“คลัง” ตั้งโต๊ะเสกตัวเลขจีดีพีปีนี้โตถึง 1% รับโควิด-19 ระลอกใหม่ทุบเศรษฐกิจไตรมาส 3 อ่วมติดลบ 3.5% หวังอานิสงส์มาตรการเปิดเมือง-โครงการกระตุ้นใช้จ่าย หนุนเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายฟื้นตัวได้ถึง 3% จับตาไวรัสกลายพันธุ์ทำวัคซีนไร้ประสิทธิภาพ
28 ต.ค. 2564 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 เหลือ 1% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.5-1.5% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 1.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2564 ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งปีแรก จากมาตรการควบคุมโรคและการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง
ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดมีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับความคืบหน้าในการจัดหาและกระจายวัคซีนให้ประชาชน ทำให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดลง รวมทั้งได้มีแผนการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทยประมาณ 1.8 แสนคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ภาคการขนส่ง ธุรกิจพักผ่อนหย่อนใจและบันเทิง รวมถึงภาคธุรกิจอื่น ๆ ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
“ต้องยอมรับว่าในไตรมาส 3/2564 เศรษฐกิจโดนหนักจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้คาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะอยู่ที่ -3.5% ขณะที่ในไตรมาส 4/2564 ประเมินว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และมาตรการกระตุ้นอื่น ๆ ที่เข้ามาเสริม รวมถึงการเปิดประเทศ ที่จะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศให้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวขยายตัวได้ที่ระดับ 3%” นายพรชัย กล่าว
นอกจากนี้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2564 จะขยายตัวที่ 0.8% ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่4% ต่อปี ส่วนของการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้ จะขยายตัวที่ระดับ 16.3% ต่อปี โดยยังคงต้องติดตามปัญหาห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain Disruption) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในระยะถัดไป
ขณะที่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย ผ่านการดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่องอาทิโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคบรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐ ขยายตัว 3.8% ส่วนการลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 8.1% ต่อปี
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 1% ต่อปี เนื่องจากภาครัฐมีการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศและปัจจัยด้านอุปทานส่วนเกินส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดอาหารสดลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล-18.3พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็น -3.7ของจีดีพี จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงและการขาดดุลบริการเป็นสำคัญ
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 4% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3-5% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3.5 แสนล้านบาท ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.8% ต่อปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศ
โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.2% ต่อปี ขณะที่การดำเนินนโยบายของภาครัฐก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ 1.1% ต่อปี ส่วนการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวที่ 5% ต่อปี ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.4% ปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ซึ่งอาจจะลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน 2. ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain Disruption) และการขนส่งระหว่างประเทศ 3. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น และ 4. ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน และนโยบายการเงินของประเทศสำคัญในระยะต่อไปที่มีแนวโน้มที่ตึงตัวมากขึ้น
สำหรับภาพรวมการเบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท พบว่า มีการอนุมัติวงเงินแล้ว 9.8 แสนล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 8.9 แสนล้านบาท ขณะที่การใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น มีการอนุมัติวงเงินแล้ว 1.45 แสนล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1.19 แสนล้านบาท ขณะที่การเติมเงินอีก 1.5 พันบาทต่อคนในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 นั้น คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากประชาชนออกมาสมทบ 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยการใช้จ่ายในช่วง 2 เดือนสุดท้ายในปีนี้ได้เป็นอย่างดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.เคาะแพ็กเกจใหญ่ช่วยเหลือ 'ลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี'
ครม. อนุมัติชุดใหญ่! จัดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผู้ประกอบการ SMEs มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นแน่
Virtual Bank ..ธนาคารในโลกดิจิทัล มุมมอง..ผ่านวิสัยทัศน์ 'ผยง ศรีวนิช'
ตั้งแต่กระทรวงการคลัง ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank หรือ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ..จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ขออนุญาต โดยคาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อได้ภายในช่วงกลางปี 2568 โดยผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
นักเศรษฐศาสตร์ ฉีกหน้า ‘พิชัย’ ย้ำแนวคิดรื้อจัดเก็บภาษี ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์ฉีกหน้า”ขุนคลัง-พิชัย”ย้ำแนวคิดรื้อจัดเก็บภาษียิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไม่ใช่ลดเตือนลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเสี่ยงเกิดวิกฤติการคลังคนสงสัยเอื้อประโยชน์คนในรัฐบาล-กลุ่มทุนใหญ่ แนะเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ในอัตราก้าวหน้าจะได้ผลกว่า
รัฐบาลชู บสย.เยียวยาเอสเอ็มอีใต้
'ศศิกานต์' เผย มาตรการ บสย. เยียวยาช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ พักค่าธรรมเนียม-พักหนี้ 6 เดือน ช่วย SMEs ฟื้นฟูกิจการ