'สรรพากร' เด้งรับเช็กลิสต์ภาษีมรดก มองถึงเวลาต้องปรับให้สอดคล้องปัจจุบัน

18 ก.ย. 2566 - นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ได้รับการบ้านจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.การคลัง เรื่องภาษีมรดกเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้กรมฯ จะกลับไปดูในรายละเอียดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมรดกให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไรบ้าง หลังจากนั้นจะรีบเสนอให้รัฐบาลพิจารณาโดยเร็วที่สุด

“ต้องไปดูภาพรวมโครงสร้างภาษีมรดกทั้งหมด อัตราภาษี และหลายส่วนที่เกี่ยวข้องว่าเป็นอย่างไร ต้องดูไปทุกเรื่องพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เห็นภาพ โดยต้องยอมรับว่าในช่วงที่ประกาศใช้ภาษีมรดก ซึ่งถือเป็นภาษีใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความแตกตื่น อัตราการจัดเก็บจึงบาง ๆ แต่หลังจากนี้ก็คงต้องมาดู มาปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับปัจจุบันมากขึ้น” นายลวรณ กล่าว

อธิบดีกรมสรรพากร ยังกล่าวถึงกรณีคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีบุคคลที่มีเงินได้จากต่างประเทศ ว่า ยืนยันและขอย้ำวันเรื่องทั้งหมดเป็นพัฒนาการตามกติกาภาษีโลกที่ไทยเข้าไปเป็นสมาชิก ซึ่งจะมีพัฒนาการด้านภาษีลักษณะนี้ออกมา โดยทั้งหมดที่ทำเพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมสำหรับคนไทยที่ลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มีรายได้ในลักษณะเดียวกันก็ควรจะเสียภาษีคล้าย ๆ กัน

โดยหลังจากนี้กรมฯ จะมีการจัดประชุมกลุ่มย่อย (โฟกัสกรุ๊ป) กับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด ทั้งนักลงทุน ผู้เสียภาษี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อมาชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร รวมถึงเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความกังวลของแต่ละกลุ่มว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้การดำเนินการช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

“เรื่องนี้เป็นไปตามพัฒนาการของกติกาภาษีโลกที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ และหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ของไทย มี 2 เรื่อง คือ หลักถิ่นที่อยู่ ซึ่งหากมีระยะเวลาอยู่ในไทย 180 วัน และหลักการรับรู้รายได้ทั่วโลก และหากจำกันได้เรามีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แลกเปลี่ยนข้อมูล ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริบทการจัดเก็บภาษีใน 2 หลักนี้เปลี่ยนไป ข้อมูลขของคนไทยที่มีรายได้เกิดขึ้นในต่างประเทศ เมื่อก่อนอาจจะไม่รู้หรือไม่ค่อยรู้ หรือยากที่จะได้ข้อมูลชุดนี้มา แต่ต่อไปนี้ข้อมูลชุดนี้จะเป็นแบบออโตเมติกส์ หรือว่าสามารถรู้ได้ในกรณีร้องขอ ทำให้เราต้องเปลี่ยนบริบทของการกำหนดเงื่อนไข ว่าเงื่อนไขลักษณะไหนจะต้องเสียภาษีบ้าง” นายลวรณ กล่าว

อย่างไรก็ดี กรมฯ ขอยืนยันว่า จะไม่มีการเก็บภาษีดังกล่าวซ้ำซ้อนอย่างแน่นอน เพราะไทยมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่เป็นประเทศคู่ค้า ดังนั้น หากผู้ลงทุนเสียภาษีกับประเทศไหนแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามอนุสัญญาภาษีซ้อน จะไม่มีการมาเสียภาษีที่ไทยอีก

ทั้งนี้ ในระยะยาวเชื่อว่าจะมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น และเพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมสำหรับคนไทยที่ลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยกรมฯ ยังไม่ได้ประมาณการเรื่องรายได้ว่าจะเข้าข่ายเสียภาษีกี่คน แต่เป็นการแก้ไขเรื่องหลักการและวิธีการที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทด้านภาษี และกติกาภาษีของโลก ซึ่งเชื่อว่าการแก้ไขในส่วนนี้ต่อไปจะทำให้สามารถรู้ได้ว่าผู้ลงทุนมีรายได้ที่เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับวิธีการจะดำเนินการอย่างไรบ้าง คงต้องรอคุยกับแต่ละกลุ่มก่อน

“กรมฯ มองเรื่องความเป็นธรรมในการเสียภาษีเป็นหลัก หากผู้ลงทุนเป็นคนไทย ไม่ว่าจะลงทุนที่ไหนก็ต้องเสียภาษีอย่างถูกต้องและเท่าเทียม โดยเชื่อว่าประกาศที่ออกมาตอนนี้คงไม่ใช่ฉบับเดียว หลังจากนี้อาจจะมีเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการตามออกมาอีกในอนาคต” นายลวรณ กล่าว

สำหรับแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 ของกรมสรรพากรนั้น มองว่า ความท้าทายคือเรื่องเศรษฐกิจภาพใหญ่ที่อาจชะลอตัวลง ตามตัวเลขที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศออกมา ตรงนี้คงมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีบ้าง เพราะหากตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ชะลอลง การจัดเก็บภาษีก็ต้องลดลงตามอยู่แล้ว แต่กรมฯ จะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยการดึงเทคโนโลยี การใช้เอไอ เข้ามาช่วยในกระบวนการเสียภาษี ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังยังได้เตรียมเสนอแผนปฏิรูปภาษี ให้รัฐบาลพิจารณาด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา! สรรพากร-สตง. สอบที่มาทรัพย์สิน 'นายกฯอิ๊งค์' รวยหมื่นล้าน

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า นายกฯอุ๊งอิ๊ง ผวาที่มาทรัพย์สิน 1.3 หมื่นล้าน อาจถูกตรวจสอบที่มาของรายได้ และภาระภาษี 30%

เดินหน้าสู่รัฐบาลดิจิทัล เปิดใช้ Digital MyTax ยกระดับบริการภาษีครบวงจร

'ศศิกานต์' เผย เดินหน้าสู่รัฐบาลดิจิทัล ล่าสุดเปิดใช้ Digital MyTax ยกระดับบริการภาษีครบวงจรรูปแบบ One Portal อำนวยความสะดวกทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เริ่มแล้ววันนี้