เอกชนติงติดเชื้อเพิ่มหากระบบคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่รัดกุมพอ

28 ต.ค. 2564 เอกชนห่วงใยการลงทะเบียนเพื่อขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทยโดยระบบ Thailand Pass หรือระบบคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบ web-based ที่จะนำมาคัดกรองนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ ยังขาดการตรวจสอบเอกสารย้อนกลับที่ประเทศต้นทาง โดยระบบคัดกรองนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ดังกล่าว จะเป็นการนำมาใช้ทั้งสำหรับคนต่างชาติและคนไทยที่ประสงค์เดินทางเข้าประเทศไทยต้องเข้าไปลงทะเบียน กรอกข้อมูล และอัพโหลดเอกสารต่าง ๆ อาทิ หลักฐานการฉีดวัคซีน การตรวจหาเชื้อโควิด ฯลฯ ก่อนเดินทางเข้าประเทศ เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการกรอก และอัพโหลดเอกสารของผู้เดินทางก่อนเข้าประเทศไทยนั้น

นางสาวบุษบา ศรีรัตนากร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท โก ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท โก ไทยแลนด์ จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความกังวลว่า ระบบคัดกรองนักท่องเที่ยว และการบริหารจัดการข้อมูลนักท่องเที่ยวดังกล่าว จะมีความพร้อมที่จะรองรับการเปิดประเทศ และมีความสามารถในการตรวจสอบเอกสารที่นักท่องเที่ยวส่งมาให้หรือไม่ และที่สำคัญการส่งต่อข้อมูลของนักท่องเที่ยวต่างประเทศไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายๆ ครั้ง จะทำให้ประเทศไทยต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป หรือกฎหมาย General Data Protection Regulations : GDPR หรือไม่
ภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตระหนักถึงความจำเป็นในการที่จะต้องเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ภาคธุรกิจยังเป็นกังวลในการเปิดประเทศ คือ ควรมีมาตรการตรวจสอบในเรื่องโควิด-19 อย่างเข้มข้น รัดกุม เพราะเราไม่ต้องการที่จะให้เกิดการระบาดรอบ 4 หรือทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการปิดประเทศอีกครั้ง

ระบบคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ระบุว่าได้เชื่อมต่อกับระบบ PKI : Public Key Infrastructure) ของ Vaccine Certificate ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก และได้รับการตอบกลับมาแล้วประมาณ 30 ประเทศ นั้นมีหน้าที่เป็นเพียงการอ่านอย่างเดียวไม่ใช่สร้างระบบ Vaccine Validation หรือการตรวจสอบใบรับรองการฉีดวัคซีน และใบตรวจโรค ของคนต่างชาติก่อนเข้าประเทศที่ประเทศต้นทาง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 21 กันยายน 2564 ที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงร่วมประสานงานกับหน่วยราชการอื่นเพื่อให้มีระบบตรวจ Vaccine Certificate โดยให้บูรณาการกับหน่วยราชการ และภาคเอกชนเพื่อให้เกิดระบบตรวจสอบนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเมืองเป็นระบบเดียว จึงเกิดคำถามว่าแล้วระบบนี้จะทำงานได้จริงหรือไม่

นอกจากนี้ การใช้งานระบบในเบื้องต้นจะเป็นการใช้สแกนอ่านคิวอาร์โค้ด ซึ่งปัจจุบันโทรศัพท์มือถือก็สามารถสแกนอ่านคิวอาร์โค้ดได้อยู่แล้ว อีกทั้งไม่ใช่ทุกประเทศที่มีการใช้คิวอาร์โค้ด เกือบ 60% ของประเทศทั่วโลกไม่ได้ใช้ คิวอาร์โค้ด ก็พบว่าสำหรับประเทศที่ไม่ได้ใช้คิวอาร์โค้ดว่า ก็ให้ใช้เจ้าหน้าที่เป็นคนตรวจสอบเอกสารแทน ภาคเอกชนจึงเป็นห่วงว่า หากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศวันละ 2,000 คน การใช้เจ้าหน้าที่เป็นคนตรวจเอกสารนอกจากเป็นงานที่หนักแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้นไปอีกด้วย

ที่น่ากังวลที่สุด ก็คือ ระบบคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาตินี้ มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะละเมิดกฎหมายส่วนบุคคลสหภาพยุโรป หรือ กฎหมาย General Data Protection Regulations (GDPR) อีกด้วย เนื่องจากระบบนี้แจ้งว่า เมื่ออ่านข้อมูลต่างชาติที่เข้ามาแล้ว จะมีการบันทึกข้อมูลดังกล่าวแล้วส่งต่อไปหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น เพราะใน GDPR ระบุไว้ว่า Consent is not a free pass หมายความว่า การยินยอมไม่ใช่บัตรผ่านฟรีที่จะเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้อย่างไรก็ได้ ดังนั้น หากมีประเทศใดตีความว่า ประเทศไทยมีการบันทึก และส่งต่อข้อมูล เขาสามารถที่จะเรียกปรับเป็นเงินถึง 20 ล้านยูโรต่อประเทศ แต่ภาครัฐสามารถขอขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสหภาพยุโรปได้แต่ต้องใช้เวลาเกือบปีกว่าจะขึ้นทะเบียนได้

“ในฐานะที่เป็นภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านสถาปนิกระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงหวังว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงระบบ Thailand Pass ให้สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารก่อนการเดินทางเข้าประเทศล่วงหน้าตามหลักเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดให้มีประสิทธิภาพและทำหน้าที่คัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเข้มงวด และรัดกุม เพื่อป้องกันการติดเชื้อรอบใหม่” นางสาวบุษบา ศรีรัตนากร กล่าวในตอนท้าย

อ่านเพิ่มเติม รัฐบาล แจงเพิ่ม ‘ไทยแลนด์พาส’ ลดขั้นตอนเอกสาร รออนุมัติ 1-3 วัน รับเปิดประเทศ 1 พ.ย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รบ.เปิดตัวเลขนักท่องเที่ยว 11 เดือนปี 67 เข้าไทยทะลุ 32 ล้านคน

รบ.เปิดตัวเลขนักท่องเที่ยว 11 เดือน เข้าไทยทะลุ 32 ล้านคนแล้ว จีนยังครองอันดับ 1 ส่วนชาวมาเลฯชื่นชอบเที่ยวไทยมากกว่า 4.6 ล้านคน

รัฐบาลชี้งานวิจัย Agoda เผย กม.สมรสเท่าเทียมจะทำไทยมีนักท่องเที่ยวพุ่ง

'ศศิกานต์' เผยงานวิจัย Agoda ชี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมไทยบังคับใช้ ม.ค.นี้ คาดดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก 4 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้กว่า 6 หมื่นล้านบาท – เพิ่มงานกว่า 76,000 ตำแหน่ง