“มีข้าวมาแจก ออกมารับเร็วๆ” เสียงตะโกนโหวกเหวกเป็นภาษาพม่าดังขึ้น เมื่อรถกระบะจอดสนิทในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากแม่น้ำเมย พรมแดนไทย-พม่า ใน อ.แม่สอด จ.ตาก
หลายมือช่วยกันหยิบถุงใหญ่ที่กองพะเนินในกระบะ ออกมาวางที่ท้ายรถ ร้องเรียกกันเพียงไม่ถึงนาที คนหลายคนสวมใส่โสร่ง ผ้าถุง เดินออกมาจากเพิงพักหลายจุด ต่างเข้าแถวรับของที่ชาวบ้านจากตลาดแม่สอด นำมาแจกให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบ ที่หนีลูกกระสุนและระเบิดจากการรุกรานรัฐกะเหรี่ยงโดยเผด็จการทหารพม่า ข้ามแม่น้ำเมยมายังฝั่งไทย
“มีข้าวกล่อง กลุ่มเราช่วยกันทำตั้งแต่เมื่อเช้า น้ำดื่ม ผลไม้ เอามาแบ่งๆ กัน เห็นใจที่เขาต้องลำบากในเวลานี้” “มะ” หญิงกลางคนชาวไทยมุสลิมจากตลาดแม่สอด หนึ่งในผู้ใจบุญคณะนี้เล่าให้เราฟัง
ในมือของเธอที่ยื่นของไปให้ นอกจากข้าว น้ำ ยังมีหมากพลู “ของสำคัญ” ต่อหลายชีวิตในพื้นที่แถบนี้ซึ่งช่วยให้ผ่อนคลายในภาวะที่ต้องหนีภัยจากสงคราม
“ได้กินหมาก จะได้หายเครียดบ้าง” เธอบอก พลางยื่นสิ่งของต่างๆ ให้ผู้หนีภัยทุกคนอย่างคล่องแคล่ว ตามประสาแม่ค้า ทั้งๆที่หมากพลูเป็นความต้องการของผู้พลัดบ้านพลัดถิ่น แต่มักไม่มีใครนึกถึง
ชาวแม่สอดหลากหลายกลุ่มอาชีพรวมตัวกันทำอาหารและรวบรวมขงจำเป็นต่การยังชีพ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้หนีภัยจากการสู้รบ เช่นเดียวกับที่มะทำอยู่ แต่พวกเขาเลือกที่จะทำกันแบบเงียบๆ เพราะหากรับรู้ในวงกว้าง ก็ไม่แน่ว่า “ภัย” จะมาถึงตัวหรือไม่ เพราะพื้นที่ตลอดริมน้ำเมยมีความสลับซับซ้อนในเรื่อง “อำนาจ”
ผู้หนีภัยจากความไม่สงบครั้งล่าสุดที่พรมแดนไทย-พม่า หนีภัยความตายทะลักข้ามแม่น้ำเมย มายังเขตประเทศไทยเพื่อความปลอดภัยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 จนบัดนี้มีตัวเลขทางการไม่ต่ำกว่า 4-5,000 คน ส่วนใหญ่ในนั้นเป็นผู้หญิง ทารก เด็ก และผู้สูงอายุ ที่มีทั้งชาวกะเหรี่ยง และชาวพม่า แต่ตัวเลขจริงสูงกว่านี้มาก โดยจำนวนไม่น้อยต้องหลบซ่อนอยู่ริมแม่น้ำเมย รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเครือข่ายสันติภาพกะเหรี่ยง ระบุว่ามีประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน
ผู้หนีภัยที่หนีข้ามแม่น้ำเมยส่วนใหญ่ขณะนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในการดูแลของทางการไทย โดยกองทัพภาคที่ 3 ณ คอกวัวมหาวันเมยโค้ง อ.แม่สอด
