองเรื่อง คืออย่าทำให้ผมต้องติดคุกหรือทำให้ผมต้องออกนอกประเทศ ผมไม่เอา ผมรักประเทศนี้
-เรื่องนี้ควรต้องรอให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ที่จะเข้ามาหลัง พ.ค.ตัดสินใจหรือไม่?
มันไม่เกี่ยว เพราะหากทำตามกฎหมาย ทำตามมติ ครม.และหลักธรรมาภิบาลก็จบ ส่วนหน้าที่ผมใน ครม.ผมทำอยู่แล้ว เพราะมติ ครม.ที่ให้ทำ 1 2 3 4 5 ถามว่าทำหรือยัง ก็ยังไม่ทำ ที่บอกให้มาหารือกับกระทรวงคมนาคมก็ไม่มา ยังไม่เห็น แล้วบอกว่าส่งหนังสือมาแล้ว เราก็ยังไม่เห็น
"ถามว่านำเรื่องนี้เข้า ครม.ได้หรือไม่ ก็ตอบได้ว่า ได้ทุกครั้งที่มีประชุม ครม. โหวตยังไงก็ว่าไปตามมติ ครม. ผมก็มีหน้าที่สงวนความเห็นไว้ว่าผมไม่เห็นด้วย ผมคัดค้าน ก็ตามหนังสือที่ผมเคยเสนอไปเก้าครั้ง ส่วนเมื่อดำเนินการไปแล้ว หากมีเรื่องตามมาก็ว่าไปตามกรรมของแต่ละคน เราก็ไม่เกี่ยว คือมันทำไม่ได้ แต่หากจะทำก็มีวิธีทำก็คือ ทำตามกฎหมาย กฎหมายว่ายังไงก็ว่าไปตามนั้น".
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ดร.เสรี ซูฮก ‘ทักษิณ’ ใหญ่จริงๆไม่มีใครกล้าทำอะไร
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่าฟังปร
'จิรายุ' ตีปาก 'สส.โรม' อย่าพูดให้ประเทศเสียหาย ปมยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจาก พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีมีอดีต สส. ของกัมพูชา ถูกยิงเสียชีวิตในประเทศไทยแล้ว