“เฮ็ดดิ คราฟ” เป็นอีกหนึ่งในแบรนด์สินค้าที่น่าสนใจ เพราะผลิตภัณฑ์หัตถกรรมทุกชิ้นมาจากฝีมือการถักทอของกลุ่มคนพิการชุมชนบ้านนางอย ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร ที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อให้คนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งที่มีทักษะการทำงานหัตถกรรมอยู่แล้ว และผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม ได้รวมกลุ่มกันฝึกฝนและทำงานในบ้านเกิด เป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้และคุณค่าให้กับตัวเอง
รศ. ดร. สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า จ.สกลนคร เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาทำงาน พัฒนาโครงการหลวง เป็นโรงงานอาหารสำเร็จรูปที่ 3 ทำให้เห็นว่าในพื้นที่ ยังมีความเหลื่อมล้ำ มีผู้พิการและผู้สูงอายุ จึงอยากพัฒนาลดช่องว่างตรงนี้ ด้วยการสร้างอาชีพของคนกลุ่มนี้ รวมไปถึงคนรุ่นใหม่ที่เดินทางเข้าไปทำงานในเมือง โอกาสที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดก็น้อยลง ดังนั้นเพื่อให้กลุ่มคนดังกล่าวที่อยู่บ้านเฉยๆ ที่อาจจะเป็นภาระของครอบครัว ก็นำมาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาเป็นอาชีพ สร้างรายได้ ผ่านการผลิตสินค้าของกลุ่มผู้พิการภายใต้แบรนด์ เฮ็ดดิ คราฟ ภายใต้หลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น โดยบูรณาการองค์ความรู้จากทาง มจธ. นักศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และท้องถิ่น ถือเป็นหลักสูตรนำร่องที่จัดอบรมขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด และคาดว่าจะขยายโมเดลนี้สู่การทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่อไป
จุดเริ่มต้นของเฮ็ดดิ คราฟ ผศ. ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนพิการเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการภายนอก ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน จากแรกเริ่มที่เป็นการให้บุคคลเข้ามาอบรม ต่อมาทางมหาวิทยาลัยจึงได้เริ่มมีการพัฒนาหลักสูตรขึ้นเองในปี 2562 ได้แก่ หลักสูตรผู้ทดสอบทางประสาทสัมผัส สำหรับคนพิการทางการมองเห็น หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสานักงาน หลักสูตรการผลิตสื่อ สิ่งพิมพ์ดิจิทัล และในปี 2564 จึงเกิดเป็นหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น
ผศ. ดร.บุษเกตน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า โดยการจัดทำหลักสูตรเป็นไปตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ ในม.33 , ม.34 และม.35 ว่าด้วยเรื่องนายจ้างหรือสถานประกอบการจำนวนลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องรับคนพิการเข้าทางานในอัตรา 100 : 1 หากไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทางานตามจำนวนที่กำหนด ต้องส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยชุมชนหรือสร้างการอบรม ซึ่งสถานประกอบการส่วนหนึ่งก็ได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการอบรมผู้พิการในหลักสูตรนี้
ดังนั้นเมื่อมีหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดพัฒนาแบรนด์ เฮ็ดดิ คราฟ หัตถกรรมโดยฝีมือคนพิการขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านนางอย-โพนปลาโหล ต.เต่างอย อ.เต่างอย ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ มจธ. และถือเป็นหลักสูตรนำร่องที่จัดอบรมขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด และยังเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนผ่านเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน
