ttb ประเมินค่าใช้จ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท กระทบต้นทุนธุรกิจ-ค่าครองชีพประชาชน

จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจและค่าใช้จ่ายของประชาชนอย่างมาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics วิเคราะห์ทิศทางและผลกระทบการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. แนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกและราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศ 2. การประเมินผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ดังนี้

ปี 2564- 2565 คาดราคาน้ำมันดิบโลก (ราคาน้ำมันดิบดูไบ อ้างอิงตลาดสิงคโปร์) เฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 65% จากปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเฉลี่ยสูงขึ้น 25%

ราคาน้ำมันดิบดูไบทยอยไต่ระดับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา และปรับขึ้นที่ระดับราคาเฉลี่ย 72.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกันยายน 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปี 2563 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 75.8% โดยสาเหตุสำคัญของราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นหลังการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ประกอบกับวิกฤตการขาดแคลนถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ทำให้โรงงานไฟฟ้าหลายแห่งปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าทดแทนจึงทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้น

ttb analytics ประเมินว่าแม้จะมีแรงกดดันดังกล่าวอยู่บ้าง แต่ทว่าการปรับขึ้นราคาอย่างรวดเร็วนี้เกิดจากอุปทานตรึงตัว จากกำลังการผลิตที่ลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากความต้องการที่ลดลงจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายย่อมทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้เกิดสมดุลกับความต้องการที่ฟื้นตัว ทำให้ระดับราคาปรับสู่ดุลยภาพ ซึ่งคาดว่าระดับราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงปี 2564-2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือปรับเพิ่มขึ้น 65% จากระดับราคาเฉลี่ย 42.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2563

ผลการศึกษาการส่งผ่านราคาน้ำมันดิบดูไบไปสู่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศ ผ่านโครงสร้างปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยพบว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 65% ในช่วงปี 2564-2565 จะส่งผ่านไปยังราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้น 25% ซึ่งจะทำให้แนวโน้มราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปี 2564-2565 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 27.8 บาทต่อลิตร โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 26.7 บาทต่อลิตร (เพิ่มขึ้น 23.8%) และกลุ่มน้ำมันดีเซลราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 28.2 บาทต่อลิตร (เพิ่มขึ้น 25.0%)

ด้านการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในปี 2564 คาดว่าจะหดตัว 4.2% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการลดลง โดยกลุ่มน้ำมันเบนซินจะลดลง 5.5% จากการจำกัดการเดินทางของประชาชนตามมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 และกลุ่มน้ำมันดีเซลจะลดลง 3.2% จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง โดยเฉพาะการขนส่งโดยสารคนที่ลดลง

ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่สูงขึ้นจะทำให้ค่าใช้จ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น 2.0 แสนล้านบาท โดยภาคธุรกิจจะเพิ่มถึง 1.83 แสนล้านบาท ขณะที่ภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 1.7 หมื่นล้านบาท

จากการวิเคราะห์ผลกระทบราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่สูงขึ้นต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนผ่านโครงสร้างการ.ใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทย จะพบว่า ในแต่ละปีมีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ระหว่าง 3.4 – 3.6 หมื่นล้านลิตรต่อปี แบ่งเป็นการใช้กลุ่มน้ำมันดีเซล 68% ที่เหลือเป็นการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซิน 32% โดยภาคธุรกิจมีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมากเป็นสัดส่วนสูงถึง 92% ในขณะที่ภาคครัวเรือนใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียง 8% ของการใช้รวมทั้งประเทศ ซึ่งระดับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 25% ในปี 2564-2565 จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น 2 แสนล้านบาท (คำนวณเทียบบนฐานปริมาณการใช้น้ำมันในปีปกติ) คิดเป็น 1.3% ต่อจีดีพี โดยจะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจสูงขึ้น 1.83 แสนล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันของภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 1.7 หมื่นล้านบาท

