4 พ.ย. 2564 “Cider vinegar” หรือ “น้ำส้มสายชูหมัก” เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน เพราะกรดแอซีติก (Acetic acid) ซึ่งเป็นสารสำคัญในเครื่องดื่มประเภทนี้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหารและควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ดี ส่งผลให้ตลาดของผลิตภัณฑ์ Cider vinegar มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ว่าในปี 2570 ผลิตภัณฑ์ Cider vinegar ในตลาดโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในประเทศไทยยังมีส่วนแบ่งในตลาดนี้น้อย เพราะแม้จะมีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบได้ แต่ผู้ประกอบการไทยยังขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม จึงยากแก่การผลิตสินค้าในระดับอุตสาหกรรม
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต Cider vinegar แบบขั้นตอนเดียว สำหรับวัตถุดิบการเกษตรของไทย โดยเป็นกระบวนการผลิตแบบง่ายและต้นทุนต่ำ ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) สามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีแปรรูปสินค้าการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้
นายยุทธนา กิ่งชา นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร กลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชันและนวัตกรรมอาหาร ไบโอเทค สวทช. อธิบายว่า จุดเริ่มต้นการทำวิจัยนี้มาจากความต้องการของบริษัทเอแอนด์พี ออร์ชาร์ด 1959 จำกัด ผู้ผลิตมังคุดที่ต้องการแก้ปัญหามังคุดล้นตลาดด้วยการนำมาแปรรูปเป็น Cider vinegar เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยบริษัทฯ พยายามพัฒนากระบวนการหมักกว่า 7 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดองค์ความรู้ในกระบวนการหมักที่เหมาะสม ขณะเดียวกันเทคโนโลยีการผลิต Cider vinegar จากต่างประเทศก็มีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท จึงเป็นเรื่องยากต่อการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งนี้ไบโอเทค สวทช. มีองค์ความรู้เรื่องจุลินทรีย์และมีคลังจุลินทรีย์ที่พบในประเทศไทยจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสสำคัญที่นำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต Cider vinegar จากมังคุดในระดับอุตสาหกรรมร่วมกัน
“โจทย์ใหญ่ในการพัฒนาคือต้องเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายและต้นทุนไม่สูง ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต Cider vinegar แบบขั้นตอนเดียว ซึ่งเป็นกระบวนการหมักแบบช้า (Slow process) ที่ทำให้ได้ Cider vinegar ที่มีกลิ่นรสเฉพาะของวัตถุดิบโดยไม่ต้องปรุงแต่งด้วยสารเติมแต่งภายหลังการหมัก โดยพัฒนาเทคโนโลยีใน 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือการพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์สูตรผสมที่สามารถผลิตเอทานอลและกรดแอซีติกจากการหมักได้พร้อมๆ กัน ซึ่งกระบวนการเดิมต้องหมักถึง 2 ขั้นตอน คือหมักให้เกิดเอทานอลก่อนแล้วนำมาหมักต่อให้ได้กรดแอซีติกภายหลัง ส่วนที่สองคือการพัฒนาสภาวะที่เหมาะสมและง่ายสำหรับการหมัก เพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำส้มสายชูหมักที่มีคุณภาพและปลอดภัย ทั้งยังสามารถลดระยะเวลาการหมักจาก 6 เดือน เหลือเพียง 3 เดือน
