เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม จับมือภาคีเครือข่ายต่างๆ เดินหน้าแคมเปญ “ระวังหมดอายุ STAY SAFE” ต่อเนื่อง มุ่งสร้างวัฒนธรรมถนนปลอดภัย เน้นสื่อสารเชิงรุก จัดเต็มเครื่องมือ และกิจกรรมชวนคนไทยมาร่วมกันสะกิดเตือนด้วยความรัก เพื่อร่วมกันส่งทุกคนให้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยในทุกๆ วัน ทั้งเดินรณรงค์ เปิดเพลง “ระวังหมดอายุ” และมาสคอตน้องผึ้งเป็นหูเป็นตา เพื่อสังคม เพื่อสร้างการจดจำ โดยเน้น 4 ระวัง!! เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมจัดประกวดคลิปสั้นสร้างสรรค์โดยเยาวชน เพื่อให้เกิดจุดเปลี่ยนที่ยั่งยืน ตั้งเป้าถนนสาทรเป็นต้นแบบถนนปลอดอุบัติเหตุ หวังสร้างแรงกระเพื่อมทั่วประเทศไทย
ตามสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือมากถึงปีละประมาณ 2 หมื่นคน และยังคงเกิดขึ้นทุกวัน สร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจมากมาย จึงเกิดการก่อตั้ง “เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม” เพื่อมุ่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และความร่วมมือจากภาคีภาคส่วนต่างๆ เช่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตสาทร สำนักงานเขตบางรัก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โรงเรียนในเขตสาทร และเขตบางรัก วินมอเตอร์ไซค์ และภาคเอกชน จัดแคมเปญ “ระวังหมดอายุ STAY SAFE” โดยมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีเครื่องมือต่างๆ เช่น มาสคอต “ผึ้งน้อยเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม” และเพลง “ระวังหมดอายุ” ที่ชวนให้ทุกคน ตระหนักถึง 4 ระวัง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ คือ ระวังทางแยก ระวังทางข้าม ระวังความเร็ว และระวังน็อก (ใส่หมวกกันน็อก ทุกครั้งที่ขับขี่ หรือซ้อนท้าย) เพื่อชวนคนไทยร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่อเนื่องมาอย่างเข้มข้น
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคมประเทศไทย และประธานเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม กล่าวว่า การขับเคลื่อนเชิงรุกเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เริ่มแรกจากเป้าหมายเพื่อให้ถนนสาทรเป็นต้นแบบถนนปลอดอุบัติเหตุ มีการสื่อสารเชิงรุกในพื้นที่ถนนสาทร ซึ่งเชื่อมต่อพื้นที่เขตสาทรและบางรัก ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 โดยจัด Mini Exhibition ที่สกายวอล์คช่องนนทรี ซึ่งได้รับความสนใจจากคนที่ใช้ถนนสาทรและเยาวชนจากการเชิญชวนทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการร่วมพัฒนาถนนสาทรให้เป็นต้นแบบถนนปลอดอุบัติเหตุ
จากนั้น ได้ร่วมกับเครือข่ายความปลอดภัยของประเทศ มูลนิธิเมาไม่ขับ เดินรณรงค์เนื่องในวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางท้องถนน และ ในการสัมมนาเครือข่ายสมาชิกรัฐสภา เพื่อความปลอดภัยทางถนน มีการจัดนิทรรศการระวังหมดอายุ เพื่อสร้างการรับรู้ให้ทุกคนตระหนัก และมีส่วนร่วมในแคมเปญ รวมทั้งเล่าให้ภาคส่วนต่างๆ ได้รู้ถึงการขับเคลื่อนเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม รวมถึงเห็นความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนและร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน
สำหรับปี 2567 เริ่มตั้งแต่ต้นปี มีการจัดทำกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับโรงเรียนในสังกัดกทม. โดยมีโรงเรียนในเขตสาทรและบางรัก จำนวนทั้งสิ้น 7 โรงเรียนเป้าหมาย เริ่มจากโรงเรียนวัดยานนาวา เข้าไปเชิญชวนให้นักเรียนร่วมรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน พร้อมจัดประกวดคลิปสั้น รณรงค์ให้ทุกคนใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย มีนักเรียนสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก โดยเชื่อว่า จุดเปลี่ยนอย่างยั่งยืนจะเริ่มจากเยาวชน และการมีส่วนร่วมทั้งโรงเรียน โดยเฉพาะการใส่หมวกกันน็อก เมื่อสื่อสารให้พ่อแม่ผู้ปกครองใส่หมวกกันน็อก และมีคุณครูคอยสะกิดเตือน ด้วยความรัก ความห่วงใย ทำให้มีผู้ใส่หมวกกันน็อกเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็นมากกว่า 50-70%
นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารเชิงรุกต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจาก กทม. ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อสารสร้างการรับรู้แคมเปญ “ระวังหมดอายุ” บนพื้นที่ถนนสาทรตามแยกต่างๆ รวมถึงศาลาที่พักผู้โดยสารและเสาตอม่อรถไฟฟ้า เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ด้วยการสะกิดเตือนคนที่เรารักและรักเรา ด้วยความรัก ความห่วงใย ให้กลับบ้านอย่างปลอดภัย
และในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีหมุดหมายที่จะรณรงค์ร่วมกับโรงเรียนวัดยานนาวาและโรงเรียนวัดดอน จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ ส่งมอบความรักความปรารถนาดี ขอบคุณผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเยาวชน ด้วยการชะลอความเร็ว และหยุดรถให้เด็กได้ข้ามถนน เพื่อให้มาถึงโรงเรียนและกลับบ้านอย่างปลอดภัย ซึ่งพฤติกรรมดีๆ แบบนี้ อยากจะส่งเสริมให้มีทุกพื้นที่ทั่วประเทศและทุกถนนมีทางม้าลาย ไม่เฉพาะหน้าโรงเรียน
จากเป้าหมายพัฒนาให้ถนนสาทรเป็นต้นแบบถนนปลอดอุบัติเหตุเพราะเป็นถนนที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่ใจกลางของ กทม. มีการเดินทางสัญจรและมีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างมาก จึงมุ่งหวังให้พื้นที่ถนนสาทรกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ทั้งผู้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ไรเดอร์ รถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนผู้ใช้ทางเดินเท้า หากสามารถร่วมกันทำให้ปลอดอุบัติเหตุได้ ก็จะส่งแรงกระเพื่อมขยายผลพื้นที่ไปยังถนนเส้นอื่น และเขตอื่นๆ ในกทม. และขยายผลต่อในหัวเมืองสำคัญ ทั่วประเทศต่อไป
“เพราะอุบัติเหตุส่งผลกระทบมากมาย ทั้งจิตใจคนที่อยู่รอบข้าง ทุกคนที่สูญเสียญาติพี่น้อง บุตรหลาน คนจำนวนมากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขาดหัวหน้าครอบครัวไปตลอดกาล ทุกชีวิตมีค่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้กับทุกคน เราทุกคนล้วนใช้รถใช้ถนนไม่ว่าจะมาหรือน้อย ไม่ว่าจะเป็นใคร ในแต่ละปีเรามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก มีคนได้รับบาดเจ็บพิการกว่าแสนคน มีเด็กจำนวนมากต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า” ดร.อุดม กล่าวทิ้งท้าย
อุบัติเหตุป้องกันได้ ทุกคนสามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เริ่มจากตัวเรา สะกิดเตือนตนเอง เตือนคนที่เรารัก เตือนคนที่รักเรา ให้ระวังทางแยก ระวังทางข้าม ระวังความเร็ว และระวังน็อก เพื่อส่งพวกเขาให้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยในทุกวัน และลดผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ เชิญชวนทุกท่านมาร่วมส่งความรักความปรารถนาดีและเพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ไปเพิ่มเพื่อนเป็นเครือข่ายกัน ได้ที่ Face Book : เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม https://www.facebook.com/penhoopentar
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เครือข่ายเป็นหูเป็นตาฯ ชวนคนกรุง ร่วมพัฒนาถนนสาทร เป็นถนนปลอดอุบัติเหตุต้นแบบ
เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม เปิดปรากฎการณ์สุดสร้างสรรค์ กับนิทรรศการกลางแจ้ง(Mini Exhibition) บน Skywalk บีทีเอส ช่องนนทรี เพื่อพัฒนาถนนสาทรให้เป็นถนนปลอดอุบัติเหตุต้นแบบ
อบรมนักเรียนประถม ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ประธานเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม กล่าวว่าเด็กและเยาวชนมีบทบาทสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก จากการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชน ซึ่งเป็นคนที่ผู้ใหญ่รักมากที่สุด