วิจัย เข็มขนาดไมครอน 'Game Changer'วงการสุขภาพ คว้ารางวัลวิจัยดีเด่นปีนี้

เย็มขนาดไมครอน ตัวเปลี่ยนเกม อุตสาหกรรมวงการสุขภาพ

ผลงานวิจัยอย่าง “กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์”ซึ่งเป็นของ ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช.  คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 จัดขึ้นโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

รางวัลดังกล่าว ถือว่าเป็นการส่งเสริม การสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติหรือเชิงพาณิชย์ได้จริง  สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในประเทศ  นำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีของประเทศ  ส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศในเวทีโลก

เข็มขนาดไมครอน นับว่าเป็น“Game Changer” ของวงการสุขภาพ  ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ จากทีมวิจัยระบบหุ่นยนต์และเข็มระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ไมโครนีดเดิล หรือเข็มขนาดไมโครเมตร เป็นนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์และการดูแลสุขภาพอย่างกว้างขวาง เทคโนโลยีนี้มีขนาดเล็กมาก โดยเข็มมีขนาดเพียงหนึ่งในสิบของเส้นผมมนุษย์ และมีปลายเข็มที่เล็กมากจนสามารถเจาะผ่านชั้นผิวหนังเพื่อส่งสารสำคัญได้โดยไม่สร้างความเจ็บปวด ไม่ทำให้เกิดบาดแผล หรือทิ้งร่องรอยใด ๆ ไว้บนผิวหนัง การพัฒนาไมโครนีดเดิลจึงนับเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของทั้งวงการแพทย์และความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาแบบดั้งเดิม เช่น ผู้ที่มีความกลัวเข็ม หรือผู้ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนหรือยาบ่อยครั้ง แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมได้ยากคือกระบวนการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งยังมีความซับซ้อนและมีต้นทุนสูง การผลิตเข็มขนาดเล็กในจำนวนมากอย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำในระดับไมโครเมตรเป็นสิ่งที่ต้องการเทคโนโลยีเฉพาะทาง การแก้ปัญหาในด้านการผลิตจึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการนำเทคโนโลยีไมโครนีดเดิลไปสู่การใช้งานจริง

ผลงานวิจัยเรื่อง กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับกระบวนการผลิตไมโครนีดเดิลให้รวดเร็วขึ้น สามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากขึ้น และปรับแต่งคุณสมบัติของเข็มได้ตามต้องการ เทคโนโลยีการผลิตใหม่นี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มความเร็วในการผลิตมากขึ้นถึง 25 เท่าของวิธีการเดิม แต่ยังสามารถปรับแต่งรูปร่างของเข็ม ขนาด ความยาว จำนวนเข็มต่อพื้นที่ และคุณสมบัติอื่น ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น ทำให้สามารถออกแบบไมโครนีดเดิลที่เหมาะสมกับการใช้งานเฉพาะด้าน เช่น การนำส่งยาแก้ปวด สารบำรุงผิว คลื่นแสงหรือคลื่นไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย หรือแม้กระทั่งการใช้ไมโครนีดเดิลเพื่อวัดค่าทางชีวภาพในร่างกายของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ ยังเป็นมิตรกับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ช่วยให้สามารถผลิตไมโครนีดเดิลในปริมาณมากได้ในเวลาอันสั้น พร้อมทั้งมีคุณภาพสูงและผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสำหรับเครื่องมือแพทย์

หนึ่งในนวัตกรรมที่โดดเด่นของเทคโนโลยีไมโครนีดเดิลนี้คือ “ไมโครสไปก์เทคโนโลยี” ซึ่งเป็นชื่อเรียกของเทคโนโลยีการผลิตไมโครนีดเดิลบนแผ่นวัสดุ ไมโครสไปก์เทคโนโลยีสามารถนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาทิ  แผ่นไมโครนีดเดิลสำหรับนำส่งยาแก้ปวด แผ่นลดเลือนริ้วรอย หรืออุปกรณ์นำส่งสารบำรุงผิว ที่สามารถส่งสารผ่านผิวหนังได้โดยไม่ทำให้เจ็บปวด และไม่ทิ้งร่องรอยบนผิวหนัง นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต เช่น การตรวจวัดสารชีวภาพภายในร่างกาย หรือการนำส่งวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย

 นอกจาก ผลงานวิจัยเรื่อง กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ โดยมี นักวิจัย สวทช. ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 อีก 1 ราย คือ ดร.อัญชลี มโนนุกุล จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กับผลงานวิจัยเรื่อง โครงการกระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิดโดยใช้กระบวนการชุบสารแขวนลอย บนต้นแบบโฟมพอลิเมอร์และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์

โฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิด

“โฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิด” นับว่าเป็นการวิจัย ที่ตอบความต้องการอุตสาหกรรมสุขภาพ ดร.อัญชลี มโนนุกุล จากทีมวิจัยโลหะผสมและการผลิตอัจฉริยะ กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า ผลงานวิจัยเรื่อง โครงการกระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิดโดยใช้กระบวนการชุบสารแขวนลอย บนต้นแบบโฟมพอลิเมอร์และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ เป็นการต่อยอดผลงานวิจัยของเอ็มเทคเอง สู่โครงการร่วมวิจัยระหว่างเอ็มเทคและบริษัท ไทเซ โคเกียว (ประเทศไทย) จำกัด

แผ่นหรือก้อนไทเทเนียม เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับเครื่องทำน้ำด่าง โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในอดีตใช้แผ่นไทเทเนียมที่เจาะรูจำนวนมากมาต่อกัน เนื่องจากแผ่นไทเทเนียมมีพื้นที่จำเพาะต่ำ ทำให้อัตราในการทำปฏิกิริยาต่ำ และการผลิตที่ควบคุมไม่ดี ทำให้ชิ้นงานเปราะ จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยในการพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมที่ลดการปนเปื้อนระหว่างกระบวนการผลิตและผลิตได้จริง

จุดเด่นของการวิจัยและพัฒนานี้คือ การคัดเลือกสารเพิ่มความหนืดและต้นแบบที่เหมาะสม ไม่ปนเปื้อนกับไทเทเนียม, การควบคุมกระบวนการผลิตให้สามารถผลิตโฟมไทเทเนียมที่คงรูป มีรูพรุนสม่ำเสมอ และมีคุณสมบัติเชิงกลที่ดี, การปรับกระบวนการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับประลองและการผลิตเชิงพาณิชย์ และกระบวนการผลิตต้องไม่ปล่อยมลภาวะเป็นพิษและปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว นำสู่โฟมไทเทเนียมที่ทำให้เครื่องทำน้ำด่างมีขนาดเล็กลง และอัตราการผลิตน้ำด่างสูงขึ้น

ในขณะเดียวกัน จากศักยภาพของทีมวิจัยทำให้เอ็มเทคเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านการเผาผนึกผงไทเทเนียม ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ยากและซับซ้อนมากที่สุด โดยมีผลงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเผาผนึกไทเทเนียมสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะทางการฉีดขึ้นรูปโลหะผงในปี พ.ศ. 2547 นำสู่โรงงานสาธิตเทคโนโลยีการฉีดขึ้นรูปโลหะผงแบบครบวงจรแห่งแรกและยังคงเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย มี ดร.อัญชลี มโนนุกุล เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการฯ ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

JMA จัดงาน GENBA Management Conference & Award 2024 in THAILAND เพื่อเสริมแกร่งและยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตไทย

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAPAN MANAGEMENT ASSOCIATION) หรือ JMA ประกาศความสำเร็จของการจัดงานประชุมและมอบรางวัล

TMA เดินหน้าผลักดันองค์กรไทยสู่ความเป็นเลิศ มอบรางวัล Excellence Awards 2024 เชิดชูองค์กรที่มีความเป็นเลิศ

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน TMA Excellence Awards ประจำปี 2024 เพื่อประกาศผลและมอบรางวัลพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Thailand Corporate Excellence Awards 2024 และรางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards 2024 พร้อมด้วยรางวัล Thailand Digital Excellence Awards 2024 เชิดชู 37 องค์กรธุรกิจที่มีความเป็นเลิศในการบริหารองค์กรในด้านต่างๆ

แนะผู้กำหนดนโยบายคิดนอกกรอบเกณฑ์ 'การวัดเรตติ้ง' ผลวิจัยชี้เป้า หลักเกณฑ์ใหม่ เพิ่มศักยภาพ สื่อมัลติแพลตฟอร์มไทยอยู่รอด-สังคมอยู่ดี

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาในวาระฉลองครบรอบ 70 ปี นำเสนองานวิจัยระดับปริญญาเอก เพื่อต่อยอดสู่การนำไปใช้จริงในหัวข้อ “MEDIAVERSE : สื่อมัลติแพลตฟอร์มไทยอยู่รอด-สังคมไทยอยู่ดี”รับมือภูมิทัศน์สื่อทีวีที่เปลี่ยนไป

'ชัยวุฒิ' ยิ้มขีดความสามารถแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยเพิ่มขึ้น

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมมือกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนา Thailand Digital Competitiveness 2022 ภายใต้หัวข้อหลัก “Transformation for Citizen Centric Economy” มีผู้ร่วมงานสัมมนาออนไลน์กว่า 500 คน