9 พ.ค. 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ เพื่อหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ฤดูกาลผลิต 2564/65 ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมา จำนวน 89,306 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณก้อนแรก จำนวน 13,000 ล้านบาท โดยยังเหลือภาระที่ต้องเร่งหางบประมาณมาใช้ในโครงการอีก จำนวน 76,000 ล้านบาท
ส่วนข้อเสนอให้มีการขยับเพดานการใช้เงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและหน่วยงานอื่น ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ 930,000 ล้านบาทนั้น รมว.การคลัง ระบุว่า เรื่องนี้คงต้องไปหารือกับสำนักงบประมาณ รวมถึงดูในรายละเอียดก่อน
“ต้องไปคุยกับสำนักงบประมาณก่อน ดูรายละเอียดร่วมกันเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการว่ามีแหล่งเงินจากตรงไหนบ้าง งบกลางก็ต้องดูด้วย ตอนนี้คงยังบอกอะไรไม่ได้ ต้องคุยกันก่อนถึงจะสรุปได้ โดยขณะนี้ยังต้องใช้เงินอีกราว 76,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้เกษตรกร โดยการจ่ายเงินก็จะทยอยจ่ายเป็นงวด ๆ ตามผลผลิตที่จะออกมา ประมาณ 2-3 เดือนนี้ หรือในช่วง พ.ย. 2564 – ม.ค. 2565” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวอีกว่า การกำหนดราคาประกันราคาข้าวนั้น กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแล และเห็นว่าอัตราที่กำหนดปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้ว
สำหรับกรณีข้อเรียกร้องให้มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อพยุงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลนั้น รมว.การคลัง ระบุว่า ขณะนี้ทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลเรื่องนี้อยู่ ยืนยันว่ากองทุนยังสามารถดูแลได้
อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 28 กำหนดไว้ว่า การใช้เงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่เพื่อการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไปก่อน จะต้องมีภาระรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งปัจจุบันใกล้ชนเพดานดังกล่าว หรือ ประมาณ 930,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้การใช้เงินสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินชดเชยประกันรายได้เกษตรกรต่อไม่สามารถทำได้ โดยรัฐบาลต้องแก้ปัญหา โดยการหาเงินงบประมาณส่วนอื่นเพื่อไปใช้หนี้กับ ธ.ก.ส. หรือ เป็นเงินให้ ธ.ก.ส.ใช้สำหรับการจ่ายชดเชยการประกันราคาพืชผลเกษตรกรที่จะมีต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการจ่ายชดเชยเกษตรการชาวนาที่ได้ราคาข้าวตกต่ำ ทำให้ราคาขายได้ต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกันไว้มาก
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถแก้ปัญหาได้ โดยการแก้ไขกฎหมายขยายเพดานการใช้เงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อดำเนินนโยบายของรัฐให้มีสัดส่วนมากขึ้นกว่า 30% ของงบประมาณที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน เหมือนกับที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะจาก 60% ของจีดีพี เป็น 70% ของจีดีพี