ประกวดนวัตกรรมข้าวไทย ยกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวสู่สากล

ตัวอย่างนวัตกรรมข้าวไทย : บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ จากฟางข้าวและปลายข้าวหัก

“ข้าว ” หนึ่งในพืชเศรษฐกิจของไทย ที่ใช้บริโภคภายในประเทศและยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆของประเทศ ซึ่งคนไทยคุ้นชินกับข้าวที่เป็นผลผลิตสำหรับรับประทานเป็นอาหารจานหลักในทุกมื้อ แต่ข้าวมีมิติเพียงแค่นั้นหรือ? เมื่อเทียบกับชา หรือเมล็ดกาแฟ ที่ไม่ใช่เพียงแค่วัตถุดิบสำหรับชงเพื่อดื่มเท่านั้น แต่ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่นเดียวกับ ข้าว หากมองในมิติที่หลากหลายก็สามารถนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยผ่านกระบวนการทางนวัตกรรมได้เช่นกัน

ในการขับเคลื่อนการพัฒนาข้าวด้วยนวัตกรรมที่น่าสนใจ คือ การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากข้าว ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ ที่ได้ดำเนินการมากว่า 15 ปี มีผลงานส่งเข้าประกวดกว่า 669 ผลงาน และมีผลงานที่ได้รับรางวัลไปแล้ว 77 ผลงาน

เห็นได้ชัดเจนว่าความสนใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ข้าวของประเทศเพิ่มขึ้น ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีผลิตภัณฑ์ข้าวแปลกใหม่ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มหลากหลายชนิด น้ำมันรำข้าว แป้งเบเกอรี่ แป้งเด็ก เครื่องสำอาง อุปกรณ์การแพทย์ หรือแม้กระทั่งคอนกรีตบล็อก ซึ่งล้วนมีคุณค่าและเป็นการต่อยอดสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ไม่ละทิ้งอาชีพเกษตรกรในอนาคตด้วย

ล่าสุด การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2567 ครั้งที่ 16 ได้เริ่มเปิดรับสมัครวัตกรผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมข้าวไทย และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่น โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ชนะเลิศจะได้รับถ้วยพระทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมข้าวไทย ซึ่งรวมทั้งผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต พร้อมกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและพัฒนาความใฝ่รู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย และเป็นขวัญกำลังใจและยกย่องผู้คิดค้นและผลักดันนวัตกรรมข้าวไทย

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ข้าวมีความสำคัญกับมนุษย์และชาวไทยที่มีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในปัจจุบันกระบวนการผลิตข้าวของเกษตรกรไทยยังไม่พัฒนาไปมากจากในอดีต เพื่อส่งเสริมข้าวไทยทางมูลนิธิจึงได้เน้นบทบาทการพัฒนาข้าวไทยจากงานวิจัยและนวัตกรรม ที่สามารถช่วยสร้างมูลค่าของข้าวได้เพิ่มมากขึ้น อย่าง ผลงานที่นำปลายข้าวมาแปรรูปเป็นแผ่นซับหลังการผ่าตัดที่ทำให้เพิ่มมูลค่าได้กว่า 1,000 เท่า ดังนั้นในการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย เพราะเป็นการสร้างและกระตุ้นความสนใจในกลุ่มคนไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์ คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว และเกิดการผลิตในเชิงพาณิชย์มากขึ้นกว่าการแพ็คข้าวใส่ถุงและนำไปจำหน่ายเป็นข้าวสารเพียงอย่างเดียว

ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า การเข้าสู่การพัฒนาข้าวไทยด้านนวัตกรรม ไม่เพียงแค่ในส่วนของเมล็ดข้าว แต่ยังรวมข้าวหัก  แป้งข้าว แกลบ รำข้าว ฟางข้าว และอื่นๆ ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบให้เกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์สูง ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้หมดปัญหาการขายข้าวไม่พอกิน และยังเป็นเสริมองค์ข้าวรู้ในกระบวนการพัฒนาข้าวให้แก่เกษตรรุ่นเก่ารุ่นใหม่ และในการประกวดจะมีการแบ่งประเภททั้งในระดับอุตสาหกรรมและระดับชุมชน ซึ่งในส่วนของชุมชนก็ได้สถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้าไปให้องค์ความรู้ในการพัฒนาข้าวที่ทำให้สามารถเห็นการนำนวัตกรรมมาพัฒนาในหลากหลายมิติ บางรายที่ได้รับรางวัลไปแล้วก็เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับชาวบ้านในชุมชนได้เห็นช่องทางในการต่อยอดข้าวไทย

ถ้วยพระทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“นอกจากการส่งเสริมด้านนวัตกรรมก็ต้องมองให้ลึกไปถึงผู้ที่จะมาเป็นเกษตรกรในอนาคต เพื่อสร้างแนวคิดใหม่ให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าการผลิตข้าว ไม่ใช่เพียงแค่การทำนาตากแดดแต่ยังสามารถพัฒนาในรูปแบบอื่นๆ ได้ จึงได้ทำแคมป์ข้าว สำหรับเยาวชนโดยเฉพาะในกลุ่มลูกชาวนาที่ทำต่อเนื่องมาได้ 6 รุ่น จำนวนกว่า 30 คน ในการทำนาแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งเตรียมพร้อมที่จะสืบทอดต่อจากรุ่นพ่อแม่ และตั้งเป็นยุวฑูตลูกชาวนาในการส่งต่อความคิดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม  ต้องยอมรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะสนใจทำนาไม่ 100% แต่อย่างน้อยก็มีกว่าครึ่งที่มีใจและสนใจที่จะต่อยอดการทำนา เพื่อให้ข้าว ที่เป็นภูมิปัญญาและความภาคภูมิใจของชาวไทยไม่สูญหาย” ดร.สุเมธ กล่าว

