สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เจอต้นทุนอาหารสัตว์ หวังรัฐช่วยเหลือด้านส่งออก ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไร้คาร์บอน
22 ต.ค. 2564 นายสมบูรณ์ วัชรพงษ์พันธ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ในประเทศ อยู่ในสถานการณ์ลำบาก เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์หลายตัวมีราคาแพงขึ้นมาก อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พุ่งสูงกว่า 11 บาท/กิโลกรัม กากถั่วเหลืองราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากกลไกตลาด ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยต้องแบกรับต้นทุนอาหารที่สูง และส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลมีมาตรการผลักดันให้พืชเกษตรมีราคาสูง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ในประเทศ ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไม่ได้รับการดูแลใดๆ ต้องแบกรับต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่สูงขึ้นนี้ด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความทึ่ไก่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทย การส่งออกไก่จึงมีผลต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมไก่เนื้อไทยทั้งระบบ ดังนั้น มาตรการดูแลอุตสาหกรรมไก่เนื้อที่สมาคมฯ ต้องการให้รัฐใส่ใจ สนับสนุน และจะช่วยดูแลไก่ทั้งระบบได้ นั่นคือ การส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไร้คาร์บอน เพื่อลดปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นทิศทางที่ตลาดหลักของไทยอย่างสหภาพยุโรป (อียู) ให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ อียูต้องการซื้อสินค้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ได้มาจากการรุกป่า หากประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตไก่ที่ปราศจากการทำลายป่า หรือ ไก่ไร้คาร์บอนได้ อาจถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าตามจำนวนคาร์บอนที่ปล่อย ซึ่งหมายถึงความสามารถในการแข่งขันของไก่ไทยในเวทีโลกจะลดลง และแน่นอนว่าจะกระทบมาถึงไก่เนื้อทั้งอุตสาหกรรม
“วัตถุดิบอาหารสัตว์ของไก่ มีส่วนผสมของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก จึงอยากให้รัฐบาลเน้นมาส่งเสริมการเลี้ยงไก่ด้วยผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่รุกป่า ไม่มีการเผาตอซัง และส่งเสริมข้าวโพดหลังนา ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูญเสียตลาดส่งออก อันจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก” นายสมบูรณ์กล่าว