'ลัฟรอฟ' กระตุก 'ปูติน' ยังมีเวลาให้การทูตคลี่คลายวิกฤติ

รัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลัฟรอฟ ของรัสเซีย กล่าวระหว่างประชุมกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ถ่ายทอดทางโทรทัศน์เมื่อวันจันทร์ว่า การหาทางออกทางการทูตในความพยายามดึงคำรับประกันจากโลกตะวันตกยังมีความเป็นไปได้ ขณะการฝึกทหารบางส่วนก็ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ขณะประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหม เซอร์เกย์ ชอยกู ที่ทำเนียบเครมลิน เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 (Photo by Alexei NIKOLSKY / SPUTNIK / AFP)

รายงานของเอเอฟพีและรอยเตอร์กล่าวว่า ประธานาธิบดีปูตินประชุมร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของเขาเมื่อวันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 โดยการสนทนาระหว่างทั้งสองถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ด้วย ในคำสนทนา ปูตินถามลัฟรอฟว่า ยังมีโอกาสที่จะบรรลุข้อตกลงเพื่อแก้ไขข้อกังวลด้านความมั่นคงของรัสเซียหรือไม่ หรือเป็นเพียงการลากยาวการเจรจาที่วกวนต่อไปเรื่อยๆ

ลัฟรอฟตอบว่า เราเคยเตือนไปแล้วหลายครั้งว่า เราจะไม่ยอมให้มีการเจรจาแบบไม่รู้จบกับคำถามที่ต้องการให้แก้ปัญหาในวันนี้ แต่เขาต้องบอกว่า ยังคงมีโอกาสเสมอที่จะบรรลุความตกลงกับประเทศตะวันตกเกี่ยวกับการคุมเชิงกันนี้ และโอกาสในการหาทางออกยังไม่หมดง่ายๆ "ผมแนะนำให้พูดคุยกันต่อไป" เขากล่าวกับปูติน

คำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้ดูเหมือนจะส่งสัญญาณลดความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะเปิดปฏิบัติการทางทหารในไม่ช้านี้ หลังจากสหรัฐประโคมหนักว่ารัสเซีย ซึ่งวางกำลังทหารมากกว่า 100,000 นายใกล้ชายแดนยูเครน อาจโจมตียูเครนได้ทุกเมื่อ โดยน่าจะเริ่มต้นการถล่มด้วยมิสไซล์และโจมตีทางอากาศ

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของสหรัฐเคยแสดงความกังวลกันว่า การเจรจาแก้วิกฤติที่ยืดเยื้อหลายสัปดาห์จะให้เวลาในการเตรียมตัวสำหรับการบุกโจมตีครั้งใหญ่ หากปูตินตัดสินใจสุดท้ายแล้วว่าจะโจมตียูเครน แม้รัสเซียจะยืนกรานว่าไม่มีแผนเช่นนั้น และกล่าวหาสหรัฐและชาติพันธมิตรว่าเป็นโรคจิตประสาทหวาดผวา

ปูตินต้องการหลักประกันที่มีผลผูกมัดจากนาโตว่าจะไม่ขยายมาฝั่งตะวันออก หรือรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก รวมถึงการวางกำลังมิสไซล์ในยุโรปตะวันออกที่คุกคามความมั่นคงของรัสเซีย

ลัฟรอฟกล่าวกับปูตินว่า รัฐบาลสหรัฐได้ยื่นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเรื่องการลดความเสี่ยงทางทหาร แต่จดหมายตอบจากชาติในสหภาพยุโรปและสมาชิกกลุ่มนาโตยัง "ไม่น่าพึงพอใจ" ไม่มีรัฐมนตรีรายใดที่ตอบข้อความตรงๆ ของเขา "เพราะฉะนั้น เราจะยังคงสอบถามปฏิกิริยาที่เป็นรูปธรรมจากแต่ละประเทศต่อไป"

ความวิตกของโลกตะวันตกที่พากันลดหรือถอนเจ้าหน้าที่ทางการทูตออกจากกรุงเคียฟ และเตือนให้พลเมืองของตนออกจากยูเครนทันที ส่วนหนึ่งเกิดจากการซ้อมรบร่วมนาน 10 วันระหว่างกองทัพรัสเซียกับเบลารุส เพื่อนบ้านทางเหนือของยูเครน โดยสหรัฐกล่าวว่า รัสเซียส่งทหาร 30,000 นายมาฝึกในเบลารุส

ในการประชุมกับปูตินเมื่อวันจันทร์ เซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย แจ้งว่า การฝึกบางส่วนกำลังจะจบลง และบางส่วนจะเสร็จสิ้น "ในอนาคตอันใกล้"

รัฐบาลรัสเซียเคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่า ทหารรัสเซียที่มาฝึกในเบลารุสจะกลับประเทศหลังเสร็จสิ้นการฝึก

ที่กรุงเคียฟ รัฐมนตรีกลาโหมโอเล็กซีย์ เรซนิคอฟ ของยูเครน ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีกลาโหมของเบลารุส โดยกล่าวยกย่องว่าเป็นการเจรจา "เชิงบวก" และรัฐมนตรีเบลารุสให้ความมั่นใจกับเขาว่า "ไม่มีภัยคุกคามต่อยูเครนจากเบลารุส"

นายกฯ โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี (ซ้าย) แถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ที่กรุงเคียฟ เมื่อ 14 ก.พ. 2565 (Getty Images)

นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี เพิ่งเดินทางถึงกรุงเคียฟในวันจันทร์ และเข้าพูดคุยกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนโดยทันที วันอังคารนี้ชอลซ์จะเดินทางไปกรุงมอสโกเพื่อพบกับปูติน

เอเอฟพีรายงานว่า ผู้นำยูเครนบอกกับผู้นำเยอรมนีว่า รัสเซียกำลังใช้โครงการท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 ของเยอรมนีเป็น "อาวุธทางภูมิรัฐศาสตร์"

โครงการนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน สหรัฐและชาติยุโรปเคยแสดงความวิตกที่เยอรมนีต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยกล่าวเตือนว่า เขาจะหาหนทางยุติโครงการท่อส่งก๊าซนี้หากรัสเซียรุกรานยูเครน

เซเลนสกียังประกาศด้วยว่า การเข้าร่วมนาโตจะเป็นหลักประกันความมั่นคงและอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของยูเครน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ถึงสหรัฐ เตรียมประชุมเอกอัครราชทูต-กงสุลใหญ่ หารือภาคธุรกิจ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา