เวทีธรรมศาสตร์ 'วันสัญญา ธรรมศักดิ์' ถกนโยบายพรรคการเมือง พบ 'ขายฝัน-ก่อหนี้-กระทบการพัฒนาชาติ'

‘ธรรมศาสตร์’ จัดเสวนา ‘อ่านเกมเลือกตั้ง’ 66 นโยบายใครปัง ใครพัง’ วิทยากรเห็นพ้อง นโยบายพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงสร้างภาระงบประมาณชาติ หนีไม่พ้นต้องกู้เงินเพิ่ม กระทบการพัฒนาประเทศในระยะยาว แม้มีกลไกควบคุมการโฆษณาหาเสียง แต่บทลงโทษเบา- กกต.มีข้อจำกัด ด้าน ‘ดร.สติธร’ มองเกมรอบนี้ คนตัดสินใจเลือกจาก ‘อุดมการณ์’ นำ ส่วน ‘นโยบาย’ เป็นปัจจัยลำดับสุดท้าย

5 เม.ย. 2566 - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย จัดเสวนาวิชาการเนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2566 หัวข้อ “อ่านเกมเลือกตั้ง’ 66 นโยบายใครปัง ใครพัง” เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ณ มธ. ศูนย์รังสิต โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสภาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การเลือกตั้งในช่วงนี้ ถูกวิจารณ์ว่าแข่งขันกันนำเสนอแต่ ‘นโยบายประชานิยม’ ถึงแม้ว่าการแข่งขันทางนโยบายจะเป็นเรื่องปกติและดีต่อประชาชน หากอยู่ภายใต้กฎหมายและหลักการที่ถูกต้อง คำนึงถึงเสถียรภาพของประเทศ แต่นโยบายที่มุ่งหวังผลการหาเสียงที่มากเกินไป จะสร้างปัญหาใหญ่หลวงตามมา โดยมีการประเมินว่าหากนำนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงไว้ขณะนี้มาปฏิบัติจริง จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเท่าตัวจากงบประมาณประเทศที่ใช้อยู่

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่แต่ละพรรคการเมืองต้องชี้แจงว่าจะนำเงินจากไหนมาดำเนินนโยบาย ซึ่งแน่นอนว่าในทางหนึ่งคือการจัดเก็บภาษีเพิ่ม แต่หากไม่เก็บเพิ่ม รัฐบาลจะต้องทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่า 10% ของจีดีพีขึ้นไป ซึ่งตัวเลขนี้เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นที่ประเทศจะต้องกู้เงินเพิ่ม และอาจจะส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงเกินเพดานปัจจุบันที่ 70% โดยตัวเลขนี้ก็ถูกขยายเพิ่มมาแล้วจาก 60% ในช่วงโควิด ซึ่งหากหนี้สาธารณะของประเทศไทยสูงเกินกว่านี้ ย่อมสูญเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและกระทบกับเศรษฐกิจอย่างน่าเป็นห่วง

“จากฐานะทางการเงินการคลังของไทยในปัจจุบัน ขอฟันธงว่าเราไม่สามารถแบกรับนโยบายประชานิยมแบบแจกเงิน และการก่อหนี้ที่ไม่คุ้มค่าอีกต่อไป ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่ได้ส่งผลภายใน 1-2 ปี แต่จะเป็นปัญหาในอนาคตที่รัฐบาลและคนรุ่นหลังต้องแบกรับภาระหนัก” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

ขณะเดียวกัน ยังพบว่านโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ กลับไม่ได้เข้าไปแก้ที่ต้นตอของปัญหา นั่นคือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ซึ่งไทยมีปัญหารุนแรงติดอันดับโลก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยนโยบายที่แตะปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมีความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งอันที่จริงแล้วศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังมีช่องว่างที่เติบโตได้เพิ่มขึ้นอีก 5-6% ต่อปี ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการลงทุนมากขึ้น โดยไม่มีปัญหาด้านเสถียรภาพ ซึ่งหากทำให้เติบโตเช่นนี้ได้อย่างน้อย 10-15 ปี ประเทศไทยจะมีโอกาสก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปได้ แต่ก็กลับมีเพียงไม่กี่พรรคที่จะตั้งเป้าหมายเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน

รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุด้วยว่า ในส่วนนโยบายด้านอุตสาหกรรมใหม่ที่พูดถึงอย่าง New S-Curve สิ่งเหล่านี้อาจเป็นภาพฝันที่ทำได้แค่ในระดับความคิด เพราะความเป็นจริงแล้วเราไม่เคยลงทุนอย่างจริงจังกับทักษะแรงงาน งานวิจัย หรือนวัตกรรม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของประเทศหลังจากนี้จึงอาจไม่ใช่อุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจ แต่คือ ‘การกระจายอำนาจ’ อย่างแท้จริงเท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงถึงในระดับฐานรากได้

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าทีมการปฏิรูปกฎหมาย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า TDRI ได้ทำการศึกษานโยบายของ 9 พรรค รวม 87 นโยบาย ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.พ. 2566 โดยพบว่าภาพรวมนโยบายครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ ธุรกิจ SME ตลอดจนการปฏิรูปกฎหมายและระเบียบต่างๆ

อย่างไรก็ตาม พบว่าหลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็น ‘นโยบายระยะยาว’ กลับไม่ค่อยเห็นภาพความชัดเจนของงบประมาณเท่าใด โดยพบอีกว่าหากพรรคการเมืองมีการทำตามนโยบายที่หาเสียงจริงจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ที่สุดแล้วรัฐบาลเลี่ยงไม่ได้ที่จะก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม

ดร.กิรติพงศ์ กล่าวว่า ผลกระทบที่ตามมาจากการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มคือ ประเทศไทยจะมีงบลงทุนน้อยลง เพราะต้องเอาเงินไปใช้หนี้ สุดท้ายก็จะกระทบต่อการพัฒนาขีดความสามารถในระยะยาว และอาจทำให้รัฐต้องหันไปใช้เงินนอกงบประมาณผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (มาตรการกึ่งการคลัง) ซึ่งเงินเหล่านี้จะไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา และอาจเกิดเป็นคำถามถึงความโปร่งใส

ดร.กิรติพงศ์ กล่าวว่าอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการเลือกตั้งรอบนี้มีนโยบายหาเสียงที่ใช้เงินมาก และมีนโยบายที่ตามหลักการแล้วจะไม่ก่อให้เกิดสิ่งที่ควรจะเป็นแก่เศรษฐกิจและสังคม ฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนควรคำนึงถึง ได้แก่ 1. ต้องเป็นนโยบายที่ไม่สร้างภาระทางการคลังเกินตัว 2. ไม่มุ่งเน้นการใช้เงินนอกงบประมาณผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (มาตรการกึ่งการคลัง) 3. ไม่ควรสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องต่อการสร้างวินัยการเงินในการชำระเงินกู้ เช่น การพักหนี้ หยุดหนี้ ยกเลิกเครดิตบูโร 4. ไม่มุ่งเน้นแต่การสนองความต้องการเฉพาะหน้าของประชาชน โดยไม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันหรือประสิทธิภาพ 5. สามารถระบุแนวทางที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง ทั้งแหล่งรายได้และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับกลไกกลั่นกรองนโยบายพรรคการเมือง ดร.กิรติพงศ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมี พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 57 กำหนดเอาไว้ว่า พรรคการเมืองที่ประกาศโฆษณานโยบายที่ต้องใช้เงิน จะต้องนำเสนอข้อมูล 3 รายการต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แก่ วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของวงเงิน 2. ความคุ้มค่าและประโยชน์ในกาคดำเนินนโยบาย 3. ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย

ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการ กกต. มีเพียงอำนาจสั่งให้ทำให้ถูกต้อง แต่หากพรรคการเมืองฝ่าฝืนจะเสียค่าปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และอีก 1 หมื่นบาท ต่อวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง คำถามคือบทลงโทษเบาหรือไม่ และในความเป็นจริงแล้ว กกต. ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อประเมินความคุ้มค่าของทุน เพราะต้องใช้เทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ระดับสูง ตรงนี้สะท้อนว่า กกต.มีข้อจำกัด

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เรามีหน่วยงานที่ชื่อว่าสำนักงบประมาณของรัฐสภา หรือ PBO ซึ่งมีภารกิจคือเป็นคู่คิดกับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ทว่ากลับไม่ได้กำหนดภารกิจในการวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองไว้ ซึ่งแตกต่างกับในต่างประเทศ ที่ให้บทบาทและอำนาจแก่ PBO ในการดำเนินงานในลักษณะนี้

