21 มี.ค. 2565 – สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนทําให้ผมนึกถึงสองทฤษฏีเกี่ยวกับสองกับดักสําคัญในการเมืองระหว่างประเทศที่ผมเคยเขียนในคอลัมน์นี้ คือ Thucydides Trap และ Kindleberger Trap เพราะโลกเราดูเหมือนว่ากําลังเดินเข้าสู่สองกับดักนี้ ซึ่งถ้าไม่หยุดหรือไม่พยายามหลีกเลี่ยง ความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างมากทั้งต่อต่อมนุษยชาติและเศรษฐกิจโลก นี้คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
กับดักแรก Thucydides Trap พูดถึงแนวโน้มของการเกิดสงครามเมื่อประเทศที่เติบโตชึ้นมาเป็นมหาอํานาจใหม่สร้างความระแวงและความหวั่นวิตกให้กับประเทศที่เป็นมหาอํานาจเดิมว่าอาจถูกล้มล้าง ถูกแซงหน้า หรือสูญเสียความเป็นผู้นํา นําไปสู่การเกิดขึ้นของสงครามระหว่างมหาอํานาจเก่ากับมหาอํานาจใหม่ โดยอ้างบทเรียนจากสงคราม 26 ปีที่เกิดขึ้นระหว่างกรีก (Athens) กับสปาตา (Sparta) สมัยปี430-404BC คือก่อนคริสการ ที่สปาตาเป็นมหาอํานาจเดิมหวั่นวิตกและระแวงการเติบใหญ่ของเอเธนส์ที่เป็นมหาอํานาจใหม่จนนําไปสู่สงคราม Peloponnesian war ที่ถือเป็นสงครามโลกยุคแรกๆ ซึ่งถ้าเปรียบกับเหตุการณ์ตอนนี้ ประเทศมหาอำนาจเดิมขณะนี้ก็คือสหรัฐและประเทศมหาอํานาจใหม่ก็คือจีน หรือจีนกับรัสเซีย
ส่วนกับดักที่สอง Kindleburger Trap พูดถึงการไม่ทําหน้าที่ของประเทศมหาอํานาจในฐานะประเทศผู้นําที่จะดูแลประโยชน์ทางสาธารณะของโลก คือรักษาระเบียบการเมืองโลก จนเกิดช่องว่าง เกิดปัญหาระหว่างประเทศ และเปิดพิ้นที่ให้ประเทศอํานาจนิยมขยายอิทธิพลและเติบโต สร้างความไม่มั่นคงต่อเสถียรภาพ ความปลอดภัย และระเบียบการเมืองโลก จนนําไปสู่การเกิดขึ้นของสงครามในที่สุด โดยอ้างถึงสถานการณ์การเมืองโลกปี1930s ที่อังกฤษขณะนั้นเป็นประเทศมหาอํานาจแต่เป็นขาลงคือกําลังเสื่อมอํานาจ กับสหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศมหาอํานาจใหม่ คือกําลังเป็นขาขึ้น ทั้งสองประเทศมหาอํานาจไม่ทําหน้าที่ประเทศผู้นําที่จะดูแลประโยชน์ทางสาธารณะเพื่อรักษาระเบียบการเมืองโลก เลือกที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว จึงเปิดพื้นที่ให้ประเทศอํานาจนิยมขณะนั้นเติบโตและขยายอิทธิพล คือ นาซีเยอรมันและประเทศในกลุ่มอักษะ นําไปสู่การเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งถ้าเปรียบกับเหตุการณ์ตอนนี้ ประเทศมหาอํานาจที่ไม่ทําหน้าที่คือ สหรัฐ และอาจรวมจีนในฐานะประเทศมหาอํานาจอันดับสองที่กําลังเติบโต เปิดพื้นที่ให้ประเทศอํานาจนิยม เช่น รัสเซีย เติบโตและขยายอิทธิพลจนนําไปสู่สถานการณ์สงครามอย่างที่กําลังเกิดขึ้น
มารค์ ทเวน นักประพันธ์ชื่อดังชาวอเมริกันเคยกล่าวว่า History never repeat, but it rhymes คือ ประวัติศาสตร์จะไม่ซํ้ารอย แต่สัมผัสกัน หมายความว่า สิ่งที่คล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอาจเกิดขึ้นได้อีก แม้จะไม่ซํ้ากันหรือเหมือนกันทั้งหมด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกเราอาจกําลังเดินเข้าสู่กับดักทั้งสองกับดักขณะนี้ เริ่มจาก Kindleberger Trap ที่ภาวะผู้นําของสหรัฐในฐานะประเทศมหาอํานาจและประเทศผู้นําของกลุ่มเสรีนิยมตะวันตก ได้เสื่อมถอยลงหลังมีชัยชนะเหนือกลุ่มประเทศสังคมนิยมในช่วงต้นทศวรรษ1990s ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ คือสหภาพโซเวียตล่มสลายปี 1991 และจีนตอบรับเศรษฐกิจระบบทุนนิยมโดยเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกปี 2001
ความเสื่อมถอยในภาวะผู้นําสหรัฐเป็นผลจากการเมืองในสหรัฐเองที่นํามาสู่ความแตกแยกของคนในสังคมจนกระทบศรัทธาที่ประชาชนมีต่อระบอบประชาธิปไตย จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 และความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากความสุดโต่งของระบบทุนนิยมสหรัฐจนทําให้เศรษฐกิจสหรัฐที่เคยเข็มแข็งเริ่มอ่อนแอ และจากความผิดพลาดในนโยบายการเมืองระหว่างประเทศที่สหรัฐเข้าแทรกแซงการเมืองประเทศอื่นแต่ทําไม่สําเร็จและบางครั้งดูไม่มีเหตุผลพอ ทําให้สหรัฐขาดความไว้เนื้อเชื่อใจจากประเทศที่เป็นพันธมิตร ที่สําคัญสหรัฐสมัยประธานาธิบดีทรัมพ์มองการทําหน้าที่สาธารณะในฐานะประเทศผู้นําว่าเป็นภาระ ได้ถอนบทบาทสหรัฐออกจากเวทีโลกในเรื่องที่สําคัญ เช่น การค้าระหว่างประเทศ การช่วยเหลือประเทศที่กําลังพัฒนา ภาวะโลกร้อน ผลคือโลกเกิดช่องว่างที่จะไปต่อเพราะขาดประเทศที่เป็นผู้นํา
ขณะเดียวกันช่องว่างดังกล่าวก็เปิดพื้นที่ให้จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทสูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก เป็นผู้สนับสนุนหลักของระบบพหุภาคีคือการค้าระหว่างประเทศ ช่วยเหลือการพัฒนาประเทศที่ยากจน เป็นผู้นําด้านเทคโนโลยี และเติบโตเป็นประเทศมหาอํานาจอันดับสองทางเศรษฐกิจ ขณะที่รัสเซียใช้ประโยชน์และได้ประโยชน์เต็มที่จากระบบโลกาภิวัตน์และระบบทุนนิยม กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก เป็นผู้ส่งออกนํ้ามันอันดับสามของโลก และใช้ความมั่งคั่งสะสมแสนยานุภาพทางทหารและแผ่อิทธิพลทางการเมืองในประเทศต่างๆเพื่อทัดทานการแผ่อํานาจทางการเมืองของสหรัฐและประเทศตะวันตก พร้อมกับขยายอิทธพลของตนในกลุ่มประเทศสหภาพโซเวียตเดิมอย่างที่เห็น
ในลักษณะนี้จึงพูดได้ว่าการเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีนและการแผ่อิทธิพลทางการเมืองของรัสเซียในกลุ่มประเทศสหภาพโซเวียตเดิม จริงๆ ก็คือผลผลิตของ Kindleberger Trap ที่การไม่ทําหน้าที่สาธารณะของประเทศมหาอํานาจในฐานะประเทศผู้นําที่ต้องดูแลระเบียบการเมืองโลกได้เปิดโอกาสให้ประเทศกลุ่มอํานาจใหม่ทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหารเติบโต ในบริบทนี้สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนขณะนี้ก็คือตัวอย่างของการเติบโตและการแผ่อิทธิพลของกลุ่มอํานาจใหม่ในภาวะที่ระเบียบการเมืองโลกเดิมไม่มีการดูแลเพราะประเทศที่เป็นประเทศมหาอํานาจไม่ทําหน้าที่
คําถามที่ตามมาคือเมื่อกลุ่มอํานาจใหม่เริ่มต้นแล้ว โลกจะเดินเข้าสู่กับดักที่สอง คือ Thucydides Trap หรือไม่และเมื่อไรที่ประเทศมหาอํานาจเดิมจะระแวงประเทศกลุ่มอํานาจใหม่จนนําไปสู่การเกิดขึ้นของสงคราม
ในเรื่องนี้ถ้าดูบริบททางประวัติศาสตร์ของ Thucydides Trap ที่มีการศึกษาการเปลี่ยนผ่านของอํานาจจากประเทศมหาอํานาจเดิมไปสู่ประเทศมหาอํานาจใหม่ การศึกษาพบว่าการท้าทายอํานาจเดิมโดยอํานาจใหม่ส่วนใหญ่จะนําไปสู่การเกิดขึ้นของสงคราม คือ 12 ใน 16 ครั้ง แต่ข้อสรุปนี้ในแง่งานวิจัยก็ถูกตั้งคําถามมาก ดังนั้น ที่พอจะตอบได้คือการเกิดขึ้นของสงครามคงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้แต่ไม่แน่นอนเสมอไป แต่ที่แน่ๆ คือ Thucydides Trap จะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเร็ว แต่เป็นกระบวนการที่ใช้เวลา และกระบวนการนี้เมื่อเริ่มต้นก็จะพัฒนาไปตามอิทธิพลของปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบนําไปสู่ทั้งการเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นของสงครามในที่สุด แต่หนึ่งในเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในกระบวนการดังกล่าวโดยเฉพาะในช่วงต้นคือ การเปลี่ยนของระเบียบการเมืองโลก ขับเคลื่อนโดยความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอํานาจเดิมกับกลุ่มอํานาจใหม่ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยระหว่างสองกลุ่มนี้
