กสม.แจงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องร้องเรียนมากสุดประจำปี 2564 และต่อเนื่องมาหลายปี เตรียมชง 4 ข้อเสนอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
20 ม.ค.2565 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการ กสม.แถลงถึงสถิติเรื่องร้องเรียน ปี 2564 ว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 มีเรื่องร้องเรียน 571 เรื่อง ประเด็นที่ร้องเรียนมายัง กสม. มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม คิดเป็น 25.22% เช่น กรณีขอความช่วยเหลือให้เร่งรัดการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัว กรณีการตั้งด่านตรวจค้นมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมกับเพศสภาพ เป็นต้น หน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทั้งนี้เรื่องร้องเรียนประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นประเด็นที่ร้องเรียนมายัง กสม. มากที่สุดต่อเนื่องมาหลายปี
อันดับที่ 2 สิทธิพลเมือง คิดเป็น 18.21% เช่น กรณีได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม กรณีได้รับผลกระทบจากการกักตัวหลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อดูอาการจากโรคโควิด 19 เป็นต้น หน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) และคณะรัฐมนตรี
อันดับที่ 3 สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน คิดเป็น 6% เช่น กรณีการจ่ายค่าทดแทนสำหรับการเวนคืนที่ดินโดยไม่เป็นธรรม กรณีปัญหาพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทับซ้อนกับที่ดินทำกินของประชาชน กรณีการโต้แย้งสิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎร เป็นต้น หน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย
ส่วนประเด็นสิทธิอื่น ๆ ที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. เช่น สิทธิชุมชน สิทธิและสถานะบุคคล สิทธิแรงงาน สิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ สิทธิผู้สูงอายุ และสิทธิทางการศึกษา เป็นต้น
สำหรับการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีเรื่องร้องเรียนที่ กสม. รับไว้เป็นคำร้องเพื่อดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค.2564 จำนวน 130 คำร้อง ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 40 คำร้อง อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของ กสม. 10 คำร้อง และอยู่ระหว่างการติดตามผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 80 คำร้อง โดย กสม. มีนโยบายประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหลายคำร้องใช้ระยะเวลาไม่นาน
สำหรับการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2564 มีจำนวน 185 เรื่อง โดยประเด็นสิทธิที่ กสม. มีมติว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้รับสารภาพ 2.สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า และ 3. สิทธิและเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เช่น กรณีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิเด็กและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารกรณีการชุมนุมทางการเมือง
ขณะที่การจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในปีที่ผ่านมามี 4 กรณี ได้แก่ 1.ข้อเสนอแนะกรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 2.ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิต่อกรณีการจำหน่ายรายการบุคคลออกจากฐานข้อมูลทะเบียนและการระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 3.ข้อเสนอแนะในกระบวนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร และ 4.ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567
'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ
กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่
'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่
กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ
กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ
เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2