'หมอยง'เปิด 20 ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด

แฟ้มภาพ

7 พ.ย.64 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า โควิด-19 วัคซีน ข้อควรรู้ทั่วไป 20 ข้อ เป็นตอนที่ 3

1 วัคซีนทุกชนิดที่องค์การอนามัยโลกรับรอง กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี

2 ไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ป้องกันการติดเชื้อได้แน่นอน ถ้าติดเชื้อ จำนวนเชื้อจะน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดและสามารถลดความรุนแรงของโรค อาการลดลง ลดการป่วยตายได้

3 ภูมิต้านทาน และประสิทธิภาพ จะลดลงตามระยะเวลา โดยทั่วไป ภูมิต้านทานที่สูงจะอยู่นานกว่าภูมิต้านทานที่ต่ำ ถึงแม้วัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง เช่น mRNA ก็มีการแนะนำให้กระตุ้นหลังฉีดครบ 6 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

4 ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ การศึกษาในอังกฤษ ภูมิต้านทานที่สูงสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการป้องกันโรค

5 การให้วัคซีนเบื้องต้น (primary immunization) จะใช้ 2 เข็ม ห่างกันตามกำหนดของแต่ละวัคซีน ส่วนมาก 3-4 สัปดาห์ Astra Zeneca ห่าง 4-12 สัปดาห์ ยกเว้นของ Johnson & Johnson ให้เข็มเดียว

6 ตามหลักการของวัคซีน การเว้นระยะห่าง ระหว่างเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 จะกระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงกว่า (แต่ถ้าห่างกันเกินกลัวว่าจะเกิดการติดเชื้อเสียก่อน) ดังนั้นเข็ม 2 ถ้าไม่สามารถฉีดตามนัดให้เลื่อนเข็ม 2 ออก ไม่เลื่อนเข้า และช้าไป ถึงแม้จะนานเป็นเดือน ก็ไม่มีการเริ่มต้นให้วัคซีนใหม่

7 การให้ 2 เข็ม ที่อยู่ระยะใกล้กันอย่างที่ในปัจจุบัน ถือว่าเป็น primary จำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้น (booster) เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี ฉีด 0 1 และ 6 เดือน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ถ้าต้องการให้ภูมิคงอยู่สูง และนาน ต้องมีการกระตุ้นเข็ม 3

8 ภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อ จะต่ำกว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน 2 เข็ม

9 ผู้ที่ติดเชื้อแล้ว การให้เพิ่มอีก 1 เข็มของวัคซีน จะเป็นการกระตุ้นให้ภูมิต้านทานสูงขึ้นมาก เหมือนการติดเชื้อเป็นวัคซีนเข็มที่ 1 และ การฉีดวัคซีนเป็นการให้เข็มที่ 2

10 ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้วติดเชื้อ การติดเชื้อจะเหมือนเป็นการให้วัคซีนเข็ม 3 หรือกระตุ้น ภูมิจะสุงขึ้นมาก เพียงพอให้อยู่นาน

11 ให้วัคซีนเชื้อตาย เป็นทั้งตัวไวรัส เป็นการเริ่มต้น (prime dose) ที่ดี จำลองร่างกายให้เหมือนการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ และการให้วัคซีนครั้งที่ 2 ต่างชนิดกันจะมีการกระตุ้นให้ภูมิได้สูง

12 การสลับใช้เชื้อตาย และตามด้วยไวรัสเวกเตอร์ เช่น Sinovac เข็มแรก AstraZeneca เข็มที่ 2 ที่ประเทศไทยให้ในภาวะวัคซีนมีจำกัด กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี เท่าเทียมกับการให้ AstraZeneca 2 เข็ม เช่นเดียวกัน การให้วัคซีนเชื่อตาย แล้วตามด้วย เข็ม 2 mRNA ก็กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีใกล้เคียงกับ mRNA 2 เข็ม วัคซีนไวรัสเวกเตอร์หรือ mRNA จึงเป็นตัวกระตุ้น (Boost) ที่ดี เหมาะที่ใช้เป็น ตัวกระตุ้นไม่ว่าจะหลังการติดเชื้อ หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย

13 ได้รับวัคซีนเชื้อตาย ครบ 2 เข็มแล้ว กระตุ้นด้วยเข็ม 3 ด้วยเชื้อตายอีกหลัง 3 เดือนขึ้นไป ภูมิจะสูงขึ้นประมาณ 10 เท่า ถ้ากระตุ้นด้วยไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA จะกระตุ้นได้สูงมากหรือขึ้นสูง 100 เท่า

14 ในทางปฏิบัติหรือทั่วไป ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจภูมิต้านหลังฉีด จะใช้ข้อมูลการศึกษาวิจัย และออกเป็นแนวทางปฏิบัติ เช่นระยะเวลาการกระตุ้นเข็ม 3 ชนิดของวัคซีนที่ใช้กระตุ้นเข็ม 3

15 ผู้ที่ได้รับการกระตุ้นเข็ม 3 แล้ว การให้เข็ม 4 ไม่ได้เกิดการกระตุ้นให้ภูมิสูงขึ้นมากอีก การให้เข็ม 4 จึงไม่จำเป็น ยกเว้นผู้ที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ จำต้องให้วัคซีนตามเงื่อนไข ของประเทศนั้น ๆ

16 วัคซีนที่มีใช้อยู่ขณะนี้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ จึงไม่สามารถใช้ภูมิคุ้มกันหมู่ในการป้องกันการระบาดของโรค ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และประชากรควรได้รับวัคซินให้มากที่สุด

17 วัคซีนที่มีอยู่ควรใช้ฉีดให้เร็วที่สุด ไม่ควรเก็บอยู่ในตู้เย็น เพื่อเก็บไว้เข็มที่ 2 เข็มที่ 2 สามารถเลื่อนออกได้ ในกรณีที่ขาดแคลน ไม่เช่นนั้นวัคซีนบางชนิดมีอายุสั้น เช่น mRNA วัคซีนอยู่ได้อย่างมาก 1 เดือนหลังละลายแล้ว กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ ควรได้รับวัคซีนก่อน แล้วจึงลงมาที่ผู้มีความเสี่ยง อันตรายจากโรคน้อยกว่า เพื่อลดอัตราป่วยตาย

18 ถ้ามีผู้ป่วยวันละพัน แต่มีการเสียชีวิตน้อยมาก เช่นวันละหลักหน่วย 2-3 คน ก็คงต้องยอมและต่อไปทุกคนมีภูมิในตัวระดับหนึ่ง โรคก็จะรุนแรงน้อยลง เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป

19 ไวรัสนี้มีการกลายพันธุ์ได้ตามกาลเวลา แต่การกลายพันธุ์ต่อวัคซีนโควิดจะไม่เหมือนแบบไข้หวัดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงชนิดของวัคซีนจะเกิดขึ้นช้ากว่าไข้หวัดใหญ่มาก ปัจจุบัน วัคซีนสายพันธุ์อู่ฮั่น ถ้ากระตุ้นภูมิที่สูงมาก ก็จะลดความรุนแรงสายพันธุ์เดลตาได้

20 ความสมดุลย์ที่ทุกชีวิตต้องอยู่ได้ ในภาวการณ์ระบาดของโรคทั้งทางสุขภาพรางกาย และจิตใจ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจ ทุกคนต้องร่วมมือและรู้จักแบ่งปัน วันพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้แน่นอน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

ย้อนดู 5 ปี 'โควิด 19' ความสับสนของข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬา โพสต์เฟซบุ๊กว่า

‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform

'หมอยง' ชวนฉีดวัคซีน ปีนี้ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไข้หวัดใหญ่ปีนี้ระบาดมาก

'หมอยง' เปิดผลวิจัยการให้วัคซีน หลังสัมผัสเชื้อ 'ฝีดาษลิง'

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษ