คมนาคมจับมือญี่ปุ่นพัฒนาเมืองอัจฉริยะรอบสถานีรถไฟบางซื่อ

คมนาคม จับมือญี่ปุ่นเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นเมืองอัจฉริยะรองรับการเปิดให้บริการของสถานีกลางบางซื่อ สั่งรฟท.เอสอาร์ทีฯหาแนวทางบริหารจัดการต่อไป

31 ต.ค.2564-นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อ โดยมีผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย กระทรวงกระทรวงทึ่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) องค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่น ผู้แทน JICA Thailand และผู้แทนสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าโครงการ Smart City หรือ SmartJAMP ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอ โครงการบางซื่อเข้าร่วม โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อเสนอแนะในเชิงโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และบริษัทผู้ให้บริการสมาร์ทซิตี้ (SSC) เพื่อให้ SSC มีโครงสร้างการดำเนินงานที่เข้มแข็งและสามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาทิศทางการพัฒนาพื้นที่บางซื่อตามที่ผู้แทนองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่น (UR)เสนอ โดยที่เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่บางซื่อ คือ การสร้างเมืองที่มีเสน่ห์ มีความน่าสนใจ เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนชาวไทย และเป็นเมืองที่น่าภาคภูมิใจที่จะสืบทอดไปยังคนรุ่นหลัง รวมถึงการปรับปรุงสถานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้นำแนวคิดของ TOD หรือ Smart city มาใช้ รวมทั้งการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน โดยการพัฒนาพื้นที่บางซื่อมีลักษณะพิเศษ

อย่างไรก็ตามโดยพื้นที่การพัฒนาทั้งหมด มีขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมการพัฒนาโดยคำนึงถึงผลกระทบ รวมทั้งความเสี่ยงในการลงทุน ประกอบกับอุปสงค์ ณ ปัจจุบันยังมีน้อย แต่มีความเป็นไปได้ที่มูลค่าของพื้นที่บางซื่อจะสูงขึ้นในอนาคต พื้นที่บางซื่อจึงจำเป็นต้องพัฒนาแบบเป็นขั้นเป็นตอน โดยการเพิ่มมูลค่าของที่ดินขึ้นตามลำดับ จึงจำเป็นต้องมีแผนการพัฒนาที่มีความครอบคลุมและเป็นองค์รวม ได้แก่ แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรวม คู่มือการพัฒนา รวมถึงการพิจารณารูปแบบธุรกิจ เป็นต้น

นายชยธรรม์ กล่าวว่า ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อทิศทางการพัฒนาพื้นที่บางซื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน โดยมอบหมายให้ รฟท. และ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด(SRTA)หารือในรายละเอียดของแนวทางการพัฒนาฯ (Action Plan) ร่วมกับ MLIT และ UR เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และมอบหมาย SRTA เร่งรัดการดำเนินการเพื่อสมัครเข้ารับการประเมินการเป็นเมืองอัจฉริยะต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายคณะทำงาน เพื่อร่วมพิจารณารายงานการศึกษาร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ก่อนเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อพิจารณาเพื่อให้โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อเป็นไปตามแผนที่วางไว้ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พิพัฒน์” เยือนญี่ปุ่น ถกรัฐมนตรีแรงงาน นายจ้างญี่ปุ่นต้องการแรงงานทักษะ16 สาขา 820,000คน ที่แรกกรุงโตเกียว

วันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงานเข้าพบเข้าพบ Mr. Takamaro FUKUOKA