เหลียวหลังแลหน้า 1 ทศวรรษความสัมพันธ์ขั้นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-เวียดนาม

ไทยและเวียดนามเป็น 2 ชาติที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป  ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันมายาวนานตั้งแต่สมัยรัฐจารีตจนถึงปัจจุบัน  กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติมีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยภายใต้บริบทการเมืองระดับโลก ระดับภูมิภาค และและปัจจัยทางการเมืองในแต่ละประเทศ  ในปี ค.ศ. 2023 ถือเป็นวาระแห่งการครบรอบ 47 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-เวียดนาม และการเฉลิมฉลอง 1 ทศวรรษแห่งการยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง  

เพื่อนบ้านที่หมางเมินในยุคสงครามเย็น

ตลอดระยะเวลาของสงครามเย็น ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เวียดนามเหนือ) มีลักษณะของการเป็นปฏิปักษ์และแฝงไว้ด้วยความหวาดระแวงซึ่งกันและกันอย่างเด่นชัด  แม้ว่าความสัมพันธ์สองชาติจะมีเค้าลางที่ดีขึ้นเมื่อรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แถลงในช่วงก่อนสงครามเวียดนามจะสิ้นสุดลงกว่าหนึ่งเดือนว่าจะถอนทหารต่างชาติให้หมดจากประเทศไทยภายใน 1 ปี  กระนั้น ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายกลับเสื่อมถอยลงอีกเนื่องจากฝ่ายเวียดนามเรียกร้องให้ไทยส่งคืนเครื่องบินรบที่บินเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยภายหลังกรุงไซง่อนแตก  นอกจากนั้น ไทยยังมองว่าเวียดนามให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และต้องการขยายอิทธิพลเหนือชาติในอินโดจีน รวมถึงมีท่าทีคุกคามไทย 

อย่างไรก็ตาม บริบททางการเมืองโลกภายหลังสงครามเวียดนามส่งผลให้ไทยและเวียดนามมีความจำเป็นต้องกระชับความสัมพันธ์และลดความบาดหมางระหว่างกันเพื่อความสงบและสันติในภูมิภาค  ในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1976 ไทยและเวียดนามได้มีการลงนามและแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ  จากนั้น ในระหว่างวันที่ 6–10 กันยายน ค.ศ. 1978 นายฝ่ามวันด่ง นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีของไทย  

ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติกลับดำดิ่งลงอีกครั้งเนื่องจาก ‘ปัญหากัมพูชา’ ซึ่งกลายเป็นชนวนของความตึงเครียดที่ยืดเยื้อยาวนานไปจนถึงช่วงต้นทศวรรษ 1990  จนกระทั่งเวียดนามประกาศนโยบายการปฏิรูป ‘โด่ยเหมย’ (Đổi Mới) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1986  จากนั้นในอีก 2 ปี รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้ประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” โดยเวียดนามได้ถอนทหารออกจากกัมพูชา และได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปี ค.ศ. 1995  

เมื่อกระแสลมเปลี่ยนทิศจากศัตรูจึงกลายเป็นมิตร

ภายหลังสงครามเย็น ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว  ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2013 ไทยและเวียดนามเป็นสองชาติแรกในอาเซียนที่มีการลงนามเพื่อยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยได้จัดตั้งกลไกด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1.การประชุมร่วมระหว่าง ครม.ไทย-เวียดนาม 2.การประชุมคณะกรรมการความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-เวียดนาม 3.การปรึกษาหารือทางด้านการเมืองในระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 4.การประชุมคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและนโยบายกลาโหม และ 5.การประชุมคณะทำงานร่วมไทย-เวียดนามว่าด้วยความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง  

ทางด้านการค้าระหว่างสองชาติมีมูลค่าสูงขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัวในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี ค.ศ.2013 มีมูลค่าเพียง 10.46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 21.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2022  ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบขยายความร่วมมือให้มีมูลค่า 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2025 โดยไทยถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามจากชาติที่เป็นสมาชิกอาเซียน  ในขณะที่ เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของไทยจากชาติสมาชิกอาเซียน และเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่หกของไทยจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตามหลังจีน ญี่ปุ่น อเมริกา สหภาพยุโรป และ มาเลเซีย 

ทางด้านการลงทุน ไทยอยู่ในอันดับที่ 9 จาก 141 ประเทศที่ได้ทำการลงทุนในเวียดนาม โดยมีการลงทุนในแขนงต่าง ๆ ถึง 639 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  ในขณะเดียวกัน นักธุรกิจเวียดนามได้ลงทุนในไทย 15 โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งในกลุ่มผู้ลงทุนใหม่และการเพิ่มทุนโดยผู้ลงทุนเดิมรวมทั้งสิ้น 91.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 22 จาก 55 ประเทศ