“ผมขอซ่อนอยู่ตรงนี้ ไม่ไปที่ทหารให้ ผมมีบ้าน มีหมู มีไก่ ผมต้องกลับไปดูแลให้อาหาร” ซอกวอ ชายหนุ่มชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า เล่าให้ฟังหลังจากได้รับอาหารจากผู้ใจบุญมาหลายกล่องในบ่ายวันหนึ่ง
เขาบอกว่าเสียงระเบิดที่ปะทุขึ้นกลางดึกในคืนแรก ทำเอาชาวบ้านในหมู่บ้านของเขาแตกกระเจิง หลายคนสูญเสียชีวิต หลายคนบาดเจ็บ คนที่พอจะมีสติก็พากันหนีเอาชีวิตรอด ลุยข้ามแม่น้ำเมย หนีมายังฝั่งไทย จนเป็นภาพข่าวที่ดังไปทั่วโลก
ซอกวอเล่าว่าแทบทุกคนห่วงบ้านเรือนและทรัยพ์สินของตนเองที่ฝั่งพม่า ไม่อยากทิ้งไปนานๆ ต่างอยากกลับไปคืนถิ่นฐานให้เร็วที่สุด
“ดูคลิปมั้ย ผมถ่ายไว้ที่หน้าบ้าน” ชายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงถาม แล้วเปิดคลิปวิดีโอที่เขาถ่ายความเสียหายให้ดู
บ้านไม้สักหลังใหญ่ของเขาเสียหายที่ประตู หลังคา และอีกหลายส่วน ขณะที่ถนนลูกรังหน้าบ้านในคลิปนั้น มีเสื้อผ้ากองอยู่ มีทั้งเสื้อผ้าผู้หญิง และชุดทหารพม่า วางรวมกันตรงนั้น
เขาบอกว่าเวลานี้ในหมู่บ้านไม่มีใครแล้ว มีเพียงทหารกะเหรี่ยง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) คอยเฝ้าระวังอีกไม่กี่คน เขาบอกว่าหากประชาชนไม่กลับไป ทหารพม่าจะเผาทำลายและยึดหมู่บ้านไปทั้งหมด
ที่ๆ เขาอยู่ในเวลานี้เป็นเพียงเพิงไม้ที่เพิ่งสร้างอยู่ข้างกองฟาง มีผ้าห่มสีสดไม่กี่ผืนมุงเป็นหลังคา
“กลางคืนหนาว หนาวมากๆ แต่โชคดี เรานอนหนาวคืนเดียว คนไทยก็เอาผ้าห่มมาแจก เอาอาหาร เอาน้ำ มาให้ ผมขอบคุณจริงๆ ผมและลูกเมียขออาศัยอยู่ไม่นาน หากกลับได้เราจะกลับทันที บ้านเรา เราห่วงมาก อยากกลับบ้าน อยากลับเดี๋ยวนี้เลย” เขาบอก และว่าไม่เข้าใจที่ทำไมการโจมตีของทหารพม่า ใช้ทั้งเครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ และปืนค. ถล่มหมู่บ้านของประชาชนมือเปล่า
เมื่อได้คุยกับ “มะ” อีกครั้งช่วงค่ำ เธอบอกว่าพรุ่งนี้จะเป็นชาวแม่สอด อีกกลุ่ม ที่อาสารับทำอาหารและสิ่งของจำเป็นไปส่งให้แก่ผู้หนีภัยสงคราม “เราช่วยกันหลายกลุ่ม อยากให้พี่น้องมีกิน เราเป็นห่วง จะคนฝั่งไทย ฝั่งพม่า ก็เป็นคนเหมือนกัน เราพี่น้องกัน อยากช่วยกัน” แม่ค้าตลาดแม่สอด บอกมาตามสาย
หลายคืนที่ผ่านมานี้ ที่หมู่บ้านชานเมืองแม่สอด ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงราว 10 คน มารวมตัวกันตั้งแต่ราวเที่ยงคืน เพื่อหุงข้าว และบรรจุลงถุงเพื่อนำไปส่งให้ผู้หนีภัยสงคราม ที่อยู่รวมกันในพื้นที่ชั่วคราว