ผศ. ดร.บุษเกตน์ กล่าวถึงปัญหาที่พบในกลุ่มคนพิการพื้นที่ อ.เต่างอยว่า ส่วนใหญ่เป็นคนพิการด้านการเคลื่อนไหว แขนขาอ่อนแรง สายตาเลือนรางและพิการทางการได้ยิน ซึ่งไม่สามารถการเดินทางไปทำงาน ไม่มีวุฒิการศึกษา หรืออายุที่มากเกินไป อยู่บ้านเฉยๆ ฯลฯ รวมถึงสถานประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในเมือง คนพิการที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองไม่สามารถเดินทางหรือย้ายถิ่นฐานไปทำงานได้ดังนั้นหลักสูตรนี้จะช่วยพัฒนาให้คนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งที่มีทักษะการทำงานหัตถกรรมอยู่แล้ว และผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม ได้รวมกลุ่มกันฝึกฝนและทำงานที่บ้านได้
“ในส่วนของการอบรมหลักสูตรฯ ในกลุ่มคนพิการจะได้รับการบ่มเพาะทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 600 ชั่วโมง โดยคนพิการจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และได้รับเบี้ยเลี้ยง อาหารกลางวัน และค่าเดินทางตลอดระยะเวลาในการฝึกอบรม ซึ่งคนพิการที่เรียนในหลักสูตรนี้ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานความรู้ที่จำเป็น เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์เบื้องต้น การออกแบบชิ้นงาน การใช้สี การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ การสื่อสารกับลูกค้า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การทำตลาด การทำบัญชี การคำนวณต้นทุน การตั้งราคา การบริหารจัดการธุรกิจ ฯลฯ” ผศ. ดร.บุษเกตน์ กล่าว
ผศ. ดร.บุษเกตน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันแบรนด์เฮดดิ คราฟ ได้ดำเนินงานมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 มีคนพิการที่เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนี้ทั้งสิ้น 43 คน แบ่งเป็น รุ่นที่ 1 จำนวน 19 คน รุ่นที่ 2 จำนวน 12 คน ต่อเนื่องในปีนี้มีรุ่นที่ 3 จำนวน 12 คน โดยเป็นการคัดเลือกผู้พิการจากกว่า 100 คน ในต.เต่างอย ซึ่งการเลือกผู้พิการเข้าร่วมหลักสูตรฯ เช่น ต้องมีบัตรผู้พิการ เพื่อสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นผู้มีงานทำมีรายได้ จากสำนักงานแรงงานจังหวัดสกลนคร มีความพร้อมและความสนใจในงานหัตถกรรม
โดยผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนพิการตำบลเต่างอย ที่ได้ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นสู่ ผงสีธรรมชาติจากพืช เป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์แปลกใหม่ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น โดยนำวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติมาผลิต ภายใต้แนวคิด Zero Waste ที่ไม่เหลือขยะทิ้งไว้ ซึ่งผงสีจากพืชธรรมชาติที่ผลิตได้ ประกอบด้วย คราม ฝาง สาบเสือ หูกวาง หางนกยูง ดาวเรือง ฝักคูน เปลือกประดู่ มะม่วง เพกา และเมล็ดคำแสด สามารถนำไปเป็นส่วนผสมทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลากหลาย อาทิ เทียนหอม ธูปหอม โดยเฉพาะสีเทียน เป็นสูตรที่ทางกลุ่มคนพิการได้ทำวิจัย คิดค้นและพัฒนาขึ้นเอง ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มเฮ็ดดิ ที่มีลักษณะเป็นก้อนแตกต่างจากสีเทียนแบบเดิม โดยมีเป้าหมายเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่มีความชื่นชอบในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทางแบรนด์ได้ทำขึ้น
ทั้งนี้ในกลุ่มคนพิการรุ่นที่ 3 ของหลักสูตร ยังได้โอกาสเรียนรู้ การต่อยอดด้านความคิดสร้างสรรค์จากกลุ่มศิลปิน อินฟลูเอนเซอร์ และผู้ประกอบธุรกิจด้านงานคราฟท์ ที่ได้นำความรู้มาแบ่งปันและถ่ายทอดให้กับคนพิการในหลักสูตร ทำให้ได้ผลงานที่มีความสวยงามและแปลกใหม่ แตกต่างจาก 2 รุ่นที่ผ่านมา ยกระดับจากผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาพื้นถิ่น ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และตรงใจผู้บริโภคในวงกว้างยิ่งขึ้น และจากความสำเร็จนี้ มจธ.จึงเตรียมต่อยอดขยายผลนำ เฮ็ดดิโมเดล ออกไปสู่ชุมชนอื่นๆ ที่สนใจต่อไป
