ครูรักษ์ถิ่นบนดอยสูง กับอนาคตการศึกษาไทย

หลังจากลงพื้นที่เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านหมู่บ้านป่าคาสุขใจและหมู่บ้านจะบูสี บนดอยแม่สลอง และได้ร่วมกิจกรรมฐานความรู้เรื่องกาแฟ สมุนไพร อาหารท้องถิ่น รวมถึงการเดินป่า นักศึกษา 62 คนได้ร่วมกันสะท้อนมุมมองซึ่งส่วนใหญ่ประทับใจกับประสบการณ์ใหม่ที่ได้รับ

“ตลอดระยะเวลา 2 คืน 3 วันที่พวกเราได้อยู่ร่วมกัน ทำให้รู้จักกันดียิ่งขึ้น รู้จักการปรับตัว รู้จักชุมชน ได้ประสบการณ์ที่ดีเพื่อนำไปใช้ในอนาคต “ นักศึกษาหลายคนพูดในวงแลกเปลี่ยนในเนื้อหาใกล้เคียงกัน

ระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน 2565 นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปี 2 และ 3 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ที่ได้รับทุนครูรักษ์ถิ่นจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ.ได้เดินทางมายังศูนย์เรียนรู้บนดอย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ) อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อร่วมกิจกรรมเสริมประสบการณ์

พชภ.ซึ่งมี “ครูแดง”เตือนใจ ดีเทศน์ เป็นผู้ก่อตั้ง ได้ทำงานส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาบนดอยสูงมายาวนานกว่า 40 ปีโดยเฉพาะดอยแม่สลองที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย

ศูนย์การเรียนรู้บนดอยของ พชภ.และบริเวณโดยรอบเดิมทีเป็นภูเขาหัวโล้น จนกระทั่ง พชภ.และชาวบ้านในหมู่บ้านโดยรอบได้ร่วมกันปลูกป่าและดูแลรักษากว่า 20 ปี ปัจจุบันต้นไม้ได้เติบใหญ่ ผืนป่าหลายพันไร่กลายเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญบนดอยแม่สลอง ขณะที่ชาวบ้านได้อาศัยผืนป่าเป็นแหล่งอาหารและดำรงวิถีชุมชนอย่างมีความสุข

นักศึกษาที่เข้าร่วมเรียนรู้ในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายจังหวัดภาคเหนือตอนบน เมื่อเรียนจบพวกเขาต้องกลับไปเป็นครูประจำในโรงเรียนท้องถิ่นปลายทาง

“ทักษะการเรียนรู้เรื่องสังคมพหุวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเขา แม้หลายคนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เมื่อมาอยู่ในเมืองนานๆ เขาไม่กล้าพูดภาษาของตัวเอง เราพยายามสนับสนุนให้เขาภูมิใจในท้องถิ่นของเขา “ ผศ.ดร.สุนีย์ เงินยวง รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มช. และ ดร.วิชญา ผิวคำ ผู้รับผิดชอบโครงการ ร่วมกันสะท้อนมุมมองในการจัดการศึกษาของนักเรียนทุนครูรักษ์ถิ่น

“นอกจากการเป็นครูแล้ว เราต้องการให้เขาเป็นครูนักพัฒนาชุมชนด้วย เพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการได้มาลงพื้นที่หมู่บ้านที่เป็นชาติพันธุ์ซึ่ง พชภ.จัดให้ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะบางครั้งเขากลัวที่จะคุยกับชุมชน การได้มาเปิดมุมมองทางความคิดเท่ากับเป็นการเสริมสร้างความรู้ให้พวกเขา”

บรรยากาศของศูนย์การเรียนรู้บนดอยที่โอบล้อมไปด้วยผืนป่า ทำให้นักศึกษากลุ่มนี้ได้เรียรู้วิธีการดูแลรักษาป่าของชาวบ้าน ตลอดจนวิถีชีวิตประจำวันของคนในหมู่บ้าน โดยหมู่บ้านป่าคาสุขใจเป็นชาติพันธุ์อาข่า ขณะที่หมู่บ้านจะบูสีเป็นชาวลาหู่หรือมูเซอแดง

