สืบสานงานศิลป์ วิถีวัฒนธรรม’ตรัง’

ด้วยปณิธานในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นถิ่นให้มีความยั่งยืน เพื่อส่งต่อคำว่า “ให้” กลับคืนสู่ชุมชนและสังคม โดยผสานเข้ากับงานศิลปะเพื่อก่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในชุมชน อาจารย์สัมฤทธิ์ เพชรคง อุปนายกสมาคมศิลปินทัศนศิลป์นานาชาติแห่งประเทศไทย ประธานศูนย์ศิลปะวิถีบ้านคลองคุ้ย ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง และศิลปินชาวตรัง เป็นหัวเรือใหญ่จัดเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรม ครั้งที่ 7 ณ ศูนย์ศิลปะวิถี จ.ตรัง เมื่อวันก่อน โดยนางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.)กระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน

bdr

อ.สัมฤทธิ์ เพชรคง ศิลปินร่วมสมัยชาวตรัง

สำหรับศูนย์ศิลปะวิถี พื้นที่จัดเทศกาลครั้งนี้ มาจากความคิดที่เห็นการจัดแสดงงานศิลปะส่วนใหญ่มักถูกจัดในหอศิลป์ หรือตามสถานที่ที่มีความเจริญ ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคม จึงนำศิลปะร่วมสมัยเข้ามาในชุมชน พร้อมฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม  ควบคู่กับการสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน ก่อให้เกิดศูนย์ศิลปะวิถีบนพื้นที่ 16 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะสำคัญของชาวตรัง

อาจารย์สัมฤทธิ์ เพชรคง กล่าวว่า นำพื้นที่ที่เป็นของบรรพบุรุษมาพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต ศิลปะและวัฒนธรรม โดยแบ่งโซนให้เด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Learning by Doing”  เรียนรู้แล้วทำได้ เช่น โซนพืชผักสวนครัว ผลไม้ แปลงนา การทำไร่ การสีข้าวโบราณ โซนขนมพื้นบ้าน การทำขนมจีน โซนการละเล่นพื้นบ้าน ส่งเสริมการเรียนรู้วิถีชีวิตและรู้จักรากฐานความเป็นมาของบรรพบุรุษในอดีต ตลอด7ปี ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วม 5 หมื่นคน

เด็กๆ เล่นหนังตะลุง ซึมซับศิลปะการแสดงพื้นบ้าน

จากการเริ่มต้นดังกล่าวนำไปสู่โครงการส่งเสริมด้านศิลปะวัฒนธรรม โดยนำศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นพื้นฐาน และนำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเข้ามาผสมผสานในรูปแบบเทศกาลที่จัดเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การแสดงมโนราห์ การแสดงดนตรีร่วมสมัย แสดงผลงานภาพวาดของศิลปินชาวใต้ หรือการออกร้านสินค้าของชาวบ้านในพื้นที่ ส่งผลให้เห็นเป็นรูปธรรมทั้งเชิงคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ

“ ตั้งใจจะจัดงานอย่างต่อเนื่องให้เป็นงานประจำปีของตำบล อำเภอ จังหวัด อนาคตหากมีความพร้อมอยากยกระดับเป็นเทศกาลระดับนานาชาติ เชิญศิลปินจากทั่วโลกมาร่วมงานบนพื้นที่ศิลปะท่ามกลางป่าเขา รวมถึงตั้งใจทำพื้นที่ศูนย์ศิลปะวิถีให้กลายเป็นหอศิลป์ แกลเลอรี่รวมผลงานของศิลปิน และสร้างเป็นที่พักให้ศิลปินที่เข้ามาเรียนรู้หรือผู้ที่รักในงานศิลป์ อีกทั้งให้เป็นแหล่งเก็บรวบรวมศิลปวัฒนธรรมสมัยเก่า ควบคู่กับการสร้างสรรค์ศิลปะสมัยใหม่ด้วย” อาจารย์สัมฤทธิ์ กล่าว

ชื่นชมผลงานศิลปะโดยศิลปินชาวใต้

ด้าน นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รอง ผอ.สศร. กล่าวว่า  สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมีหน้าที่ที่จะส่งเสริม ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อเผยแพร่สู่เด็ก เยาวชน และประชาชน ตลอดจนส่งเสริมศิลปินในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศสร้างสรรค์งานต่อยอดศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไปสู่คนรุ่นใหม่ ตลอดจนการนำไปสู่การสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ

“ รู้สึกปลาบปลื้มใจที่ได้เห็นกำลังสำคัญของชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้การสนับสนุน เทศกาลจัดเป็นครั้งที่ 7  เล็งเห็นถึงความสำคัญ พลังความสามารถ ความเสียสละ ของพี่น้องประชาชนใน ต.ปากแจ่ม ที่ได้ต่อยอดศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะงานนี้สามารถมองเห็นมิติด้านวัฒนธรรม 2 มิติ หนึ่ง คือ มิติมรดกวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวใต้พี่น้องชาวตรัง อีกมิติ คือ การต่อยอดนำทุนทางด้านศิลปวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์เป็นศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสาขาต่างๆ ในเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมครั้งนี้นำเสนอครบถ้วน 9 สาขาของศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย อีกทั้งเป็นการผลึกกำลังสำคัญของชาวจังหวัดตรัง และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากเครือข่ายศิลปินแดนใต้ ทั้งจากจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง ที่นำผลงานมาร่วมแสดงในครั้งนี้อย่างหลากหลายด้วย “ รอง ผอ.สศร. กล่าวในท้ายถึงเทศกาลที่เติมเต็มศิลปวัฒนธรรมอย่างครบถ้วน

bty

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปภ.ตรังเตือนฝนกระหน่ำ น้ำท่วมฉับพลัน

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง เตือนประชาชนและชาวเรือประมงให้เฝ้าระวังช่วงนี้มีมรสุมพัดผ่าน  พร้อมประสานหน่วยงานทหารในพื้นที่เข้าช่วยเหลือประชาชน หากได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ

อุทาหรณ์ไฟดูดเด็ก 'สพม.'ตื่นล้อมคอกตู้ใช้ไฟฟ้า ตู้กดดน้ำ

ญาติเด็กโดนไฟดูด ฝากทางโรงเรียนเอาเป็นอุทาหรณ์ ควรดีแลความปลอดภัยให้ดีกว่านี้  ด้าน ผอ.สพม.เผยสาเหตุเด็กถูกไฟดูดรอผลตรวจชัดเจนพรุ่งนี้ งัดมาตรการดูแลตู้ใช้ไฟฟ้า ตู้กดน้ำ

ชาวริมรางรถไฟตรังเฮ ได้รับมอบสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟ 4 โครงการ 166 ครัวเรือน

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