พยายามทำให้มีก็เหมือนไม่มี! ยิงคำถาม 'ปิยบุตร' มั่นใจหรือว่านี่คือความประสงค์ของปชช.ส่วนใหญ่

20 มิ.ย.2565 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้

กรณีอ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าใจว่าไม่ใช่เป็นการกระทำเฉพาะในกรณีใดกรณีหนึ่ง แต่คงเป็นหลายๆกรณีรวมกันเป็นระยะเวลาหลายปี เนื่องจากผู้ร้องฯไปยื่นร้องกับตำรวจตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 และตำรวจใช้เวลาถึง 7 เดือนในการพิจารณารวบรวมหลักฐาน จึงออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามที่เป็นข่าว

ไม่ว่าอ.ปิยบุตรจะชี้แจงว่าสิ่งที่พูดที่ทำไม่เคยเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ว่าผู้อื่นจะวิจารณ์ว่าผิดหรือไม่ผิดอย่างไร แต่หากต้องการทำความเข้าใจว่า อ.ปิยบุตรมีความคิดอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องไปค้นคว้าอะไรมาก เพียงย้อนกลับไปดูคลิปที่อ.ปิยบุตร อภิปรายในการเสวนาหัวข้อ " การเมือง ความยุติธรรม และสถาบันกษัตริย์" เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 เท่านั้นพอ

และแม้ว่าเนื้อหาที่อภิปรายจะมีความหมิ่นเหม่อยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ขอตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดตามมาตรา 112 เพียงแต่อยากชี้ว่า การอภิปรายในวันนั้น เป็นการอภิปรายที่สะท้อนความคิดและความประสงค์ของอ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนที่สุด

เนื้อหาอย่างละเอียดของการอภิปรายในวันนั้น ถ้าต้องการทราบ ต้องขอให้ท่านผู้อ่านไปหาฟังกันเอง เพราะหมิ่นเหม่เกินไปที่จะนำมาเสนอในที่นี้ทั้งหมดได้ แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า อ.ปิยบุตรเห็นว่า สถาบันกษัตริย์มีความชอบธรรมต่ำมากในทางประชาธิปไตย เพราะการเป็นพระประมุขของรัฐใช้ระบบสืบทอดทางสายโลหิต ไม่ได้มีคนเลือกมา การอธิบายความชอบธรรมว่ากษัตริย์ทรงเป็นนักรบที่เก่งกาจ มีบุญญาบารมี อาจไม่มีปัญหาเมื่อ 200 ปีก่อน แต่คำอธิบายแบบนี้ใช้ไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน

ดังนั้นอ.ปิยบุตรจึงเห็นว่า การเมือง ความยุติธรรม และสถาบันกษัตริย์ ไปกันไม่ได้ หากสถาบันกษัตริย์จะคงอยู่ต่อไปได้ ก็เพราะคนทั้งสังคมอนุญาตให้อยู่ต่อ แบบเป็นเพียงส่วนเสริม โดยไม่มีบทบาททางการเมืองใดๆทั้งสิ้น เป็นเพียงสัญญลักษณ์ เป็นเกียรติยศทางประวัติศาสตร์เท่านั้น

นี้คือที่มาของการให้เหตุผลว่า ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพราะความหวังดี เพื่อให้สถาบันคงอยู่ต่อไปได้มิได้ต้องการล้มล้างแต่อย่างใด

วิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยเกิดขึ้นตลอดมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎรต้องถือว่าเป็น disruption ของวิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มีพระราชอำนาจน้อยลง มีบทบาทน้อยลง แต่กระนั้นรัฐธรรมนูญก็ยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายทุกฉบับโดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หลังจากนั้นบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ แต่ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ พระมหากษัตริย์ยังทรงต้องลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายทุกฉบับ จึงเรียกกฎหมายแต่ละฉบับว่า "พระราชบัญญัติ"

ในยุคปัจจุบัน ความจริง พระราชอำนาจ และบทบาทของพระมหากษัตริย์ มิได้มีมากขึ้นกว่าตั้งแต่หลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475แต่อย่างใด แต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากมาย ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทำให้พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ พระองค์ทรงมีบทบาทในยามที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตในทางการเมือง ไม่มีทางออก ทรงทำให้วิกฤตเหล่านั้นผ่านพ้นไปด้วยดีทุกครั้ง หากพระองค์ทรงวางเฉยต่อวิกฤตทางการเมืองทุกครั้งที่ผ่านมา คงเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างไม่อาจประมาณได้

ที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ลุล่วง และทรงแก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้สำเร็จทุกครั้ง ไม่ใช่เป็นเพราะทรงมีพระราชอำนาจมากหรือน้อย แต่เป็นเพราะพระบารมีของพระองค์โดยแท้

อ.ปิยบุตรต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้กษัตริย์ทรงเป็นเพียงสัญญลักษณ์ เป็นเกียรติยศทางประวัติศาสตร์เท่านั้น โดยไม่ให้ทรงมีบทบาทใดๆเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง นี่เป็นความคิดของอ.ปิยบุตรและเหล่าสาวก และไม่เพียงแต่คิดหรือเชื่อ แต่ยังพยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแบบที่ตัวเองต้องการ คือมีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เหมือนไม่มี คำถามคือ อ.ปิยบุตรมั่นใจแล้วหรือว่า นี่คือความประสงค์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ผมเองไม่อาจพิสูจน์โดยไม่มีผลการสำรวจความคิดเห็นได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ข้อหรือไม่ แต่เชื่อมั่นว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้วิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องการ disruption อีกครั้ง การคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นอยู่กับความมีทศพิธราชธรรม และพระราชจริยวัตรขององค์พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ ไม่ควรมีใครมาผลักดันตามที่ตัวเองอยากให้เป็น หากวันใดไม่มีใครเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงวันนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะคงอยู่ไม่ได้ แต่เหตุการณ์นี้จะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตกันใกล้ อีก20 ปีก็ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือจะเป็นเพราะเหตุนี้ จึงมีความมุ่งมั่นผลักดันกันในทุกวิถีทาง

ต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะความหวังดี หรือมีวาระซ่อนเร้นอื่นใดที่ทำให้ต้องรีบเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบรอไม่ได้เช่นนี้ วันหนึ่งเราคงจะได้รู้ความจริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธนกร' ดีดปาก 'ปิยบุตร' เลิกเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม

'ธนกร' สวน 'ปิยบุตร' หยุดเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม ยัน สส.ฟังเสียงประชาชน ปัดมีใบสั่งจากชนชั้นนำ ย้ำชัด กองทัพเป็นความมั่นคงของชาติทุกมิติ ชี้หากทำผิดก็อยู่ยาก ป้องกันรัฐประหารไม่ได้

เสื้อแดงตาสว่างหรือยัง 'ใบอนุญาต' ประจานทักษิณ-เพื่อไทย!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์เรื่องใบอนุญาต2ใบในการจัดตั้งรัฐบาล โดยตั้งคำถามว่า ทำไมพรรคการเมืองกลับเลือกใช้วิธี “หมอบ สยบยอม เอาใจ” ผู้ออกใบอนุญาตที่ 2

'ปิยบุตร' อัดเพื่อไทย! ทำเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการเมือง ช้าออกไปอีก 10-20 ปี

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่าแทนที่พรรคการเมืองจะรวมพลัง “ยึด” อำนาจการออกใบอนุญาตที่ 2 ของ