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวเสริมว่า การรับรู้คนไทยยังมองว่า ข้าว คือ ข้าว ดังนั้นหากจะขับเคลื่อนข้าวไทยไปสู่ในระดับสากลในมิติด้านนวัตกรรมคนไทยต้องมองว่า ข้าว คือ วัตถุดิบที่สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้ เพราะในตลาดต่างประเทศข้าวไทย ถือเป็นสินค้าพรีเมียมที่ต่างชาติให้การยอมรับและเลือกซื้อเป็นอันดับแรก ดังนั้นนวัตกรรมถือเป็นอีกปัจจัยในการพัฒนาคุณภาพข้าวให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป้นการพัฒนาสายพันธุ์ กระบวนการเก็บเกี่ยว การใช้ปุ๋ยชีวภาพ และการปลูกข้าวแบบลดการปล่อยการคาร์บอน ดังนั้นมานำข้าวมารวมกับนวัตกรรมจึงเกิดเป็นสินค้าที่หลากหลายทั้งในระดับชุมชนไปสู่ระดับสากล

ทั้งนี้นอกจากการประกวด ทาง NIA ยังได้สนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำนวัตกรรมจากข้าวไปแล้วกว่า 100 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนกว่า 50 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 392 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการนำนวัตกรรมไทยไปใช้ประโยชน์ และจุดประกายให้คนไทยเกิดความตื่นตัวในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะนำพาประเทศไปสู่การเป็นชาตินวัตกรรม และในอนาคตอาจจะมีการทำห้องเรียนชาวนา เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการที่เข้าใจยาก รวมไปถึงการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ พัฒนาให้เป็นหลักสูตรที่เข้าถึงและเข้าใจง่ายในแบบออนไลน์ด้วย

ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

มุมมองของคนรุ่นใหม่กับข้าวไทย ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท Cloud & Ground จำกัด ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน “Thailand Rice Fest เทศกาลกินข้าวใหม่และสินค้าข้าวสร้างสรรค์ “กล่าวว่า ไทย เป็นประเทศที่ปลูกกาแฟได้ ซึ่งทำให้เกิดคาเฟ่และวัฒนธรรมทางกาแฟมากมาย ซึ่งในฐานะที่ได้จัดงาน Thailand Coffee Fest มากว่า 8 ปี ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟไทยเป็นอย่างมากที่ไม่เพียงแค่การส่งผลทางเศรษฐกิจ แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงการอนุรักษ์ป่าและต้นน้ำ ดังนั้นในมุมมองของข้าวไทย มีชาวนาที่ปลูกข้าวจำนวนมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งประเทศไทยคิดเป็นพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 60 ตร.กม. จึงได้เกิดแนวคิดในการทำงานเทศกาล Thailand Rice Fest ในปีที่ผ่านมา เพื่อยกระดับวงการข้าวไทย สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และผู้ที่ให้ความสนใจ และภายในการจัดงานที่ผ่านมายังได้รู้จัก ข้าวสรรพสี (Rainbow Rice) เป็นข้าวที่มีสันแตกต่างจากข้าวทั่วไป ซึ่งในมุมมองการต่อยอดสามารถนำไปสู่ในเชิงท่องเที่ยว รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากใบข้าวมาผลิตเป็นโปรตีนทางเลือกที่เป็นอีกวัตถุดิบที่สามารถนำไปแปรรูปที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้เพิ่มมากขึ้นได้ด้วย

นวัตกรรมข้าวไทย ที่นำสารสกัดมาทำเป็นเซรั่มบำรุงผิว ภายใต้ชื่อแบรนด์ Wabellas

อย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจส่งผลงานในเวทีประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2567 สามารถส่งผลงานได้แล้วตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ThaiRiceFoundationTh.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ศุภมาส” เผยศักยภาพไทยพร้อมก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางด้านอาหารแห่งอนาคตของภูมิภาค” พร้อมร่วมยินดีเอกชนสัญชาติไทยนำ วทน. ขับเคลื่อนธุรกิจสู่เวทีโลก

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงและผลิตภัณฑ์วูล์ฟเฟีย ซึ่งจัดโดยบริษัทแอดวานซ์ กรีนฟาร์ม จำกัด

2567 ประเทศไทย กับ AI ไม่ใช่กระแสวูบวาบ แต่จะอยู่กับเราตลอดไป

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้ตอนนี้ เรื่องของ AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ดูจะเริ่มใกล้ตัวคนเรา เข้ามามากขึ้นทุกที จนทำให้ต่อไปในอนาคต คำว่า สังคมปัญญาประดิษฐ์ ดูจะเป็นเรื่องที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเรา

รวมเรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง โดยนริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ สำนักพิมพ์แซลมอน คว้ารางวัล รางวัลซีไรต์ ประเภท”รวมเรื่องสั้น”ประจำปี 2566

คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) จัดงานแถลงข่าวประกาศผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประเภท”รวมเรื่องสั้น”ประจำปี 2566 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

SX2023 ปลุกกระแสเยาวชน และผู้เข้าชมงาน มากกว่า 3 แสนคน พร้อมขับเคลื่อนทศวรรษแห่งการ “ลงมือทำ” เพื่อโลกที่ยั่งยืน

เป็นต้นแบบของ “Collaboration platform” พลังแห่งความร่วมมือด้านความยั่งยืนระดับโลก ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน สำหรับงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) บนแนวคิด "พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก" (Sufficiency for Sustainability)