FFT เตือน 11 ธ.พาณิชย์ไทย ระวังการปล่อยกู้เอกชนสร้างเขื่อนหลวงพระบาง-หวั่นผลกระทบเมืองมรดกโลก เผย WHC เกิดข้อกังวล-แนะรัฐบาลลาวศึกษาประเมินผลกระทบก่อน แต่ไม่ได้รับความสนใจปล่อยเอกชนลุยลงมือสร้างแล้ว
5 เม.ย.2566 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand-FFT) ได้ส่งรายงาน "การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ" สู่การปฏิบัติ- กรณีโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนหลวงพระบาง” ซึ่งระบุความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ให้แก่ 11 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ร่วมการประเมินกับ FFT เพื่อเสนอให้ธนาคารใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการประเมินความเสี่ยงหากจะให้สินเชื่อแก่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง
ทั้งนี้โครงการเขื่อนหลวงพระบาง อยู่ระหว่างการก่อสร้างบนแม่น้ำโขง ประมาณ 25 กิโลเมตรด้านเหนือน้ำของเมืองหลวงพระบาง แหล่งมรดกโลกที่ประกาศโดยยูเนสโก (UNESCO World Heritage) โดยจะมีกำลังผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดจะขายให้กับประเทศไทย ซึ่งมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 35 ปี นับเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีระยะเวลายาวนานที่สุด
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ระบุว่าโครงการเขื่อนหลวงพระบางได้สร้างความกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาสังคม ตลอดจนชุมชนแม่น้ำโขงในประเทศไทย เนื่องด้วยโครงการดังกล่าวอาจนำมาซึ่งผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง แม้จะมีการดำเนินกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) จนนำไปสู่การแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ "รัฐบาลสปป.ลาวให้ดำเนินการเพื่อแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนด้านลบที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมด" โดยคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนและความกังวลของภาคประชาสังคม ชุมชน และประเทศสมาชิกอื่นๆ
นอกจากนี้ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ได้เรียกร้องให้สถาบันการเงินของไทยซึ่งอาจพิจารณาให้เงินเชื่อกับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ให้ประเมินอย่างรอบคอบต่อความเสี่ยงของโครงการนี้ในแง่ของประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และได้เสนอให้ธนาคารไทยเปลี่ยนพันธกิจ “การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ” ให้เป็นการปฏิบัติ เพราะถึงเวลาที่ธนาคารไทยที่มักเป็นแหล่งสินเชื่อให้กับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง จะต้องทบทวนยุทธศาสตร์ของตนที่มีต่อประเทศลาว โดยอย่างน้อยที่สุด ธนาคารควรปรับปรุงนโยบายการให้สินเชื่อให้เข้มแข็งขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับธนาคารระดับโลกอื่น ๆ ปฏิบัติ
รายงานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ระบุถึงความเสี่ยงต่อเมืองมรดกโลก หลวงพระบาง ว่าในปี 2538 หลวงพระบาง ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ตามความเห็นของ ผู้เชี่ยวชาญแหล่งมรดกระบุว่า UNESCO ได้ลงนามในข้อตกลง พ.ศ. 2538 กับรัฐบาลลาว บนพื้นฐานความเชื่อมโยงที่โดดเด่นระหว่างธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ณ จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน ต่อมาในปี 2555 คณะกรรมการมรดกโลก (WHC) เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบของโครงการเขื่อนหลวงพระบางที่จะมีต่อคุณค่าที่โดดเด่นของแหล่งมรดกโลก จึงได้ร้องขอรัฐบาลลาวให้ดำเนินการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดก (Heritage Impacts Assessment-HIA) และจัดส่งข้อมูลให้ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าจนกระทั่งปี 2564 เมื่อคณะกรรมการมรดกโลกมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลยุติการก่อสร้างใดๆ จนกว่าจะมีการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดก และมีการส่งมอบข้อมูลเพื่อการพิจารณาของคณะที่ปรึกษา
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2564 หลังจากที่คณะกรรมการมรดกโลกได้เริ่มขอให้มีการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดก รัฐบาลลาวได้ส่งมอบร่างฉบับสมบูรณ์ของรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดก แต่ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลของการประเมินผลกระทบและรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะ เป็นที่ชัดเจนจากข้อค้นพบของรายงานร่วมกันของศูนย์มรดกโลก/ICOMOS (Joint Mission Report) ว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการพิจารณาอย่างเพียงพอถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่มีต่อเมืองหลวงพระบาง
ข้อเสนอแนะหลักในรายงานร่วมของศูนย์มรดกโลกเกี่ยวกับเขื่อนหลวงพระบางระบุว่า “การประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดก ยังไม่สามารถให้ผลวิเคราะห์ที่น่าพึงพอใจ และไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง จะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณลักษณะอันเป็นคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน ... จึงควรใช้แนวทางป้องกันไว้ก่อน โดยไม่ควรเดินหน้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง และให้ย้ายโครงการนี้ รวมถึงโครงการอื่นในอนาคตและที่คล้ายคลึงกัน ไปยังพื้นที่ที่จะไม่สร้างความเสียหายให้กับคุณลักษณะของแหล่งมรดก”
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่เมืองมรดกโลกและหัวงานเขื่อนหลวงพระบาง พบว่าขณะนี้ได้มีการดำเนินการก่อสร้างอย่างรวดเร็ว โดยมีการตัดถนนจากปากอูไปยังบ้านคก และสร้างสะพานข้ามไปยังหัวงานเขื่อน โดยฝั่งขวาของแม่น้ำได้มีการใช้เครื่องจักรหนัก ดำเนินการถมแก่งและตลิ่งแม่น้ำออกมาในลำน้ำโขง จนเหลือเป็นช่องน้ำแคบๆ โดยเรือชาวบ้านและเรือนักท่องเที่ยวที่ล่องผ่านไปมาต่างให้ความสนใจต่อการก่อสร้างขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขง เนื่องจากแม่น้ำโขงบริเวณนี้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญของลาวเหนือ เป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างเมืองห้วยทราย-ปากแบง-หลวงพระบาง และพื้นที่ดังกล่าวเป็นแก่งที่สำคัญ ชื่อว่าแก่งออย และแก่งคันธนู เป็นหนึ่งในพื้นที่หาปลาที่สำคัญของชาวบ้านหลวงพระบาง อีทั้งมีความสำคัญและความงดงามทางระบบนิเวศ
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางได้มีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เขื่อนแล้วอย่างน้อย 1หมู่บ้านในเขตเมืองจอมเพ็ด โดยเอกสารระบุว่าจะมีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจำนวน 23 หมู่บ้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'โลกร้อน-โลกเดือด'! กระทบ 'พะยูน' เข้าใกล้จุดสูญพันธุ์
เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า พะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายาก มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งทำให้พะยูน ก้าวข้าม
กลุ่มเยาวชนรักษ์โลก The Youth Fund ผนึก ทช.-เอสซีจี เปิดตัวโครงการใหม่ปกป้องทะเลไทย
กลุ่มเยาวชน The Youth Fund ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการ Marine Saver Mission สานต่อโครงการ Nets up ตอกย้ำความสำคัญของนวัตกรรมและความยั่งยืนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม