'สรท.' ชี้ส่งออกปีนี้โต 12% ลุ้นปี 65 ขยายตัว 5%

2 พ.ย. 2564 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก คาดการณ์ภาวะการส่งออกของไทยในปี 65 จะมีอัตราการขยายตัวที่ระดับ 5% ส่วนในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 12% เนื่องจากฐานที่ต่ำในปี 63 จากผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

“จากการประเมินแล้วมั่นใจว่าปีนี้อยู่ในกระเป๋าแล้วอย่างน้อย 12% ส่วนในปีหน้าได้นำข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ มาประเมินแล้วคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 5% และสถานการณ์การส่งออกจะกลับคืนสู่ภาวะปกติในปีหน้า โดยสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ ยางพารา, สิ่งทอ, ชิ้นส่วนยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, พลาสติก และเคมีภัณฑ์” นายชัยชาญ กล่าว

แม้ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.64) การส่งออกของไทยมีมูลค่ารวม 199,997.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า แต่ยังมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

1.ค่าระวางเรือยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม อาทิ Peak Season Surcharge (PSS) ส่งผลต่อภาระต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ผู้ส่งออกต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และปัญหา Space and Container allocation ไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดตู้สินค้าตกค้างไม่สามารถส่งสินค้าได้ทันตามกำหนด

2.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ ชิป, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้การส่งออกไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์

3.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับสูง ขณะที่หลายประเทศเริ่มกลับมาล็อกดาวน์จากการกลับมาระบาดของกลุ่มคลัสเตอร์ เช่น จีน สิงคโปร์ อังกฤษ รัสเชีย เป็นต้น ซึ่งแม้จำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวมภายในประเทศไทยจะลดลงแต่ยังคงทรงตัวในระดับสูง ภาคโรงงานอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนเวลาในการทำงานเพื่อลดจำนวนพนักงานเข้าทำงานส่งผลกระทบต่อไลน์การผลิตเนื่องคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นสวนทางกับจำนวนพนักงานที่เข้าไลน์ผลิตได้บางส่วนภาครัฐต้องเร่งกระจายวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายวัคซีนสองเข็ม 50 ล้านคนภายในสิ้นปี รวมถึงแรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด

4.กระบวนการทำงานภาครัฐยังไม่สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ อาทิ ความล่าช้าในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออก (Vat Refund) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่ 1.ด้านการตลาด อาทิ จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่โครงการ SMEs Pro-active เพื่อเพิ่มจำนวนครั้งการจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ (Virtual / Onsite exhibition 2022) ให้มากขึ้น 2.ด้านต้นทุนการประกอบธุรกิจ

  • ขยายระยะเวลาเงินช่วยเหลือลูกจ้างให้กับสถานประกอบการระดับ SMEs เช่น เงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อคน เพื่อคงสถานะการจ้างงาน
  • ลดต้นทุนพลังงานในประเทศ
  • ลดต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
  • เร่งปรับปรุงขั้นตอนการทำงานภาครัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์และใช้ได้จริง
    3.ด้านแรงงาน
  • ยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน อาทิ สนับสนุนด้านภาษีและงบประมาณฝึกอบรมให้กับแรงงานและสถานประกอบการเพื่อ Re-skill และ Up-skill ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมภายใต้ชีวิตวิถีใหม่
  • เร่งฉีดวัคซีนให้พนักงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ครอบคลุมโดยเร็ว
    4.ด้านสิ่งแวดล้อม
  • สร้างความตระหนักรู้แก่ภาคธุรกิจ (Carbon Emission Awareness)
  • เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ เพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม

ประธาน สรท. กล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องค่าระวางเรือนั้น ที่ผ่านมา สรท.ได้พยายามขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขปัญหา โดยประสานกับ US Federal Maritime Commission (FMC) และอังค์ถัดแล้ว และในสัปดาห์หน้าจะนำเสนอต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งนี้เพื่อให้มีการกำหนดค่าระวางเรืออย่างเป็นธรรม

ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งออกมาประท้วงเรื่องราคาน้ำมันแพงนั้น ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะหากมีการลดปริมาณขนส่งสินค้าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างแน่นอน

สำหรับการเปิดประเทศนั้นจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภายในประเทศที่จะมาเสริมกับการส่งออก ซึ่งเป็นกลไกเพียงตัวเดียวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ที่สำคัญผู้ประกอบการต้องยึดมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด การ์ดอย่าตกเป็นอันขาด

เพิ่มเพื่อน