ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ลงนามเอกสารรับรองเอกราชสาธารณรัฐกบฏ 2 แห่งในภาคตะวันออกของยูเครน พร้อมสั่งส่งทหารไป "รักษาสันติภาพ" ตะวันตกรุมประณามเตรียมประกาศมาตรการคว่ำบาตร ทูตสหรัฐประจำยูเอ็นชี้เป็น "ข้ออ้างในการทำสงคราม"
รายงานของรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 กล่าวว่า การลงนามคำสั่งอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเกิดขึ้นภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงที่ทำเนียบเครมลิน และการแถลงยาวเหยียดแสดงความคับข้องใจต่อโลกตะวันตกเมื่อวันจันทร์ โดยปูตินกล่าวเตือนว่า การใช้ยูเครนเป็นเครื่องมือในการเผชิญหน้ากับรัสเซียเป็นการคุกคามรัสเซียอย่างร้ายแรง
ปูติน ซึ่งมีท่าทีโกรธอย่างเห็นได้ชัด ย้ำหลายครั้งว่า ภาคตะวันออกของยูเครนเป็นดินแดนรัสเซียโบราณ ยูเครนในขณะนี้เป็นรัฐที่ล้มเหลวและเป็น "หุ่นเชิด" ของตะวันตก พร้อมกับกล่าวหารัฐบาลเคียฟว่าข่มเหงผู้ที่พูดภาษารัสเซียและกำลังเตรียมการโจมตีทางทหารแบบสายฟ้าแลบในดินแดนโดเนตสค์และลูฮานสค์ที่ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากเคียฟ
"ผมคิดว่าจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างที่ควรจะทำมานานแล้ว ในการยอมรับความเป็นเอกราชและอธิปไตยของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสค์โดยทันที" ปูตินกล่าว โดยสถานีโทรทัศน์ของทางการรัสเซียเผยแพร่ภาพที่เขาลงนามคำสั่งรับรองเอกราชของสาธารณรัฐทั้งสอง โดยมีผู้นำกบฏแบ่งแยกดินแดนจากโดเนตสค์และลูฮานสค์มาอยู่ที่นั่นด้วย
ทำเนียบเครมลินกล่าวว่า ก่อนหน้านั้น ปูตินได้โทรศัพท์คุยกับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เพื่อประกาศการตัดสินใจของเขา
หลังการรับรองเอกราชอย่างเป็นทางการ ปูตินยังได้ลงนามคำสั่งให้กระทรวงกลาโหมส่งทหารเข้าไปปฏิบัติภารกิจ "รักษาสันติภาพ" ในพื้นที่กบฏทางภาคตะวันออกของยูเครน รายงานรอยเตอร์อ้างพยานว่า เห็นรถถังหลายคันและยุทโธปกรณ์อื่นๆ ของรัสเซียเคลื่อนเข้าเมืองโดเนตสค์ที่กบฏควบคุมอยู่ ขณะเอเอฟพีกล่าวว่า ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เลอฟิกาโรของฝรั่งเศสโพสต์วิดีโอที่เผยให้เห็นขบวนรถถัง, ปืนใหญ่ และยานหุ้มเกราะ มุ่งหน้ามายังทิศทางของเมืองโดเนตสค์
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ซึ่งได้รับโทรศัพท์แสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขันจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แถลงต่อประชาชนเมื่อวันอังคาร กล่าวหารัสเซียว่าทำลายการพูดคุยสันติภาพ และยืนกรานว่ายูเครนจะไม่ยอมสูญเสียดินแดน
คำประกาศของปูตินเรียกเสียงประณามอย่างรุนแรงจากสหรัฐและโลกตะวันตก ซึ่งรวมประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติวาระฉุกเฉินที่นิวยอร์กเมื่อคืนวันจันทร์ พร้อมกับคำขู่ทั้งจากสหรัฐ, เยอรมนี, ฝรั่งเศส และอังกฤษ ว่าเตรียมจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดเจนว่า การรับรองเอกราชแคว้นกบฏและส่งทหารเข้าไปนั้น เป็นก้าวใหญ่ก้าวแรกของการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบตามที่รัฐบาลตะวันตกเคยเตือนมานานหลายสัปดาห์หรือไม่
ลินดา โทมัส-กรีนฟีลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวต่อที่ประชุมคณะมนตรีฯ ว่า การรับรองแคว้นกบฏเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างข้ออ้างเพื่อทำสงคราม และการกล่าวถึงทหารรักษาสันติภาพนั้นเป็นเรื่อง "ไร้สาระ"
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต กล่าวหารัสเซียเช่นกันว่าพยายามหากข้ออ้างเพื่อรุกรานยูเครนเพิ่มเติม รัสเซียเคยผนวกแคว้นไครเมียของยูเครนเป็นของตนเมื่อปี 2547
ด้านวาซิลี เนเบนซ์ยา เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น กล่าวว่า รัสเซียยังคงเปิดกว้างสำหรับทางออกทางการทูต "อย่างไรก็ดี การปล่อยให้เกิดการนองเลือดครั้งใหม่ในดอนบาสเป็นสิ่งที่เราไม่มีความตั้งใจจะทำ" เขากล่าวถึงภูมิภาคที่ครอบคลุมทั้งโดเนตสค์และลูฮานสค์ไว้ด้วย
ในที่ประชุมนี้ ผู้แทนของจีนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น และขอให้ใช้การทูตเป็นทางออกสำหรับวิกฤติ
ความหวาดกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งทำให้สหรัฐสั่งให้เจ้าหน้าที่ทูต ซึ่งย้ายจากกรุงเคียฟไปยังเมืองลวิฟในภาคตะวันตกของยูเครนแล้วก่อนหน้านี้ อพยพไปยังโปแลนด์เมื่อคืนวันจันทร์ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐรายหนึ่งกล่าวว่า การวางกำลังของรัสเซียในพื้นที่ที่กบฏควบคุมอยู่นั้นยังไม่ถือว่าเป็น "การรุกรานเพิ่มเติม" ที่จะกระตุ้นให้เกิดการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงที่สุด เนื่องจากรัสเซียมีกำลังทหารอยู่ที่นั่นอยู่ก่อนแล้ว แต่ปฏิบัติการที่กว้างขึ้นอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
พัฒนาการล่าสุดสร้างความตื่นตระหนกต่อตลาดหุ้นทั่วโลกในวันจันทร์ อัตราแลกเปลี่ยนของสกุล เงินปลอดภัยเช่นเงินเยนแข็งค่าขึ้น ส่วนราคาน้ำมันก็พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 7 ปี
การรับรองสาธารณรัฐกบฏจะทำให้ทางเลือกสำหรับการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามหดแคบลง เพราะถือเป็นการปฏิเสธข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 7 ปีก่อน ที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย นอกจากนี้ ยังสร้างความกังขาว่าการประชุมสุดยอดระหว่างปูตินและประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังจะเกิดขึ้นได้หรือไม่
ไบเดน ซึ่งโทรศัพท์หารือกับมาครงและชอลซ์ ได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีให้ยุติการดำเนินธุรกิจของสหรัฐทั้งหมดในแคว้นกบฏทั้ง 2 แห่งนี้แล้ว และห้ามการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากพื้นที่เหล่านี้ เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า มาตรการนี้ไม่เกี่ยวกับการคว่ำบาตรที่สหรัฐและพันธมิตรได้เตรียมกันไว้ หากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ โดยทำเนียบขาวจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในวันอังคาร
โฆษกของชอลซ์กล่าวว่า เยอรมนี, ฝรั่งเศส และสหรัฐ เห็นพ้องกันว่าจะตอบโต้รัสเซียด้วยการคว่ำบาตร ขณะที่รัฐบาลอังกฤษบอกว่าจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรใหม่ในวันอังคาร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ของขวัญจากรัสเซีย ถึง 'คิม จอง อึน'
เริ่มจากเกาหลีเหนือส่งทหารไปสนับสนุนแนวรบของรัสเซียก่อน จากนั้นมอสโกจึงส่งมอบของขวัญพิเศษตอบแทนเปีย
รัสเซีย ขัดขวางมติหยุดยิงของยูเอ็นในซูดาน
นายพลสองคนซึ่งเป็นคู่แข่งแย่งชิงอำนาจ ต่อสู้กันในซูดานมาเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่งแล้ว ขณะนี้รัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสห
'อุ๊งอิ๊ง' พบชุมชนไทยในแอลเอ เผยมีโอกาสจะชวน 'คุณพ่อ' มาเที่ยว
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. เวลา 14.00 น. (ตามเวลานครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 15 ชั่วโมง) น.ส.แพทองธาร ชิ
นายกฯ ถึงสหรัฐ เตรียมประชุมเอกอัครราชทูต-กงสุลใหญ่ หารือภาคธุรกิจ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา