“สุพัฒนพงษ์” ลั่นยังมีหวังเศรษฐกิจไทยปีหน้า โต 5-6% ชู 4 โอกาสกระตุ้น ทั้งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ดึงเอกชนย้านฐานการผลิต และปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง ด้าน ททท.ฟันธงหน้าท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
4 พ.ย. 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยในโอกาสปาฐกถาพิเศษ Boost Up Thailand 2022 ทุบโจทย์ใหม่เศรษฐกิจไทย ซึ่งจัดโดยบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ว่า ขณะนี้ประเทศไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วด้วยการทำงานของทุกภาคส่วนที่ต้องแข่งกับเวลาในช่วงที่ยากลำบาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยปี 2565 ประเมินเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ 5-6% แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะกลับมาระบาดอีกหรือไม่เป็นปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญคือทุกคนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนต้องร่วมมือกันรักษาวินัยการควบคุมการแพร่ระบาด การเว้นระยะห่างทางสังคมตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุข เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
“แม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้อาจไม่ได้โตถึง 4% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีเชื้อโควิด-19 ระบาดเกิดขึ้นอย่างรุนแรง วันนี้เราจะต้องเริ่มกันใหม่ โดยใช้บทเรียนที่ผ่านมาปรับการทำงานเชิงรุกต่อเนื่อง ทำให้มีการเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อก และนำมาสู่การเปิดประเทศในที่สุดเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นจุดเริ่มต้นกันอีกครั้งบนความมั่นใจ แต่ทุกคนต้องเริ่มด้วยความเข้าใจว่าต้องรักษาวินัยการควบคุมการแพร่ระบาด เพราะการได้รับวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังสามารถติดเชื้อได้ เพียงแต่อาการจะทุเลาหรือเบาบางลง”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
โดยขณะนี้ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่โมเดลเศรษฐกิจแบบ 4D เป็น 4 โอกาสที่จะนำพาเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ประกอบด้วย 1.Digitalization การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล การลดกฎระเบียบ การพัฒนาศูนย์กลางข้อมูล (Data center) ให้มีความพร้อมรองรับเศรษฐกิจดิจิตอลที่จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น 2.Decarbonization เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศวันนี้ เป็นกติกาของสังคมโลก และประเทศตะวันตกที่กุมเศรษฐกิจใหญ่ของโลก ในการมุ่งสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งล่าสุดไทยได้ประกาศแผนการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 100 % ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศในปี 2578
3.Decentralization เป็นโอกาสของประเทศไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากการกระจายฐานการผลิตของบริษัท และอุตสาหกรรมชั้นนำที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นของการย้ายฐานการผลิต หรือกระจายฐานการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ดังนั้นการกระจายฐานการผลิตเป็นสิ่งจำเป็น และ 4.D-risk ไทยต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิตอลมากขึ้น รองรับคนที่แสวงหาที่พำนักและอยู่อาศัย หรือ ประกอบกิจการเป็นแห่งที่ 2 ของกิจการหลัก ในประเทศที่มีความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข และประเทศที่มีศักยภาพ สร้างความมั่นใจด้านความมั่นคงทางอาหารสูง
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “พลิกธุรกิจ สู้เศรษฐกิจหลังโควิด” ว่าหลายสำนักคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้จะกลับมาเติบโตที่ 5.9% ปี 2565 คาดเติบโตที่ 5% ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดโต 0.7-1% จากปี 2563 ติดลบ 6% ซึ่งหวังว่าปีหน้า เศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่าปีนี้ เห็นได้จากทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ยอมรับว่ายังคงผันผวนอยู่ในระดับสูงตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวในโอกาสร่วมสัมมนา “Boost Up Thailand 2022 เดินหน้าทะลุโจทย์ประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยบริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ว่าการที่รัฐบาลเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ในแง่ของ ททท. เรียกว่าเป็นการออกอาวุธมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมมาก เป็นการเลือกทางที่จะใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ เพราะการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการรายได้ให้กับประเทศถึง 15-20% ของจีดีพี
“หลังจากนี้ไปจะเริ่มเห็นการรีซูมกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาจจะไม่เห็นในไตรมาส 1-2 ของปี 2565 ในทันที แต่จะค่อยๆ ขยับขึ้นไป เนื่องจากยังมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้กันต่อไป ซึ่งการเปิดประเทศในลักษณะนี้ เป็นสเต็ปของเข้าสู่โหมดให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมา ซึ่งมั่นใจว่าปี 2565 การท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาแน่นอน แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการถอดบทเรียนว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาอย่างยั่งยืน ต้องเน้นคนที่มีคุณภาพ ให้ท้องถิ่นได้เรียนรู้ถึงการทำงานอย่างบูรณาการมากขึ้น เป็นเครื่องมือที่แท้จริงในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย”นายธเนศวร์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อนุสรณ์’ วิเคราะห์ ‘ทรัมป์2.0’ ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ ศก. พึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ทรัมป์ 2.0 ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สินค้านอกข้อตกลงเอฟทีเอกระทบรุนแรง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรอบใหม่อาจนำไปสู่สงครามเย็นรอบใหม่ในไม่ช้า
เศรษฐกิจไทย ทำไมยังไม่ไปไหนเสียที
ก่อนหน้าที่ดิฉันจะเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ชื่นชมประเทศไทยมากนัก เพราะรถติดมากแทบทุกวัน
ไทยพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% เริ่ม 1 พ.ย.
ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีไทยปี 67 โต 2.4%
ธนาคารโลก (World Bank) คงคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.4% เร่งตัวขึ้นจาก 1.9% ในปี 66
'ต่อตระกูล' วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย เทียบประเทศอื่นในเอเชีย ในอีก 10 ปีข้างหน้า
นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่บทความเรื่อง "เศรษฐกิจไทย วันนี้ตกต่ำจริง แล้วยังมีอนาคตอยู่ไหม?