21 มี.ค.2567 - เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านนาแสงสาคร ม.7 ต.นาแสง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ กว่า 30 ครัวเรือน ถือหนังสือทวงหนี้ค่าน้ำประปา จากองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง ย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เข้ารับฟังการชี้แจงจาก นายนิรันดร์ เนาวนิต นายก.อบต.นาแสง และเจ้าหน้ากองคลัง อบต.นาแสง ถึงข้อเท็จจริงในการทำหนังสือทวงหนี้ค่าน้ำประปา ย้อนหลังเกือบ 10 ปี กับชาวบ้านทั้งตำบลนาแสง ใน 6 หมู่บ้าน กว่า 1,200 ครัวเรือน ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่จ่ายค่าน้ำประปา ผ่านตัวแทนผู้รับจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง มาโดยตลอด โดยเริ่มมีหนังสือแจ้งทวงหนี้ไปที่ชาวบ้านบ้านนาแสงสาคร หมู่ที่ 7 ก่อนหมู่บ้านอื่นๆ
โดยจากข้อมูลพบว่าในปี 2558 มีชาวบ้านค้างค่าน้ำประปาจำนวน 343 ครัวเรือน เป็นเงิน 40,587 บาท /ปี 2559 ค้าง 1,200 ครัวเรือน เป็นเงิน 125,007 บาท / ปี 2560 ค้าง 455 ครัวเรือน เป็นเงิน 34,696 บาท /ปี 2561 ไม่มีค้าง / ปี 2562ค้าง 566 ครัวเรือน เป็นเงิน 45,041 บาท /ปี 2563 ค้าง 83 ครัวเรือน เป็นเงิน 19,707 บาท /ปี 2564 ค้าง 497 ครัวเรือน เป็นเงิน 37,275 บาท /ปี 2565 ค้าง 554 ครัวเรือน เป็นเงิน 31,602 บาท /และปี 2566 ค้างเป็นเงิน 64,829 บาท รวมเป็นเงินที่ยังคงค้างในระบบการจัดเก็บค่าน้ำประปาจำนวนทั้งสิ้น 398,744 บาท
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานของ อบต.นาแสง รวมไปถึงการรายงานการรับจ่ายเงินประจำปีและงบแสดงฐานะการเงิน ของ อบต.และพบว่ามียอดค่าน้ำประปาคงค้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จึงสั่งให้ อบต.นาแสง ทำหนังสือทวงหนี้ค่าน้ำประปากับชาวบ้านที่ยังค้างจ่าย
หลังจากการชี้แจงของ อบต.นาแสง ยืนยันว่าชาวบ้านจะต้องจ่ายค่าน้ำประปาที่ยังค้างอยู่ ส่วนคนที่ยืนยันว่าตัวเองจ่ายค่าน้ำประปามาแล้วก็ให้นำหลักฐานใบเสร็จรับเงินมายืนยันกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ พร้อมถามกับไปหาเจ้าหน้าที่ว่า ที่ผ่านมา อบต.กับชาวบ้าน ก็มีสัญญากันไว้อยู่ก่อนที่จะติดมิเตอร์น้ำประปา ว่าหากค้างจ่าย 3 เดือน ให้ อบต.ไปตัดมิเตอร์น้ำ แล้วที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทำอะไรกันอยู่ ถึงปล่อยปะละเลยจนมาถึงปัจจุบัน แล้วชาวบ้านคนที่เขาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2558 ใครจะเก็บใบเสร็จรับเงินไว้ ถึงเก็บไว้ตัวเลขตัวหนังสือต่างๆคงเลือนหายไปหมดแล้ว พร้อมกันนั้นได้พากันลุกออกจากห้องประชุม ออกมาวิพากย์วิจารย์ต่างๆนาๆ ด้านนอก
นายสำรวย ลารถ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 182 ม.7 บ.นาแสงสาคร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 ชาวบ้านก็รู้สัญญากับ อบต.อยู่แล้วว่าการติดตั้งน้ำประปาจะต้องปฏิบัติอย่างไรระหว่างผู้ใช้ กับผู้จ่าย ถ้าไม่จ่ายภายใน 3 เดือนจะตัดมิเตอร์ จนล่วงเลยมานาน ถามกลับว่าทำไมไม่ไปตัดมิเตอร์ของชาวบ้านที่ค้างจ่าย ทำไมถึงเอายอดค้างตั้งแต่ปี 2558 มาเรียกเก็บ ซึ่งชาวบ้านบางคนมียอดรวมกันพันกว่าบาท บางคนสองพันกว่าบาท บางคน 4 ร้อย 5 ร้อย 7 ร้อย 8 ร้อย แล้วชาวบ้านใครจะมาจ่ายย้อนหลัง ชาวบ้านเขาก็มายอมจ่าย ถ้าทำแบบนี้ชาวบ้านเดือดร้อน ส่วนตัวแล้วก็ยืนยันว่าตัวเองไม่เคยค้างค่าน้ำจ่ายมาตลอด ตัวเองก็อยู่บ้านตลอด ถามว่าถ้าไม่จ่าย แล้ว อบต.ทำไมไม่ไปเก็บ เก็บเงินมาแล้วเอาไปไหน ทำไมไม่เอาเข้าคลัง กลับปล่อยปะละเลยแล้วมาเรียกเก็บที่หลังทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนขนาดนี้
ต่อมา สำนักงาน ปปช.จังหวัดบึงกาฬ โดยนางสาวนันท์นภัส สืบสัมพันธ์ ผอ.ป.ป.ช.บึงกาฬ มอบหมายให้ นายนราวิชญ์ มาตราช หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต และคณะฯ ร่วมกับ ชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดบึงกาฬ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน กับ อบต.นาแสง หลังได้รับแจ้งเบาะแส พร้อมเชิญ นายก อบต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหาแนวทางช่วยเหลือชาวบ้าน
โดยได้ข้อสรุปและแจ้งกับชาวบ้าน ว่า ทาง อบต.นาแสง จะอนุโลม ให้ชาวบ้านที่ค้างค่าน้ำประปาอยู่ หากชาวบ้านครอบครัวไหนไม่สามาถจ่ายเต็มจำนวนได้ก็ทยอยมาชำระค่าน้ำได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา และค่าน้ำคงค้างในปี 2558-2561 นั้น ทาง อบต.จะรับผิดชอบค่าน้ำที่ค้างอยู่เอง และทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าหลังจากนี้ อบต.จะใช้ระเบียบที่ตกลงกันไว้ในสัญญาติดน้ำประปา คือครัวเรือนไหน ไม่จ่ายค่าน้ำ 3 เดือน จะตัดมิเตอร์น้ำทันที ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านพอใจ ในข้อตกลงดังกล่าว
ด้านนายนิรันดร์ เนาวนิต นายก.อบต.นาแสง กล่าวว่า จากการที่ สตง.เข้ามาตรวจสอบบิลค่าน้ำ ได้พบว่ามีบิลค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2558-2564 ซึ่งในห้วงนั้นผมเองยังไม่ได้มารับตำแหน่ง หลัง สตง.ตรวจพบแล้ว ปรากฏว่ามีบิลที่เป็นลูกหนี้ หรือชาวบ้านค้างค่าหนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในสมัยนั้นอาจจะยังไม่เคร่งครัดในการจัดเก็บ หรือเห็นใจชาวบ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่ ในเมื่อชาวบ้านไม่จ่ายค่าน้ำ ซึ่งบางคน 4-5 ปีที่ผ่านมามีแค่ 2 เดือน หรือ 3 เดือน แต่ชาวบ้านก็มั่นใจว่าตัวเองจ่ายมาตลอดไม่เคยค้าง แต่กลับมาปรากฏอยู่ในบิลค่าน้ำประปา เป็นลูกหนี้ เพราะฉะนั้นในปี 2567 นี้ ทาง สตง.ก็เข้ามาตรวจอีกครั้งและโยนให้นายก ในฐานะผู้นำองค์กร จะต้องรับผิดชอบในการท้วงหนี้จากชาวบ้าน ซึ่งตัวเองก็ได้ปรึกษากับ จนท.