สหภาพแรงงาน-คนจนเคลื่อนไหวจี้รัฐแก้ด่วนค่าไฟฟ้าแพง ยื่น 5 ข้อเสนอ

สหภาพแรงงาน-คนจนเคลื่อนไหวจี้รัฐแก้ด่วนค่าไฟฟ้าแพง ยื่น 5 ข้อเสนอเลิกสัญญาทาสที่ทำไว้กับเอกชน เผยคนสลัมเดือดร้อนหนัก จวก ครม.ใช้มาตรการผักชีโรยหน้าอนุมัติกว่า 1 หมื่นล้านช่วยเหลือแต่ไม่แก้ต้นเหตุ

25 เม.ย.2566 - ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเครือข่ายภาคประชาชนซึ่งประกอบด้วยสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เครือข่ายไฟฟ้า ประปา และยาเพื่อชาติเพื่อชาติและประชาชน (คฟปย.)ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) เครือข่ายสลัมสี่ภาคและคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง

ทั้งนี้ได้มีการอ่านแถลงการณ์ที่ระบุว่า ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนอันเป็นผลมาจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราเงินเฟ้อสูง ราคาสินค้ามีราคาแพง ในขณะที่ค่าจ้าง รายได้ของประชาชนไม่มีการปรับเพิ่ม เกษตรกรราคาผลผลิตตกต่ำ ซ้ำร้ายต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง การดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก แทนที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการลดรายจ่ายของประชาชนลง แต่กลับซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายมากยิ่งขึ้น ด้วยการประกาศขึ้นราคาค่าไฟฟ้าค่าเอฟที งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ในระดับ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยรวมที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย

แถลงการณ์ระบุว่า ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น (ได้แก่ประเภทธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ) อยู่ที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยที่ 5.33 บาทต่อหน่วย ขณะที่ค่าไฟฟ้าในงวดใหม่ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 จะคิดในอัตราเดียวในอัตรา 4.77 บาทต่อหน่วย ก็จะยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างแสนสาหัส ซึ่งข้อมูลในเชิงประจักษ์ชัดจากนักวิชาการด้านพลังงานยืนยันชัดเจนว่า เหตุที่ไฟฟ้าราคาที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องและต่อไปเหตุเพราะรัฐบาลได้ไปทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนระยะยาว เป็นเวลาถึง 25 ปี และมีการประกันรายได้และกำไรแม้ว่าในช่วงเวลาใดที่บริษัทเหล่านั้นไม่ผลิตไฟฟ้าก็ตาม

“ปัจจุบันการใช้กระแสไฟฟ้าในประเทศทั้งหมด ประมาณ 30,000 เมกกะวัตต์ แต่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าสูงถึงประมาณ 50,000 เมกกะวัตต์ซึ่งเท่ากับว่า ปริมาณไฟฟ้าสำรองมีอย่างเพียงพอ บริษัทผลิตไฟฟ้าก็ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าส่งแก่รัฐ แต่รัฐต้องจ่ายเงินให้แก่กลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าเอกชนทุกเดือนและค่าใช้จ่ายนี้ รัฐบาลสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เรียกเก็บจากประชาชนที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย” นั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าแพงขึ้น แต่รัฐบาลไม่ได้พูดความจริงต่อประชาชน และไม่แก้ไขปัญหาโดยการยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนี้ ซึ่งมองได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเอกชน แต่ความเดือดร้อน ความทุกข์ยากประชาชนต้องแบกรับ”แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ไม่เพียงแค่นั้น กลุ่มทุนพลังงาน กลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าเอกชนก็พยายามรุกต่อ นอกเหนือจากการแทรกแซงการผลิตไฟฟ้าของรัฐ คือ ให้ กฟผ.ลดกำลังการผลิตลง เหลือเพียงร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตทั้งหมดแล้วให้ กฟผ. ไปรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากกลุ่มทุนเอกชนในราคาที่แพง เมื่อเอกชนยึดการผลิตไฟฟ้าได้แล้วก็กำลังรุกต่อด้วยการเข้ายึดครองเพื่อควบคุมระบบสายส่ง และระบบควบคุมไฟฟ้า โดยเสนอต่อหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลเรื่องกิจการพลังงานว่าให้เป็นองค์กรอิสระ เพราะเกิดความคล่องตัว แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ แท้จริงแล้ว คือ ขบวนการยึดครองกิจการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ แปลงสภาพจากกิจการของรัฐให้เป็นของกลุ่มทุนเอกชนเต็มรูปแบบ ซึ่งหากสามารถยึดระบบการผลิต ระบบสายส่ง และระบบควบคุมไฟฟ้าได้แล้ว นั่นหมายความว่าชีวิต ชะตากรรมของประชาชนก็จะตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนเอกชนซึ่งเป้าหมายสูงสุด ก็คือ กำไร ซึ่งการที่ไฟฟ้าราคาแพงมิใช่เพียงแค่ประชาชนแต่หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ สถานประกอบการรายย่อย รายใหญ่ โรงพยาบาล โรงเรียน ศาสนสถาน การเผาศพ และอื่น ๆ ก็จะเดือดร้อนไปด้วย แต่ทั้งหมดราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นคนที่แบกรับภาระทุกภาระ ก็คือประชาชน

