วิกฤติผู้ลี้ภัยยูเครนทะลุ 1.5 ล้าน เพิ่มเร็วสุดนับแต่สงครามโลก

จำนวนผู้อพยพลี้ภัยออกจากยูเครนมีมากกว่า 1.5 ล้านคนแล้ว ในช่วงเวลา 10 วัน เป็นวิกฤติผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะผู้นำยูเครนเรียกร้องขอเครื่องบินรบต่อกรรัสเซีย ส่วน "วลาดิมีร์ ปูติน" ขู่ชาติไหนกำหนดเขตห้ามบินถือว่ามีส่วนร่วมในการขัดแย้งด้วยอาวุธกับรัสเซีย

ชาวยูเครนอพยพออกจากเมืองเอียร์ปิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเคียฟ ที่กำลังโดนรัสเซียยิงปืนใหญ่และระเบิดถล่มอย่างหนักเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 (Photo by Aris Messinis / AFP)

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 2565 อ้างคำแถลงผ่านทวิตเตอร์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในวันเดียวกันว่า ภายในเวลา 10 วัน มีผู้ลี้ภัยจากยูเครนข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านแล้วมากกว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งถือเป็น "วิกฤติผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในยุโรปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2"

เมื่อวันเสาร์ หน่วยงานแห่งนี้ประกาศว่า มีผู้ลี้ภัยออกจากยูเครนเกือบ 1.37 ล้านคน ที่เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านของยูเครน ทั้งโปแลนด์, ฮังการี, มอลโดวา, โรมาเนีย และสโลวาเกีย

กองกำลังป้องกันชายแดนของโปแลนด์เปิดเผยในวันอาทิตย์ว่า นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึงขณะนี้มีผู้คนหนีข้ามพรมแดนเข้าโปแลนด์แล้ว 922,400 คน

เจ้าหน้าที่ยูเอ็นกล่าวกันว่า พวกเขาคาดการณ์ว่าคลื่นผู้ลี้ภัยจะรุนแรงขึ้นในช่วงยามที่กองทัพรัสเซียรุกโจมตีหนักหน่วงขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเคียฟ

เมื่อวันเสาร์ รัสเซียยินยอมหยุดยิงชั่วคราวที่เมืองท่ามาริอูโปลและเมืองโวลโนวาคาที่อยู่ติดกันในภาคใต้ เพื่อเปิดทางให้ยูเครนอพยพพลเรือนออกจากเมืองท่าสำคัญติดทะเลอาซอฟแห่งนี้ ซึ่งโดนทหารรัสเซียปิดล้อมนานหลายวัน แต่การอพยพถูกเลื่อนเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าละเมิดการหยุดยิง อย่างไรก็ดี ทางการยูเครนเตรียมจะทำการอพยพอีกครั้งในช่วงค่ำของวันอาทิตย์ตามเวลาไทย

ในพื้นที่อื่น กองทัพรัสเซียยังคงเดินหน้าถล่มอย่างต่อเนื่อง กองทัพยูเครนโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันอาทิตย์ว่า ทหารกำลัง "สู้รบอย่างดุเดือด" กับทหารรัสเซียเพื่อควบคุมพรมแดนที่เมืองมีโคลาอีฟในภาคใต้ และเมืองเชอร์นิฮิฟในภาคเหนือ รวมถึงยังมีปฏิบัติการที่แคว้นโดเนตสค์ในภาคตะวันออก แต่ความพยายามหลักเน้นที่การปกป้องเมืองมาริอูโปล

ผู้อพยพลี้ภัยตะเกียกตะกายข้ามสะพานที่ถูกทำลายในเมืองเอียร์ปิด เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 (Photo by Aris Messinis / AFP)

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ซึ่งขอให้เพื่อนบ้านในยุโรปตะวันออกส่งเครื่องบินรบที่ผลิตโดยรัสเซียมาให้ เนื่องจากนักบินยูเครนเคยฝึกมาก่อน แถลงปลุกขวัญประชาชนอีกครั้งเมื่อคืนวันเสาร์ โดยขอให้ชาวยูเครนในพื้นที่ที่ทหารรัสเซียยึดครอง ออกมาต่อสู้ขับไล่ปิศาจนี้ออกไปจากเมือง เขายังอ้างด้วยว่า ทหารยูเครนกำลังตีโต้ตอบทหารรัสเซียรอบเมืองคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับสองในภาคตะวันออก และสร้างความสูญเสียแก่ฝ่ายรุกรานชนิดที่คนพวกนั้นไม่เคยพบเจอแม้แต่ในฝันร้าย

