ไม่ใช่คู่ขัดแย้งรัสเซีย นาโตเมินกำหนด 'เขตห้ามบิน' เหนือยูเครน

กลัวเปิดสงครามกับรัสเซีย เลขาธิการองค์การนาโตย้ำชัดเมื่อวันศุกร์ นาโตจะไม่กำหนดเขตห้ามบินเหนือยูเครน หลังจากประธานาธิบดียูเครนเรียกร้องให้กำหนดเขตห้ามบินเพื่อหยุดการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย

ภาพซากเครื่องบินจู่โจม ซูคอย ซู-25 ของรัสเซีย ที่ตกนอกเมืองโวลนาวาคาของยูเครน ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 (Photo by Handout / Joint Forces Operation press service / AFP)

เอเอฟพีกล่าวว่า เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต ยืนกรานปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากยูเครน ภายหลังประชุมฉุกเฉินกับรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มนาโตที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2565 โดยเขากล่าวว่า หนทางเดียวในการบังคับใช้เขตห้ามบินก็คือส่งเครื่องบินขับไล่ของนาโตเข้าน่านฟ้ายูเครน แล้วบังคับใช้เขตห้ามบินนี้ด้วยการยิงเครื่องบินของรัสเซียตก ซึ่ง "หากเราทำแบบนั้น เราจะจบลงด้วยบางสิ่งบางอย่างที่ลงท้ายกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบในยุโรป มีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้คนมากขึ้น นี่คือเหตุผลที่เราตัดสินใจอย่างเจ็บปวดในครั้งนี้"

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน พยายามเรียกร้องหลายครั้งให้กลุ่มนาโต ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ บังคับใช้เขตห้ามบิน เพื่อช่วยหยุดยั้งการถล่มทางอากาศแบบไม่เลือกหน้าของรัสเซียตามเมืองต่างๆ ของยูเครน

สโตลเทนเบิร์กเตือนว่า วันข้างหน้ามีแนวโน้มจะเลวร้ายกว่านี้อีก มีคนล้มตายมากขึ้น ทุกข์ทรมานมากขึ้น และมีการทำลายล้างมากขึ้น เนื่องจากกองทัพรัสเซียนำอาวุธยุทโธปกรณ์หนักกว่านี้เข้ามาและเดินหน้าโจมตีทั่วยูเครนต่อไป

กลุ่มนาโตส่งกำลังทหารหลายพันนายมาเสริมในยุโรปตะวันออกที่เป็นแนวหน้าใกล้กับรัสเซียที่สุด และยังส่งอาวุธมาให้ยูเครนป้องกันตนเอง แต่นาโตปฏิเสธที่จะแทรกแซงทางทหาร ด้วยกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซียที่อาจบานปลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้

สโตลเทนเบิร์กกล่าวว่า นาโตจะทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อปกป้องและป้องกันดินแดนทุกตารางนิ้วของนาโต นาโตเป็นกลุ่มพันธมิตรเชิงป้องกัน งานหลักของเราคือทำให้สมาชิก 30 ประเทศของเราปลอดภัย

"เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งนี้ และเรามีความรับผิดชอบที่ต้องทำให้แน่ใจว่า ความขัดแย้งนี้จะไม่ขยายวงและลุกลามออกมานอกยูเครน" เขาย้ำ

ยูเครน ซึ่งหวังจะเข้าเป็นสมาชิกนาโตและเป็นสิ่งที่รัสเซียไม่อาจยอมรับได้ กล่าวว่า หากนาโตไม่เปิดน่านฟ้ายูเครน ก็ควรจะส่งเครื่องบินรบและระบบป้องกันภัยทางอากาศมาให้ยูเครนใช้หยุดยั้งการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย

ถึงบัดนี้ ชาติยุโรปยังยืนกรานว่าจะไม่ส่งเครื่องบินมาให้ และอาวุธที่ส่งมาส่วนใหญ่เป็นอาวุธเบา กับพวกมิสไซล์ต่อต้านรถถังและต่อต้านอากาศยานที่ใช้เครื่องยิงแบบประทับบ่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ช้างศึก' เปิดชื่อ 23 นักเตะลุยอุ่นเครื่องปะทะ 'รัสเซีย-เวียดนาม' มีหน้าใหม่ 5 ราย

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศรายชื่อ 23 นักฟุตบอลทีมชาติไทย ชุดทำการแข่งขัน ฟุตบอลรายการ LPBANK CUP 2024 ที่ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน 2567 ตามปฏิทินฟีฟ่าเดย์ ภายใต้การนำทีมของ มาซาทาดะ อิชิอิ หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวญี่ปุ่น