ในลักษณะนี้ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็จะทําให้การเมืองระหว่างประเทศและระเบียบการเมืองโลกเปลี่ยนไป และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต คือ
หนึ่ง โลกจะไม่สงบเหมือนเดิมและจะไม่ใช่โลกที่สันติสุขอย่างที่เคยมี ทุกประเทศจะระวังสงครามและกังวลผลที่สงครามจะมีต่อประเทศตน นําไปสู่การให้ความสําคัญกับการป้องกันประเทศและการสร้างความเข็มแข็งทางการทหาร ทรัพยากรที่ประเทศมีจะถูกนําไปใช้จ่ายด้านการทหารมากขึ้น ทําให้ปัญหาสําคัญอื่นๆ ทั้งสังคมและเศรษฐกิจที่ควรต้องแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชนจะเสียโอกาส ทําให้การแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศยี่งมีข้อจํากัดมากขึ้น
สอง ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐ กลุ่มประเทศนาโต้ และกลุ่มประเทศนอกนาโตที่เข้าร่วมมาตรการควํ่าบาตรรัสเซียจะถูกยกระดับเป็นความร้าวฉานทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อาจไม่หวนคืนสู่ระดับที่เป็นปรกติได้ จะมีการตอบโต้ด้วยการแบนหรือควํ่าบาตรสินค้า ห้ามทําธุรกิจและห้ามเดินทางระหว่างกัน ทําให้โลกจะแคบลง มีประเด็นเรื่องความปลอดภัยและการเลือกข้างอยู่ตลอด กระทบการทําธุรกิจและการใช้ชีวิตประจําวันของประชาชน
สาม สงครามทําให้รัสเซียถูกปิดล้อมทั้งทางด้านการทหารและเศรษฐกิจ กดดันให้รัสเซียต้องพึ่งพาและใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ทําให้จีนกับรัสเซียจะเป็นเหมือนกลุ่มอํานาจใหม่ที่มีความพร้อมร่วมกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การทหาร เทคโนโลยี กําลังคน และทรัพยากรธรรมชาติเข็มแข็งพอที่จะต่อกรกับกลุ่มอํานาจเดิม และเป็นทางเลือกให้ประเทศอื่นๆ ในการทําการค้าและธุรกิจ ผลคือโลกาภิวัตน์อย่างที่เคยมีจะหายไป เศรษฐกิจโลกจะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม ที่ประเทศในแต่ละกลุ่มจะค้าขายระหว่างกันเป็นหลัก
ดังนั้น ชัดเจนว่าโลกกําลังเคลื่อนเข้าสู่ระเบียบการเมืองโลกใหม่ที่จะเป็นระเบียบการเมืองโลกแบบสงครามเย็นที่จะเป็นการเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยทางการเมืองระหว่างประเทศสองกลุ่ม นําโดยประเทศมหาอํานาจเก่าและมหาอํานาจใหม่ ในทางเศรษฐกิจ โลกาภิวัตน์จะถูกย่อส่วนให้เล็กลง บั่นทอนการค้าการลงทุน กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก คําถามคือระเบียบการเมืองแบบสงครามเย็นแบบนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหนและจะจบลงด้วยสงครามร้อนแบบ Thucydides หรือไม่
แต่คําถามที่ต้องตอบก่อนคือถ้าสงครามเกิดขึ้นจริง จะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลอะไร อะไรคือปัจจัยเบื้องหลังการตัดสินใจทําสงคราม เพราะเท่าที่ดูคงไม่ใช่การต่อสู้ทางชนชั้น หรือการต่อสู้เพราะลัทธิการเมืองที่ต่างกัน หรือเพราะระบบเศรษฐกิจที่ต่างกัน
นี่คือคําถาม
เขียนให้คิด
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล