เกษตรกรอีสานกับกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง

ภาคอิสานคนส่วนใหญ่คงนึกภาพถึงความแห้งแลัง เกษตรกรยากจน การศึกษาต่ำ แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านมนุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่มีประสบการณ์ในประเทศไทยหลายสิบปี และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เสนอมุมมองต่อเกษตรกรภาคอิสานไว้ในการบรรยายพิเศษ ของการสัมมนาประจำปีด้านการเกษตรของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจ ผู้เขียนจึงอยากนำมาถ่ายทอดต่อ เพื่อให้เป็นเสียงสะท้อนจากภาคอิสานสู่รัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆต่อไป

ศาสตราจารย์ เทอร์รี่ แรมโบกล่าวถึงการพัฒนาการเกษตรโดยภาพรวมทั้งโลกว่าเป็นการพยายามเปลี่ยนเกษตรกรรายย่อยที่ทำการเกษตรแบบพอเพียง ให้เป็นเกษตรกรทันสมัย มุ่งผลิตเพื่อรายได้และผลกำไร เปลี่ยนจากการทำเกษตรผสมผสานไปสู่การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยว ในแปลงหรือฟาร์มขนาดใหญ่ แทบทุกประเทศจะมีนโยบายการพัฒนาการเกษตรไปในแนวนี้ แต่นักวิชาการท่านนี้มองว่าสำหรับเกษตรกรในภาคอิสานที่ท่านได้ติดตามดูการเปลี่ยนแปลงมามากกว่า 40 ปีพบว่ายังมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอยู่ กล่าวคือ แปลงขนาดเล็กของครอบครัวเกษตรกรอีสานยังมีมากกว่าแปลงใหญ่ พืชที่เกษตรกรภาคอีสานปลูกยังเน้นที่การเก็บไว้ส่วนหนึ่งเพื่อการบริโภคและการขาย แปลงเกษตรกรในภาคอีสานยังมีลักษณะผสมผสานมีพืชหลายชนิด ถึงแม้ว่าเกษตรกรอิสานจะมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แต่เกษตรกรอิสานยังคงไม่ละทิ้งความหลากหลายของแหล่งรายได้ ซึ่งผู้เขียนมองว่าลักษณะดังกล่าวคือกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงของเกษตรกรภาคอีสานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และสามารถพาเกษตรกรอิสานรอดพ้นวิกฤติต่างๆได้เสมอมา

ศาสตราจารย์แรมโบ้ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เกษตรกรอิสาน จับปลาหลายมือ หรือยึดถือแนวทางที่ สุภาษิตฝรั่งกล่าวว่า “Don’t put all your eggs in one baskets” ซึ่งท่านมองว่าเป็นแนวทางที่ดี สำหรับเกษตรกรรายย่อย ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมผกผัน เผชิญกับสถานการณ์ที่คาดการณ์ได้ยาก เช่นฝนแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตราคาตกต่ำ ท่านแบ่งและมองการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรอีสานเป็นสี่ช่วงคือ

ช่วงแรกตั้งแต่ปี 2463 ถึง 2503 เกษตรกรอิสานสมัยนั้นปลูกข้าว ฝ้ายและยาสูบเพื่อการบริโภคและขาย เลี้ยงสัตว์เพื่อใช้งานเช่นวัว ควาย เก็บผลิตภัณฑ์จากป่าซึ่งครอบคุมประมาณ 90 % ของพื้นที่อิสาน และมีการขายแรงงานบ้าง เช่นการไปรับจ้างเกี่ยวข้าวที่ภาคกลาง เกษตรกรอิสานยุคนั้นส่วนใหญ่จะพออยู่พอกิน เกษตรกรในอิสานใช้วิธีการเก็บกักน้ำทำนาด้วยทำนบ (หรือเขื่อนดินขนาดเล็กๆ) ซึ่งในปัจจุบันไม่มีเหลืออยู่ เรื่องของทำนบก็ได้รับความสนใจ จากนักวิชาการญี่ปุ่นชื่อ ศาสตราจารย์ฟูกุย ที่มีศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ช่วงที่สองปี 2503 ถึง 2523 ช่วงนี้เป็นยุคของการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วพื้นที่นาขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่ผลผลิตต่อไร่ลดลง เกษตรกรส่วนใหญ่เก็บข้าวไว้บริโภคมีเหลือขายเพียงเล็กน้อย พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็วจากการหักร้างถางพงเพื่อปลูกพืช เช่นปอแก้วและมันสำปะหลัง สัตว์เลี้ยงเช่นวัวควายก็มีจำนวนลดลงเนื่องจากขาดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ มีการอพยพตามฤดูกาลเพื่อไปขายแรงงานในกรุงเทพหรือภาคอื่นๆ มากขึ้น