“ได้ข้าวบริจาคมา มีทีมอาสาสมัครช่วยหุงข้าวในกะทะใบใหญ่ตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ มีคนที่หุงเป็น เอาข้าวใส่หม้อบนกะทะเป็นชั้นๆ จะหุงได้มากหน่อย แล้วช่วยกันตักข้าวร้อนๆ เอาใส่ถัง ให้ข้าวอุ่นๆ ไว้ ไม่เสียง่าย หุงหลายรอบ หลายชั่วโมง กว่าจะครบจำนวนที่เรารับมา 1,500 ชุด ตกดึกตีสอง อีกทีมก็มาช่วยกันตักใส่ถุงป็นชุดๆ ไว้ เช้ามืดก่อน 6 โมง เราก็เอาข้าวไปส่ง หากไปส่งช้า สายเกิน ข้าวบูด พี่น้องก็ไม่ได้กิน” ชายหนุ่มชาวกะเหรี่ยงบอกว่าทำแบบนี้มาหลายคืนแล้ว นับตั้งแต่ทหารพม่าโจมตีประชาชนจนต้องข้ามพรมแดนมา เขาบอกว่าคนที่นำข้าวและอาหารไปส่ง ต้องมีสัญชาติไทย “หากไปส่ง ถูกตรวจแล้วไม่มีบัตร ก็อาจถูกจับได้” เขาบอก
ชาวบ้านสองฝั่งลำน้ำเมยเป็นเสมือนเครือญาติกันมายาวนาน เมื่อบริเวณไหนมีภัยก็จะอพยพหนีร้อนไปพึ่งเย็นกันไป-มา ชาวกะเหรี่ยงมีบทบาทสำคัญในการร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสยาม ต่อสู้กับกองทัพพม่ามาโดยตลอด แต่ดูเหมือนในวันนี้ประวัติเก่ากำลังถูกฝังกลบ และประวัติศาสตร์หน้าใหม่กำลังถูกบันทึกไว้ว่า “กองทัพไทยมีสัมพันธภาพดีสุดยอดกับกองทัพพม่า”
เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปธ.กมธ.มั่นคง แนะ กต. ถกชาติมหาอำนาจช่วยกดดัน 'ว้าแดง' ถอนทัพเขตแดนไทย
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม
'โรม' สับรัฐบาลอ่อน เมียนมายังไม่ปล่อยตัวลูกเรือไทย แนะต้องประท้วงให้เข้มแข็งกว่านี้
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม
นายกฯ อิ๊งค์บอกข่าวดี! เมียนมาจะปล่อย 4 คนไทยหลังปีใหม่
นายกฯ เผยข่าวดีปม 4 คนไทยเรียบร้อยหลังปีใหม่ ส่วนเรื่องคดีความต้องคุยกันต่อ
จับ“ไทย”ชน“เมียนมา” เด้งเชือกรับมือเกมมหาอำนาจ
หลังจากที่กองกำลัง “ว้าแดง” ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงข่าวลือความตึงเครียดระหว่างทหารไทยกับว้าแดงบริเวณชายแดน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้ “ข่าวลือ” ดังกล่าวเริ่มเบาเสียงลง
'ภูมิธรรม' แจงเหตุเมียนมายังไม่ปล่อยตัว 4 คนไทย ยันทำทุกวิถีทางแล้ว
'ภูมิธรรม' แจง 4 คนไทยยังกลับไม่ได้ เหตุรอรัฐบาลเมียนมาตัดสินใจ ยํ้าทำทุกวิถีทางแล้ว หากเกิดในประเทศไทยต้องทำเช่นกัน ปัดโยงการเมือง
พม่ายังไม่ปล่อย ประมงไทย 4 คน
เมียนมายังไม่ปล่อยตัว 4 ลูกเรือประมงไทย อ้างไม่ได้รับคำสั่งจากหน่วยเหนือ ด้านโฆษกกระทรวงกลาโหมยืนยัน TBC ฝ่ายไทยเร่งประสานช่วยเหลือ