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในทางทฤษฎีของรัฐศาสตร์มี 4 ปัจจัยใหญ่ ที่ประชาชนจะใช้ในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง คือ 1. นโยบาย ซึ่งตัวเลขจากการสำรวจแหล่งยืนยันตรงกันว่า ประชาชนจะให้คำตอบว่าเลือกจากนโยบายเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจ

2. อุดมการณ์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงในแง่ของอุดมคติ หรือฝ่ายขวา-ซ้ายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในระยะหลังยังอาจเป็นการพูดถึงในแง่ของจุดยืนทางการเมือง แนวความคิด การมองทิศทางของประเทศ

3. ยุทธศาสตร์ แม้ประชาชนจะมีพรรคหรือนโยบายที่ชื่นชอบ แต่หากคำนวณปลายทางแล้วพรรคนั้นอาจไม่สามารถเป็นรัฐบาล ก็อาจต้องเลือกเชิงยุทธศาสตร์ โดยเลือกพรรคที่ชอบรองลงมาแต่มีโอกาสเป็นรัฐบาลมากกว่า หรือเพื่อปิดประตูไม่ให้ใครบางคนเข้าสู่อำนาจ เป็นต้น

4. ระบบอุปถัมภ์ พิจารณาจากผลประโยชน์ในการพึ่งพิงอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ โดยอาจเป็นความใกล้ชิดสนิทสนม หรืออาจเป็นการอุปถัมภ์เฉพาะหน้า เสนอผลประโยชน์ในระยะสั้นที่ยอมรับได้ เช่น การรับเงินซื้อเสียง การสัญญาว่าจะเอางบประมาณหรือโครงการมาลงในพื้นที่ เป็นต้น

ดร.สติธร กล่าวว่า ปัจจัยทั้ง 4 นี้ ไม่ได้มีผลกับเฉพาะผู้เลือกตั้งเท่านั้น แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ทางพรรคการเมืองอ่านโจทย์และคิดเป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียง ทำให้ในหลายครั้งเราจึงเห็นนโยบายที่ไม่ได้เน้นตัวสาระ แต่ใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูด หรือการที่พรรคฝั่งเดียวกันเสนอนโยบายออกมาแล้ว ก็เสนอออกมาเกทับกัน เป็นต้น ดังนั้นสุดท้ายจึงทำให้นโยบายของหลายพรรคการเมือง อาจไม่ได้ถูกคิดบนฐานของนโยบายแท้จริง แต่คิดแบบกลยุทธ์ในการนำเสนอแทน

“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าในสถานการณ์ขณะนี้ คนกรุงเทพฯ และในเขตเมืองจะตัดสินใจบนฐานของอุดมการณ์นำ ตามมาด้วยการคิดในเชิงยุทธศาสตร์ แล้วจึงมองระบบอุปถัมภ์ ส่วนนโยบายจะเป็นสิ่งสุดท้าย เช่นเดียวกับเขตนอกเมืองหรือชนบท ที่เชื่อว่าก็จะเลือกบนอุดมการณ์นำ ตามด้วยการมองอุปถัมภ์ และยุทธศาสตร์ ส่วนนโยบายเป็นสิ่งสุดท้าย ดังนั้นแม้คนจะตอบว่าเลือกจากนโยบาย แต่ในความเป็นจริงถ้าถอดรหัสออกมาแล้ว จะพบว่าอาจเป็นปัจจัยลำดับท้ายของการเลือกตั้งครั้งนี้” ดร.สติธร ระบุ

ด้าน นายบากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหารเนชั่น กรุ๊ป และประธานกรรมการฐานเศรษฐกิจ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาภาพรวมจาก Policy พบว่า 80% ของนโยบายที่พรรคการเมืองกำลังหาเสียงอยู่ขณะนี้ ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็น ‘นโยบายซึ่งหน้า’ ในลักษณะสวัสดิการ ซึ่งออกมาอย่างเฉพาะหน้าแต่ยังไม่มีความชัดเจนในอนาคต กล่าวคือยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อ ไม่ทราบว่าจะนำเงินมาจากไหน แต่ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่โดน new voter