“การที่สมาชิกตกลงร่วมกันเป็นผู้ประกอบการ Local Enterprise แม้จะยังไม่ได้เป็น Social Enterprise ถือเป็น startup ในเชิงการสร้างอาชีพให้คนพิการ ที่ทุกคนเลือกเป็นผู้ถือหุ้นกันเอง 100% ต่อไปมหาวิทยาลัยจะเป็นเพียงพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษา ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องผลกำไรกับทางกลุ่ม ซึ่งถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของ Sustainable Development Goals (SDGs) ในการมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน การสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ส่วนสิ่งที่มหาวิทยาลัยได้รับจากการจัดทำหลักสูตรนี้ คือ สามารถตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยเป็น The Sustainable Entrepreneurial University รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนกับมหาวิทยาลัย” ผศ.ดร.บุษเกตน์ กล่าว
โชคชัย งอยภูธร อายุ 30 ปี สมาชิกในศูนย์การเรียนรู้บ้านนางอย-โพนปลาโหล อ.เต่างอย จ.สกลนคร เล่าว่า หลังจากเกิดอุบัติเหตุตกรถไถนา ทำให้ไม่สามารถที่จะเดินได้ ในช่วงปี 2554 ทำให้รู้สึกไม่อยากทำอะไร รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า จนมีอาจารย์ท่านหนึ่งได้มาชักชวนเข้าหลักสูตรทำแบรนด์เฮ็ดดิ คราฟ จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มเพราะอยากมีรายได้จากการหาเงินด้วยตัวเอง และอยากจะทำตามเป้าหมายของชีวิตให้สำเร็จ คืออยากจะเดินได้และสร้างบ้าน ซึ่งในระหว่างเข้าร่วมกลุ่ม มีรายได้เดือนละประมาณ 8,000 บาท แม้ว่าช่วงแรกอาจจะทำไม่เป็นแต่ก็พยายามฝึกไม่ว่าจะเป็นการหัดถักผ้า หรือการทำเทียนหอม แต่ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งการตลาดของกลุ่ม ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้มาทำงานตรงนี้ และยังสามารถทำได้ในพื้นที่ไม่ไกลบ้าน และตั้งเป้าไว้อีกว่าจะโปรโมทสินค้าของตามช่องทางต่างๆ ในโซเชียล เพื่อให้ถึงยอดขายที่ตั้งเป้าไว้ที่ 50,000 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้สินค้าของเฮ็ดดิ คราฟยังได้ขยายสู่การออกร้านในงานสวนแมน ซึ่งมีการรวมร้านงานฝีมือต่างๆในจังหวัดสกลนคร มาออกบูธขายของให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบงานฝีมือ รวมถึงการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของชุมชนที่ต่างจากกลุ่มอื่นในพื้นที่ จากประสบการณ์การเป็นเทรนด์เดอะเทรนด์เนอร์ ให้กับนักศึกษาต่างชาติจากมหาวิทยาลัย NAFA ที่หลังจากได้รับการถ่ายทอดจากกลุ่มเฮ็ดดิแล้วจะนำความรู้ที่ได้รับไปจัดนิทรรศการที่สิงคโปร์ จะเป็นเครดิตของคนพิการเฮ็ดดิ ที่พูดถึงกันจากการได้มาลงพื้นที่ในเชิงมหาวิทยาลัยกับชุมชน และได้ผลงานกลับไปจัดแสดง ซึ่งอาจมีการนำไปต่อยอดเกิดการออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น ถือเป็นผลงานที่โดดเด่นของกลุ่มคนพิการเฮ็ดดิอีกด้วย .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ศุภมาส' สั่งการ 'ปลัด อว.' เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการซื้อขายวุฒิการศึกษา
น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะโฆษกกระทรวง อว. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานเบื้องต้นว่ามีประชาชนไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้น
“เบทาโกร” จับมือ “มทร.ล้านนา” และ “มจธ.” ยกระดับทักษะพนักงานระดับ ปวส. ศึกษาต่อปริญญาตรี ด้วยรูปแบบ “โรงเรียนในโรงงาน”
“บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)” หรือ “BTG” โดย “ดร.ถนอมวงศ์ แต้ไพสิฐพงษ์” (ที่ 3 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานบริหารส่วนกลาง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
จากคีรีวงสู่แผน’กังหันน้ำชุมชน’เทือกเขานครศรีธรรมราช
ชุมชนคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่อยู่รอบเทือกเขานครศรีธรรมราช นอกจากเป็นหมู่บ้านที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทยปลอดฝุ่นพิษ PM2.5 ยังเป็นหมู่บ้านพลังงานน้ำมีการส่งเสริมกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กกระจายในพื้นที่