เมื่อคืนวันเสาร์ เซเลนสกีได้วิดีโอคอลล์กับสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐ สื่ออเมริกันรายงานว่า เขาได้ร้องขอบรรดาพันธมิตรในโลกตะวันตกช่วยจัดส่งอากาศยานมาให้ รวมถึงเรียกร้องอีกครั้งให้เพิ่มความช่วยเหลือด้านอาวุธ, ห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย, กำหนดเขตห้ามบิน และขอให้วีซ่าและมาสเตอร์การ์ดระงับบริการบัตรเครดิตในรัสเซีย โดยในวันอาทิตย์ ทั้งสองบริษัทนี้ก็ประกาศระงับการดำเนินการในรัสเซียเป็นที่เรียบร้อย

สหรัฐเคยกล่าวว่าจะมอบอาวุธให้ยูเครนเพิ่มเติม โดยทำเนียบขาวเผยว่า สหรัฐกำลังทำงานร่วมกับโปแลนด์ เพื่อนบ้านของยูเครนที่กำลังพิจารณาว่าจะส่งเครื่องบินรบให้ยูเครนหรือไม่ ด้านสภาคองเกรสรับปากว่าจะจัดตั้งงบช่วยเหลือฉุกเฉินเพิ่มอีก 10,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเติมจากการอนุมัติความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่า 350 ล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อน ส่วนข้อเรียกร้องให้ห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซียนั้น ทำเนียบขาวยังคงปฏิเสธ ด้วยเกรงว่าจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอีก และทำร้ายผู้บริโภคในสหรัฐที่เผชิญกับปัญหาภาวะเงินเฟ้ออยู่แล้ว

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่เดินทางมาเยี่ยมผู้ลี้ภัยที่ชายแดนโปแลนด์เมื่อวันเสาร์ กล่าวขณะเยือนมอลโดวาเมื่อวันอาทิตย์ว่า สหรัฐกำลังทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับโปแลนด์ เพื่อทำข้อตกลงจัดส่งเครื่องบินรบให้ยูเครน และกำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ยูเครนเพื่อประเมินความต้องการของพวกเขาจนนาทีสุดท้าย

สื่อหลายสำนักของสหรัฐรายงานเมื่อวันเสาร์ว่า ข้อตกลงที่เป็นไปได้คือโปแลนด์จัดส่งเครื่องบินยุคสหภาพโซเวียตให้แก่ยูเครน เพื่อแลกกับการที่สหรัฐจะจัดส่งเครื่องบินเอฟ-16 ไปทดแทน

ด้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวเตือนเมื่อวันเสาร์ว่า การกระทำของยูเครนอาจทำให้ประเทศนี้สูญเสียอธิปไตย "ฝ่ายบริหาร (ยูเครน) ในปัจจุบันต้องเข้าใจว่า หากพวกเขายังคงทำในสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นี้ต่อไป พวกเขากำลังทำให้อนาคตความเป็นรัฐของยูเครนไม่แน่นอน" ผู้นำรัสเซียกล่าว "และถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น พวกเขาจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบทั้งหมด"

ปูตินยังเปรียบเทียบการคว่ำบาตรของตะวันตกกับ "การประกาศสงคราม" แต่ "ขอบคุณพระเจ้าที่ยังไม่ไปถึงจุดนั้น" ขณะเดียวกัน เขาเตือนนาโตเรื่องการกำหนดเขตห้ามบินด้วยว่า จะก่อผลลัพธ์ร้ายแรงมหาศาล ไม่เพียงต่อยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงทั้งโลก "การเคลื่อนไหวใดๆ ไปในทิศทางนี้ เราจะถือว่าประเทศนั้นๆ มีส่วนร่วมในการขัดกันด้วยอาวุธ".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ช้างศึก' เปิดชื่อ 23 นักเตะลุยอุ่นเครื่องปะทะ 'รัสเซีย-เวียดนาม' มีหน้าใหม่ 5 ราย

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศรายชื่อ 23 นักฟุตบอลทีมชาติไทย ชุดทำการแข่งขัน ฟุตบอลรายการ LPBANK CUP 2024 ที่ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน 2567 ตามปฏิทินฟีฟ่าเดย์ ภายใต้การนำทีมของ มาซาทาดะ อิชิอิ หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวญี่ปุ่น

ยูเครนกล่าวหาว่าทหารรัสเซียปล้นทรัพย์สินในพื้นที่เคิร์สค์ที่ถูกยึด

ทหารยูเครนได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในเคิร์สค์แล้ว และกองทัพรัสเซียยังไม่สามารถตอบโต้การโจมตีในพื้นที่ดังกล่าวได้ ขณะนี้มีวิดีโอ