กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี

กสม. แนะ กรมราชทัณฑ์ แก้ไขระเบียบการตัดผมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ย้ำปฏิบัติให้สอดคล้องกับเพศวิถี วัฒนธรรมความเชื่อและศาสนาผู้ต้องขัง

29 มี.ค.2567 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ เปิดเผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเป็นการปฏิบัติไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ โดยเฉพาะกรณีผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้พิจารณาเเล้วเห็นว่าระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง มีผลกระทบต่อสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของผู้ต้องขัง โดยอาจมีประเด็นขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน มิใช่เฉพาะผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ต้องขังอื่นที่ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเรื่องการไว้ทรงผม จึงมีมติให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน


กสม. ได้ศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน เอกสารงานวิจัย และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า การตัดผมผู้ต้องขังในประเทศไทยเป็นประเด็นถกเถียงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา โดยกรมราชทัณฑ์ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อพิจารณาแนวความคิดในต่างประเทศ เช่น เรือนจำกลางของสหรัฐอเมริกา เห็นว่ามีแนวคิดไปในแนวทางเดียวกันกับเหตุผลของกรมราชทัณฑ์ของไทยที่การตัดผมยังคงมีความจำเป็นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่ามีฝ่ายโต้แย้งนโยบายดังกล่าวว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะจำกัดสิทธิของผู้ต้องขังมากเกินไป และไม่อาจทำให้การพัฒนาพฤตินิสัยบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ส่วนในสหราชอาณาจักรและประเทศสิงคโปร์ กำหนดให้การตัดผมอาศัยความยินยอมของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ


กสม. เห็นว่า ปัญหาการตัดผมผู้ต้องขัง ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาความสมดุลระหว่างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสุขอนามัยในสภาพแวดล้อมของเรือนจำกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงเห็นควรแบ่งการพิจารณาผู้ต้องขังออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้


กลุ่มที่ 1 ผู้ต้องขังซึ่งมีฐานะเป็นนักโทษเด็ดขาด ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 ได้กำหนดรูปแบบทรงผมในข้อ 9 ว่า “นักโทษเด็ดขาดชายให้ไว้ผมสั้น ด้านหน้าและกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ชายผมรอบศีรษะเกรียนชิดผิวหนัง” และข้อ 10 “นักโทษเด็ดขาดหญิง ให้ไว้ผมยาวนับจากติ่งหูได้ไม่เกิน 10 เซนติเมตร แต่ความยาวดังกล่าวจะต้องไม่เลยบ่า (ประบ่า)” กสม. เห็นว่า การจำกัดเสรีภาพในการไว้ทรงผมดังกล่าว ถือเป็นมาตรการรักษาสุขอนามัยและความสงบเรียบร้อยภายในสภาพแวดล้อมที่จำกัดด้วยทรัพยากรตามบริบทของเรือนจำ ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคและความปลอดภัยในเรือนจำ เป็นไปตามเหตุผลและความจำเป็นของเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ อีกทั้งนักโทษเด็ดขาดเป็นบุคคลที่ต้องรับโทษจำคุกจริงตามที่ศาลมีคำพิพากษาที่สุดแล้ว ดังนั้น การถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางประการจึงเป็นการเหมาะสมและไม่เกินกว่าเหตุบนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


กลุ่มที่ 2 ผู้ต้องขังซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ระเบียบว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขังฯ ข้อ 9 กำหนดว่า “คนต้องขังชาย คนฝากชาย และนักโทษเด็ดขาดชายที่เหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 30 วัน ให้ไว้ทรงผมสั้น ด้านหน้าและกลางศีรษะยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ชายผมรอบศีรษะสั้น ไล่ระดับไม่เกินตัวรองที่ตัดผมเบอร์ 2” และข้อ 10 กำหนดว่า “คนต้องขังและคนฝากหญิง ให้ไว้ผมยาวเลยบ่าได้ แต่ให้รวบผมหรือผูกผมให้เรียบร้อย” เป็นการกำหนดระเบียบให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาไว้แตกต่างกับนักโทษเด็ดขาดแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of innocence) ที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) รวมทั้ง รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเห็นควรยกเลิกการตัดผมผู้ต้องขังซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาคดี และให้ผู้ต้องขังมีสิทธิและเสรีภาพพิจารณาความเหมาะสมของทรงผมตนเองได้