“พวกเราไม่อาจทนอยู่กับสภาพการถูกขูดรีดจากกลุ่มทุนพลังงาน กลุ่มทุนไฟฟ้าภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งก่อนหน้านี้และรัฐบาลปัจจุบันได้อีกต่อไป โดยอาจอ้างว่ารัฐบาลชุดก่อนทำไว้ แล้วมาถึงรัฐบาลนี้แล้วปล่อยไป โดยไม่มีการแก้ไข เหตุผลเหล่านั้นไม่อาจรับฟังได้ เพราะหน้าที่รัฐบาล คือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน”แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์การยังได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ดังต่อไปนี้ 1.หามาตรการ วิธีการลดราคาค่าไฟฟ้าอย่างสมเหตุ สมผล เป็นธรรมแก่ประชาชนทันที โดยไม่มีเงื่อนไข

2. เจรจายกเลิกสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าจากกลุ่มทุนพลังงาน ไฟฟ้า เอกชนที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ ประชาชนเสียหายที่เรียกว่า “สัญญาทาส” โดยเร่งด่วนและให้ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจา ให้ข้อมูล และตัดสินใจ

3. สนับสนุน ส่งเสริมทั้งความรู้ ข้อมูล ผลิตภัณฑ์ งบประมาณให้หน่วยงานของรัฐ ประชาชนใช้พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด ลดภาวะโลกร้อน หากประชาชนผลิตได้ใช้ไม่หมด ให้รัฐรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม

4. เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รัฐบาลต้องสนับสนุนส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตทั้งหมด

5. ขอให้ยกเลิกนโยบายการแปรรูประบบสายส่ง และ ระบบควบคุมไฟฟ้าของ กฟผ. และสร้างโครงข่ายเชื่อมร้อยกับการผลิตไฟฟ้าของประชาชน

นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานพีมูฟกล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นความจำเป็นพื้นที่ฐานที่ต้องเข้าถึงเท่าเทียม แต่ประชาชนกลับต้องเจอภาวะค่าไฟฟ้าแพงเพราะรัฐทำสัญญาผูกขาดกับเอกชน โดยพยายามให้เอกชนผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 70 ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าโดยไม่มีเหตุผล ดังนั้นรัฐบาลจะต้องลดค่าไฟฟ้าในทันทีโดยไม่ใช่ทำแบบผักชีโรยหน้า เหมือนที่คณะรัฐมนตรีเสนองบประมาณในการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้ประชาชนกว่า 1 หมื่นล้านบาทในวันนี้ เพราะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุซึ่งควรลดในเรื่องของการให้เอกชนผูกขาด แต่กลับไม่มีการพูดถึง

“หลังจากนี้พวกเราจะประชุมกันทุกเดือนเพื่อติดตามดูว่ารัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมามีการเอื้อประโยชน์ให้กลับกลุ่มทุนด้านต่างๆชัดเจน ทั้งด้านอาหาร ด้านเกษตร แต่ที่หนักและเห็นชัดเจนคือเรื่องไฟฟ้า บริษัทเอกชนเล็กๆรายหนึ่ง สามารถสร้างความร่ำรวยเป็นแสนล้านบาทในระยะเวลาไม่กี่ปีและทำสัญญาผูกพันกันด้วย จะมาอ้างว่ารัฐบาลชุดนั้นชุดนี้เป็นคนทำก็ไม่ได้ เพราะรัฐบาลชุดนี้อยู่มาตั้ง 7-8 ปี ทำไมถึงไม่แก้ไขและปล่อยให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์”นายจำนงค์ กล่าว

นายจำนงค์กล่าวว่า คราวก่อนรัฐบาลบอกว่าลดค่าไฟฟ้าให้ไม่ได้ แต่วันนี้ ครม.กลับอนุมัติเอาเงินไปช่วยเหลือค่าไฟฟ้าได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้คนจนในชุมชนแออัดต่างตกอยู่ในสภาพลำบากมาก เพราะต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นทั้งๆที่แต่เดิมก็จ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าคนทั่วไปอยู่แล้วเพราะใช้ไฟฟ้าพ่วงมาจากเอกชน ดังนั้นเมื่อมาเจอค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นแบบนี้ยิ่งลำบาก อย่างไรก็ตามบล่าสุดทางสหภาพแรงงาน กฟผ.บอกว่าจะนัดคุยกันเพื่อหาทางแก้ไขว่าเกิดจากปัญหาอะไร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บ้านเดียวได้เงินหมื่น 9 คน รวมเกือบแสน เผยซื้อข้าวสารหอมมะลิเป็นสิ่งแรก

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ที่ อ.พล จ.ขอนแก่น หลังพบว่ามีผู้ที่ได้รับเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทผ่านสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ครอบครัวเดียวเกือบ 100,000 บาท ตามสิทธิ์ที่ได้รับ

พีคตอนจบ! ลุงดีใจได้เงินหมื่น แวะก๊งเหล้าขาวเมาแอ๋ ตื่นมาหาเงินไม่เจอ โร่ขอตร.ช่วยเหลือ

ลุงชาว อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ดีใจได้เงินหมื่นแวะก๊งเหล้าขาวเมาแอ๋จำอะไรไม่ได้ ตื่นมาอีกทีหาเงินที่เหลือไม่เจอ โร่แจ้ง ตร.โพสต์ช่วยประชาสัมพันธ์ใครพบเห็นให้นำส่งคืน

‘อดุลย์’ ชี้กลุ่มการเมืองกับทุนพลังงาน ร่วมกันปล้นเงินจากกระเป๋าประชาชน

‘อดุลย์’ชำแหละ ราคาไฟฟ้าแพงเพราะการสมคบคิดของกลุ่มทุนพลังงานกับการเมืองปล้นเงินจากกระเป๋าประชาชน ด้วยการผลิตล้นเกินไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หนุน”พีระพันธุ์”รื้อโครงสร้าง ยกเลิกสัมปทานที่ไม่ชอบธรรม เร่งขุดทรัพยากรทางทะเลที่อ้างพื้นที่ทับซ้อน ซื้อพลังงานจากรัสเซีย เตือนรัฐบาล ระวังประชาชนจะหมดความอดทน

ปชป. แนะทางสว่าง! เตือนรัฐบาลหยุดยุ่มย่ามแบงก์ชาติ

ปชป. เตือนรัฐบาล รักษาระยะห่างหยุดยุ่มย่ามแบงก์ชาติ มัวแต่หมกมุ่นแจกเงินดิจิทัล แนะเร่งช่วยเหลือคนจน-กลุ่มเปราะบางก่อน ทำได้ทันทีใช้งบเพียง 2 แสนล้านบาท

แกะรอย 'คอร์รัปชั่น' โพรงใหม่ แหล่งเสือหิวเสือโหย หากินกับเงินทอนช่วยคนจน

“วิชา”  แกะรอยคอร์รัปชั่นฝึงรากลึกสังคมไทย เผยโครงการช่วยเหลือคนด้อยโอกาสกลับเป็นแหล่งทุจริตเงินทอนแทบไม่เหลือสร้างประโยชน์ให้ประชาชน ชี้นักการเมืองซื้อขายกันด้วยผลประโยชน์ทางการเงิน