ช่วงที่สาม 2523 ถึง 2543 เกษตรกรอิสานเริ่มมีการใช้พืชพันธุ์ดี มีการลงทุนนำใช้เครื่องมือทุ่นแรงขนาดเล็กเช่นรถไถเดินตาม การใส่ปุ๋ยเคมีการขุดสระหรือแหล่งน้ำ ข้าวเริ่มกลายเป็นพืชที่ทำรายได้สำคัญอีกครั้ง อ้อยเริ่มเข้ามาแทนที่ปอแก้ว หรือแม้กระทั่งมันสำปะหลัง เริ่มมีการปลูกยางพาราในหลายพื้นที่ ในภาคอิสาน แรงงานภาคอิสานไม่ได้ไปแค่ภาคอื่นๆ ในประเทศ แต่มีการไปขายแรงงานในต่างประเทศมากขึ้นด้วย

ช่วงที่สี่ 2543 ถึงปัจจุบัน ข้าวอ้อยและยางพารายังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคอีสาน เกษตรกรส่วนหนึ่งมีการปลูกพืชมูลค่าสูงสำหรับตลาดเฉพาะเช่นผักอินทรีย์ แคนตาลูป มะม่วง ส้มโอ การปลูกมะเขือเทศแบบพันธสัญญากับบริษัทเมล็ดพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเพื่อการส่งออก รวมทั้งการทำการเกษตรเชิงท่องเที่ยวก็เริ่มเกิดขึ้นเช่นมีร้านกาแฟ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การเปลี่ยนแปลงอีกส่วนหนึ่งของสังคมเกษตรกรอีสานคือการส่งลูกหลานไปเรียนและทำงานในภาครัฐ การทำงานในโรงงานประเภทต่างๆที่เริ่มเข้ามาสู่ภาคอีสาน การสมรสกับชาวต่างประเทศ การพัฒนาท้องถิ่นไปสู่สังคมเมืองก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นการ ทำธุรกิจขนาดเล็กในหมู่บ้านอิสานปัจจุบันจะพบเห็นกิจการร้านมินิมาร์ท ร้านซักผ้าหยอดเหรียญอยู่ทั่วไป

การเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรในพื้นที่ภาคอีสานในศตวรรษที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนกิจกรรม เช่นพืชที่ปลูกหรือกิจกรรมการเกษตรต่างๆแต่ยังคงรูปแบบของการจัดการที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ มุ่งเพื่อขยายโอกาสและลดความเสี่ยงของครอบครัวอยู่เหมือนเดิม

ดังนั้นการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ภาคอีสานศาสตราจารย์เทอรี่ แรมโบเน้นว่า  นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรเน้นที่สูตรสำเร็จสูตรใดสูตรหนึ่งเท่านั้น แต่นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำเสนอทางเลือกต่างๆ หรือมีบุฟเฟท์เทคโนโลยี แล้วให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเขาเองว่ากิจกรรมอะไร เทคโนโลยีไหนเหมาะสมกับครอบครัวเขา ความเข้าใจโลกของเกษตรกรอิสาน และวิธีคิดของพวกเขาเท่านั้น จึงจะช่วยให้เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาภาคเกษตรของอิสานได้

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
วันพุธที่ 9 มีนาคม
โดย
ดร สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ-มองต่างมุม

เมื่อต้นปี 2567 มีหนังสือตีพิมพ์ใหม่เล่มหนึ่ง ชื่อ The Trading Game: A Confession ผู้เขียน คือ Gary Stevenson ได้รับความชมชอบจากผู้อ่าน (4.2 ดาว จาก website Goodreads) และมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์อยู่ 2 ประเด็นว่า ผู้เขียนโอ้อวดเกินจริงว่าตนเป็นนักค้าเงินอันดับหนึ่งของโลก และอีกประเด็นในเรื่องแนวความคิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจที่ผู้เขียนมองว่า เป็นแนวความคิดใหม่ที่นักเศรษฐศาสตร์มองไม่เห็นมาโดยตลอด

เสียงสะท้อนจากอีสานผ่านคนสี่ยุค

ความแตกต่างเรื่องความคิดของคนแต่ละยุค เริ่มเห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย บทความนี้มาจากการพูดคุยกับคนอิสานสี่ยุค ในมุมมองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตและนโยบายรัฐบาลปัจจุบันเช่น ดิจิตัลวอลเล็ต

ประเทศชาติจะเปลี่ยนไป เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลง 

ประเทศไทยจะอยู่กับวิกฤติการเมืองที่เลวร้าย หรือจะก้าวต่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า 2เส้นทางเดินสำคัญที่คนไทยจะต้องเลือกเดิน คือ…1.เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป คนไทยต้องเปลี่ยนตาม(When the world changes and we change with it.) หรือ 2.เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนตาม(When we change, the world changes.)

ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

สังคมไทยภายใต้กระบวน การยุติธรรมหลาย มาตรฐาน 

ต้องยอมรับว่าหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นทำให้ระบบสังคมโดยเฉพาะระบบย่อยหลายระบบ เช่น เศรษฐกิจ ครอบครัว สาธารณสุข ความเชื่อและศาสนามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเจริญเติบโตด้านวัตถุ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า หรือการนำปัญญาประดิษฐมาประยุกต์ใช้งานและธุรกิจต่างๆ