กลุ่มที่ 3 ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ กรมราชทัณฑ์ได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง ปี 2565 เพิ่มเติมรายละเอียด โดยเปิดช่องให้ผู้ต้องขังสามารถตัดผมตามเพศวิถีได้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งถือเป็นพัฒนาการและความมุ่งมั่นของกรมราชทัณฑ์ในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้นตามลำดับ ภายใต้ข้อจำกัดของกรมราชทัณฑ์ที่มีหลายส่วน เช่น งบประมาณ กำลังคน พื้นที่คับแคบในขณะที่มีจำนวนผู้ต้องขังเกินขีดความสามารถของเรือนจำ อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่าเมื่อกรมราชทัณฑ์มีความพร้อมมากขึ้น ควรพัฒนากฎ ระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแนวความคิดเพศวิถี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายในเรือนจำ


กลุ่มที่ 4 ผู้ต้องขังที่มีวัฒนธรรมความเชื่อและศาสนา ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 ข้อ 14 กำหนดให้การตัดผมผู้ต้องขังตามระเบียบนี้ใช้บังคับเฉพาะเมื่อไม่ขัดต่อลัทธิศาสนาของผู้ต้องขังนั้น ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2564 มีกรณีชาวบ้านบางกลอยถูกจับกุม และเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ตัดผมผู้ถูกกล่าวหาทั้งที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาคดีหรือรับโทษใด ๆ ทำให้มีประเด็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เนื่องจากการไว้ผมยาวของกลุ่มกะเหรี่ยงบางกลอยถือเป็นความเชื่อทางจิตวิญญาณที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ บางคนจะไม่ตัดผมเลยและไว้ยาวโดยใช้ผ้าโพกเอาไว้ เพราะการตัดผมเสมือนตัดทำลายขวัญที่ยึดถือมาทั้งชีวิตอย่างรุนแรง กสม. เห็นว่า การตัดผมผู้ต้องขังดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพฤตินิสัย และกระทบต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา


ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 มี.ค 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ให้พิจารณาเรื่องการตัดผมให้เป็นไปตามหลักความเชื่อหรือศาสนาหรือประเพณีนิยมของผู้ต้องขัง ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตัดผมผู้ต้องขัง พ.ศ. 2565 และให้ยกเลิกการตัดผมผู้ต้องขังซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาคดี โดยให้ผู้ต้องขังมีสิทธิและเสรีภาพพิจารณาความเหมาะสมของทรงผมตนเองได้ รวมทั้งให้พิจารณาแก้ไขระเบียบที่ใช้บังคับในปัจจุบันให้สอดคล้องกับแนวความคิดเพศวิถี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถมีทางเลือกในการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ภายในเรือนจำ เช่น แม้ผู้ต้องขังยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ แต่หากได้รับฮอร์โมนเพศมาอย่างต่อเนื่องก่อนเข้าสู่เรือนจำ ควรได้รับโอกาสให้ใช้ชีวิตภายในเรือนจำให้สอดคล้องกับเพศวิถีของตน เป็นต้น รวมถึงให้กำชับ เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้เคารพหลักการสำคัญข้างต้นเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. ชี้ตร.ปล่อยให้มีการถ่ายภาพ-คลิปเด็กกราดยิงในห้างฯเผยแพร่ในโซเชียล ละเมิดสิทธิ

กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการถ่ายภาพและคลิปวิดีโอของเด็กผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการละเมิดสิทธิฯ

เปิดผลตรวจสอบ 'คดีไซยาไนด์' ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

‘ปธ.กมธ.สิทธิฯ’ ทิ้งทวน ยื่น ‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘ราชทัณฑ์-ยธ.’ เอื้อ ‘ทักษิณ’ อยู่นอกคุก

‘สมชาย’ สวมหมวก ปธ.กมธ.สิทธิฯ ทิ้งทวนทำหน้าที่ ยื่น ‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘จนท.ราชทัณฑ์-ยธ.’ ส่อปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ อยู่นอกคุก

เปิดผลสอบกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรงาน 'ฟุตบอลจตุรมิตร' ไม่พบการละเมิดสิทธิเด็ก

กสม. เผยผลสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรงานฟุตบอลจตุรมิตร ไม่พบการละเมิดสิทธิเด็ก แต่มีข้อเสนอแนะไปยังโรงเรียนทั้งสี่เพื่อให้งานดียิ่งขึ้น

'ทวี' แจงปม 'แป้ง นาโหนด' กรมราชทัณฑ์สอบข้อเท็จจริงใกล้เสร็จแล้ว ระดมทุกอย่างแก้ยาเสพติด

'ทวี' แจง ปม 'แป้งนาโหนด' กรมราชทัณฑ์ สอบข้อเท็จจริงใกล้เสร็จแล้ว ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ รับยาเสพติดเป็นโจทย์ใหญ่ ต้องเปลี่ยนเรือนจำเป็นสถาบันปฏิรูปคน-ระดมทรัพยากรทุกอย่างแก้ปัญหา