ปัจจุบันบริษัทเอแอนด์พี ออร์ชาร์ด 1959 จำกัด ได้ร่วมทุนกับบริษัทเอสคิวไอ กรุ๊ป จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์ “Cider Vinegar จากมังคุดออร์แกนิกแบบพร้อมดื่ม ภายใต้แบรนด์ Sukina Drink” วางจำหน่ายในตลาดแล้ว ความพิเศษของผลิตภัณฑ์นอกจากสรรพคุณหลักของกรดแอซีติกที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว มังคุดยังมีสารสำคัญ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านการอักเสบ และสารอื่นๆ ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพ อีกด้วย
นายยุทธนา เล่าว่า เทคโนโลยีการผลิตน้ำส้มสายชูหมักแบบขั้นตอนเดียวสามารถประยุกต์ใช้ในการผลิต Cider vinegar ครอบคลุมวัตถุดิบการเกษตรของไทยได้หลากหลาย เพียงเกษตรกรหรือผู้ประกอบการมีวัตถุดิบที่มีจุดเด่นที่คุ้มค่าต่อการลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ปัจจุบันไบโอเทคได้ขยายผลการใช้งานเทคโนโลยีสู่การผลิต Cider vinegar จากสัปปะรด ให้แก่บริษัท ซินอา บริว จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำส้มสายชูกลั่นที่ต้องการขยายตลาดสู่สินค้าเพื่อสุขภาพ โดยมีการจำหน่ายสินค้าแล้วใน “แบรนด์ SINAR (ซินอา)” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ Cider vinegar สูตรไม่ปรุงแต่งรสและปราศจากน้ำตาล จึงเหมาะสำหรับนำไปทำเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพ มีสรรพคุณช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดคอเลสเตอรอล เหมาะแก่ผู้บริโภคอาหารแบบคีโตเจนิค (Ketogenic diet) และผู้ดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ในอนาคตไบโอเทคยังมีแผนพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ อาทิ กระเทียมดำ ผลเชอร์รีกาแฟ และอ้อย ฯลฯ เนื่องจากตลาด Cider vinegar มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในไทย เอเชียแปซิฟิก รวมถึงตลาดโลก”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภูมิธรรมถกคาลดี้ (KALDI) ค้าปลีกญี่ปุ่นดันขายกาแฟ ผลไม้ สินค้าไทย
”ภูมิธรรม“ ถกคาลดี้ (KALDI) ค้าปลีกญี่ปุ่นดันขายกาแฟ ผลไม้ สินค้าไทย พร้อมชวนเดิน THAIFEX เลือกช้อปสินค้าคุณภาพไทยขึ้นห้างเพิ่ม
'นภินทร' สั่ง ทูตพาณิชย์ เคลียร์หน้าด่านหนุนส่งทุเรียน-มังคุดช่วงพีค เข้าจีน ให้เร็วที่สุด
“นภินทร” สั่ง “ทูตพาณิชย์ เวียดนาม-จีน” จับตาใกล้ชิด การขนส่งผลไม้ ส่งสัญญาณไทยทันทีหากติดหน้าด่านย้ำ!! ช่วยคนไทยส่งทุเรียน-มังคุดช่วงพีค เข้าจีน ให้เร็วที่สุด
'พาณิชย์-DITP' ส่งทูตพาณิชย์คุนหมิง ถกผู้บริหารด่าน เปิดทางสะดวกผลไม้ไทย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ส่งทูตพาณิชย์คุนหมิง หารือผู้บริหารด่านการค้า เปิดทางสะดวกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน รองรับฤดูกาลผลิตผลไม้ตั้งแต่ เม.ย.นี้ พร้อมดันร้านอาหาร Thai SELECT เป็นจุดขายสินค้าและโชว์วัฒนธรรมไทย
'แพลททินัม ฟรุ๊ต' คว้ารางวัลสุดยอดผู้ส่งออกผลไม้สด หนุนสินค้าเกษตรไทยลุยตลาดโลก
นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมี่ยมชั้นนำของไทย อาทิ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับรางวัล “Supply Chain Initiative of the Year” จากเวที Asian Export Awards 2023
ปลื้ม 'ทุเรียน มังคุด ลำไย' สุดฮอต ชาวจีนแห่ซื้อ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยผลการจัดกิจกรรมโปรโมตผลไม้ไทยในจีน ที่เมืองชิงต่าว ประสบผลสำเร็จเกินคาด ทุเรียน มังคุด ลำไย ขายมือระวิงห้างขายได้ทันที 2.93 ล้านบาท ผู้นำเข้าขายส่งได้ 138 ล้านบาท และห้างยังแจ้งอีกว่าจะสั่งซื้อผลไม้ภายใน 1 ปี อีก 190 ล้านบาท