ธุรกิจที่ต้นทุนพึ่งพิงน้ำมันสูงได้รับผลกระทบหนัก ส่อเค้ามาร์จิ้นร่วง 2 – 10%

สำหรับผลกระทบจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อภาคธุรกิจ โดยวิเคราะห์ผ่านโครงสร้างต้นทุนการใช้น้ำมันต่อต้นทุนรวม และอัตรากำไรขั้นต้นจากงบการเงินเฉลี่ยของธุรกิจ ซึ่งเจาะลึกธุรกิจที่ใช้น้ำมันมาก ได้แก่ ขนส่งและ
โลจิสติกส์ (สัดส่วนต้นทุนจากการใช้น้ำมัน 32%) ประมง (19%) เหมืองแร่ (11%) เคมีภัณฑ์ (9%) และวัสดุก่อสร้าง (4%) พบว่าระดับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25% ในปี 2564-2565 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อมาร์จิ้นสูงสุด ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์ ประมง เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เหมืองแร่ ยานยนต์และชิ้นส่วน และวัสดุก่อสร้าง โดยมาร์จิ้นของธุรกิจจะลดลง 10.4%, 3.6%, 3.2%, 2.6%, 2.2%, 2.0% และ 2.0% ตามลำดับ เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้พึ่งพิงน้ำมันมาก แต่ความสามารถในการปรับราคาขายตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต้องใช้เวลาส่งผ่านนานและส่วนใหญ่สินค้ามีการควบคุมราคาจากภาครัฐ ทำให้เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ออัตรากำไรของธุรกิจจะลดลง

ภาคครัวเรือนเตรียมรับค่าครองชีพสูงขึ้น 1.6%

ผลการศึกษาค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันสำเร็จรูปของภาครัวเรือนไทยจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2563 พบว่าภาคครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย 1,361 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนการใช้น้ำมัน 6.4% ของค่าใช้จ่ายรวม โดยระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น 25% จะส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 340 บาทต่อเดือน คิดเป็นค่าใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นหรือค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.6% และเมื่อพิจารณาแยกเป็นรายภาคจะพบว่าภาคใต้และภาคกลางเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายน้ำมันสูง โดยสัดส่วนของภาคใต้ และภาคกลาง คิดเป็น 7.5% และ 6.9% ของค่าใช้จ่ายรวม ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายน้ำมันส่งผลให้ค่าครองชีพภาคใต้และภาคกลางเพิ่มขึ้น 1.9% และ 1.7% ตามลำดับ

แนะรัฐตรึงราคาขายปลีกในประเทศในยามที่ราคาสูงขึ้นเพื่อลดภาระต้นทุนภาคธุรกิจและค่าครองชีพประชาชน
การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ปริมาณการใช้ปกติของโลก หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง จะส่งผลทำให้เกิดความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าการคาดการณ์ราคาเฉลี่ยทั้งปี โดยเฉพาะไตรมาส 4 ของปีนี้ที่น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยมีโอกาสขยับขึ้นแตะ 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้ ซึ่งจะส่งผ่านให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีได้ ดังนั้น ในยามที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นจากความไม่สมดุลนี้ ภาครัฐควรพิจารณาตรึงราคาขายปลีกในประเทศ โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาชดเชยราคาให้ลดลง และหากมีความจำเป็นในกรณีราคาพุ่งสูงขึ้นมากอาจพิจารณาลดภาษีน้ำมันลง เพื่อช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของภาคธุรกิจและค่าครองชีพประชาชนลงจนกว่าราคาน้ำมันจะปรับเข้าสู่ระดับราคาสมดุลใหม่อีกครั้ง<

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บัตรเดบิตวีซ่า ttb all free และวีซ่า ร่วมฉลองความสำเร็จ “วิว กุลวุฒิ” ฮีโร่เหรียญเงินโอลิมปิก 2024 เปิดตัวแคมเปญ Dare to Change ส่งต่อแรงบันดาลใจ จัดแบดมินตันบูทแคมป์ให้แก่กลุ่มเยาวชน

บัตรเดบิตวีซ่า ttb all free และวีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ร่วมฉลองชัย “วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์” ฮีโร่เหรียญเงินแบดมินตันชายเดี่ยว โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024

finbiz by ttb แนะ SME ที่มีแนวคิด ESG คว้าโอกาสทางธุรกิจ บนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันกระแส ESG กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ธุรกิจยุคใหม่จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางนี้ โดยหลังจากประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายจะเป็นกลางทางคาร์บอน

finbiz by ttb แนะเทรนด์รักษ์โลก : โอกาสของธุรกิจเพื่อครองใจผู้บริโภค

ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนกำลังตื่นตัวกับกระแสรักษ์โลกและความยั่งยืน กระแสนี้จะมีผลต่อธุรกิจอย่างไรและจะเป็นเพียงชั่วคราวหรือไม่ finbiz by ttb

ttb ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยทะลัก 16.9 ล้านล้านในสิ้นปีนี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วงทั้งในมิติของปริมาณการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วและคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง

ttb ประเมินมาตรการพักหนี้เกษตรกร อาจเป็นเพียงแค่ยาแก้ปวด 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรอาจส่งผลแค่ระยะสั้นจากการกระจายรายได้ของผลผลิตที่กลับสู่มือเกษตรกรไทยที่น้อย