“พวกเราลงพื้นที่หมู่บ้านจะบูสี ทำให้รับรู้ว่าชาวบ้านไม่ขาดแคลนอาหารในยุคโควิดเพราะอะไร แม้เขาปิดหมู่บ้านแต่เขาก็อยู่ได้ เราได้เรียนรู้วิถีเกษตรจากที่เคยเป็นดอยโล้นๆจนเดี๋ยวนี้กลายเป็นป่าได้อย่างไร” ทัตเทพ สุขใจ และพิพัฒพงษ์ สมบัติใหม่ นักศึกษาปี 2 พูดถึงการเรียนรู้ในช่วงเวลาสั้นๆในหมู่บ้านมูเซอแดง

“หมู่บ้านที่ผมจะไปเป็นครูเป็นโรงเรียน ตชด.ในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านเป็นชาติพันธุ์ ผมต้องไปเรียนรู้ชีวิตของชาวบ้าน ทำอย่างไรให้เขาไว้ใจ เราจะเข้าถึงเขาได้อย่างไร การมาลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น” ทัตเทพคิดถึงประสบการณ์ที่ได้รับเพื่อเตรียมพร้อมกับการเป็นครูรักษ์ถิ่นในอนาคต ขณะที่พิพัฒพงษ์ บอกว่า “ผมได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ การที่ได้ไปคลุกคลีกับเขา ทำให้เราได้ซึมซับด้านต่างๆ ทำให้นึกไปถึงว่าเราจะพัฒนาชุมชนอย่างไร แต่ก่อนพัฒนาเราต้องเข้าให้ถึงชาวบ้านให้ได้ก่อน”

ขณะที่อรนิช ลำนำไพร และสุทธิกานต์ เชอมือ นักศึกษาปี 3 บอกว่ารู้สึกผ่อนคลายที่ได้มาทำกิจกรรมในครั้งนี้ ได้เห็นความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ และเพื่อนๆหลายคนได้เรียนรู้มากมาย เพราะได้ลงมือทำจริงๆ

“กิจกรรมครั้งนี้ทำให้คิดที่จะเอาหลายเรื่องไปต่อยอดในชุมชนที่เราจะไปสอน เราได้เห็นความสำคัญของการที่เด็กๆได้เรียนรู้ชีวิตจริงนอกห้องเรียน แต่การศึกษาไทยทุกวันนี้ยังเน้นอยู่ในหลักสูตรมากเกินไป เราอยากบูรณาการการสอนระหว่างชีวิตจริงกับหลักสูตรให้ได้”

ปัจจุบันแม้ประเทศไทยมีจำนวนครูและบุคลากรด้านการศึกษาอยู่หลายแสนคน แต่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมือง ขณะที่ชุมชนชนบทและพื้นที่ห่างไกล ยังคงขาดแคลนครู

การศึกษาไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์มายาวนานเพราะไม่สอดรับกับสภาพสังคมที่แท้จริง เช่นเดียวกับครูอาชีพและอาชีพครูกลายเป็นเรื่องเดียวกัน การเกิดขึ้นของโครงการ “ครูรักษ์ถิ่น”จึงเป็นเรื่องท้ายทายการเป็นครูพันธุ์ใหม่ที่เติมความหวังของบ้านเมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้

สาวไทยแพ็คกระเป๋า แอ่วเหนือไปพร้อมกับเจ้าของรอยยิ้มพิฆาต 'คิม ซอน โฮ'

ทรูวิชั่นส์ นาว เอาใจสาวไทย ที่หลงรักในรอยยิ้มกระชากใจของเขยไทยอย่าง “คิม ซอน โฮ” ที่ครั้งนี้จะรับบทแขกรับเชิญพิเศษ พาสาว ๆ ไปออกเดท ท่องเที่ยวกันแบบชุ่มปอดที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในรายการ “Brothers who eat and watch S2” (คู่หูตะลุยพาชิม ปี 2) ที่มีพิธีกรหลักดำเนินรายการอย่าง “คิมจุนฮยอน” และ “มุนเชยุน”