รฟท.เปิดทางเอกชนร่วมประมูลตลาด ’คลองสาน’ เล็งเปิดเป็นโรงแรมและร้านค้า

การรถไฟฯ จัดการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ลุยเปิดประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดคลองสาน หวังสร้างรายได้ให้ รฟท.

26 ต.ค.2564-นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) ต่อโครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดคลองสาน ผ่านการประชุมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพัฒนาการบริหารที่ดินของ รฟท. ให้เกิดความศักยภาพสูงสุดโดยมีผู้แทนจากองค์กรธุรกิจภาคเอกชน นักลงทุน และสื่อมวลชน เข้าร่วมการสัมมนากว่า 100 คน

นายเอก กล่าวว่ารฟท. มีแนวทางที่จะพัฒนาพื้นที่ของ รฟท. ซึ่งมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับ รฟท.ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในการหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยพื้นที่ย่านตลาดคลองสาน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนเจริญนคร มีทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อมเชื่อมต่อกับฝั่งพระนครด้วยท่าเรือข้ามฝากระหว่างท่าเรือคลองสานกับท่าเรือสี่พระยา เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำที่มีศักยภาพสูงของริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ รฟท.ได้นำออกให้เช่าเป็นพื้นที่ตลาดคลองสานพลาซ่า และผู้เช่าจะคืนพื้นที่เช่าทั้งหมดพร้อมกับสัญญาเช่าท่าเรือคลองสาน ภายใน 31 ธันวาคม 2564

อย่างไรก็ตาม จึงได้ดำเนินการจ้างบริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดคลองสาน โดยมีแนวทางในการพัฒนาดังนี้ แนวทางในการพัฒนาพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่โครงการตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพในการพัฒนาก่อสร้าง และใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งทางด้านพาณิชยกรรม หรือด้านอยู่อาศัย ที่ปรึกษาจึงได้ออกแบบแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาโครงการ โดยวิเคราะห์โครงการเบื้องต้นพร้อมพิจารณากำหนดสมมติฐานการพัฒนาเป็นโครงการต่าง ๆ

สำหรับ แนวคิดการก่อสร้างจะอยู่ภายใต้ประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยผังเมืองรวม และข้อกำหนดกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีผลต่อการพัฒนาก่อสร้างใช้ประโยชน์ ซึ่งแนวทางการพัฒนาพื้นที่จะทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด แล้วพัฒนาเป็นโรงแรมระดับกลาง (Midscale) และพื้นที่รีเทล (ร้านค้า) ดังนี้ โรงแรม สูง 8 ชั้น (มีชั้นใต้ดิน ส่วนกลาง และจอดรถยนต์) พื้นที่รวม 6,915 ตรม. จำนวน 1 อาคาร,โรงแรม สูง 8 ชั้น (มีชั้นใต้ดิน ส่วนกลาง และจอดรถยนต์) พื้นที่รวม 9,985 ตรม. จำนวน 1 อาคาร รีเทล (ร้านค้า) สูง 3 ชั้น (พื้นที่ค้าปลีก) พื้นที่รวม 915 ตรม. จำนวน 1 อาคาร,รีเทล (ร้านค้า) สูง 3 ชั้น (พื้นที่ค้าปลีก พร้อมที่จอดรถ) พื้นที่รวม 1,432 ตรม. จำนวน 1 อาคาร,รีเทล (ร้านค้าและร้านอาหาร) ด้านหลังโครงการ สูง 5 ชั้น พื้นที่รวม 2,000 ตรม. จำนวน 1 อาคารและลานกิจกรรม ขนาด 14.00 x 28.50 เมตร พื้นที่รวม 400 ตารางเมตร

นอกจากนี้ ได้ออกแบบเส้นทางการจราจรและระบบการขนส่งภายในอาคาร ได้แก่ การจัดให้มีทางเข้า – ออก บริเวณถนนเจริญนคร การจัดระบบจราจรบนถนนแบบเดินรถสองทาง ขนาดความกว้าง 6 เมตร การจัดให้มีทางเดินเท้ากว้าง 1 เมตร ทั้งนี้ จะเป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบการก่อสร้างอาคารโรงแรมและพื้นทีรีเทล ระยะเวลา 30 ปี มูลค่าลงทุนการก่อสร้างและพัฒนาโครงการ 839 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการ 13.49% ผลตอบแทนที่ รฟท. จะได้รับประมาณ 325 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุน 10 ปี ด้วยวิธีการเปิดประมูลเสนอราคาตามระเบียบการ รฟท.

ทั้งนี้โดยไม่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เนื่องจากไม่เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อการบริการสาธารณะ โดยปี 2565 รฟท. จะส่งมอบโครงการฯ ให้กับบริษัท เอสอาร์ที เอสเสท จำกัด (บริษัทลูกของการรถไฟฯ ในการบริหารสินทรัพย์) รับไปดำเนินการการเปิดประมูลหาเอกชนดำเนินการ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในปี พ.ศ. 2565 และดำเนินการก่อสร้างโครงการในปี พ.ศ. 2566
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดคลองสานครั้งนี้ เป็นเพียงรูปแบบแนวทางการพัฒนาพื้นที่เท่านั้น เอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการสามารถปรับเปลี่ยนการพัฒนาในรูปแบบอื่นหรือประเภทอื่นที่มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดได้ และได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาพื้นที่การรถไฟฯ เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของการศึกษาโครงการของหน่วยงานธุรกิจภาคเอกชน และทุกภาคส่วน นำมาใช้ในการดำเนินโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด.โดยมุ่งหวังว่าข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้รับจากการจัดประชุมสัมมนาจะช่วยให้รายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการมีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม มติ ครม.14 มีนาคม 2566 ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ

รฟท.โชว์ขบวนรถไฟท่องเที่ยวสุดหรู “SRT ROYAL BLOSSOM”ปักหมุดเปิดบริการกลางปีนี้

ได้รับความสนใจไม่น้อย หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดวาร์ปรถไฟท่องเที่ยวขบวนใหม่ SRT ROYAL BLOSSOM ที่ดัดแปลงมาจากขบวนรถญี่ปุ่น Hamanasu

การรถไฟฯ กาง 5 สถานที่กรมศิลปากรขึ้นบัญชีเป็น ‘โบราณสถาน’

รฟท.เผย ราชกิจจาฯ ประกาศกรมศิลปากรยกสถานที่ 5 แห่ง ขึ้นเป็น ‘โบราณสถาน’ในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร-เจ้าหน้าที่ เดินหน้าร่วมกันอนุรักษ์ จัดกิจกรรมดึงดูดคนไทย/ต่างชาติ ร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางรางของไทย สร้างชื่อเสียงให้ดังทั่วโลก