จัดเก็บ กองคลัง ก็เลยทำหนังสือทวงหนี้ตั้งแต่ปี 2558 นำส่งหมู่บ้านนาแสงสาครก่อน เพราะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ อบต. เมื่อทวงไปแล้วทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ รวมตัวมาขอคำชี้แจงจาก อบต. ซึ่ง อบต.ก็ชี้แจงไปว่าที่ทวงไปนั้นเป็นการทำตามหน้าที่หากไม่ทำก็จะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่(157) หลังพูดคุยกับชาวบ้านก็ได้ข้อสรุปว่า หนี้ที่ค้างอยู่ก็ให้ชาวบ้านทยอยจ่ายเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งชาวบ้านก็พอใจ และได้ตกลงกับชาวบ้านว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก ต่อไปหากครัวเรือนไหนค้างค่าน้ำอีกเกิน 3 เดือน ทาง อบต.จะมีหนังสือไปเตือนก่อน ให้มาชำระหนี้ เพื่อจะได้ไม่เป็นหนี้สะสม และหากเพิกเฉยก็จะดำเนินการยกหม้อน้ำทันที ซึ่งก็ขอขอบคุณที่ชาวบ้านเข้าอกเข้าใจ การแก้ไขปัญหาของ อบต.ซึ่งเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน จบลงไปด้วยดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝนถล่มหนัก น้ำท่วมเทศบาลตำบลเซกา จ.บึงกาฬ บางจุดสูงเกือบเมตร เตรียมขึ้นธงแดง
ที่จังหวัดบึงกาฬมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอำเภอเซกา ในเขตเทศบาลตำบลเซกา มีฝนตกหนักทั้งคืนยันเช้าส่งผลให้มีมวลน้ำจำนวนมากสะสมในพื้นที่
'บึงกาฬ' ระทึก! น้ำโขงเพิ่มพรวดสูงสุดในรอบปี หลังฝนตกหนัก เขื่อนจีน-ลาวปล่อยน้ำ
ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลจากมีมวลน้ำเหนือจากจังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย ไหลลงมาสมทบกับมวลน้ำจากแม่น้ำสาขา ฝั่ง สปป.ลาว ประกอบกับจีนและ สปป.ลาว มีการปล่อยน้ำจากเขื่อน บ
ทึ่ง! พระปิ๊งไอเดียใช้ยางรถยนต์ มุงหลังคาแทนกระเบื้อง ลวดลายพญานาค
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่วัดถ้ำศรีพรหม บ้านโนนสา ต.ท่าดอกคำ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ หลังมีผู้ใช้ TikTok โพสต์คลิปเรื่องราวของวัดที่ใช้ยางรถยนต์เก่ามามุงหลังคาแทนกระเบื้องและสังกะสี โดยวัดถ้ำศรีพรหม ตั้งอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เป็นสถานที่แห่งนี้เป็นที่ปฏิบัติธรรม
ชาวสวนยางบึงกาฬเซ็ง!ราคาดีแต่กรีดไม่ได้เพราะฝนตก
บึงกาฬฝนตกต่อเนื่องกระทบชาวสวนยางโอดราคาพุ่งในรอบ 10 ปี แต่กรีดยางไม่ได้ ปภ.เตือนน้ำท่วมฉับพลัน
พายุฤดูร้อนกระหน่ำบึงกาฬ เครนยักษ์ล้มทับ 3 คนงานเสียชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่จังหวัดบึงกาฬ ได้เกิดพายุฤดูร้อนพัดถล่มมาพร้อมกับลมแรงพัดมาจากฝั่งทางทิศตะวันตกนานกว่า 30 นาที โดยภาพบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแม็คโคร บนถนนหลาวงสาย 212 บึงกาฬ-หนองคาย