'มาครง' วิ่งรอกไกล่เกลี่ย เผย 'ปูติน' พร้อมประนีประนอม

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเดินทางไปเยือนกรุงมอสโก พูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เพื่อคลี่คลายวิกฤติยูเครน โดยเสนอ "หลักประกันความมั่นคงที่เป็นรูปธรรม" แก่รัสเซีย หวังยับยั้งการรุกรานยูเครน ขณะปูตินให้คำมั่นพร้อมหาทางประนีประนอม

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง (ขวา) สนทนากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ทำเนียบเครมลินในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 (Photo by SPUTNIK / AFP)

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 กล่าวว่า ผู้นำฝรั่งเศสเดินทางเยือนรัสเซียเมื่อวันจันทร์แล้ว จากนั้นก็ได้เดินทางต่อไปยังกรุงเคียฟของยูเครนในวันอังคาร การเดินทางไกล่เกลี่ยของเขาเป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์แห่งการทูตที่ตึงเครียดของโลกตะวันตก ท่ามกลางการสร้างเสริมกำลังทหารมากกว่า 110,000 นายของรัสเซียตามแนวชายแดนยูเครน ที่ก่อความวิตกว่ารัสเซียจะเคลื่อนพลเข้ายูเครนในไม่ช้า

มาครงเป็นผู้นำตะวันตกคนแรกที่ได้พบกับปูตินนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเมื่อเดือนธันวาคม ที่ก่อความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย กับยูเครนและพันธมิตรในโลกตะวันตก ระหว่างการพบหารือกันเมื่อวันจันทร์ ปูตินกล่าวกับมาครงว่า รัสเซียจะ "ทำทุกอย่างเพื่อหาทางประนีประนอมที่เหมาะสมกับทุกคน" ซึ่งเพิ่มโอกาสของการลดความรุนแรงของสถานการณ์ที่เปราะบาง

ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า ข้อเสนอหลายข้อที่มาครงเสนอระหว่างการพูดคุยครั้งนี้อาจเป็นพื้นฐานสำหรับการก้าวไปข้างหน้ากรณีวิกฤติยูเครน "ความคิด ข้อเสนอหลายข้อของเขามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับก้าวต่อไป" ปูตินกล่าวภายหลังการพูดคุยที่ทำเนียบเครมลินนานกว่า 5 ชั่วโมง แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียด บอกเพียงว่า ทั้งคู่จะคุยโทรศัพท์กันอีกครั้งภายหลังมาครงได้พบกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนแล้ว

ประธานาธิบดีมาครงเปิดเผยว่า เขาได้เสนอ "หลักประกันด้านความมั่นคงที่เป็นรูปธรรม" ต่อปูติน และประธานาธิบดีปูตินได้ให้คำรับรองถึงความพร้อมที่จะเกี่ยวพัน และความปรารถนาที่จะรักษาเสถียรภาพและบูรณภาพเหนือดินแดนของยูเครน "ไม่มีความมั่นคงปลอดภัยสำหรับชาวยุโรป ถ้าไม่มีความมั่นคงปลอดภัยสำหรับรัสเซียด้วย" ผู้นำฝรั่งเศสกล่าว

ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวว่า ข้อเสนอของมาครงรวมถึงคำมั่นสัญญาจากทั้งสองฝ่ายว่าจะไม่ดำเนินการทางทหารใหม่, จะเปิดการสานเสวนาทางยุทธศาสตร์ใหม่ และพยายามรื้อฟื้นกระบวนการสันติภาพในภาคตะวันออกของยูเครนที่มีความขัดแย้งกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลัง

ปูตินปฏิเสธว่า รัสเซียไม่ได้ดำเนินการอย่างก้าวร้าวต่อยูเครนหรือตะวันตก "ไม่ใช่เราที่กำลังเคลื่อนเข้าหาพรมแดนของนาโต" เขากล่าว พร้อมกับชี้ว่า หากยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต รัสเซียก็อาจติดอยู่ในความขัดแย้งกับประเทศยุโรปด้วย "คุณอยากให้ฝรั่งเศสทำสงครามกับรัสเซียหรือ" เขาถาม

ที่กรุงวอชิงตันวันเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าวภายหลังพบกับโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โดยเตือนปูตินว่า เขาจะ "ยุติ" โครงการท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 จากรัสเซียไปยังยุโรป หากรัสเซียส่งกำลังทหารข้ามพรมแดนยูเครน เหมือนกับที่เคยผนวกแคว้นไครเมียของยูเครนเป็นของรัสเซียเมื่อปี 2547

โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติโครงการใหม่นี้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่เริ่มส่งก๊าซมายังเยอรมนี โครงการนี้จะทำให้ยุโรปที่ต้องการพลังงานอย่างมาก มีความใกล้ชิดด้านพลังงานกับรัสเซียมากขึ้น

ด้านชอลซ์ไม่ได้กล่าวตรงเหมือนไบเดนว่าเยอรมนีจะยุติโครงการนี้ แต่บอกว่าเยอรมนีมีความเป็น "เอกภาพ" กับสหรัฐ เขามีกำหนดจะเดินทางไปกรุงมอสโกและเคียฟในสัปดาห์หน้า เพื่อพูดคุยกับปูตินและเซเลนสกี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ถึงสหรัฐ เตรียมประชุมเอกอัครราชทูต-กงสุลใหญ่ หารือภาคธุรกิจ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา