26 ต.ค. 2564 – รายงานการเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก หรือ Brand Audit โดย Break Free From Plastic เผยบริษัท โคคา-โคล่า และเป๊ปซี่โคติดอันดับผู้ก่อมลพิษพลาสติกมากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และยังเป็นผู้ก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย
กิจกรรมเก็บขยะชายหาดจัดขึ้นโดยอาสาสมัครกว่า 11,000 คนใน 45 ประเทศ เพื่อตรวจสอบว่าแบรนด์สินค้าใดเป็นผู้ก่อมลพิษมากที่สุด กิจกรรมแบรนด์ออดิทในปีนี้พบขยะพลาสติกจากบริษัทโคคา-โคล่ามากที่สุดโดยมีถึง 20,000 ชิ้น ซึ่งมากกว่าขยะพลาสติกจากแบรนด์ที่พบอันดับ 2 และ 3 รวมกัน และเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2562 สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าคำมั่นที่โคคา-โคล่าให้ไว้ว่าจะเก็บขวดกลับคืนในทุก ๆ การซื้อนั้นแทบไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นจากบริษัทเลย
เป๊ปซี่โคยังคงติดอันดับ 1 ใน 3 ของผู้ก่อมลพิษพลาสติกมากที่สุดเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกัน แม้ว่าเป๊ปซี่โคจะให้สัญญาโดยสมัครใจว่าจะลดการใช้พลาสติกใหม่ให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 เป๊ปซี่โคจะต้องเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการผลิตพลาสติกและไม่ให้บริษัทต้องติดอันดับในรายงานแบรนด์ออกดิทที่พบเจอขยะจากเป๊ปซี่โคเป็นจำนวนมาก
ตั้งแต่ที่มีการจัดทำแบรนด์ออดิทมาตั้งแต่ปี 2561 ปีนี้เป็นปีแรกที่ยูนิลิเวอร์ติดอันดับ 3 จากผู้ก่อมลพิษมากที่สุด และยังเป็นปีเดียวกับที่ยูนิลิเวอร์เป็นผู้สนับสนุนหลักในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่กลาสโกล์ว เนื่องจาก 99% ของพลาสติกทำมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และบริษัทเชื้อเพลงฟอสซิลกำลังพยายามมุ่งเน้นธุรกิจพลาสติกเพื่อเพิ่มแหล่งรายได้ บทบาทของยูนิลีเวอร์ใน COP26 จึงดูสวนทางเป็นอย่างยิ่ง
บริษัทเหล่านี้ต่างก็มีส่วนร่วมอย่างมหาศาลทั้งในวิกฤตมลพิษพลาสติกและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดย อาบิเกล อากีลาร์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลาสติกระดับภูมิภาค กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ไม่น่าแปลกใจเลยที่ชื่อของผู้ก่อมลพิษมากที่สุดในโลกติดต่อกัน 4 ปีเป็นบริษัทใหญ่บริษัทเดิม บริษัทเหล่านี้อ้างว่าได้พยายามแก้ไขปัญหาพลาสติก แต่พวกเขาก็ยังคงลงทุนในทางออกผิด ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง แล้วยังร่วมมือกับบริษัทน้ำมันต่าง ๆ เพื่อก่อพลาสติกมากขึ้นอีก เพื่อหยุดปัญหาเหล่านี้และต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทข้ามชาติเช่น โคคา-โคล่า เป๊ปซี่โค และยูนิลีเวอร์ จะต้องหยุดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้ง และหลีกห่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิล”
อาเมด อีลาดจ์ ทาเยบ เยาวชนและเลขาธิการของ Youth for Climate Tunisia กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่ต้องรับช่วงต่อวิกฤตพลาสติกและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น โดยบริษัทที่ก่อมลพิษเหล่านี้ ไม่ได้มีมาตรการหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการหลีกเลี่ยงวิกฤตนี้เลย แผนเพิ่มกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกทำให้โลกถูกขังอยู่ในวงจรหายนะของการปล่อยมลพิษที่สูงขึ้น และยังทำลายโอกาสที่จะคงอุณภูมิโลกไม่ให้ร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เราจะดำเนินธุรกิจในแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เราจะต้องบังคับให้บริษัทผู้สร้างมลพิษเหล่านี้แสดงความรับผิดชอบ”
ในประเทศไทย อาสาสมัครกรีนพีซได้ร่วมเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา คุ้งบางกะเจ้า ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 โดยเก็บขยะได้ทั้งหมด 6,326 ชิ้น สามารถระบุแบรนด์ได้ 1,664 ชิ้น และไม่สามารถระบุแบรนด์ได้ 4,662 ชิ้น (เป็นขยะจำพวกถุงพลาสติกใส่อาหาร เศษพลาสติก โฟม ยางวง หลอด เป็นต้น) นอกจากนี้กรีนพีซยังได้ร่วมกับนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรีเก็บและตรวจสอบขยะในครัวเรือน และได้รวบรวมอยู่ในรายงานแบรนด์ออดิทฉบับล่าสุดนี้ด้วย
Break Free From Plastic คือ การเคลื่อนไหวระดับโลกซึ่งมีวิสัยทัศน์เพื่ออนาคตที่ปราศจากมลพิษพลาสติก นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนกันยายน 2559 องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 2,000 องค์กร และบุคคลกว่า 11,000 คน จากทั่วโลกได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งและเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษพลาสติก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จุดยืนไทยต่อเวทีโลกเดือด COP29
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาติดอันดับท็อปเท็นของโลกที่มีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในระยะยาว EM-DAT รายงานข้อมูล 20 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว 146 ครั้ง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต 0.21
UNEP จับมือจุฬาฯ เสนอทางออก ลดมลพิษพลาสติก
ทุกๆ ปี พลาสติกมากกว่า 400 ล้านตันผลิตขึ้นมาใช้บนโลก ครึ่งหนึ่งของพลาสติกออกแบบให้ใช้ครั้งเดียวทิ้ง จากข้อมูลมีเพียง 10 เปอร์เซ็นเท่านั้นถูกนําไปรีไซเคิลจริง
นับถอยหลังค่าเฉลี่ยใหม่ PM 2.5 คุมฝุ่นพิษ
ช่วงสองเดือนมานี้หลายคนเจ็บป่วยด้วยอาการภูมิแพ้กำเริบ อักเสบบวมในช่องจมูก น้ำมูกไหลมากกว่าปกติ เพราะมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่หายใจเข้าไปในวันที่สภาพอากาศย่ำแย่ เมืองห่มคลุมด้วยหมอกควันและมลพิษอากาศ ปัญหาฝุ่นพิษบั่นทอนสุขภาพคนไทยเป็นประจำทุกปี