ไทยเวียดนามเพื่อนคู่คิดหรือมิตรคู่แข่ง  

แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามจะพัฒนาขึ้นตามลำดับ  อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเชิงวิเคราะห์จากฝ่ายเวียดนามเผยให้เห็นถึงข้อจำกัดบางประการในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติไว้อย่างน่าสนใจ  กล่าวคือ เวียดนามมองว่าชนชั้นนำทางการเมืองและชาวไทยบางกลุ่มยังคงมีอคติโดยถือว่าเวียดนามเป็นคู่แข่งขันเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญในการก้าวไปสู่ตำแหน่งศูนย์กลางและความเป็นผู้นำในอาเซียนและอนุภูมิภาค  ความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่าง 2 ชาติยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของเวียดนาม เช่น ปัญหาการช่วงชิงอำนาจอธิปไตยในทะเลจีนใต้และปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขง  เวียดนามยังมองว่าไทยเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเวียดนามใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการเนื่องจากความใกล้ชิดทางด้านภูมิศาสตร์ระหว่างสองประเทศ รวมถึงการยังไม่บรรลุข้อตกลงในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่าง 2 ชาติ

ทางด้านเศรษฐกิจ ไทยอาจมองว่าเวียดนามยังเป็นคู่แข่งในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของไทย  ในขณะที่ผู้ประกอบการจากไทยกำลังค่อย ๆ คืบคลานเข้ายึดครองตลาดค้าปลีกและและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีหมุนเวียน  ไทยยังคงจำกัดให้คนงานเวียดนามทำงานในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและการประมงเท่านั้น  นอกจากนั้น เวียดนามยังมองว่าการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับการจับกุมชาวประมงเวียดนามที่ลุกล้ำน่านน้ำของไทยซึ่งส่งผลต่อความพยายามในการปลดใบเหลืองซึ่งสหภาพยุโรปมองว่า เวียดนามมีการทำประมงที่ละเมิดหลักกฎหมายโดยมิได้ทำการควบคุมอย่างเคร่งครัด 

บทส่งท้าย 

  ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนาม อยู่ในระดับที่มีความแนบชิดและสนิทสนมภายใต้รูปแบบการดำเนินความสัมพันธ์ขั้นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งตลอดช่วงระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตาม ทั้งสองชาติอาจยังมีจุดยืนที่แตกต่างกันในบางประเด็นซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากผลประโยชน์ของชาติที่แต่ละฝ่ายยึดถือเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ  นอกจากนั้นอาจปฏิเสธมิได้ถึงอคติทางสังคมที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นที่ส่งผลมาถึงทัศนคติของผู้คนในปัจจุบัน  ทั้งนี้ ปัญหาและอุปสรรคที่กล่าวถึงอาจเป็นสะเก็ดของบาดแผลในประวัติศาสตร์ที่มิสามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้นแต่อาจต้องใช้เวลาที่ยาวนานในการสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้นผ่านความร่วมมือทางด้านมิติของวัฒนธรรม การเดินทางเพื่อเยี่ยมเยียนและพบปะกันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ชาติให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในอนาคต  

ข้อมูลอ้างอิง 

พวงทอง ภวัครพันธุ์. 2561. การต่างประเทศไทยในยุคสงครามเย็น. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่ง จุฬาลงกรณ์

วารสารทฤษฎีทางการเมือง http://lyluanchinhtri.vn/home/index.php/quoc-te/item/4526-muoi-nam- quan-he-doi-tac-chien-luoc-viet-nam-thai-lan-thanh-tuu-va-trien-vong.html

ดร.สุริยา คำหว่าน

ภาควิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว 

คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวียดนามหลังยุคเหงียนฝูจ่อง

ผลข้างเคียงจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามแนวทางทุนนิยมในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านส่งผลให้เวียดนามต้องประสบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่แพร่ระบาดไปยังพื้นที่ต่างๆ ของสังคมไม่ว่าจะเป็นภายในพรรคฯ รัฐบาล

45 ปีความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม: มุมมองจากมิติทางด้านการศึกษา

ปี 2564 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างไทยและเวียดนามเนื่องจากเป็นวาระแห่งการครบรอบ 45 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ชาติ กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติที่ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2519