นอกจากนี้ ในส่วนของ Maker หรือผู้ที่ขับเคลื่อนนโยบาย หรือตัวบุคคลจากแต่ละพรรคการเมือง พบว่าอาจไม่สอดคล้องหรือตอบโจทย์การจัดทำนโยบาย พบว่ามี ‘นักเลือกตั้ง’ จำนวนมาก ฉะนั้นในขณะนี้การยึดแต่เพียงว่าการกาพรรคที่ใช่คนที่ชอบ อาจไม่ตอบโจทย์การพัฒนาอีกแล้ว เพราะสุดท้ายเราจะได้ ‘นักเลือกตั้ง’ ที่มาพร้อมกับ ‘นโยบายบริโภคด่วน’ เท่านั้น

นายบากบั่น กล่าวอีกว่า คำถามคือวินัยการเงินการคลังตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดว่า ถ้านักการเมืองจะใช้เงินต้องแจงที่มาของเงินด้วย และจะดำเนินนโยบายอะไรต้องมีความรับผิดชอบ ต้องคำนึงว่าจะต้องไม่ทำให้กรอบวินัยทางการเงินพังทลาย แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้พบว่าอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น สภาพบังคับใช้มีปัญหา ฉะนั้นประชาชนจะต้องมีสติ และคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ในการเลือกตั้งด้วย

“การออกนโยบายขายฝันเพื่อที่บอกว่าอนาคตที่ดีอยู่ในมือของท่าน เรามีทีมที่ดี เรามีประสบการณ์ยาวนาน ตรงนี้อาจไม่พอ เพราะสิ่งที่ประชาชนอยากรู้คือจะทำอย่างไร เอาเงินมาจากไหน แต่ทุกวันนี้พบว่ามีแต่การขายฝันเพื่อใช้นโยบายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารประชาชน” นายบากบั่น กล่าว

ภายในงานเดียวกัน มีการมอบรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่นประจำปี 2566 ให้แก่ น.ส.จัตุพร นันตยุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลเรียนดีธรรมศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้แก่ นายปรัชญา ทองประดับ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 'ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์' ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘เจิมศักดิ์’ ซัดกาสิโนไม่มีผลดี ถามตระกูลชินวัตร ถ้ามีคนในครอบครัวติดการพนันจะดีใจหรือไม่

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อาจารย์พิเศษประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า  การพนัน คือการชิงทรัพย์ด้วยเกมที่กำหนดขึ้น เจ้ามือสามารถแบ่งทรัพย์ เป็นของตนในรูปของต๋ง ส่วนรัฐบาลก็ได้แบ่งทรัพย์ในรูปภาษี

'ธรรมศาสตร์' เตือน! อย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แจ้งเตือนบุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า ประชาคมธรรมศาสตร์ และประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ขณะนี้พบพฤติกรรมของมิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็น “เจ้าหน้าที่กอง

เสวนา ‘วันปรีดีฯ 2567’ ตัดเกรด สว. รักษาอำนาจเก่า ‘เต็มสิบ’ ส่งเสริมประชาธิปไตย ‘ให้ศูนย์’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “วันปรีดี พนมยงค์” ประจำปี 2567 พร้อมวงเสวนาว่าด้วยอำนาจหน้าที่ “วุฒิสภา” วงถกตอกย้ำคำถาม สว. มีไว้ทำไม เผยให้คะแนน “เต็มสิบ” ในแง่ของการพิทักษ์รักษาอำนาจเก่า แต่ให้ “ศูนย์” ในแง่ส่งเสริมประชาธิปไตย-ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล ระบุใช้อำนาจแทรกแซงเลือกนายกฯ-ตั้งองค์กรอิสระ-ยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ชี้เป็นเครื่องเตือนใจให้สังคมตั้งคำถามสู่การเดินหน้าเป็นสภาเดี่ยว

สำรวจบาดแผล 'เด็ก' ในยุคที่กลายมาเป็น 'คอนเทนต์' ของผู้ใหญ่

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชวนสำรวจบาดแผล ‘เด็ก’ ในยุคที่ต้องกลายมาเป็น ‘คอนเทนต์’ เพราะความเปราะบางของเนื้อหาจะทิ้งร่องรอยความบอบช้ำไว้เสมอ